เรื่องนี้มีปัญหาอย่างไร
โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (GDM) คือภาวะที่ร่างกายไม่สามารถจัดการกับคาร์โบไฮเดรตในร่างกายได้ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงซึ่งตรวจพบในระหว่างตั้งครรภ์ หญิงตั้งครรภ์ที่มี GDM มีความเสี่ยงต่อความดันโลหิตสูง การชักนำให้คลอดและการผ่าตัดคลอด ทารกของแม่ที่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มีความเสี่ยงที่จะเกิดมามีปัญหาตัวใหญ่ คลอดยาก หายใจลำบาก กลูโคสในเลือดต่ำเมื่อแรกเกิด และดีซ่านที่อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บที่สมอง มีความเสี่ยงในระยะยาวเพิ่มขึ้นที่จะเป็นโรคเบาหวานในแม่และทารกที่มีน้ำหนักเกิน โปรไบโอติกเป็นจุลินทรีย์ในอาหารตามธรรมชาติและอยู่ในนมหมัก โยเกิร์ตหรือแคปซูล มีโปรไบโอติกหลายชนิด สองชนิดที่ใช้มากที่สุดคือ แลคโตบาซิลลัส และ ไบฟิโดแบคทีเรียม และหากบริโภคในปริมาณที่เพียงพออาจทำให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ
ทำไมเรื่องนี้จึงมีความสำคัญ
โปรไบโอติกจะต้องมีความปลอดภัยและระดับน้ำตาลในเลือดของมารดาจะต้องได้รับการจัดการอย่างระมัดระวังในระหว่างตั้งครรภ์
ผู้หญิงที่มีโรค GDM อาจได้รับความรู้ด้านโภชนาการและการออกกำลังกาย และมีการการตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือด นี่ถือเป็นการจัดการเบื้องต้น เมื่อระดับกลูโคสในเลือดสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ผู้หญิงที่มี GDM จะได้รับยาลดกลูโคสในเลือด ซึ่งอาจจะเป็น เมตฟอร์มินและ / หรืออินซูลิน การทบทวนวรรณกรรมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยและประสิทธิผลของโปรไบโอติกในการรักษาผู้หญิงที่มีภาวะ GDM
ผู้วิจัยพบหลักฐานเชิงประจักษ์อะไรบ้าง
เราสืบค้นการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ จนถึงเดือนกรกฎาคม 2019 เราระบุการศึกษา 9 การศึกษาที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิง 695 คนที่เป็น GDM การศึกษาทั้งหมดเปรียบเทียบโปรไบโอติกกับยาหลอก ความน่าเชื่อถือของหลักฐานอยู่ในระดับต่ำถึงต่ำมาก โดยรวมแล้วมีความเสี่ยงของการมีอคติต่ำ
มี 7 การศึกษาในอิหร่าน; มี 1 การศึกษาที่ทำในประเทศไทยและอีก 1 การศึกษาทำในไอร์แลนด์ การศึกษาทั้งหมดทำขึ้นในโรงพยาบาลและมหาวิทยาลัย
เราไม่แน่ใจว่ามีความแตกต่างระหว่างโปรไบโอติกและยาหลอกในอัตราของ: ความผิดปกติของความดันโลหิตสูง (3 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 256 คน, หลักฐานความน่าเชื่อถือต่ำ); การผ่าตัดคลอด (3 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 267 คน, หลักฐานความน่าเชื่อถือต่ำ ); และทารกที่ตัวใหญ่กว่าอายุครรภ์ (2 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 174 คน, หลักฐานความน่าเชื่อถือต่ำ)
เราไม่แน่ใจว่ามีความแตกต่างระหว่างโปรไบโอติกและยาหลอกในการชักนำให้เกิดการคลอด (1 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 127 คน, หลักฐานความน่าเชื่อถือต่ำมาก) และระดับน้ำตาลในเลือดต่ำในทารกแรกเกิด (3 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 177 คน, หลักฐานความน่าเชื่อถือต่ำ) นอกจากนี้เราไม่แน่ใจว่ามีความแตกต่างระหว่างโปรไบโอติกและยาหลอกสำหรับอาการตกเลือดหลังคลอดแบบทันที น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ หรือน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นตลอดการตั้งครรภ์
