พรีไบโอติกสำหรับการรักษาอาการลำไส้ใหญ่บวมเป็นแผล

ใจความสำคัญ

เราพบว่าพรีไบโอติกอาจไม่แตกต่างจากยาหลอกในการป้องกันการกำเริบของอาการลำไส้ใหญ่บวมเป็นแผล สำหรับผู้ใหญ่ที่อยู่ในระยะอาการสงบ พรีไบโอติกอาจมีผลข้างเคียงมากกว่ายาหลอก

หลักฐานมีคุณภาพไม่ดีสำหรับโรคที่อาการสงบ การปรับปรุงอาการของโรค การอักเสบ และคุณภาพชีวิต ดังนั้นเราจึงไม่สามารถสรุปผลใดๆ สำหรับผลลัพธ์เหล่านี้

จำเป็นต้องมีการวิจัยคุณภาพสูงในหัวข้อนี้ก่อนที่จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน

โรคลำไส้ใหญ่บวมเป็นแผลคืออะไร

อาการลำไส้ใหญ่บวมเป็นแผลเป็น 1 ใน 2 รูปแบบหลักของโรคลำไส้อักเสบ เป็นภาวะที่ทำให้เกิดการอักเสบและเป็นแผลในลำไส้ใหญ่ได้ตลอดชีวิต อาการต่างๆ ได้แก่ อุจจาระเป็นเลือด ท้องร่วง ปวดท้อง มีไข้ น้ำหนักลด และรู้สึกเหนื่อย เราไม่ทราบแน่ชัดว่าอะไรทำให้เกิดอาการลำไส้ใหญ่บวมเป็นแผล อาจเป็นส่วนผสมของยีน ปัญหาระบบภูมิคุ้มกัน แบคทีเรียในลำไส้ และบางสิ่งในสิ่งแวดล้อม ไม่ทราบวิธีรักษา แต่อาการมักจะได้รับการจัดการด้วยยาและบางครั้งอาจได้รับการผ่าตัด

คนส่วนใหญ่ที่เป็นโรคลำไส้ใหญ่บวมเป็นแผลจะมีช่วงเวลาที่มีอาการ (โรคที่แสดงออก) และเวลาที่อาการอยู่ภายใต้การควบคุม (อาการสงบ) เมื่ออาการกลับมาอีกหลังจากทุเลาแล้ว เรียกว่ากำเริบ เมื่อใช้ยาเพื่อรักษาอาการลำไส้ใหญ่บวมเป็นแผลภายใต้การควบคุม จะเรียกว่าการชักนำให้เกิดการบรรเทาอาการ เมื่อใช้ยาเพื่อควบคุมอาการลำไส้ใหญ่บวมเป็นแผล เรียกว่าการรักษาแบบต่อเนื่องเมื่ออาการบรรเทา

เราต้องการค้นหาอะไร

เราต้องการทราบว่าพรีไบโอติกได้ผลและปลอดภัยในการรักษาอาการลำไส้ใหญ่บวมเป็นแผลหรือไม่ พรีไบโอติกเป็นอาหารที่ส่งผลต่อความสมดุลของแบคทีเรียที่ดีและไม่ดีในลำไส้ของคุณ

เราต้องการทราบว่าพรีไบโอติกสามารถทำให้อาการลำไส้ใหญ่บวมเป็นแผลหายได้ ป้องกันการกำเริบของโรค และปรับปรุงความรุนแรงของโรค การอักเสบ และคุณภาพชีวิตได้หรือไม่ นอกจากนี้เรายังต้องการทราบว่ามีกี่คนที่เกิดผลข้างเคียงจากพรีไบโอติก และมีคนจำนวนเท่าใดที่หยุดรับประทานพรีไบโอติกเนื่องจากผลข้างเคียง

เราทำอะไรบ้าง

เราค้นหาการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (การศึกษาที่ผู้คนถูกกำหนดให้อยู่ในกลุ่มการรักษากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจากสองกลุ่มขึ้นไปโดยใช้วิธีการสุ่ม) เปรียบเทียบพรีไบโอติกกับการรักษาอื่นๆ การรักษามาตรฐาน การรักษาหลอก (ยาหลอก) หรือปริมาณพรีไบโอติกที่แตกต่างกัน

