ที่มาและความสำคัญ
โรคเบาหวานเป็นภาวะที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งฮอร์โมนอินซูลินที่สร้างจากตับอ่อนเป็นตัวควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยจะสั่งให้ตับ กล้ามเนื้อ และเซลล์ไขมันขจัดน้ำตาลออกจากเลือดและกักเก็บไว้ และเมื่อตับอ่อนสร้างอินซูลินไม่เพียงพอ หรือร่างกายไม่ตอบสนองต่ออินซูลิน ก็จะมีน้ำตาลสูงเกินไปในกระแสเลือด
ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงสามารถสร้างผลเสียต่อเส้นประสาทที่แขนขา (เช่น มือหรือเท้า) และทำให้เกิดอาการชา ซึ่งหมายความว่า หากคนที่เป็นเบาหวานถูกของมีคมบาดที่เท้าหรือเกิดแผลพุพองที่เท้าขึ้น พวกเขาอาจไม่รู้สึกเลย จนกระทั่งแผลพุพองกลายเป็นแผลเปิดหรือที่เรียกว่า แผลที่เท้าจากเบาหวาน (diabetic foot ulcer; DFU) ซึ่งแผลอาจหายได้ช้า เนื่องจากโรคเบาหวานทำลายหลอดเลือด ซึ่งจะจำกัดปริมาณเลือดและออกซิเจนและสารอาหารที่จำเป็นต่อการสมานแผล หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา แผลอาจติดเชื้อได้ ในกรณีที่รุนแรงอาจจำเป็นต้องตัดนิ้วเท้า เท้า หรือมากกว่านั้น
ผู้ที่มี DFU อาจรู้สึกกังวลเกี่ยวกับแผลและส่งผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขาได้ ซึ่งอาจส่งผลลดโอกาสหายของแผลและทำให้เกิดแผลซ้ำขึ้นได้อีก การบำบัดทางจิตอาจช่วยเพิ่มการหายของแผลและป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำได้ โดยช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าสามารถจัดการกับโรคเบาหวานและ DFU ได้
ผู้วิจัยต้องการค้นหาอะไร
ผู้วิจัยต้องการทราบว่าการบำบัดทางจิตช่วยเพิ่มการหายของ DFU และป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำได้หรือไม่ นอกจากนี้ยังต้องการทราบว่าวิธีนี้มีผลหรือไม่ต่อจำนวนการตัดแขนขา, คุณภาพชีวิต, ค่าใช้จ่ายในการรักษา และความเชื่อของผู้ป่วยว่าสามารถจัดการภาวะนี้ได้ นอกเหนือจากการเปรียบเทียบผลของการบำบัดทางจิตวิทยาในวิธีที่แตกต่างกัน
วิธีการ
ผู้วิจัยสืบค้นการทดลองแบบ randomised controlled trials ที่เกี่ยวข้องซึ่งการรักษาที่แต่ละคนได้รับนั้นจะถูกเลือกแบบสุ่ม การศึกษาประเภทนี้มักให้หลักฐานที่น่าเชื่อถือที่สุดเกี่ยวกับผลของการรักษา จากนั้นจึงเปรียบเทียบผลลัพธ์และสรุปหลักฐานจากการศึกษาทั้งหมด ผู้วิจัยพิจารณาความเชื่อมั่นของหลักฐานจากปัจจัยต่างๆ เช่น วิธีการศึกษา, ขนาดของกลุ่มประชากร, และความสอดคล้องของผลลัพธ์ในการศึกษาต่างๆ จากการประเมินของผู้วิจัย ได้จัดกลุ่มหลักฐานว่ามีความเชื่อมั่นต่ำมาก, ต่ำ, ปานกลางหรือสูง
สิ่งที่พบ
ผู้วิจัยพบการศึกษา 7 ฉบับที่ศึกษาในผู้ป่วยโรคเบาหวาน 290 คน และติดตามผลระหว่าง 6 สัปดาห์ถึง 6 เดือน การศึกษาเหล่านี้ดำเนินการในออสเตรเลีย, สหรัฐอเมริกา, นอร์เวย์, อินโดนีเซีย, แอฟริกาใต้และสหราชอาณาจักร ซึ่งการบำบัดทางจิตวิทยาที่นำมาใช้ ได้แก่ :
