มีหลักฐานอะไรบ้างที่ชุดการดูแลช่วยปรับปรุงผลลัพธ์สำหรับผู้ป่วยโควิด -19 ในการดูแลผู้ป่วยหนัก

Care Bundles คืออะไร?

Care Bundles คือชุดวิธีการปฏิบัติในการดูแล ที่ดำเนินการร่วมกัน (เป็นชุด) เมื่อให้การดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะเดียวกันหรือในสถานพยาบาลเดียวกัน โดยปกติจะมีการปฏิบัติ 3 ถึง 5 รายการในชุด การปฏิบัติอาจรวมถึงการดูแลผู้ป่วยในด้านใดก็ได้ ตัวอย่างเช่น ชุดอาจมีคำแนะนำในการใส่ท่อหายใจ การตั้งค่าเครื่องช่วยหายใจ และการดูแลผู้ป่วยที่มีการช่วยหายใจ การปฏิบัติทั้งหมดเป็นแบบ 'ตามหลักฐาน' กล่าวคือตั้งอยู่บนหลักฐานที่แสดงว่ามีประโยชน์

เหตุใดชุดการดูแลจึงอาจช่วยได้

ผู้ที่ติดเชื้อ COVID-19 บางคนอาจป่วยหนักและต้องได้รับการดูแลอย่างเข้มข้น พวกเขาจะต้องมีการช่วยหายใจ (หายใจ) และอาจต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ ข้อมูลล่าสุดชี้ให้เห็นว่าประมาณ 26% ของผู้ป่วย COVID-19 ทั่วโลกเข้ารับการรักษาในห้องผู้ป่วยหนัก (ICU) และในจำนวนนี้เกือบ 1 ใน 3 เสียชีวิต

สำหรับผู้ที่เป็นโรค COVID-19 และอาการที่เกี่ยวข้อง (เช่น โรคปอดบวมจากเชื้อไวรัสซึ่งทำให้หายใจลำบากเช่นกัน) การใช้ชุดการดูแล จะหมายความว่าผู้ปฏิบัติงานต้องปฏิบัติในการดูแลเป็นชุดในแต่ละครั้ง การนำแนวทางปฏิบัติไปปฏิบัติร่วมกันแทนที่จะเป็นแบบเดี่ยว ควรส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับผลลัพธ์ที่ดีขึ้น การใช้ชุดการดูแลควรลดความแตกต่างในการให้การดูแล และสามารถปรับปรุงการทำงานเป็นทีมที่จำเป็นในการให้การดูแลที่มีคุณภาพสูง ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยมีผลลัพธ์ที่ดีขึ้นด้วย

วัตถุประสงค์ของการทบทวนวรรณกรรม

องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ทำการตรวจสอบการทบทวนวรรณกรรมเพื่อกำหนด 'ขอบเขต' นี้เพื่อระบุจำนวนและประเภทของหลักฐานที่มีอยู่ เกี่ยวกับการใช้ชุดการดูแลสำหรับผู้ป่วยในห้อง ICU ที่ป่วยจาก COVID-19, กลุ่มอาการทางเดินหายใจเฉียบพลัน (ARDS) หรือ โรคปอดบวมจากเชื้อไวรัส เราต้องการค้นหาและบรรยายการศึกษาที่ทำขึ้น และสิ่งที่ได้ประเมิน แต่ไม่ใช่เพื่อประเมินคุณภาพหรือวิเคราะห์สิ่งที่ค้นพบเหมือนที่เรามักจะทำในการทบทวนวรรณกรรมมาตรฐาน WHO ต้องการใช้การทบทวนวรรณกรรมนี้เพื่อช่วยพัฒนาแนวปฏิบัติ ดังนั้นเราจึงจัดทำอย่างรวดเร็วในช่วง 3 สัปดาห์ตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคมถึง 18 พฤศจิกายน 2020

เราค้นหาและจัดทำแผนที่หลักฐานได้อย่างไร?

เราสืบค้นการศึกษาทุกประเภทที่รายงานเกี่ยวกับผู้ป่วยที่ป่วยหนักด้วย COVID-19, ARDS หรือโรคปอดบวมจากไวรัสในห้อง ICU ซึ่งมีการใช้ชุดการดูแล โดยผู้เข้าร่วมการศึกษาวิจัยสามารถมาได้จากทุกช่วงอายุ ชุดการดูแลอาจรวมถึงการปฏิบัติใด ๆ แต่ต้องมีอย่างน้อย 3 รายการในชุด โดยต้องอิงตามหลักฐานและดำเนินการพร้อมกันในลักษณะเดียวกันในแต่ละครั้ง

เราจัดกลุ่มการศึกษาตามสภาวะสุขภาพของผู้เข้าร่วม: ยืนยันหรือสงสัย COVID-19; ARDS; โรคปอดบวมจากเชื้อไวรัส ระบบหายใจล้มเหลวอย่างรุนแรง และผู้ป่วยที่มีภาวะต่างๆเหล่านี้

เราพบอะไร?