ผู้วิจัยค้นพบอะไรบ้าง

เราพบการศึกษา 9 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่มีลำไส้ใหญ่บวมเป็นแผลทั้งหมด 445 คน การศึกษาใช้เวลาตั้งแต่ 14 วันถึง 6 เดือน การศึกษา 5 ฉบับ ศึกษาผู้ที่เป็นโรคที่มีอาการ การศึกษา 3 ฉบับศึกษาในผู้ที่อาการบรรเทาแล้วหรือสงบ และการศึกษา 1 ฉบับ ไม่ได้รายงานข้อมูลนี้ ในการศึกษาส่วนใหญ่ ผู้คนยังคงรับประทานยารักษาโรคลำไส้ใหญ่บวมเป็นแผลตามปกติต่อไป

การศึกษาสองเรื่องเปรียบเทียบพรีไบโอติกกับการรักษาหลอกเพื่อกระตุ้นให้เกิดการบรรเทาอาการ ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับอัตราผลข้างเคียง เราไม่ทราบว่าพรีไบโอติกส่งผลต่อผลลัพธ์อื่นๆ ที่เราพิจารณาหรือไม่ เนื่องจากคุณภาพของหลักฐานต่ำมาก

การศึกษา 2 ฉบับ เปรียบเทียบขนาดพรีไบโอติกที่แตกต่างกันเพื่อการชักนำบรรเทาอาการ เราไม่ทราบว่าพรีไบโอติกส่งผลต่อผลลัพธ์ใดๆ ที่เราพิจารณาหรือไม่ เนื่องจากคุณภาพของหลักฐานต่ำมาก

การศึกษา 1 ฉบับ เปรียบเทียบพรีไบโอติกและการรักษายาต้านการอักเสบกับการรักษาด้วยการต้านการอักเสบเพียงอย่างเดียวเพื่อทำให้อาการสงบ ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับอาการสงบ คุณภาพชีวิต ผลข้างเคียง หรืออัตราการถอนตัวจากการศึกษาเนื่องจากผลข้างเคียง เราไม่ทราบว่าพรีไบโอติกส่งผลต่อผลลัพธ์อื่นๆ ที่เราพิจารณาหรือไม่ เนื่องจากคุณภาพของหลักฐานต่ำมาก

การศึกษา 3 ฉบับ เปรียบเทียบพรีไบโอติกกับการรักษาหลอกเพื่อรักษาต่อเนื่องในคนที่อาการสงบ อัตราการกำเริบของโรคระหว่างพรีไบโอติกกับการรักษาหลอกอาจไม่แตกต่างกัน พรีไบโอติกอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงมากกว่าการรักษาแบบหลอกๆ เราไม่ทราบว่าพรีไบโอติกส่งผลต่อผลลัพธ์อื่นๆ ที่เราพิจารณาหรือไม่ เนื่องจากคุณภาพของหลักฐานต่ำมาก

การศึกษา 1 ฉบับ เปรียบเทียบพรีไบโอติกกับพรีไบโอติกและโปรไบโอติกเพื่อการรักษาต่อเนื่องในคนที่อาการสงบ ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการกลับเป็นซ้ำ การรุนแรงของโรค การอักเสบ หรืออัตราผลข้างเคียง เราไม่ทราบว่าพรีไบโอติกส่งผลต่อผลลัพธ์อื่นๆ ที่เราพิจารณาหรือไม่ เนื่องจากคุณภาพของหลักฐานต่ำมาก

การศึกษา 1 ฉบับ เปรียบเทียบพรีไบโอติกกับซินไบโอติกเพื่อรักษาต่อเนื่องเมื่ออาการสงบ ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการกลับเป็นซ้ำ การรุนแรงของโรค การอักเสบ หรืออัตราผลข้างเคียง เราไม่ทราบว่าพรีไบโอติกส่งผลต่อผลลัพธ์อื่นๆ ที่เราพิจารณาหรือไม่ เนื่องจากคุณภาพของหลักฐานต่ำมาก