- การให้คำปรึกษา (การศึกษา 3 ฉบับ);
- การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ (การศึกษา 1 ฉบับ);
- การสร้างแรงจูงใจเฉพาะรายบุคคล (การศึกษา 1 ฉบับ);
- การบำบัดที่หวังผลพัฒนาความเข้าใจของบุคคลเกี่ยวกับสุขภาวะ (การศึกษา 1 ฉบับ)
- การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (cognitive behavioural therapy) แบบกลุ่ม (การศึกษา 1 ฉบับ)
การบำบัดทางจิตเปรียบเทียบกับการดูแลตามปกติ
ผู้วิจัยไม่อาจสรุปได้ว่าการบำบัดทางจิตช่วยในเรื่องการหายของ DFU หรือป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของแผลได้หรือไม่ เนื่องจากหลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก
การบำบัดทางจิตแต่ละวิธีเปรียบเทียบกัน
ผู้วิจัยไม่อาจสรุปได้ว่าการบำบัดทางจิตวิธีใดมีประสิทธิผลเหนือกว่า ในการสมานแผล DFU หรือการป้องกันไม่ให้เกิดแผลซ้ำ เนื่องจากไม่มีการศึกษาใดที่พิจารณาประเด็นเหล่านี้ หรือหลักฐานที่มีมีความเชื่อมั่นต่ำมาก
ผู้วิจัยไม่อาจสรุปได้ว่าการบำบัดทางจิตมีผลใดๆ ต่อระยะเวลาที่เกิดแผลใหม่ขึ้นอีกครั้ง, การตัดแขนขา, คุณภาพชีวิต หรือความเชื่อของผู้ป่วยว่าสามารถจัดการภาวะนี้ได้ เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้หรือมีจำนวนการศึกษาที่น้อยเกินไป ไม่มีการศึกษาใดที่รายงานข้อมูลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของการบำบัดทางจิตวิทยา
สิ่งนี้หมายความว่าอะไร
ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนเกี่ยวกับผลของการบำบัดทางจิตวิทยาต่อการหายของ DFU รวมถึงการกลับเป็นซ้ำ
จำเป็นต้องมีการศึกษาที่มีคุณภาพสูงซึ่งศึกษาในผู้ป่วยจำนวนมากพอที่จะตรวจพบผลที่อาจเกิดขึ้นจากการบำบัดทางจิตวิทยาต่อการหายของแผลหรือการกลับเป็นซ้ำ ซึ่งการมีชุดของตัววัดผลที่ชัดเจนและเป็นที่ยอมรับจะเป็นประโยชน์สำหรับการศึกษาในอนาคต เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบและวิเคราะห์ผลจากการศึกษาต่างๆ ร่วมกันได้
ความเป็นปัจจุบันของการทบทวนวรรณกรรมนี้
หลักฐานของการทบทวนวรรณกรรมนี้เป็นปัจจุบันถึง กันยายน 2019
ผู้วิจัยไม่สามารถระบุได้ว่าการบำบัดทางจิตใจจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เป็นแผลที่เท้าจากเบาหวานหรือเคยมีแผลที่เท้าจากเบาหวาน เพื่อให้การรักษาบาดแผลสมบูรณ์หรือป้องกันการกลับเป็นซ้ำ เนื่องจากมีจำนวนการศึกษาเกี่ยวกับการบำบัดทางจิตน้อยมากในประเด็นนี้ จากการศึกษาที่รวบรวมมา มีผลลัพธ์หลักเพียงไม่กี่ตัวที่มีรายงาน และเมื่อมีข้อมูลก็จะมาจากการศึกษาที่มีความเชื่อมั่นต่ำมากตามเกณฑ์ของ GRADE
