วิธีการที่ไม่ใช่ยาสำหรับความกลัวการคลอดบุตร (tocophobia) ในการตั้งครรภ์

ใจความสำคัญ

แม้ว่าการรักษาที่ไม่ใช่ยาอาจลดระดับความกลัวของสตรีมีครรภ์ที่มีความกลัวการคลอดบุตรสูงไปจนถึงรุนแรงเมื่อเทียบกับการดูแลการตั้งครรภ์แบบมาตรฐาน แต่การลดลงอาจไม่ได้แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงระดับความกลัวอย่างมีนัยสำคัญ การรักษาที่ไม่ใช่ยาอาจลดจำนวนสตรีที่มีการผ่าตัดคลอด ซึ่งทารกคลอดโดยการผ่าตัด การวิจัยในอนาคตในด้านนี้ควรเน้นที่การวัดระดับความวิตกกังวลในสตรีที่มีความกลัวการคลอดบุตรสูงหรือรุนแรง

ความกลัวการคลอดบุตรคืออะไร

ความกลัวการคลอดบุตรอาจมีตั้งแต่ความกังวลเล็กน้อยและความวิตกกังวลเกี่ยวกับการคลอดบุตร ไปจนถึงความกลัวการคลอดบุตรอย่างรุนแรงซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อชีวิตของสตรี ทำให้เกิดความทุกข์และส่งผลต่อสุขภาพจิตของพวกเธอ ความกลัวการคลอดบุตรระดับสูงถึงรุนแรงอาจรวมถึงระดับความกลัวที่รุนแรงหรือที่เรียกว่า 'tocophobia'

เป็นเรื่องปกติสำหรับสตรีมีครรภ์ โดยเฉพาะมารดาที่คลอดบุตรเป็นครั้งแรก จะวิตกกังวล กลุ้มใจ หรือหวาดกลัวเกี่ยวกับการคลอดบุตร อย่างไรก็ตาม สตรีบางคนมีความกลัวสูงเกี่ยวกับการคลอดบุตร และจำนวนน้อยกว่านั้นกลัวการคลอดบุตรอย่างรุนแรง หรือ 'tocophobia' สตรีเหล่านี้:

- อาจมีความรู้สึกโดดเดี่ยว ความรู้สึกผิด และความละอาย อาจเลือกที่จะยุติการตั้งครรภ์ที่มีสุขภาพดี ปิดบังการตั้งครรภ์ หรือปฏิเสธเกี่ยวกับการตั้งครรภ์

- อาจพบว่าเป็นการยากที่จะเตรียมตัวสำหรับการคลอดหรือเข้าถึงข้อมูลการตั้งครรภ์เนื่องจากความกลัวและอาจประสบปัญหาในการผูกพันกับทารก

- อาจมีอาการนอนไม่หลับ, ฝันร้าย, ปวดท้อง, ซึมเศร้า และวิตกกังวล จนนำไปสู่การตื่นตระหนก

สตรีที่มีความกลัวการคลอดบุตรสูงไปจนถึงรุนแรงมีแนวโน้มที่จะมีการผ่าตัดคลอดตามแผนหรือฉุกเฉิน การคลอดด้วยเครื่องมือ และผลกระทบทางกายภาพที่เกี่ยวข้องกับความกลัว เช่น การเจ็บครรภ์เป็นเวลานาน สตรีที่กลัวการคลอดบุตรมากโดยไม่มีประวัติเป็นโรคซึมเศร้ามักจะมีอาการซึมเศร้าหลังคลอดมากกว่า

ความกลัวการคลอดบุตรได้รับการรักษาอย่างไร

สาเหตุของความกลัวการคลอดบุตรนั้นซับซ้อนและไม่ซ้ำกันสำหรับสตรีแต่ละคน ความกลัวการคลอดบุตรสูงหรือรุนแรงไม่เป็นที่รู้จักหรือมีไว้เพื่อการดูแลการคลอดบุตรในหลาย ๆ แห่งในโลก ต้องมีการตรวจสอบวิธีการรักษาความกลัวการคลอดบุตร