ข้อจำกัดของหลักฐานคืออะไร

หลักฐานส่วนใหญ่มีคุณภาพต่ำและต่ำมาก เนื่องจากปัญหาเกี่ยวกับวิธีการดำเนินการศึกษาและวิธีการรายงานผลลัพธ์ นอกจากนี้ยังมีคนจำนวนน้อยมากที่มีผลลัพธ์ส่วนใหญ่ที่เราตรวจสอบ

การทบทวนวรรณกรรมนี้เป็นปัจจุบันแค่ไหน

การทบทวนวรรณกรรมนี้เป็นข้อมูลล่าสุดจนถึงเดือนมิถุนายน 2023

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

อาจไม่มีความแตกต่างในการเกิดอาการกำเริบทางคลินิก เมื่อเปรียบเทียบการรักษาแบบเสริมด้วยพรีไบโอติกกับการรักษาแบบเสริมด้วยยาหลอกเพื่อรักษาต่อเนื่องเมื่ออาการสงบใน UC การบำบัดแบบเสริมด้วยพรีไบโอติกอาจส่งผลให้เกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์โดยรวมมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาด้วยแบบเสริมด้วยยาหลอกเพื่อรักษาต่อเนื่องเมื่ออาการสงบ เราไม่สามารถสรุปสำหรับผลลัพธ์อื่นใดในการเปรียบเทียบนี้ เนื่องจากความเชื่อมั่นของหลักฐานต่ำมาก หลักฐานสำหรับการเปรียบเทียบและผลลัพธ์อื่นๆ ทั้งหมดก็มีความเชื่อมั่นต่ำมากเช่นกัน ไม่สามารถสรุปข้อสรุปใดๆ ได้

เป็นการยากที่จะให้คำแนะนำที่ชัดเจนสำหรับการวิจัยในอนาคตโดยอ้งอิงจากผลการวิจัยของการทบทวนนี้ เนื่องจากความแตกต่างทางคลินิกและระเบียบวิธีในการศึกษาต่างๆ คำแนะนำคือให้มีฉันทามติในประเด็นเหล่านี้ก่อนที่จะมีการวิจัยเพิ่มเติม

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคลำไส้ใหญ่บวมเป็นแผล (ulcerative colitis; UC) มีความสนใจในการบำบัดด้วยอาหารเพื่อเป็นการรักษาที่สามารถปรับปรุงสุขภาพและคุณภาพชีวิตของตนเองได้ พรีไบโอติกเป็นส่วนผสมอาหารประเภทหนึ่งที่ทฤษฎีว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพของระบบทางเดินอาหาร โดยส่งผลต่อการเจริญเติบโตและกิจกรรมของแบคทีเรียในลำไส้และโปรไบโอติก

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของพรีไบโอติกในการชักนำและรักษาระยะยาวในผู้ที่มี UC ที่กำลังมีอาการ

วิธีการสืบค้น: 

เราสืบค้นใน CENTRAL, MEDLINE, Embase, ClinicalTrials.gov และ WHO ICTRP จนถึงวันที่ 24 มิถุนาย 2023

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ (randomised controlled trials; RCTs) กับผู้ที่มี UC เราพิจารณาพรีไบโอติกแบบให้ตัวเดียวหรือแบบผสมผสาน ยกเว้นพรีไบโอติกที่รวมกับโปรไบโอติก (เรียกว่าซินไบโอติก) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมต่างๆ เราพิจารณาสิ่งแทรกแซงไม่ว่าจะในเรื่องขนาดยาและระยะเวลาใดก็ตาม

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

เราปฏิบัติตามวิธีมาตรฐานของ Cochrane

ผลการวิจัย: 

เรารวม RCTs 9 ฉบับที่มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 445 คน ระยะเวลาการศึกษาอยู่ระหว่าง 14 วัน ถึง 2 ถึง 3 เดือนสำหรับการชักนำให้โรคสงบ และ 1 ถึง 6 เดือนสำหรับการรักษาต่อเนื่องเมื่ออาการสงบ การศึกษาทั้งหมดดำเนินการกับผู้ใหญ่ มีการศึกษา 5 ฉบับ ศึกษาในผู้ที่เป็นโรคที่อาการเล็กน้อยถึงปานกลาง มี 3 ฉบับที่ศึกษาในผู้ที่มีอาการสงบหรือไม่รุนแรง และ 1 ฉบับไม่ได้กล่าวถึง