เรารวบรวม RCTs 21 รายการ และพบว่ามีการศึกษา 3 รายการกำลังดำเนินการอยู่ การศึกษาได้ดำเนินการใน 8 ประเทศ มากที่สุดในจีนและสหรัฐอเมริกา และเผยแพร่ระหว่างปี 1999 ถึง 2020 ผู้เข้าร่วมทั้งหมดกว่า 2,000 คนในการศึกษา การศึกษา 7 รายการทำในผู้ป่วยที่เป็น COVID-19, 7 รายการที่มี ARDS, 5 รายการที่เป็นโรคปอดบวมจากเชื้อไวรัส 1 รายการในการหายใจล้มเหลวอย่างรุนแรง และอีก 1 รายการที่มีภาวะร่วมกัน

ลักษณะของชุดการดูแลมีความหลากหลาย แต่ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการดูแลที่เกี่ยวข้องกับการช่วยหายใจ หรือตั้งค่าเครื่องช่วยหายใจ หรือการจัดท่าของผู้ป่วย (เช่น คว่ำหน้า) สำหรับ ARDS และ COVID-19 การศึกษาเฉพาะโควิด -19 ยังเน้นไปที่การควบคุมการติดเชื้อและการใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ชุดการดูแลบางอย่างมีความจำเพาะกับส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น การดูแลดวงตา หรือผิวหนัง

'ช่องว่างของหลักฐาน' บางส่วนที่เราพบคือ การขาดกลุ่มการดูแลที่มุ่งเน้นไปที่การเตรียมผู้ป่วยออกจากห้องไอซียู การป้องกันการติดเชื้อที่เกิดจากการให้ยาทางหลอดเลือดดำ (โดยการหยด) และผลกระทบในระยะยาวของ COVID-19 ไม่มีการศึกษาใดที่พิจารณาถึงประสบการณ์ของบุคลากรทางการแพทย์ในการปรับชุดการดูแล

ผลสรุปจากผู้ประพันธ์

ข้อมูลเฉพาะสำหรับผู้ป่วย COVID-19 ที่เปรียบเทียบผู้ป่วยที่ได้รับชุดการดูแลและไม่ได้รับชุดการดูแลมีจำกัด และจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม นอกจากนี้เรายังต้องการข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการใช้ชุดการดูแลที่ดีที่สุดในทางปฏิบัติและปัญหาที่อาจเกี่ยวข้องกับสิ่งนี้ จำเป็นต้องมีการทบทวนวรรณกรรมต่างหากเพื่อประเมินคุณภาพของหลักฐานที่เราพบในการทบทวนวรรณกรรมนี้ และรวมและวิเคราะห์ข้อมูล

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

การทบทวนวรรณกรรมเพื่อกำหนดขอบเขตนี้ได้พบการศึกษา 21 รายการเกี่ยวกับการใช้ชุดการดูแลในผู้ป่วยหนักใน ICU ที่มี COVID-19, ARDS, ไวรัสไข้หวัดใหญ่หรือปอดบวมและการหายใจล้มเหลวอย่างรุนแรง ข้อมูลสำหรับผู้ป่วยที่เป็น COVID-19 โดยเฉพาะมีจำกัด โดยส่วนใหญ่มาจากการปรับปรุงคุณภาพเชิงสังเกตหรือจากประสบการณ์ทางคลินิก จำเป็นต้องมีการวิจัยโดยเร่งด่วน เพื่อประเมินการใช้ชุดการดูแลและส่วนประกอบที่เหมาะสมของชุดเหล่านี้ในกลุ่มผู้ป่วยนี้ ชุดการดูแลที่บรรยายไว้ยังแตกต่างกัน โดยมีคำแนะนำเกี่ยวกับการตั้งค่าเครื่องช่วยหายใจที่อธิบายไว้ในชุดการดูแล 10 ชุดในขณะที่เอกซเรย์ทรวงอกเป็นส่วนที่กล่าวถึงในชุดการดูแลเพียง 1 ชุดในการศึกษาเดียวเท่านั้น ไม่มีการศึกษาใดที่พบในการทบทวนวรรณกรรมแบบกำหนดขอบเขตนี้ วัดประสบการณ์ของผู้ใช้ในการปรับชุดการดูแล การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานชุดการดูแลจำเป็นต้องมีการใช้ส่วนประกอบของชุดการดูแลโดยรวมและใช้อย่างสม่ำเสมอ จำเป็นต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับความท้าทาย อุปสรรค และสิ่งสนับสนุน ในการดำเนินการ การสังเคราะห์ข้อมูลผลลัพธ์อย่างเป็นทางการที่นำเสนอในการทบทวนวรรณกรรมนี้และการประเมินหลักฐานที่สำคัญจำเป็นต้องมีโดยการทบทวนประสิทธิผลในภายหลัง การทบทวนครั้งต่อไปควรสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประมาณผลในการศึกษาที่รวบรวมนำเข้า