เราไม่แน่ใจว่าจะมีความแตกต่างของระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดระหว่างโปรไบโอติกและยาหลอก (7 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 554 คน) โปรไบโอติกอาจลดระดับไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอล (4 การศึกษา, รวมผู้เข้าร่วม 320 คน) มีการลดลงของการหลั่งอินซูลินในกลุ่มที่ได้รับโปรไบโอติก (7 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 505 คน) มี 1 การศึกษา (ผู้เข้าร่วม 60 คน) แสดงให้เห็นว่าไม่พบความแตกต่างของความต้องการอินซูลินในแต่ละกลุ่ม
ดัชนีชี้วัดทางชีวภาพแสดงการลดลงของการดื้อต่ออินซูลิน (HOMA-IR), (7 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 505 คน) และการดื้อต่ออินซูลินและการทำงานของ β cell (HOMA-B) (2 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 130 คน) ในกลุ่มที่ได้โปรไบโอติก ดัชนีตรวจสอบความไวของอินซูลินเชิงปริมาณ (QUICKI) เพิ่มขึ้น (4 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 276 คน) ในกลุ่มที่ได้รับโปรไบโอติก
ตัวชี้วัดการอักเสบ hs-CRP (4 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 248) และ interleukin 6 (2 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 128 คน) ลดลงในกลุ่มที่ได้โปรไบโอติก สารต้านอนุมูลอิสระกลูตาไธโอนเพิ่มขึ้น (2 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 120 คน) และการลดลงของ oxidative stress biomarker malondialdehyde ในกลุ่มที่ได้โปรไบโอติก (3 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 176 คน) เราไม่แน่ใจว่าความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระทั้งหมดมีความแตกต่างกันหรือไม่ (4 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 266 คน)
สำหรับทารกแรกเกิด เราไม่แน่ใจว่ามีความแตกต่างระหว่างกลุ่มในเรื่อง: น้ำหนักแรกเกิด อายุครรภ์ตอนคลอด การคลอดก่อนกำหนด ทารกตัวใหญ่ เส้นรอบวงศีรษะและคะแนนความยาว หรือ ความจำเป็นในการเข้ารับการรักษาที่ห้อง ICU จำนวนทารกที่มีระดับบิลิรูบินสูงลดลงในกลุ่มที่ได้โปรไบโอติก
ไม่มีรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์
หลักฐานนี้หมายความว่าอย่างไร
จากการศึกษาที่มีอยู่ หลักฐานมีข้อจำกัดที่จะใช้ในการสนับสนุนการใช้โปรไบโอติกในการรักษาสำหรับผู้หญิงที่มี GDM เพื่อทำให้ผลลัพธ์การตั้งครรภ์สำหรับมารดาและทารกดีขึ้น การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบขนาดใหญ่ที่มีการออกแบบมาอย่างดี มีความจำเป็นในการประเมินผลของโปรไบโอติกต่อระดับกลูโคส และเมื่อมีหลักฐานใหม่เพิ่มเติมก็สามารถนำผลการศึกษามารวมไว้ในการทบทวนวรรณรรมเพื่อปรับปรุงให้ข้อค้นพบมีความทันสมัยมากขึ้นได้
หลักฐานที่มีความน่าเชื่อถือต่ำชี้ให้เห็นว่าว่าเราไม่แน่ใจว่ามีความแตกต่างระหว่างกลุ่มโปรไบโอติกและยาหลอกในความผิดปกติของความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์, การผ่าตัดคลอด และทารกตัวโตเมื่อเทียบกับอายุครรภ์