เราตัดสินว่ามีการศึกษาเพียงฉบับเดียวว่ามีความเสี่ยงของการมีอคติต่ำในทุกด้าน

การศึกษา 2 ฉบับ เปรียบเทียบพรีไบโอติกกับยาหลอกเพื่อการชักนำให้อาการสงบ เราไม่สามารถสรุปใดๆ เกี่ยวกับอาการทางคลินิกที่สงบได้ (70% เทียบกับ 67%; อัตราส่วนความเสี่ยง (RR) 1.05, 95% ช่วงความเชื่อมั่น (CI) 0.57 ถึง 1.94); การปรับปรุงทางคลินิก (คะแนนเฉลี่ยของ Rachmilewitz ในวันที่ 14 4.1 เทียบกับ 4.5; ความแตกต่างเฉลี่ย (MD) −0.40, 95% CI −2.67 ถึง 1.87); ระดับ calprotectin ในอุจจาระ (ค่าเฉลี่ยของ calprotectin ในอุจจาระในวันที่ 14 คือ 1211 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร เทียบกับ 3740 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร; MD −2529.00, 95% CI −6925.38 ถึง 1867.38); ระดับอินเตอร์ลิวคิน-8 (IL-8) (ค่าเฉลี่ยของ IL-8 ในวันที่ 7 คือ 2.9 พิโกกรัม/มิลลิลิตร เทียบกับ 5.0 พิโกกรัม/มิลลิลิตร; MD −2.10, 95% CI −4.93 ถึง 0.73); ระดับพรอสตาแกลนดิน E2 (PGE-2) ( ค่าเฉลี่ยของ PGE-2 ในวันที่ 7 คือ 7.1 ng/mL เทียบกับ 11.5 ng/mL; MD −4.40, 95% CI −20.25 ถึง 11.45); หรือการถอนตัวเนื่องจากเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ (21% เทียบกับ 8%; RR 2.73, 95% CI 0.51 ถึง 14.55) หลักฐานทั้งหมดมีความเชื่อมั่นต่ำมาก ไม่มีการรายงานผลลัพธ์รองอื่น ๆ

การศึกษา 2 ฉบับ เปรียบเทียบ inulin และ oligofructose 15 กรัม กับ inulin และ oligofructose 7.5 กรัม เพื่อกระตุ้นให้เกิดอาการสงบ เราไม่สามารถสรุปใดๆ เกี่ยวกับการทำให้อาการทางคลินิกสงบได้ (53% เทียบกับ 12.5%; RR 4.27, 95% CI 1.07 ถึง 16.96); การปรับปรุงทางคลินิก (67% เทียบกับ 25%; RR 2.67, 95% CI 1.06 ถึง 6.70); เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ทั้งหมด (53.5% เทียบกับ 31%; RR 1.71, 95% CI 0.72 ถึง 4.06); หรือการถอนตัวเนื่องจากเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ (13% เทียบกับ 25%; RR 0.53, 95% CI 0.11 ถึง 2.50) หลักฐานทั้งหมดมีความเชื่อมั่นต่ำมาก ไม่มีการรายงานผลลัพธ์รองอื่น ๆ

การศึกษา 1 ฉบับ เปรียบเทียบพรีไบโอติกและการบำบัดต้านการอักเสบกับการรักษาด้วยต้านการอักเสบเพียงอย่างเดียวเพื่อการทำให้อาการสงบ เราไม่สามารถสรุปผลใดๆ เกี่ยวกับการปรับปรุงทางคลินิกได้ (คะแนนเฉลี่ยของ Lichtiger ที่ 4 สัปดาห์ที่ 6.2 เทียบกับ 10.3; MD −4.10, 95% CI −8.14 ถึง −0.06) หรือระดับโปรตีน C-reactive (CRP) ในซีรัม (ระดับ CRP เฉลี่ยที่ 4 สัปดาห์ 0.55 นาโนกรัม/มิลลิลิตร เทียบกับ 0.50 นาโนกรัม/มิลลิลิตร; MD 0.05, 95% CI −0.37 ถึง 0.47) หลักฐานทั้งหมดมีความเชื่อมั่นต่ำมาก ไม่มีการรายงานผลลัพธ์รองอื่น ๆ

