เครื่องมือ CAM-ICU ในการวินิจฉัยอาการเพ้อในผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่เข้ารับการรักษาในหน่วยการดูแลผู้ป่วยวิกฤตมีความแม่นยำเพียงใด

ใจความสำคัญ

การตรวจสอบของเราชี้ให้เห็นว่า CAM-ICU เป็นการทดสอบที่สมเหตุสมผลเพื่อค้นหาผู้ป่วยที่มีอาการเพ้อในบริบทภาวะวิกฤต การทดสอบอาจดีเป็นพิเศษในการแยกแยะอาการเพ้อออกไป หาก CAM-ICU ได้ผลว่าไม่มีอาการเพ้อ ก็ไม่น่าเป็นไปได้ที่บุคคลนั้นจะมีอาการเพ้อ

วัตถุประสงค์ของการทบทวนวรรณกรรมนี้

เพื่อประเมินความแม่นยำของเครื่องมือ CAM-ICU ในการตรวจหาอาการเพ้อในผู้ป่วยในหอผู้ป่วยวิกฤต

เหตุใดการตระหนักถึงอาการเพ้อจึงมีความสำคัญ

เมื่อผู้คนไม่สบาย พวกเขาสามารถเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในความคิด ระดับจิตสำนึก หรือความสามารถในการรักษาความสนใจได้ สิ่งนี้เรียกว่า อาการเพ้อ อาการเพ้อมีแนวโน้มพบมากขึ้นเมื่อผู้คนเริ่มไม่สบายมากขึ้น อาการเพ้อเป็นเรื่องที่พบบ่อยมากเมื่อผู้คนไม่สบายมากจนต้องได้รับการดูแลและการรักษาที่เข้มข้น เช่น ในหอผู้ป่วยหนัก พื้นที่ในโรงพยาบาลที่ให้การดูแลขั้นสูงนี้เรียกว่า 'การดูแลวิกฤต'

เมื่อเทียบกับคนที่ไม่มีอาการเพ้อแล้ว คนที่มีอาการเพ้อมักจะต้องนอนโรงพยาบาลนานกว่าและมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตมากกว่า อาการเพ้อเกี่ยวข้องกับความทุกข์ทั้งต่อผู้ป่วยและครอบครัว

การรับรู้ทันทีเมื่อบุคคลมีอาการเพ้อจะทำให้คนนั้นได้รับการรักษา อย่างไรก็ตาม การประเมินอาการเพ้อนั้นเป็นเรื่องยาก การประเมินอาการเพ้อมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นในหอผู้ป่วยวิกฤต เนื่องจากผู้ป่วยอาจมีอุปกรณ์ช่วยหายใจ ซึ่งหมายความว่าพวกเขาไม่สามารถพูดคุยกับผู้ประเมินได้

CAM-ICU คืออะไร

วิธีประเมินความสับสนสำหรับหอผู้ป่วยหนัก (CAM-ICU) ซึ่งเป็นการทดสอบเพื่อค้นหาอาการเพ้อ มันประกอบด้วยชุดคำถามและคำสั่งที่ออกแบบมาเพื่อหาลักษณะของอาการเพ้อ

ลักษณะบางประการของการทดสอบ CAM-ICU ทำให้เหมาะสำหรับบริบทของการดูแลผู้ป่วยวิกฤติที่มีลักษณะการดูแลที่เป็นงานหนักยุ่งยาก การทดสอบ CAM-ICU สามารถทำได้แม้ว่าผู้ป่วยที่เข้ารับการทดสอบจะไม่สามารถพูดได้ CAM-ICU ดำเนินการได้รวดเร็วและต้องการการฝึกอบรมเพียงเล็กน้อย สมาชิกในทีมดูแลสุขภาพจึงสามารถใช้งานเครื่องมือนี้ได้

อะไรคือสิ่งที่ได้เรียนรู้ในการทวนวรรณกรรมนี้

เราทบทวนการศึกษาที่ประเมินความแม่นยำของ CAM-ICU เมื่อนำมาใช้ในบริบทการดูแลผู้ป่วยวิกฤต เรารวมการศึกษาเหล่านั้นที่เปรียบเทียบผลลัพธ์ของการทดสอบ CAM-ICU ที่ดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการฝึกอบรม CAM-ICU เทีบยกับการประเมินการวินิจฉัยตาม 'มาตรฐาน' ที่มีความละเอียดมากขึ้น