ไม่มีการรายงานของการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในการศึกษาใดเลย
เนื่องจากความหลากหลายของโปรไบโอติกที่ใช้และขนาดกลุ่มตัวอย่างที่มีขนาดเล็กของการศึกษา หลักฐานจากการทบทวนนี้จึงมีข้อจำจำกัดในการนำไปใช้ในทางปฏิบัติ การศึกษาที่ได้รับการออกแบบมาอย่างดีนั้นมีความจำเป็นเพื่อระบุว่าโปรไบโอติกอาจช่วยทำให้ระดับกลูโคสในเลือดของมารดาและ / หรือผลลัพธ์ของทารก / เด็ก / ผู้ใหญ่ / ดีขึ้น; และสามารถใช้รักษา GDM ได้หรือไม่
โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์(GDM) คือภาวะที่ร่างกายไม่สามารถจัดการกับคาร์โบไฮเดรตในร่างกายได้ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงซึ่งตรวจพบในระหว่างตั้งครรภ์และสัมพันธ์กับภาวะแทรกซ้อนในแม่และเด็กทารก โปรไบโอติกเป็นจุลินทรีย์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติซึ่งเมื่อรับประทานเข้าไปในปริมาณที่เพียงพออาจทำให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ หลักฐานเกี่ยวกับบทบาทของโปรไบโอติกในการรักษาโรค GDM นั้นมีจำกัด
การทบทวนวรรณกรรมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยและประสิทธิผลของโปรไบโอติกในการรักษาผู้หญิงที่มีภาวะ GDM ในการดูผลลัพธ์ทั้งในแม่และในทารก
ผู้วิจัยได้สืบค้นในฐานข้อมูล Cochrane Pregnancy and Childbirth'sTrials Register, ClinicalTrials.gov, the WHO International Clinical Trials Registry Platform (ICTRP) (24 กรกฎาคม 2019) และสืบค้นเอกสารอ้างอิงของรายงานการศึกษาที่สืบค้นได้
การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ (RCTs) เปรียบเทียบการใช้โปรไบโอติกกับยาหลอก / การดูแลมาตรฐานสำหรับการรักษา GDM
ผู้ทบทวนวรรณกรรม 2 คน ประเมินและทำการคัดเลือกการศึกษาตามเกณฑ์การคัดเลือก รวบรวมข้อมูล ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล และประเมินความเสี่ยงของการเกิดอคติอย่างเป็นอิสระต่อกัน ประเมินความน่าเชื่อถือของหลักฐานสำหรับผลลัพธ์ของมารดาและทารก / เด็ก โดยใช้ GRADE
9 การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ (รวมหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะ GDM 695 ราย) เปรียบเทียบโปรไบโอติกกับยาหลอก ความเสี่ยงของการมีอคติในภาพรวมของ 9 การศึกษานั้นอยู่ในระดับต่ำถึงไม่ชัดเจน และหลักฐานถูกลดระดับความน่าเชื่อถือเพราะความไม่แน่นอนของผลการศึกษาเนื่องจากมีผู้หญิงจำนวนไม่มากที่เข้าร่วมในการศึกษา การศึกษาดำเนินการในโรงพยาบาลและมหาวิทยาลัยในอิหร่าน (7 การศึกษา) ประเทศไทย (1 การศึกษา) และไอร์แลนด์ (1 การศึกษา) การศึกษาทั้งหมดเปรียบเทียบโปรไบโอติกกับยาหลอก
ผลลัพธ์ในมารดา
เราไม่แน่ใจว่าโปรไบโอติกมีผลกระทบใด ๆ เมื่อเทียบกับยาหลอกต่อความดันโลหิตสูงผิดปกติในระหว่างการตั้งครรภ์ (risk ratio (RR) 1.50, 95% confidence interval (CI) 0.64 ถึง 3.53; ผู้เข้าร่วม 256 คน; 3 การศึกษา; หลักฐานมีความน่าเชื่อถือต่ำ) ช่องทางการคลอดเป็นการผ่าตัดคลอด (average RR 0.64, 95% CI 0.30 ถึง 1.35; ผู้เข้าร่วม 267 คน; 3 การศึกษา; หลักฐานความน่าเชื่อถือต่ำ) เนื่องจากความเชื่อมั่นของหลักฐานอยู่ในระดับต่ำและ 95% CIs กว้างซึ่งครอบคลุมทั้งการเกิดเหตุการณ์ที่เป็นผลดีและผลเสีย .