การรักษาที่มีประสิทธิผลจะช่วยให้สตรีมีความมั่นใจในความสามารถในการคลอดบุตร ให้แนวทางในการจัดการกับการเจ็บครรภ์ และช่วยในการตัดสินใจของพวกเธอในระหว่างตั้งครรภ์และกระบวนการคลอดบุตร

การรักษามีจุดมุ่งหมายเพื่อให้การช่วยเหลือเป็นพิเศษแก่สตรีและรวมถึง:

- การให้ความรู้ที่ละเอียดอ่อนเกี่ยวกับกระบวนการเกิด การพัฒนาทักษะการแก้ปัญหา;

- สอนกลวิธีรับมือการเจ็บครรภ์คลอด

- และยืนยันว่าเหตุการณ์การคลอดบุตรเชิงลบสามารถจัดการได้

เราต้องการทราบอะไร

เราต้องการค้นหาว่าการรักษาที่ไม่ใช้ยา (ไม่ใช่ยา) ดีกว่าการดูแลการคลอดบุตรแบบมาตรฐานสำหรับสตรีมีครรภ์ในแง่ของ:

- ลดระดับความกลัวของสตรี โดยวัดจากแบบสอบถามที่ใช้กันแพร่หลายในเรื่องความกลัวการคลอดบุตร;

- ลดจำนวนสตรีที่ต้องผ่าคลอด

- ลดความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า

เราได้ทำอะไร

เราสืบค้นการศึกษาที่ศึกษาการรักษาที่ไม่ใช้ยาเพื่อลดความกลัวการคลอดบุตร เราเปรียบเทียบและสรุปผลการศึกษา และให้คะแนนความเชื่อมั่นของเราในหลักฐาน โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆเช่น วิธีการศึกษาและขนาดของการศึกษา

เราพบอะไร

เราพบการศึกษา 7 รายการที่เกี่ยวข้องกับสตรีมีครรภ์ 1357 คน ที่มีความกลัวการคลอดบุตรสูงถึงขั้นรุนแรง ซึ่งรวมถึง tocophobia การศึกษาได้ศึกษาการรักษาประเภทต่างๆ ได้แก่:

- การให้สุขภาพจิตศึกษา (รูปแบบการให้ความรู้ที่มีโครงสร้างสำหรับผู้ที่มีภาวะสุขภาพจิต)

- การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม ('การบำบัดด้วยการพูดคุย' ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยค้นพบและเปลี่ยนรูปแบบความคิดที่แฝงอยู่)

- การสนทนากลุ่ม การสอนแบบเพื่อนจากสตรีมีครรภ์คนอื่นๆ

- และศิลปะบำบัด

การศึกษาดำเนินการใน 5 ประเทศที่แตกต่างกัน (ออสเตรเลีย อิหร่าน, สวีเดน, ฟินแลนด์ และตุรกี)

เราพบว่าการรักษาที่ไม่ใช่ยา:

- อาจลดความกลัวการคลอดบุตรเมื่อวัดจากแบบสอบถามที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย แม้ว่าการลดลงอาจไม่ได้แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงระดับความกลัวของสตรีที่มีความหมาย

- อาจลดจำนวนสตรีที่ไปผ่าตัดคลอด (28% ของสตรีที่ไม่ได้รับการรักษาด้วยยามีการผ่าตัดคลอด เทียบกับ 40% ของสตรีที่ไม่ได้รับการรักษาเพราะกลัวการคลอดบุตร)

- อาจสร้างความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่แตกต่างเมื่อเปรียบเทียบกับการดูแลการคลอดบุตรแบบมาตรฐานในแง่ของคะแนนภาวะซึมเศร้าของสตรี