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

กลุ่มอาการทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง coronavirus 2 (SARS-CoV-2) สายพันธุ์ของ coronavirus ที่เป็นสาเหตุของโรคโคโรนาไวรัส 2019 (COVID-19) อาจทำให้เกิดการเจ็บป่วยที่รุนแรงในบางคน ส่งผลให้ต้องเข้าห้องผู้ป่วยหนัก (ICU) และบ่อยครั้ง ต้องการการช่วยหายใจ สำหรับภาวะหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน การประเมินการดูแลใน ICU และสิ่งที่มีประสิทธิผล ในการปรับปรุงผลสำหรับผู้ป่วยเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญ ชุดการดูแลซึ่งเป็นชุดเล็กๆ ของวิธีการตามหลักฐานเชิงประจักษ์ ที่จัดให้ร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ อาจช่วยปรับปรุงผลลัพธ์ของผู้ป่วย เพื่อให้ทราบขอบเขตของหลักฐานที่มีอยู่ เกี่ยวกับการใช้ชุดการดูแลในผู้ป่วย COVID-19 ในห้องไอซียู องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้มอบหมายให้มีการทบทวนวรรณกรรมเพื่อกำหนดขอบเขต เพื่อใช้ในการอภิปรายแนวปฏิบัติของ WHO การทบทวนวรรณกรรมนี้ไม่ได้ประเมินประสิทธิผลของสิ่งที่ค้นพบ ประเมินความเสี่ยงของการมีอคติหรือ ประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐาน (GRADE) เนื่องจากการทบทวนนี้ได้รับมอบหมายเพื่อใช้ในการอภิปรายแนวปฏิบัติ จึงได้ดำเนินการอย่างรวดเร็วในช่วง 3 สัปดาห์ตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคมถึง 18 พฤศจิกายน 2020

วัตถุประสงค์: 

เพื่อค้นหาและบรรยายหลักฐานที่มีอยู่เกี่ยวกับการใช้ชุดการดูแลในห้องไอซียูสำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ COVID-19 หรือภาวะที่เกี่ยวข้อง (กลุ่มอาการทางเดินหายใจเฉียบพลัน (ARDS) โรคปอดบวมจากไวรัสหรือโรคปอดอักเสบ หรือทั้งสองอย่าง ในการดำเนินการทบทวนวรรณกรรมนั้น มุ่งเน้นไปที่การกำหนดลักษณะของหลักฐานเชิงประจักษ์ และไม่ได้ประเมินประสิทธิผลหรือความปลอดภัยของชุดการดูแลหรือส่วนประกอบ

วิธีการสืบค้น: 

เราสืบค้น MEDLINE, Embase, Cochrane Library (CENTRAL และ Cochrane COVID-19 Study Register) และ WHO International Clinical Trials Registry Platform ในวันที่ 26 ตุลาคม 2020

เกณฑ์การคัดเลือก: 

การศึกษาทุกรูปแบบ ทั้้งหมดที่รายงานเกี่ยวกับผู้ป่วยที่ป่วยหนักด้วย COVID-19, ARDS, ปอดบวมจากไวรัส หรือปอดอักเสบใน ICU ซึ่งมีการใช้ชุดการดูแลเพื่อให้การดูแล มีสิทธิ์ได้รับการรวมไว้ ผู้ประพันธ์การทบทวนวรรณกรรมคนหนึ่ง (VS) คัดกรองรายงานทั้งหมดจากชื่อเรื่องและบทคัดย่อ ผู้ประพันธ์การทบทวนคนที่สอง (DR) ตรวจสอบ 20% ของรายงานที่คัดออกและนำเข้า พบความเห็นพ้อง 99.4% และ 100% ตามลำดับในการตัดสินใจคัดออก / นำเข้า ผู้ประพันธ์การทบทวนวรรณกรรม 2 คน (VS และ DR) คัดกรองรายงานฉบับเต็มทั้งหมดอย่างอิสระ VS และ DR ตัดสินข้อขัดแย้งใด ๆ โดยการอภิปรายและฉันทามติหรือ การส่งถึงผู้ประพันธ์การทบทวนวรรณกรรมที 3 (AN) ตามความจำเป็น