การศึกษา 3 ฉบับเปรียบเทียบพรีไบโอติกกับยาหลอกเพื่อรักษาต่อเนื่องเมืออาการสงบ อาจไม่มีความแตกต่างระหว่างกลุ่มในอัตราของการกำเริบของโรค (44% เทียบกับ 33%; RR 1.36, 95% CI 0.79 ถึง 2.31) และพรีไบโอติกอาจทำให้เกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ทั้งหมดมากกว่ายาหลอก (77% เทียบกับ 46%; RR 1.68 , 95% CI 1.18 ถึง 2.40) โดยรวมแล้ว หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ เราไม่สามารถสรุปผลใดๆ เกี่ยวกับการปรับปรุงทางคลินิกได้ (คะแนนเฉลี่ยของ Mayo บางส่วน ณ วันที่ 60 คือ 0.428 เทียบกับ 1.625; MD −1.20, 95% CI −2.17 ถึง −0.22); ระดับ calprotectin ในอุจจาระ (ค่าเฉลี่ยระดับ calprotectin ในอุจจาระ ณ วันที่ 60 ของ 214 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร เทียบกับ 304 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร; MD −89.79, 95% CI −221.30 ถึง 41.72) คุณภาพชีวิต (คะแนนแบบสอบถามโรคลำไส้อักเสบเฉลี่ย (Inflammatory Bowel Disease Questionnaire; IBDQ) ณ วันที่ 60 คือ 193.5 เทียบกับ 188.0; MD 5.50, 95% CI -8.94 ถึง 19.94); หรือการถอนตัวเนื่องจากเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ (28.5% เทียบกับ 11%; RR 2.57, 95% CI 1.15 ถึง 5.73) หลักฐานสำหรับผลลัพธ์เหล่านี้มีความเชื่อมั่นต่ำมาก ไม่มีการรายงานผลลัพธ์รองอื่น ๆ

การศึกษา 1 ฉบับ เปรียบเทียบพรีไบโอติกกับซินไบโอติกเพื่อรักษาต่อเนื่องเมื่ออาการสงบ เราไม่สามารถสรุปใดๆ เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตได้ (คะแนนเฉลี่ย IBDQ ที่ 4 สัปดาห์ที่ 182.4 เทียบกับ 176.1; MD 6.30, 95% CI −6.61 ถึง 19.21) หรือการถอนตัวเนื่องจากเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ (23% เทียบกับ 20%; RR 1.13, 95% CI 0.48 ถึง 2.62) หลักฐานทั้งหมดมีความเชื่อมั่นต่ำมาก ไม่มีการรายงานผลลัพธ์รองอื่น ๆ

การศึกษา 1 ฉบับ เปรียบเทียบพรีไบโอติกกับซินไบโอติกเพื่อรักษาต่อเนื่องเมื่ออาการสงบ เราไม่สามารถสรุปใดๆ เกี่ยวกับคุณภาพชีวิต (คะแนนเฉลี่ย IBDQ ที่ 4 สัปดาห์ 182.4 เทียบกับ 168.6; MD 13.60, 95% CI 1.22 ถึง 25.98) หรือการถอนตัวเนื่องจากเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ (22.5% เทียบกับ 22.5%; RR 1.00, 95% CI 0.44 เป็น 2.26) หลักฐานทั้งหมดมีความเชื่อมั่นต่ำมาก ไม่มีการรายงานผลลัพธ์รองอื่น ๆ

บันทึกการแปล: 

แปลโดย พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี Edit โดย พญ ผกากรอง ลุมพิกานนท์ 7 ตุลาคม 2024

Tools
Information