ผลลัพธ์หลักของการทบทวนวรรณกรรมคืออะไร

เรารวมการศึกษาทั้งหมด 25 ฉบับ มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 2817 ราย CAM-ICU ระบุผู้ป่วยที่มีอาการเพ้อได้อย่างถูกต้องประมาณ 78% การทดสอบดีกว่าในการระบุผู้ที่ไม่มีอาการเพ้อ โดยให้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องประมาณ 95%

หากใช้ CAM-ICU กับกลุ่มผู้ป่วยในหอผู้ป่วยวิกฤต 100 ราย โดยที่ 40% (40) รายมีอาการเพ้อ คาดว่าเครื่องมือ CAM-ICU จะตรวจจับผู้ป่วยที่มีอาการเพ้อได้อย่างถูกต้องประมาณ 31 รายและพลาดผู้ป่วย 9 ราย CAM-ICU จะประเมินว่าผู้ป่วย 3 รายมีอาการเพ้อทั้งๆ ที่จริงๆไม่ได้มีอาการเพ้อ

ผลของการศึกษาในการทบทวนนี้มีความน่าเชื่อถือเป็นอย่างไร

แม้ว่าความเสี่ยงของการมีอคติต่ำและมีผู้เข้าร่วมในการศึกษาที่รวบรวมไว้จำนวนมาก แต่เราไม่แน่ใจเกี่ยวกับผลลัพธ์เนื่องจากความแตกต่างระหว่างการศึกษาในวิธีการทดสอบและในการตีความการเปรียบเทียบตาม 'มาตรฐาน'

ผลของการตรวจสอบนี้มีผลกับใครบ้าง

เราดูเฉพาะเอกสารที่ศึกษาการทดสอบ CAM-ICU เมื่อนำมาใช้ในบริบทการพยาบาลวิกฤต CAM-ICU ใช้ในบริบทการพยาบาลอื่น ๆ แต่นั่นไม่ใช่จุดสำคัญของการทบทวนนี้

การทบทวนวรรณกรรมนี้เป็นปัจจุบันแค่ไหน

การค้นหาวรรณกรรมของเรารวมบทความที่ตีพิมพ์จนถึง 8 กรกฎาคม 2022

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

เครื่องมือ CAM-ICU อาจมีบทบาทในการระบุอาการเพ้อตั้งแต่เนิ่นๆ ในผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในห้องผู้ป่วยหนัก รวมถึงผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ เมื่อบุคลากรทางคลินิกที่ไม่เชี่ยวชาญและได้รับการฝึกอบรมอย่างเหมาะสมในการใช้ CAM-ICU การทดสอบนี้มีประโยน์มากที่สุดสำหรับการคัดเลือกคนที่ไม่มีอาการเพ้อออก การทดสอบอาจพลาดสัดส่วนของผู้ป่วยที่มีอาการเพ้อ ดังนั้นในสถานการณ์ที่ต้องการตรวจให้พบผู้ที่มีอาการเพ้อทั้งหมด อาจเป็นการดีที่สุดที่จะทำการทดสอบซ้ำหรือรวม CAM-ICU เข้ากับการประเมินอื่น การศึกษาในอนาคตควรเปรียบเทียบการทดสอบคัดกรองต่างๆ ที่เสนอสำหรับการประเมินภาวะเพ้อข้างเตียง (bedside assessment of delirium) เนื่องจากแนวทางนี้จะทำให้ทราบว่าเครื่องมือใดให้ความแม่นยำที่เหนือกว่า นอกจากนี้ การศึกษาในอนาคตควรพิจารณาและรายงานขั้นตอนและช่วงเวลาของการทดสอบ และรายงานลักษณะสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกผู้ป่วยอย่างชัดเจน สุดท้ายนี้ การวิจัยในอนาคตควรมุ่งเน้นไปที่ผลกระทบของการตรวจคัดกรอง CAM-ICU ต่อผลลัพธ์ของผู้ป่วย

