ความเป็นมา
บาดแผลไฟไหม้เป็นอาการบาดเจ็บที่พบได้บ่อยทั่วโลกและทำให้เกิดความเจ็บป่วย ทุพพลภาพและถึงขั้นเสียชีวิตได้ บาดแผลไฟไหม้ระดับลึกมักต้องได้รับการผ่าตัดเนื่องจากผิวหนังได้รับความเสียหายเกินกว่าจะรักษาได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นผิวหนังที่ถูกทำลายจึงต้องได้รับการตัดแต่งแผล (debridement) และแทนที่ด้วยผิวหนังที่มีสุขภาพดี ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะเป็นชั้นผิวหนังบางๆ ที่นำมาจากส่วนอื่นของร่างกาย (graft) โดยปกติการตัดแต่งแผลไฟไหม้นั้นจะทำด้วยมีดผ่าตัดที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษ
ไม่นานมานี้ ได้มีการพัฒนามีดผ่าตัดที่มีระบบฉีดน้ำแรงดันสูงที่เรียกว่า hydrosurgery ซึ่งจะขจัดเฉพาะผิวหนังที่ถูกไฟไหม้ แต่ไม่ทำอันตรายต่อชั้นผิวหนังที่ยังดีอยู่ ในทางทฤษฎี hydrosurgery อาจมีความแม่นยำมากกว่าการตัดแต่งแผลแบบเดิมด้วยมีดผ่าตัด (conventional debridement) ในแง่ของการขจัดผิวหนังที่ถูกไฟไหม้ ซึ่งอาจนำไปสู่การหายของแผลที่ดีขึ้น
โดยทั่วไปแล้ว แผลเปิดทั้งหมดรวมถึงแผลไฟไหม้ล้วนมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อทั้งสิ้น ดังนั้นการตัดแต่งแผลอย่างเหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะลดความเสี่ยงของการติดเชื้อได้ ยิ่งแผลปิดได้เร็ว ก็จะหายได้ไวขึ้น เป็นแผลเป็นน้อยลงและลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อด้วย
เราต้องการค้นหาอะไร
ใน Cochrane review นี้ ผู้วิจัยต้องการทราบว่าแผลไฟไหม้ที่ได้รับการตัดแต่งแผลด้วย hydrosurgery สามารถหายได้เร็วกว่าและมีการติดเชื้อน้อยกว่าการตัดแต่งแผลด้วยมีดหรือไม่ นอกจากนี้ ยังต้องการดูว่ามีความแตกต่างในคุณภาพชีวิตโดยรวมหรือไม่ แผลหายดีเพียงใดในแง่ของการเกิดแผลเป็นและปริมาณทรัพยากรทางการแพทย์ที่ใช้ (โดยประเมินจาก จำนวนการทำแผล (dressing), การนัดหมายคลินิกแผลไฟไหม้ (burn clinic), ระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาล และจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเพิ่มเติมหรือไม่)
วิธีการ
ผู้วิจัยสืบค้นในฐานข้อมูลทางการแพทย์เพื่อรวบรวมการวิจัยแบบ randomised controlled trials (RCTs) ที่เปรียบเทียบการรักษาแผลไฟไหม้โดยใช้ hydrosurgery และการตัดแต่งแผลแบบเดิม RCTs เป็นรูปแบบการศึกษาที่วิธีการรักษาแต่ละแบบถูกสุ่มเลือกให้แก่กลุ่มประชากรแต่ละคน การศึกษารูปแบบนี้ให้ความน่าเชื่อถือมากที่สุดที่จะพิสูจน์ว่าวิธีการรักษาต่างๆ สร้างผลลัพธ์ที่แตกต่างกันหรือไม่ ไม่มีการจำกัดอายุของผู้เข้าร่วมในการศึกษา และทำในประเทศใดก็ได้ โดยรายงานเป็นภาษาใดก็ได้
ผลลัพธ์หลักของการทบทวนวรรณกรรม
ผู้วิจัยพบการศึกษาในประเทศออสเตรเลียเพียงหนึ่งฉบับที่รวบรวมเด็ก 61 คนที่มีแผลไฟไหม้ขนาดเล็กน้อย โดยเด็กแต่ละคนได้รับการสุ่มให้รับการตัดแต่งแผลด้วย hydrosurgery หรือการตัดแต่งแผลแบบเดิม พบว่าไม่พบความแตกต่างหรือแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยในแง่ของ ระยะเวลาที่แผลหายสนิท การติดเชื้อหลังการผ่าตัด หรือการเกิดแผลเป็น รวมไปถึงระยะเวลาที่ใช้ในการตัดแต่งแผลของแต่ละวิธีก็ไม่แตกต่างกัน การศึกษาฉบับนี้ไม่ได้รายงานถึงคุณภาพชีวิตหรือปริมาณทรัพยากรทางการแพทย์ที่ถูกใช้ไป