แผลที่เท้าจากเบาหวาน (Diabetic foot ulceration: DFU) คือ แผลที่มีความลึก full-thickness ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ข้อเท้าลงไป ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญของโรคเบาหวาน ที่แม้จะมีแนวทางการรักษาที่ดีที่สุด แต่แผลของผู้ป่วยหลายคนก็ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และเมื่อหายแล้วความเสี่ยงของการกลับเป็นซ้ำของ DFU ก็ยังคงสูงอยู่ ซึ่งความเชื่อของผู้ป่วยเกี่ยวกับความสามารถในการดูแลแผลของตัวเองสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมที่ดีในการดูแล DFU การบำบัดทางจิตมีเป้าหมายเพื่อลดระดับความเครียดทางจิตใจ และส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการดูแลตนเอง และมีหลักฐานบางอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าวิธีนี้ส่งผลในเชิงบวกต่ออัตราการหายของแผลได้
เพื่อประเมินประสิทธิผลของการบำบัดทางจิตใจต่อการหายและการกลับเป็นซ้ำของ DFU
ในเดือนกันยายน 2019 ผู้วิจัยได้สืบค้นใน the Cochrane Wounds Specialised Register; the Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL); Ovid MEDLINE (including In-Process & Other Non-Indexed Citations); Ovid Embase,Ovid PsycINFO และ EBSCO CINAHL Plus นอกจากนี้ยังได้สืบค้นการศึกษาทางคลินิกที่ลงทะเบียนและกำลังดำเนินการอยู่, การศึกษาที่ไม่ได้ตีพิมพ์ และรายการเอกสารอ้างอิงจากการศึกษาที่เกี่ยวข้อง เช่นเดียวกับบทความทบทวนวรรณกรรม, การวิเคราะห์อภิเมตต้า และรายงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีสุขภาพเพื่อค้นหาการศึกษาเพิ่มเติม โดยไม่มีข้อจำกัดทั้งในด้านภาษา วันที่ตีพิมพ์ หรือสถานที่ที่ทำวิจัย
ผู้วิจัยรวบรวมการทดลองแบบ randomised controlled trials (RCT) และ quasi-RCTs ที่ประเมินการบำบัดทางจิตเปรียบเทียบกับการดูแลมาตรฐาน หรือเทียบกับการให้ความรู้หรือการบำบัดทางจิตวิธีอื่นๆ โดยผลลัพธ์หลัก คือ สัดส่วนของบาดแผลที่หายสนิท, ระยะเวลารักษาจนกว่าแผลจะหายสนิท, ระยะเวลาจนกว่าจะเกิดแผลซ้ำ และจำนวนครั้งที่เกิดแผลซ้ำ
ผู้วิจัย 4 คนได้คัดกรองชื่อเรื่องและบทคัดย่อของการศึกษาที่ถูกค้นพบด้วย search strategy โดยเป็นอิสระต่อกัน ผู้วิจัย 3 คนคัดกรองการศึกษาที่อาจเกี่ยวข้องทั้งหมดอย่างเป็นอิสระตามเกณฑ์การคัดเลือก และดำเนินการดึงข้อมูล, ประเมินความเสี่ยงของการมีอคติ และประเมิน GRADE ของความเชื่อมั่นของหลักฐาน