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

อาการเพ้อคือกลุ่มอาการทางคลินิกที่ได้รับการวินิจฉัยต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งอาการแสดงให้เห็นโดยการเปลี่ยนแปลงสภาวะทางจิตอย่างเฉียบพลัน เป็นปัญหาสำคัญในหอผู้ป่วยวิกฤตและหอผู้ป่วยหนัก (intensive care units; ICU) เนื่องจากมีความชุกสูงและมีความสัมพันธ์กับผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ อาการเพ้อเป็นภาวะที่น่าวิตกมากสำหรับผู้ป่วย โดยมีผลกระทบอย่างมากต่อความเป็นอยู่ที่ดีของผู้ป่วย การวินิจฉัยอาการเพ้อในสถานการณ์วิกฤตถือเป็นเรื่องท้าทาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจและไม่สามารถสัมภาษณ์ด้วยวาจาหรือตอบคำถามได้

วิธีประเมินความสับสนสำหรับหอผู้ป่วยหนัก (Confusion Assessment Method for the Intensive Care Unit; CAM-ICU) เป็นเครื่องมือที่ได้รับการออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อประเมินภาวะเพ้อในบริบทของผู้ป่วย ICU รวมถึงผู้ที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ CAM-ICU สามารถใช้โดยผู้ที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ผลว่ามีอาการเพ้อหรือไม่แบบสองตัวเลือกคือ มีหรีอไม่มีอาการเพ้อ

วัตถุประสงค์: 

เพื่อตรวจสอบความแม่นยำในการวินิจฉัยของ CAM-ICU สำหรับการวินิจฉัยอาการเพ้อในผู้ป่วยผู้ใหญ่ในหอผู้ป่วยวิกฤต

วิธีการสืบค้น: 

เราค้นหาใน MEDLINE (Ovid SP, 1946 ถึง 8 กรกฎาคม 2022), Embase (Ovid SP, 1982 ถึง 8 กรกฎาคม 2022), Web of Science Core Collection (ISI Web of Knowledge, 1945 ถึง 8 กรกฎาคม 2022), PsycINFO (Ovid SP, 1806 ถึง 8 กรกฎาคม 2022) และ LILACS (BIREME, 1982 ถึง 8 กรกฎาคม 2022) เราตรวจสอบรายการอ้างอิงของการศึกษาที่รวบรวมไว้และแหล่งข้อมูลอื่น ๆ สำหรับการศึกษาเพิ่มเติมที่อาจเกี่ยวข้อง นอกจากนี้เรายังค้นหาฐานข้อมูล Health Technology Assessment, Cochrane Library, Aggressive Research Intelligence Facility, WHO ICTRP, ClinicalTrials.gov และเว็บไซต์ของสมาคมวิทยาศาสตร์เพื่อเข้าถึงการประชุมประจำปีและบทคัดย่อของการดำเนินการประชุมในสาขานั้น

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวมการศึกษาเกี่บวกับวินิจฉัยที่ลงทะเบียนผู้ป่วย ICU ที่เป็นผู้ใหญ่ซึ่งประเมินโดยใช้เครื่องมือ CAM-ICU โดยไม่คำนึงถึงภาษาหรือสถานะการตีพิมพ์ และการรายงานข้อมูลที่เพียงพอเกี่ยวกับการวินิจฉัยอาการเพ้อสำหรับการสร้างตาราง 2 x 2 การศึกษาที่เข้าเกณฑ์จะประเมินประสิทธิภาพการวินิจฉัยของ CAM-ICU เทียบกับมาตรฐานอ้างอิงทางคลินิกโดยอิงตามการทำซ้ำเกณฑ์ของ คู่มือการวินิจฉัยและสถิติของความผิดปกติทางจิต (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders) ( DSM ) ที่ใช้โดยผู้เชี่ยวชาญทางคลินิก

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ทบทวน 2 คนเลือกและเปรียบเทียบข้อมูลการศึกษาโดยอิสระต่อกัน เราประเมินคุณภาพระเบียบวิธีของการศึกษาโดยใช้เครื่องมือ QUADAS-2 เราใช้ univariate fixed-effect หรือ random-effects models 2 แบบนี้เพื่อกำหนดการประมาณค่าสรุปของความไวและความจำเพาะ เราทำการวิเคราะห์ความไวที่ไม่รวมการศึกษาที่ถือว่ามีความเสี่ยงของการมีอคติสูงและมีข้อกังวลสูงในการนำไปใช้ ส่วนใหญ่เนื่องจากประชากรเป้าหมายที่รวมอยู่ (เช่น ผู้ป่วยที่มีอาการบาดเจ็บที่สมอง) นอกจากนี้เรายังตรวจสอบแหล่งที่มาของความหลากหลาย โดยประเมินผลของการใช้การวินิจฉัยมาตรฐานอ้างอิงและสัดส่วนของผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ

ผลการวิจัย: 

เรารวบรวมการศึกษา 25 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 2817 คน) อายุเฉลี่ยของผู้เข้าร่วมอยู่ระหว่าง 48 ถึง 69 ปี การศึกษา 15 ฉบับ ประกอบด้วยหน่วยการดูแลวิกฤตที่รับประชากรคละ (เช่น ทางอายุรกรรม การบาดเจ็บ ผู้ป่วยศัลยกรรม) เปอร์เซ็นของผู้ป่วยที่มีการใช้เครื่องช่วยหายใจอยู่ระหว่าง 11.8% ถึง 100% ความชุกของอาการเพ้อในการศึกษานี้อยู่ระหว่าง 12.5% ​​ถึง 83.9% การมีงอาการเพ้อถูกกำหนดโดยการใช้เกณฑ์ DSM-IV ในการศึกษาที่รวบรวมไว้ 13 รายการจาก 25 รายการ เราประเมินการศึกษา 13 ฉบับว่ามีความเสี่ยงของการมีอคติต่ำและข้อกังวลต่ำในเรื่องการนำไปประยุกต์ใช้ต่ำสำหรับโดเมน QUADAS-2 ทั้งหมด ปัญหาที่พบบ่อยที่สุดคือขั้นตอนและระยะเวลาของการทดสอบ ตามด้วยการเลือกผู้ป่วย

โดยรวมแล้ว เราประเมินความไวรวมที่ 0.78 (ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) 0.72 ถึง 0.83) และความจำเพาะรวมที่ 0.95 (95% CI 0.92 ถึง 0.97)

การวิเคราะห์ความไวจำกัดเฉพาะการศึกษาที่มีความเสี่ยงต่ำของอคติและไม่ต้องกังวลเรื่องการนำไปประยุกต์ใช้ (การศึกษา 13 ฉบับ) ให้ดัชนีความแม่นยำในการสรุปที่คล้ายกัน (ความไว 0.80 (95% CI 0.72 ถึง 0.86), ความจำเพาะ 0.95 (95% CI 0.93 ถึง 0.97))

การวิเคราะห์กลุ่มย่อยตามการประเมินการวินิจฉัยพบการประมาณการโดยสรุปของความไวและความจำเพาะสำหรับการศึกษาโดยใช้ DSM-IV เท่ากับ 0.79 (95% CI 0.72 ถึง 0.85) และ 0.94 (95% CI 0.90 ถึง 0.96) สำหรับการศึกษาที่ใช้เกณฑ์ DSM-5 ค่าประมาณโดยสรุปของความไวและความจำเพาะคือ 0.75 (95% CI 0.67 ถึง 0.82) และ 0.98 (95% CI 0.95 ถึง 0.99) เกณฑ์ DSM ไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความไว (P = 0.421) แต่ความจำเพาะสำหรับการตรวจพบอาการเพ้อจะสูงกว่าเมื่อใช้เกณฑ์ DSM-5 (P = 0.024) ความจำเพาะสัมพัทธ์ที่เปรียบเทียบเกณฑ์ DSM-5 กับ DSM-IV คือ 1.05 (95% CI 1.02 ถึง 1.08)

ค่าประมาณโดยสรุปของความไวและความจำเพาะสำหรับการศึกษาที่รับผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ < 100% คือ 0.81 (95% CI 0.75 ถึง 0.85) และ 0.95 (95% CI 0.91 ถึง 0.98) สำหรับการศึกษาที่คัดเลือกเฉพาะผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ ค่าประมาณโดยสรุปของความไวและความจำเพาะคือ 0.91 (95% CI 0.76 ถึง 0.97) และ 0.98 (95% CI 0.92 ถึง 0.99) แม้ว่าจะมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับประสิทธิภาพที่แตกต่างกันของ CAM-ICU ในผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ แต่ความแตกต่างไม่มีนัยสำคัญในด้านความไว (P = 0.316) หรือในความจำเพาะ (P = 0.493)

บันทึกการแปล: 

แปลโดย พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี Edit โดย พ.ญ. ผกากรอง ลุมพิกานนท์ 12 กันยายน 2024

Tools
Information