ความน่าเชื่อถือของหลักฐาน
ความเชื่อมั่นของผู้วิจัยค่อนข้างน้อยมากเพราะพบเพียงการศึกษาเดียว และมีเฉพาะผู้ป่วยเด็กเท่านั้น ดังนั้นผลลัพธ์ที่ได้อาจประยุกต์ใช้ไม่ได้กับผู้ใหญ่หรือผู้ที่มีแผลไหม้ขั้นรุนแรง ถึงแม้จะเป็นการศึกษาแบบ RCT แต่ไม่ได้รายงานถึงผลลัพธ์ที่ผู้วิจัยคาดหวังไว้ ดังนั้นจึงไม่แน่ใจว่าผลลัพธ์นั้นน่าเชื่อถือเพียงใด
บทสรุป
เรายังไม่ทราบว่าการตัดแต่งแผลด้วย hydrosurgery นั้นดีกว่าการตัดแต่งแผลแบบเดิมหรือไม่ในการรักษาแผลไฟไหม้ระดับปานกลางระยะเฉียบพลัน จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อตอบคำถามนี้
ช่วงเวลาที่สืบค้น
การทบทวนครั้งนี้สืบค้นหลักฐานที่ตีพิมพ์จนถึงเดือนธันวาคม 2019
การทบทวนนี้อ้างอิงจากการทดลองแบบ RCT เปรียบเทียบการตัดแต่งแผลด้วย hydrosurgery กับการตัดแต่งแผลแบบเดิม ในผู้ป่วยเด็กที่มีพื้นที่แผลไฟไหม้ (TBSA) เพียงเล็กน้อย โดยพบว่าอาจมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยในแง่ของเวลาในการหายของแผล, การติดเชื้อหลังผ่าตัด, ระยะเวลาในการผ่าตัด, และการเกิดแผลเป็นที่ 6 เดือน ทั้งนี้ผลลัพธ์เหล่านี้มาจากหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมาก จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันผลลัพธ์ดังกล่าว รวมไปถึงผลต่อคุณภาพชีวิต, การใช้ทรัพยากรทางการแพทย์ และการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์อื่น ๆ
การบาดเจ็บจากไฟไหม้เป็นอาการบาดเจ็บที่พบบ่อยที่สุดอันดับ 4 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกประมาณ 180,000 คนต่อปี แผลไฟไหม้ระดับตื้นสามารถจัดการได้ด้วยการทำแผล (dressing) ก็เพียงพอ แต่แผลไฟไหม้ที่ลึกกว่านั้นหรือแผลที่หายช้ากว่าที่ควรมักต้องได้รับการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดแผลไฟไหม้เฉียบพลันมีจุดมุ่งหมายเพื่อขจัดผิวหนังที่ถูกไฟไหม้ จนกว่าจะถึงก้นแผลที่เป็นชั้นเนื้อเยื่อสุขภาพดี ซึ่งจะได้รับการทำแผลจนกระทั่งได้รับการปลูกถ่ายผิวหนัง (skin graft) ต่อไป การตัดแต่งแผลแบบเดิมนั้นจะใช้มีดผ่าตัดที่ใบมีดทำมุมกับผิวหนัง แล้วค่อยๆ เฉือนผิวหนังที่ถูกไฟไหม้ออกไปจนกระทั่งถึงชั้นผิวหนังปกติ ไม่นานมานี้ Hydrosurgery เป็นอีกวิธีหนึ่งในการตัดแต่งแผล โดยสามารถเล็มชั้นผิวหนังตายออกไปพร้อมๆ กับการชะล้างด้วยน้ำ และลดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อที่ยังมีชีวิตอยู่ ถึงแม้ว่าจะมีการใช้ hydrosurgery มากขึ้น แต่ประสิทธิภาพและความเสี่ยงของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังผ่าตัดของเทคนิคนี้ยังไม่ชัดเจน
เพื่อประเมินประสิทธิภาพของการตัดแต่งแผลด้วย hydrosurgery ร่วมกับการปลูกถ่ายผิวหนัง เปรียบเทียบกับการตัดแต่งแผลแบบเดิมร่วมกับการปลูกถ่ายผิวหนัง สำหรับการรักษาแผลไฟไหม้ระดับ partial-thickness burn ในระยะเฉียบพลัน