ผู้วิจัยค้นพบการทดลอง 7 ฉบับ (RCT 6 ฉบับและ quasi-RCT 1 ฉบับ) ที่ตรงตามเกณฑ์การคัดเลือก โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 290 คน การศึกษาเหล่านี้ดำเนินการในออสเตรเลีย, สหรัฐอเมริกา, นอร์เวย์, อินโดนีเซีย, แอฟริกาใต้และสหราชอาณาจักร การศึกษา 3 ฉบับใช้การบำบัดในรูปแบบการให้คำปรึกษา และการศึกษาอีก 1 ฉบับประเมินการบำบัดที่เพิ่มความเข้าใจในสุขภาวะของตนเอง มี RCT 1 ฉบับ ที่ใช้การฝึกแบบ biofeedback relaxation training และอีก 1 ฉบับใช้การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (cognitive behavioural therapy) และมี quasi-RCT 1 ฉบับ ที่ประเมินแรงจูงใจและปรับแต่งวิธีการบำบัดให้เหมาะสมกับแต่ละคน
เนื่องจากความแตกต่างของรูปแบบการทดลอง การรวมกันของข้อมูลจึงถูกตัดสินว่าไม่เหมาะสมดังนั้นผู้วิจัยจึงนำเสนอการสังเคราะห์แบบบรรยายแทน มีการเปรียบเทียบได้แก่ (1) การบำบัดทางจิตใจเปรียบเทียบกับการดูแลตามมาตรฐานและ (2) การบำบัดทางจิตใจวิธีต่างๆ เปรียบเทียบกัน
ผู้วิจัยไม่แน่ใจว่ามีความแตกต่างระหว่างการบำบัดทางจิตใจและการดูแลมาตรฐานสำหรับผู้ที่มี DFU ในแง่ของสัดส่วนของบาดแผลที่หายสนิท (มี 2 การศึกษาที่ไม่ได้เอาผลลัพธ์รวมกัน, การศึกษาแรก RR 6.25, 95% CI 0.35 ถึง 112.5; ผู้เข้าร่วม 16 คน, การศึกษาที่สอง RR 0.59, 95% CI 0.26 ถึง 1.39; ผู้เข้าร่วม 60 คน), ในแง่ของการกลับเป็นซ้ำของแผลที่เท้าหลังจากหนึ่งปี (มี 2 การศึกษาที่ไม่ได้เอาผลลัพธ์รวมกัน, การศึกษาแรก RR 0.67, 95% CI 0.32 ถึง 1.41; ผู้เข้าร่วม 41 คน, การศึกษาที่สอง RR 0.63, 95% CI 0.05 ถึง 7.90; ผู้เข้าร่วม 13 คน) หรือในคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ (การศึกษา 1 ฉบับ, MD 5.52, 95% CI -5.80 ถึง 16.84; ผู้เข้าร่วม 56 คน) ผลลัพธ์นี้มาจากหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมาก ซึ่งผู้วิจัยได้ตัดสินจากข้อจำกัดในการศึกษาที่ร้ายแรงมาก, ความเสี่ยงของการมีอคติ และความไม่แม่นยำ
ผู้วิจัยไม่แน่ใจว่าการบำบัดทางจิตด้วยวิธีที่แตกต่างกันจะส่งผลใดๆ หรือไม่ต่อสัดส่วนของบาดแผลที่หายสนิทในผู้ที่มี DFU (การศึกษา 1 ฉบับ, RR 2.33, 95% CI 0.92 ถึง 5.93; ผู้เข้าร่วม 16 คน ) ผลลัพธ์นี้มาจากหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมาก ซึ่งผู้วิจัยได้ตัดสินจากข้อจำกัดในการศึกษาที่ร้ายแรงมาก, ความเสี่ยงของการมีอคติ และความไม่แม่นยำ
ระยะเวลารักษาจนกว่าแผลจะหายสนิทมีรายงานในการศึกษา 2 ฉบับ แต่ไม่ใช่วิธีการวัดผลที่เหมาะสมที่จะนำมารวมไว้ในการทบทวนนี้ มีการศึกษา 1 ฉบับ รายงานการรับรู้ความสามารถของตนเอง และมีการศึกษาอีก 2 ฉบับ รายงานเรื่องคุณภาพชีวิต แต่มีเพียงการศึกษาเดียวเท่านั้นที่รายงานคุณภาพชีวิตในลักษณะที่ทำให้ผู้วิจัยดึงข้อมูลมาตรวจสอบได้ และไม่มีการศึกษาใดที่สำรวจผลลัพธ์หลักอื่นๆ (ระยะเวลาจนกว่าจะเกิดแผลซ้ำ) หรือผลลัพธ์รอง (การตัดแขนขาหรือค่าใช้จ่าย)
ผู้แปล นพ.จักรพงศ์ รู้ปิติวิริยะ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2021