อะไรคือข้อจำกัดของหลักฐาน

ความเชื่อมั่นในหลักฐานของเรามีจำกัด เนื่องจากการศึกษาดำเนินการในลักษณะที่ผลลัพธ์อาจไม่ถูกต้อง และเนื่องจากมีสตรีในการศึกษาจำนวนน้อย

หลักฐานนี้เป็นปัจจุบันแค่ไหน

หลักฐานในการตรวจสอบนี้เป็นข้อมูลล่าสุดจนถึงเดือนกรกฎาคม 2020

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

ผลของวิธีการที่ไม่ใช่ยาสำหรับสตรีที่มีความกลัวการคลอดบุตรสูงถึงรุนแรงในแง่ของการลดความกลัวนั้นไม่มีความเชื่อมั่น ความกลัวการคลอดบุตรที่วัดโดย W-DEQ อาจลดลง แต่ไม่เชื่อมั่นว่าสิ่งนี้แสดงถึงการลดความกลัวทางคลินิกที่มีความหมายหรือไม่ ภาวะซึมเศร้าอาจแตกต่างกันเล็กน้อยหรือไม่แตกต่าง แต่อาจมีการลดลงในการผ่าตัดคลอด การทดลองในอนาคตควรมีสตรีจำนวนที่เพียงพอและวัดความพึงพอใจและความวิตกกังวลในการคลอด

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

สตรีหลายคนกลัวการคลอดบุตร (FOC) แม้ว่าความกลัวเกี่ยวกับการคลอดบุตรอาจเป็นเรื่องปกติในระหว่างตั้งครรภ์ แต่สตรีบางคนมี FOC สูงถึงรุนแรง ที่สุดของระดับความกลัวคือ tocophobia ซึ่งถือเป็นภาวะเฉพาะ ที่อาจทำให้เกิดความทุกข์ ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ที่ดีในระหว่างตั้งครรภ์และขัดขวางการเปลี่ยนไปสู่การเป็นพ่อแม่ มีการทดลองวิธีการต่างๆ เพื่อสนับสนุนสตรีในการลดและจัดการ FOC ที่สูงถึงรุนแรง ซึ่งรวมถึง tocophobia

วัตถุประสงค์: 

เพื่อตรวจสอบประสิทธิผลของวิธีการที่ไม่ใช่ยาในการลดความกลัวการคลอดบุตร (FOC) เปรียบเทียบกับการดูแลการคลอดบุตรแบบมาตรฐานในสตรีตั้งครรภ์ที่มี FOC สูงถึงรุนแรง รวมทั้ง tocophobia

วิธีการสืบค้น: 

ในเดือนกรกฎาคม 2020 เราได้ทำการสืบค้นงานวิจัยจากฐานข้อมูล Cochrane Pregnancy and Childbirth Group's Trials Register, ClinicalTrials.gov, the World Health Organization (WHO) International Clinical Trials Registry Platform (ICTRP) และรายการเอกสารอ้างอิงของงานวิจัยที่สืบค้นได้ เราได้ติดต่อนักวิจัยของการทดลองที่ลงทะเบียนแล้วและดูเหมือนว่าจะยังดำเนินอยู่

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวมการทดลองทางคลินิกแบบสุ่มซึ่งคัดเลือกสตรีตั้งครรภ์ที่มี FOC สูงหรือรุนแรง (ตามที่กำหนดไว้ในการทดลองแต่ละฉบับ) สำหรับการรักษาที่มุ่งลด FOC ผู้ประพันธ์การทบทวนวรรณกรรม 2 คนคัดกรองและเลือกจากชื่อเรื่องและบทคัดย่อเพื่อรวมเข้าการทบทวนอย่างอิสระต่อกัน การวิจัยแบบ Quasi-RCTs และ cross-over trialsไม่ได้ร่วมในการศึกษานี้

