คำถามของการทบทวนวรรณกรรม
คอร์ติโคสเตียรอยด์มีประโยชน์หรือไม่สำหรับผู้ที่มีอาการเจ็บคอทั้งที่แบบใช้อย่างเดียวหรือใช้เพื่อเสริมการรักษากรณีได้รับการรักษาหลักอยู่แล้ว
ที่มาและความสำคัญของปัญหา
อาการเจ็บคอเป็นเรื่องที่พบได้บ่อยมาก แม้ว่าอาการเจ็บคอส่วนใหญ่เกิดจากไวรัส แต่หลายคนที่มีอาการเจ็บคอได้รับยาปฏิชีวนะ ซึ่งไม่มีประสิทธิภาพในการรักษาการติดเชื้อไวรัส การใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินไปก่อให้เกิดการดื้อยาปฏิชีวนะในบุคคลและชุมชน อาการเจ็บคอทำให้เกิดอาการเจ็บเนื่องจากการอักเสบของเยื่อบุลำคอ สเตียรอยด์หรือคอร์ติโคสเตียรอยด์เป็นยาที่สามารถใชได้ทั้งรูปแบบเม็ดรับประทานหรือแบบฉีด สเตียรอยด์หรือคอร์ติโคสเตียรอยด์ลดการอักเสบและช่วยในการลดการติดเชื้อทางเดินหายใจอื่น ๆ เช่นโรคไอครูป (croup) การให้สเตียรอยด์ระยะสั้นอาจมีประโยชน์ในการรักษาอาการเจ็บคอ
ช่วงเวลาที่สืบค้น
14 พฤษภาคม 2019
ลักษณะของการศึกษา
นี่คือการปรับปรุงการทบทวนเดิมในปี 2012 เราได้เพิ่มการศึกษาใหม่หนึ่งการศึกษา (ผู้เข้าร่วมโครงการ 565 คน) สำหรับการศึกษาทั้งหมดเก้าการศึกษาในผู้เข้าร่วมโครงการรวม 1319 คน (เด็ก 369 คน, ผู้ใหญ่ 950 คน) การศึกษาที่รวมรวมเข้ามาทำขึ้นในแผนกฉุกเฉิน (7 การศึกษา) และสถานพยาบาลปฐมภูมิ (2 การศึกษา) ในสหรัฐอเมริกา (5 การศึกษา) และที่ละหนึ่งการศึกษาที่ทำในแคนาดา, อิสราเอล, ตุรก ีและสหราชอาณาจักร ผู้เข้าร่วมได้รับยาสเตียรอยด์ครั้งเดียวหรือยาหลอกครั้งเดียว (7 การศึกษา) มีการให้สเตียรอยด์หรือยาหลอกหนึ่งครั้งต่อวันติดต่อกันมากกว่าหนึ่งวันแก่ผู้เข้าร่วมกลุ่มหนึ่งในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งได้รับยาครั้งเดียว (2 การศึกษา) ในแปดการศึกษา ผู้เข้าร่วมทุกคนยังได้รับยาปฏิชีวนะทันทีเมื่อเข้าสู่การศึกษา การศึกษาทั้งหมดได้รับการตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ
แหล่งเงินทุนการวิจัย
สองการศึกษาบอกที่มาของแหล่งทุน (รัฐบาลและมหาวิทยาลัย)
ผลการศึกษาที่สำคัญ
ผู้เข้าร่วมโครงการที่ได้รับคอร์ติโคสเตียรอยด์ มีโอกาสที่อาการเจ็บคอจะหายได้ใน 24 ชั่วโมง มากขึ้น 2.4 เท่า เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้ยาหลอก ระยะเวลาที่คอร์ติโคสเตียรอยด์ทำให้เวลาที่ใช้ในการทำให้อาการดีขึ้นและอาการหายไปลดลง แม้ว่าหลักฐานความน่าเชื่อถือของการศึกษาไม่สอดคล้องกันทั้งหมดสำหรับผลลัพธ์เหล่านี้และผลไม่ได้ชัดเจนนัก เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์, อัตราการกลับเป็นซ้ำของโรค