การใส่ยาฝังคุมกำเนิดในคราวเดียวกับการแท้งหรือการฝังยาภายหลังเมื่อมาตรวจติดตามผล

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม

เราเปรียบเทียบอัตราการเริ่ม ประสิทธิผล และผลข้างเคียงของการใส่ยาฝังคุมกำเนิด (การฝังยาเพื่อการคุมกำเนิด) ในคราวเดียวกันกับการแท้งกับการใส่ยาฝังภายหลังเมื่อมาตรวจติดตามผล

ความเป็นมา

ยาฝังคุมกำเนิดเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูงซึ่งสามารถเลิกคุมกำเหนิดได้และให้การป้องกันการตั้งครรภ์เป็นระยะเวลานาน วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้หญิงเกือบทุกคน รวมถึงสตรีที่การตั้งครรภ์จบลงด้วยการกำจัดหรือขับออก เนื่องจากสตรีจำนวนมากไม่กลับมาติดตามผลภายหลังการแท้งและมีอัตราการใช้การคุมกำเนิดต่ำ การใส่ยาฝังคุมกำเนิดในครั้งเดียวกันกับการแท้งจึงเป็นแนวทางที่น่าจะได้ผลดีและสมควรได้รับการพิจารณา

ลักษณะของการศึกษา

เราค้นหาการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (การศึกษาที่ผู้เข้าร่วมได้รับการสุ่มให้เข้าร่วมกลุ่มการรักษากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจากสองกลุ่มขึ้นไป) จนถึงเดือนมีนาคม 2021 เราพิจารณาว่าการใส่ยาฝังคุมกำเนิดในครั้งเดียวกันกับการแท้ง เมื่อเทียบกับการใส่ยาฝังเวลาที่สตรีกลับมาตรวจติดตามผลส่งผลต่อการใช้วิธีการคุมกำเนิดนี้หรือไม่ เรารวมการศึกษา 3 เรื่องโดยมีสตรีทั้งหมด 1162 คนที่เลือกการคุมกำเนิดแบบฝังหลังจากการแท้งที่ถูกกำหนดให้ใส่ทันทีหรือใส่เมื่อนัดติดตามผล

ผลลัพธ์ที่สำคัญ

การใช้การฝังคุมกำเนิดอาจสูงขึ้นเมื่อใส่ในขณะเดียวกันกับการแท้ง หลักฐานแสดงให้เห็นว่าการใส่ยาทันทีอาจช่วยปรับปรุงการเริ่มต้นของการฝังยาคุมกำเนิด อย่างไรก็ตาม การใส่ทันทีอาจเพิ่มอัตราการใช้เล็กน้อยใน 6 เดือน ดูเหมือนว่าจะมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยระหว่างกลุ่มในอัตราความล้มเหลวโดยรวมของการแท้งด้วยยาและผลข้างเคียงเกี่ยวกับการมีเลือดออกในหนึ่งเดือนหลังการแท้ง หลักฐานยังบ่งชี้ว่าการใส่ยาคุมกำเนิดทันทีอาจลดอัตราการตั้งครรภ์ที่ไม่ได้ตั้งใจภายใน 6 เดือนหลังการแท้ง

ความเชื่อมั่นของหลักฐาน

โดยรวมแล้ว ความเชื่อมั่นของหลักฐานอยู่ในระดับปานกลางถึงต่ำมาก การทดลองที่มีกลุ่มควบคุมแบบสุ่มที่มีคุณภาพดีและได้รับการออกแบบมาอย่างดีเพิ่มเติมจะให้ผลลัพธ์ที่มีความหมายกับอัตราการตั้งครรภ์ที่ไม่ได้ตั้งใจ และผลข้างเคียงหลังการฝังอุปกรณ์คุมกำเนิดในการตรวจเดียวกันกับการแท้ง เมื่อเทียบกับการใส่ภายใน 6 สัปดาห์หลังจากนั้น

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

การฝังยาที่ปล่อยโปรเจสตินร่วมกับสารทำแท้งมีแนวโน้มว่าจะส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีผลเลยต่ออัตราความล้มเหลวโดยรวมของการทำแท้งด้วยยา การใส่ยาฝังทันทีอาจช่วยเพิ่มอัตราการเริ่มของยาฝังคุมกำเนิด เช่นเดียวกับอัตราการตั้งครรภ์ที่ไม่ได้ตั้งใจภายใน 6 เดือนหลังการแท้ง เมื่อเทียบกับการใส่แบบภายหลัง อาจไม่มีความแตกต่างระหว่างวิธีการใส่ยาฝังทันทีและภายหลังในผลข้างเคียงที่มีเลือดออกใน 1 เดือนหลังการแท้ง

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

การฝังยาคุม เป็นหนึ่งในวิธีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยสามารถป้องกันการตั้งครรภ์เป็นระยะเวลานานและมีความปลอดภัยสูง ดังนั้นวิธีนี้จึงเหมาะสำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพในการเว้นช่วงห่างของการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสตรีที่แท้ง

สตรีที่แท้งมีความเสี่ยงสูงที่จะตั้งครรภ์ซ้ำอย่างรวดเร็ว การให้บริการการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพในการมาสถานพยาบาลด้วยเรื่องแท้งอาจเป็นกลยุทธ์สำคัญในการเพิ่มการเข้าถึงและการรับการคุมกำเนิด จำเป็นต้องมีการทบทวนหลักฐานเพื่อประเมินยาคุมกำเนิดแบบฝังที่ปล่อยโปรเจสตินเพื่อให้บริการทันทีในขณะที่แท้ง ซึ่งรวมถึงการฝังยาทันทีว่าส่งผลต่อประสิทธิผลของการทำให้แท้งด้วยยาต้านโปรเจสตินหรือไม่