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

เราใช้วิธีการมาตรฐานตามคำแนะนำของ Cochrane ผู้ประพันธ์การทบทวนวรรณกรรม 2 คน คัดลอกข้อมูลและประเมินความเสี่ยงของการมีอคติของการศึกษาอย่างเป็นอิสระต่อกัน ผู้ประพันธ์การทบทวนคนที่ 3 ตรวจสอบการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อความถูกต้อง เราใช้ GRADE เพื่อประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐาน ผลลัพธ์หลักคือการลด FOC ผลลัพธ์รอง ได้แก่ การผ่าตัดคลอด, ภาวะซึมเศร้า, การเลือกการคลอดโดยการผ่าคลอดหรือการคลอดทางช่องคลอดเอง และการใช้ epidural

ผลการวิจัย: 

เรารวมการทดลอง 7 รายการ มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 1357 คน วิธีการรวมถึง การให้สุขภาพจิตศึกษา, การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม, การอภิปรายกลุ่ม, การให้ความรู้แบบเพื่อนช่วยเพื่อน และศิลปะบำบัด

เราตัดสินการศึกษา 4 รายการว่ามีความเสี่ยงของการมีอคติสูงหรือไม่ชัดเจนในประเด็น allocation concealment; เราตัดสินว่าการศึกษา 3 รายการว่ามีความเสี่ยงของการมีอคติสูงในประเด็น incomplete outcome data; และในการศึกษาทั้งหมด มีความเสี่ยงของการมีอคติสูงเนื่องจากขาดการปกปิด เราลดระดับความเชื่อมั่นของหลักฐานเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงของการมีอคติ, ความไม่แม่นยำ และไม่สอดคล้องกัน ไม่มีการศึกษาใดรายงานข้อมูลเกี่ยวกับความวิตกกังวลของสตรี

การเข้าร่วมวิธีการที่ไม่ใช่ทางยาอาจลดระดับความกลัวการคลอดบุตร ตามที่วัดโดย Wijma Delivery Expectancy Questionnaire (W-DEQ) แต่การลดลงอาจไม่มีความหมายทางคลินิก (ความแตกต่างเฉลี่ย (MD) -7.08, ช่วงความเชื่อมั่น 95% ( CI) -12.19 ถึง -1.97; 7 การศึกษา, สตรี 828 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) เครื่องมือ W-DEQ ได้คะแนนตั้งแต่ 0 ถึง 165 (คะแนนสูงขึ้น = ความกลัวมากขึ้น)

วิธีการที่ไม่ใช่ยาอาจลดจำนวนสตรีที่ต้องผ่าตัดคลอด (RR 0.70, 95% CI 0.55 ถึง 0.89; 5 การศึกษา, สตรี 557 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง)

อาจมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่าง ระหว่างวิธีการที่ไม่ใช่ยาและการดูแลตามปกติในคะแนนภาวะซึมเศร้าที่วัดด้วย Edinburgh Postnatal Depression Scale (EPDS) (MD 0.09, 95% CI -1.23 ถึง 1.40; 2 การศึกษา, สตรี 399 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) เครื่องมือ EPDS มีคะแนนตั้งแต่ 0 ถึง 30 (คะแนนสูงขึ้น = ความซึมเศร้ามากขึ้น)

วิธีการที่ไม่ใช่ยาอาจทำให้สตรีจำนวนน้อยลงที่ต้องการการผ่าตัดคลอด (RR 0.37, 95% CI 0.15 ถึง 0.89; 3 การศึกษา, สตรี 276 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง)

วิธีการที่ไม่ใช่ยาอาจเพิ่มการใช้ epidural เมื่อเทียบกับการดูแลตามปกติ แต่ 95% CI รวมถึงความเป็นไปได้ของการลดการใช้ epidural (RR 1.21, 95% CI 0.98 ถึง 1.48; 2 การศึกษา, สตรี 380 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ)

บันทึกการแปล: 

แปลโดย ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 12 กรกฏาคม 2021

Tools
Information