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ประพันธ์การทบทวนวรรณกรรมคนหนึ่ง (VS) คัดลอกข้อมูลและผู้ประพันธ์การทบทวนคนที่สอง (DR) ตรวจสอบความถูกต้อง 20% ของทั้งหมด เนื่องจากการทบทวนวรรณกรรมไม่ได้ออกแบบมาเพื่อสังเคราะห์ข้อมูลประสิทธิผล ประเมินความเสี่ยงของอคติ หรือความเชื่อมั่นของหลักฐาน (GRADE) เราจึงทำแผนที่ข้อมูลที่คัดลอก และนำเสนอในรูปแบบตารางตามสภาพของผู้ป่วย นั่นคือผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันหรือสงสัยว่าเป็น COVID-19 ผู้ป่วย ARDS ผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดใหญ่หรือปอดบวมจากไวรัส ผู้ป่วยที่มีภาวะหายใจล้มเหลวอย่างรุนแรงและผู้ป่วยที่มีภาวะผสม นอกจากนี้เรายังได้บรรยายสรุปผลของการศึกษาที่รวบรวมไว้

ผลการวิจัย: 

เรารวบรวม RCTs 21 รายการ และพบว่ามีการศึกษา 3 รายการกำลังดำเนินการอยู่ การศึกษามีรูปแบบที่หลากหลาย และรวมถึงการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบของแนวทางที่เป็นมาตรฐานในการดูแลผู้ป่วยวิกฤตในห้องไอซียู ซึ่งรวมถึง แต่ไม่เฉพาะชุดการดูแล (1 การศึกษา) การทดลองแบบสุ่ม (1 การศึกษา) prospective and retrospective cohort studies (4 การศึกษา) การศึกษาแบบก่อนและหลัง (7 การศึกษา), รายงานการปรับปรุงคุณภาพเชิงสังเกต (4 การศึกษา) case series/case reports (3 การศึกษา) และการตรวจสอบ (1 การศึกษา) การศึกษาดำเนินการใน 8 ประเทศ มากที่สุดคือจีน (5 การศึกษา) และสหรัฐอเมริกา (4 การศึกษา) ได้รับการตีพิมพ์ระหว่างปี 1999 ถึง 2020 และมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 2,000 คน การศึกษาแบ่งกลุ่มสภาวะของเข้าร่วมเป็น ผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันหรือสงสัย COVID-19 (7 การศึกษา) ผู้ป่วย ARDS (7 การศึกษา) ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ชนิดอื่น หรือปอดบวมจากไวรัส (5 การศึกษา) ผู้ป่วยที่มีระบบหายใจล้มเหลวอย่างรุนแรง (1 การศึกษา) และผู้ป่วยที่มี เงื่อนไขผสม (1 การศึกษา)

ชุดการดูแลที่อธิบายไว้ในการศึกษาเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติที่หลากหลาย คำแนะนำเกี่ยวกับการตั้งค่าเครื่องช่วยหายใจ (10 การศึกษา) การจัดการจำกัดของเหลว (8 การศึกษา) การให้ยาระงับประสาท (7 การศึกษา) และการนอนคว่ำ (7 การศึกษา) พบบ่อยที่สุดในขณะที่มีเพียงการศึกษาเดียวที่กล่าวถึงเอ็กซ์เรย์ทรวงอก

ไม่มีการศึกษาที่รวบรวมนำเข้าใดที่รายงานเกี่ยวกับผลลัพธ์ที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ความอ่อนแอที่ได้รับจาก ICU (การสูญเสียกล้ามเนื้อ น้ำหนักลด) และประสบการณ์ของผู้ใช้ในการปรับชุดการดูแล สำหรับผลลัพธ์ที่กำหนดไว้ล่วงหน้าที่เหลือ การศึกษา 14 รายการรายงานการเสียชีวิตใน ICU, 9 รายการรายงานจำนวนวันที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ (หรือวันที่ไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ) 9 รายการรายงานระยะเวลาการอยู่ใน ICU เป็นจำนวนวัน 5 รายการรายงานการเสียชีวิตในโรงพยาบาล 5 รายการรายงานระยะเวลาการรักษาตัวในโรงพยาบาล 3 รายการรายงาน การปฏิบัติตามชุดการดูแล

บันทึกการแปล: 

แปลโดย ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 13 มกราคม 2020

Tools
Information