ในเดือนธันวาคม 2019 ผู้วิจัยได้สืบค้นในฐานข้อมูลของ the Cochrane Wounds Specialised Register; the Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL); Ovid MEDLINE (รวมถึงบทความ In-Process & Other Non-Indexed Citations); Ovid Embase และ EBSCO CINAHL Plus นอกจากนี้ยังได้สืบค้นหาการศึกษาทางคลินิกที่กำลังดำเนินการอยู่, การศึกษาที่ไม่ได้ตีพิมพ์, รายการเอกสารอ้างอิงจากการศึกษาที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการทบทวน (reviews), meta-analyses, และรายงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีสุขภาพ (health technology reports) เพื่อค้นหาการศึกษาเพิ่มเติม โดยไม่มีข้อจำกัดทั้งในด้านภาษา วันที่ตีพิมพ์ หรือสถานที่ที่ทำวิจัย
ผู้วิจัยได้คัดเลือกการทดลองแบบ randomised controlled trials (RCTs) ที่ศึกษาในทุกกลุ่มอายุของผู้ป่วยที่มีอาการบาดเจ็บจากแผลไฟไหม้ระดับ partial-thickness burn และได้รับการรักษาด้วย hydrosurgery
ผู้วิจัย 2 คน ได้ทำการคัดเลือกการศึกษา, ดึงข้อมูล, ประเมินความเสี่ยงของการมีอคติ (risk of bias), และใช้ GRADE approach เพื่อประเมินความน่าเชื่อถือของหลักฐาน อย่างเป็นอิสระต่อกัน
มีการศึกษาแบบ RCT 1 ฉบับที่ตรงตามเกณฑ์คัดเลือกของการทบทวนนี้ ขนาดประชากรคือผู้ป่วยเด็ก 61 คนที่มีแผลไฟไหม้ระดับ partial-thickness burn ระยะเฉียบพลันขนาด 3% ถึง 4% ของพื้นที่ผิวหนังทั้งหมด (total burn surface area; TBSA) ผู้ป่วยได้รับการสุ่มให้เข้ารับการตัดแต่งแผลด้วย hydrosurgery หรือการตัดแต่งแผลแบบเดิม ผลพบว่าอาจมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย ในแง่ของระยะเวลาเฉลี่ยในการหายของแผล (mean difference (MD) 0.00 วัน, 95% confidence interval (CI) −6.25 ถึง 6.25) และการติดเชื้อหลังผ่าตัด (risk ratio 1.33, 95% CI 0.57 ถึง 3.11) ผลลัพธ์เหล่านี้มาจากหลักฐานที่มีความน่าเชื่อถือต่ำมาก ซึ่งได้รับการลดระดับความน่าเชื่อถือลงสองครั้งในแง่ของ risk of bias อีกหนึ่งครั้งเนื่องจากอาจเป็นผลลัพธ์ทางอ้อม (indirectness) และอีกหนึ่งครั้งสำหรับความไม่แม่นยำ (imprecision)
อาจมีความแตกต่างกันเล็กน้อยหรือไม่มีเลยของเวลาในการผ่าตัดระหว่าง hydrosurgery และการตัดแต่งแผลแบบธรรมดา (MD 0.2 นาที, 95% CI −12.2 ถึง 12.6); ทั้งนี้ความน่าเชื่อถือของหลักฐานอยู่ในระดับต่ำมาก โดยถูกลดระดับหนึ่งครั้งจากมีความเสี่ยงต่อการเกิดอคติ อีกหนึ่งครั้งจากการเป็นผลลัพธ์ทางอ้อมและอีกหนึ่งครั้งสำหรับความไม่แม่นยำ การเกิดแผลเป็นอาจแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยหรือไม่ต่างเลยเมื่อตามไปถึง 6 เดือน ทั้งนี้ ไม่ได้มีรายงานเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย, การใช้ทรัพยากรทางการแพทย์ และผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์อื่น ๆ
แปลโดย นพ.จักรพงศ์ รู้ปิติวิริยะ