ไม่มีการศึกษาใดที่รายงานผลลัพธ์หลักของ: ช่องทางการคลอดว่าเป็น ทางช่องคลอด / การช่วยคลอด และการเกิดโรคเบาหวานประเภทที่ 2 หลังจากการตั้งครรภ์
เราไม่แน่ใจว่าโปรไบโอติกมีผลกระทบใด ๆ เมื่อเทียบกับยาหลอกในการเหนี่ยวชักนำการคลอด (RR 1.33, 95% CI 0.74 ถึง 2.37; ผู้เข้าร่วม 127 คน; 1 การศึกษา; หลักฐานความน่าเชื่อถือต่ำมาก)
สำหรับผลลัพธ์รองของมารดาอื่น ๆ เราไม่แน่ใจว่ามีความแตกต่างระหว่างโปรไบโอติกและยาหลอกสำหรับ: ภาวะตกเลือดหลังคลอด; น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์และน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดตลอดการตั้งครรภ์; ระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือด และความจำเป็นในการใช้ยาเสริมรักษาภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (อินซูลิน) โปรไบโอติกอาจสัมพันธ์กับการลดลงของระดับไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอล
เมื่อเปรียบเทียบโปรไบโอติกกับยาหลอกมีหลักฐานสนับสนุนว่ามีการลดลงของตัวชี้วัดสำหรับการดื้อต่ออินซูลิน (HOMA-IR) และ HOMA-B; และการหลั่งอินซูลิน นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มขึ้นของความไวของอินซูลินเชิงปริมาณ (QUICKI)
โปรไบโอติกมีประโยชน์เล็กน้อยในเรื่องของตัวชี้วัดทางชีวภาพ มีหลักฐานที่เกี่ยวข้องพบว่ามีการลดลงของตัวชี้วัดการอักเสบที่มีความไวสูง C-reactive (hs-CRP), interleukin 6 (IL-6) และ ตัวชีวัดของ oxidative stress malondialdehyde; และการเพิ่มขึ้นของกลูตาไธโอนซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ แต่เราไม่แน่ใจว่าจะมีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระทั้งหมดหรือไม่
ไม่มีการศึกษาใดที่รายงานผลลัพธ์รองของ: การบาดเจ็บที่ฝีเย็บ น้ำหนักตัวหลังคลอด หรือการกลับสู่น้ำหนักปกติก่อนตั้งครรภ์ และภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
ผลลัพธ์สำหรับทารก / เด็ก / ผู้ใหญ่
เราไม่แน่ใจว่าโปรไบโอติกมีผลกระทบใด ๆ เมื่อเทียบกับยาหลอกในความเสี่ยงของทารกที่มีอายุครรภ์มาก (RR 0.73, 95% CI 0.35 ถึง 1.52, ผู้เข้าร่วม = 174 คน; 2 การศึกษา; หลักฐานความน่าเชื่อถือต่ำ) หรือ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำของทารก (RR 0.85, 95% CI 0.39 ถึง 1.84, ผู้เข้าร่วม = 177 คน; 3 การศึกษา; หลักฐานความน่าเชื่อถือต่ำ) เนื่องจากความเชื่อมั่นของหลักฐานต่ำและ 95% CIs ครอบคลุมทั้งการเกิดเหตุการณ์ที่เป็นผลดีและผลเสีย
ไม่มีการศึกษาใดที่รายงานผลลัพธ์หลักของ: การตายปริกำเนิด (ของทารกในครรภ์ / ทารกแรกเกิด); หรือความพิการทางระบบประสาท
สำหรับผลลัพธ์รองอื่น ๆ เราไม่แน่ใจว่ามีความแตกต่างระหว่างโปรไบโอติกและยาหลอกใน อายุครรภ์ตอนคลอด การคลอดก่อนกำหนด ทารกตัวโต น้ำหนักแรกเกิด เส้นรอบวงศีรษะ ส่วนสูง ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำของทารก และความจำเป็นในการเข้ารับการรักษาที่ห้อง ICU
มีหลักฐานที่สนับสนุนว่ามีการลดลงของภาวะบิลิรูบินในเลือดสูงของทารกในกลุ่มที่ได้รับโปรไบโอติกเมื่อเทียบกับกลุ่มยาหลอก
ไม่มีการศึกษาใดที่รายงานผลลัพธ์รอง: ภาวะอ้วนในวัยทารก และภาวะอ้วนในวัยเด็ก
ไม่มีการรายงานของการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในการศึกษาใดเลย
แปลโดย พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี 28 สิงหาคม 2020