วัตถุประสงค์: 

เพื่อเปรียบเทียบอัตราการเริ่มใช้ยาฝังคุมกำเนิด ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด และผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับยาฝังคุมกำเนิดแบบทันทีและแบบภายหลังหลังการแท้ง

วิธีการสืบค้น: 

เราค้นหาการศึกษาที่เกี่ยวข้องทั้งหมดโดยไม่คำนึงถึงภาษาหรือสถานะสิ่งพิมพ์จนถึงเดือนกันยายน 2019 โดยมีการอัปเดตการค้นหาในเดือนมีนาคม 2021 เราค้นหา Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL) (Ovid EBM Reviews), MEDLINE ALL (Ovid), Embase.com, CINAHL (EBSCOhost) (Cumulative Index to Nursing and Allied Health Literature), Global Health (Ovid), LILACS (Latin American and Caribbean Health Science Information databas), Scopus, ClinicalTrials.gov และ WHO ICTRP เราตรวจสอบรายการอ้างอิงของบทความที่เกี่ยวข้องเพื่อระบุการศึกษาอื่นๆ

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เราค้นหาการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ (RCTs) ที่เปรียบเทียบการใส่ยาฝังคุมกำเนิดแบบทันทีและแบบภายหลังสำหรับการคุมกำเนิดหลังการแท้ง

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

เราปฏิบัติตามขั้นตอนมาตรฐานที่แนะนำโดย Cochrane ในการระบุการศึกษาที่อาจมีความเกี่ยวข้อง ผู้ทบทวนสองคน (JS, LS) ได้คัดกรองชื่อ บทคัดย่อ และบทความฉบับเต็ม ของผลการค้นหาอย่างอิสระต่อกัน ประเมินการทดลองในเรื่องความเสี่ยงของอคติ และดึงข้อมูล เราคำนวณอัตราส่วนความเสี่ยง (RR) ด้วยช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) สำหรับผลลัพธ์ไบนารี และความแตกต่างเฉลี่ย (MD) กับ CI 95% สำหรับตัวแปรต่อเนื่อง

ผลการวิจัย: 

เราพบ RCTs 3 ฉบับ ผู้เข้าร่วมการศึกษาทั้งหมด 1162 คน การประเมินระดับ GRADE ของเราเกี่ยวกับความแน่นอนโดยรวมของหลักฐานมีตั้งแต่ปานกลางถึงต่ำมาก ลดระดับความเชื่อมั่น เนื่อจากความเสี่ยงของการมีอคติ ความไม่สอดคล้องกัน และความไม่แม่นยำ

อัตราการใช้ที่ 6 เดือนอาจสูงขึ้นเล็กน้อยในทันทีเมื่อเทียบกับการสอดใส่ที่ล่าช้า (RR 1.10, 95% CI 1.05 ถึง 1.15; RCT 3 เรื่อง; สตรี 1103 คน; I 2 = 62%; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) การตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจภายใน 6 เดือนหลังการแท้งอาจลดลงด้วยการใส่ยาคุมชนิดฝังทันทีเมื่อเปรียบเทียบกับการสอดใส่แบบภายหลัง (RR 0.25, 95% CI 0.08 ถึง 0.77; RCT 3 เรื่อง; สตรี 1029 คน; I 2 = 0%; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) การใส่ยาฝังคุมกำเนิดทันทีอาจช่วยเพิ่มอัตราการเริ่มต้นเมื่อเทียบกับการใส่ยาฝังคุมกำเหนิดภายหลังการแท้ง (RR 1.26 สำหรับการแท้งด้วยยา, 95% CI 1.21 ถึง 1.32; RCT 2 เรื่อง; สตรี 1,014 คน; I 2 = 89%; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) และอาจ ปรับปรุงการเริ่มต้นคุมกำเหนิดหลังการทำแท้งด้วยการผ่าตัด (RR 2.32 สำหรับการทำแท้งด้วยการผ่าตัด, 95% CI 1.79 ถึง 3.01 สตรี; 1 RCT; 148 คน; I 2 = ไม่เกี่ยวข้อง; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ เราไม่ได้รวบรวมผลลัพธ์สำหรับผลการเริ่มต้นฝังยาคุมสำหรับการแท้งทั้งสองประเภท เนื่องจากมีความแตกต่างทางสถิติสูงมาก

สำหรับการยุติการตั้งครรภ์ด้วยยา เราพบว่าอาจมีหรือไม่มีความแตกต่างระหว่างการให้ทันทีและภายหลังในความล้มเหลวโดยรวมของการแท้งด้วยยา (RR 1.18, 95% CI 0.58 ถึง 2.40; RCT 2 เรื่อง; สตรี 1001 คน; I 2 = 68%;หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง)

อัตราการเลือดออกผิดปกติในหนึ่งเดือนหลังการฝังยาทันทีและภายหลังอาจไม่มีความแตกต่างกัน (RR 1.00, 95% CI 0.88 ถึง 1.14; 1 RCT; สตรี 462 คน; I 2 = ไม่เกี่ยวข้อง; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ)

บันทึกการแปล: 

แปลโดย พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว Edit โดย ผกากรอง 6 พฤศจิกายน 2022

Tools
Information