และจำนวนวันที่ขาดงานหรือขาดโรงเรียนของผู้เข้าร่วมโครงการไม่แตกต่างกันระหว่างกลุ่มที่ได้คอร์ติโคสเตียรอยด์และกลุ่มที่ได้รับยาหลอก อาการเจ็บคอเป็นเรื่องที่พบได้บ่อยในเด็ก แต่มีเพียงสองการศึกษาที่รายงานผลการศึกษาในเด็กและผลลัพธ์เหล่านี้ไม่สอดคล้องกันทำให้ยากที่จะสรุป จึงจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อตรวจสอบประโยชน์ของคอร์ติโคสเตียรอยด์เพื่อลดการใช้ยาปฏิชีวนะในผู้ที่มีอาการเจ็บคออย่างรุนแรงและเป็นประโยชน์ต่อเด็กโดยเฉพาะ ข้อจำกัด คือมีการศึกษาเพียงสองการศึกษาเท่านั้นที่รวมผู้เข้าร่วมโครงการที่เป็นเด็กและการศึกษาส่วนใหญ่ก็ให้ยาปฏิชีวนะแก่ผู้เข้าร่วมโครงการทุกคน
คุณภาพของหลักฐาน
เราประเมินความน่าเชื่อมั่นของหลักฐานที่ระดับสูงสำหรับผลลัพธ์การหายของอาการปวดที่ 24 และ 48 ชั่วโมง, และประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐานที่ระดับปานกลางสำหรับเวลาเฉลี่ยทีอาการปวดเริ่มทุเลาลง, เวลาที่ใช้ในการหายจากความเจ็บปวด ซึ่งประเมินโดยใช้ visual analogue scales, เหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์, การเกิดซ้ำของโรค และวันที่ขาดงานหรือขาดโรงเรียน
คอร์ติโคสเตอรอยด์ในรูปแบบการกินหรือการฉีดเข้ากล้ามเนื้อเสริมจากยาปฏิชีวนะ เพิ่มความน่าจะเป็นระดับปานกลางของทั้งการหายขาดจากอาการเจ็บคอและทำให้อาการเจ็บบรรเทาลงของผู้เข้าร่วมโครงการ เมื่อพิจารณาถึงผลประโยชน์ที่จำกัด การวิจัยเพิ่มเติมในอนาคตเกี่ยวกับอันตรายและประโยชน์ของการให้สเตียรอยด์ในระยะสั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการช่วยตัดสินใจ
อาการเจ็บคอเป็นอาการที่พบได้บ่อยและเกี่ยวเนื่องกับการใช้ยาปฏิชีวนะในอัตราที่สูง แม้จะมีหลักฐานที่ค่อนข้างจำกัด สำหรับประสิทธิผลของยาปฏิชีวนะ คอร์ติโคสเตียรอยด์ อาจช่วยลดอาการเจ็บคอโดยลดการอักเสบของระบบทางเดินหายใจส่วนบน การทบทวนวรรณกรรมครั้งนี้เป็นการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมที่เผยแพรไป เมื่อปี 2012
เพื่อประเมินผลประโยชน์ทางคลินิกและความปลอดภัยของ คอร์ติโคสเตียรอยด์ ในการลดอาการเจ็บคอในผู้ใหญ่และเด็ก
เราค้นหาจาก CENTRAL (ฉบับที่ 4, 2019), MEDLINE (1966 ถึง 14 พฤษภาคม 2019), Embase (1974 ถึง 14 พฤษภาคม 2019), the Database of Abstracts of Reviews of Effects (DARE, 2002 ถึง 2015) และ the NHS Economic Evaluation Database (เริ่มถึงปี 2558) และได้สืบค้นจาก the World Health Organization International Clinical Trials Registry Platform (WHO ICTRP) และ ClinicalTrials.gov อีกด้วย
เรารวบรวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ (RCTs) ที่เปรียบเทียบสเตียรอยด์กับยาหลอกหรือการดูแลตามมาตรฐานในผู้ใหญ่และเด็ก (อายุมากกว่าสามปี) ที่มีอาการเจ็บคอ เราไม่รวมการศึกษาของผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาล, ผู้ที่ติดเชื้อ mononucleosis (ไข้ต่อม), เจ็บคอจากการผ่าตัดต่อมทอนซิลหรือการใส่ท่อช่วยหายใจ, หรือฝีในช่องคอ
ผู้วิจัยใช้ระเบียบวิธีการวิจัยตามมาตรฐานของ Cochrane
เรารวม การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบใหม่หนึ่งการศึกษาในการปรับปรุงครั้งนี้ รวมเป็นทั้งหมดเก้าการศึกษาในผู้เข้าร่วมโครงการ 1319 คน (เด็ก 369 คนและผู้ใหญ่ 950 คน) ในแปดการศึกษา ผู้เข้าร่วมทั้งในกลุ่มที่ได้คอร์ติโคสเตียรอยด์ และกลุ่มที่ได้ยาหลอก ได้รับยาปฏิชีวนะร่วมด้วย; อีกหนึ่งการศึกษามีการสั่งยาปฏิชีวนะหลังจากการประเมินทางคลินิกแล้ว มีเพียงสองการศึกษาที่อธิบายแหล่งเงินทุน (รัฐบาลและมหาวิทยาลัย)
นอกจากผลของยาปฏิชีวนะและยาแก้ปวดแล้ว, คอร์ติโคสเตียรอยด์ ยังเพิ่มโอกาสในการหายขาดจากอาการปวดที่ 24 ชั่วโมงเป็น 2.40 เท่า (risk ratio (RR) 2.4, 95% confidence interval (CI) 1.29 ถึง 4.47; P = 0.006; I² = 67% หลักฐานความน่าเชื่อถือสูง) และที่ 48 ชั่วโมง เป็น 1.5 เท่า (RR 1.50, 95% CI 1.27 ถึง 1.76; P <0.001; I² = 0% หลักฐานความน่าเชื่อถือสูง) มีห้าคนที่ต้องได้รับการรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้คน ๆ หนึ่งประสบกับความเจ็บปวดต่อเนื่องใน 24 ชั่วโมง คอร์ติโคสเตอรอยด์ยังลดเวลาเฉลี่ยในการบรรเทาอาการปวดและเวลาเฉลี่ยในการหายขาดจากความเจ็บปวดภายใน 6 และ 11.6 ชั่วโมงตามลำดับ แม้ว่าจะมีความแตกต่างกันในแต่ละการศึกษาก็ตาม (หลักฐานความน่าเชื่อถือระดับปานกลาง) ที่ 24 ชั่วโมง, ความเจ็บปวด (ประเมินโดย visual analogue scales) ลดลงอีก 10.6% โดยคอร์ติโคสเตอรอยด์ (หลักฐานความน่าเชื่อถือระดับปานกลาง) ไม่มีรายงานความแตกต่างในอัตราการกำเริบของโรค, วันที่ไม่ได้ทำงานหรือไม่ได้ไปโรงเรียน หรือเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์สำหรับผู้ที่รับประทานคอร์ติโคสเตอรอยด์เมื่อเทียบกับยาหลอก อย่างไรก็ตามการรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์นั้นไม่ดีและมีการศึกษาเพียงสองการศึกษาเท่านั้นที่ทำในเด็กหรือรายงานผลของวันที่ไม่ได้ไปทำงานหรือไม่ได้ไปโรงเรียน การศึกษาที่รวมอยู่ได้รับการประเมินว่าเป็นหลักฐานที่มีความน่าเชื่อถือปานกลาง แต่การศึกษาที่รวมเข้ามามีจำนวนน้อยจึงอาจจะเพิ่มความไม่แน่นอนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการนำผลการศึกษาไปใช้ในเด็ก
แปลเมื่อ วันที่ 4 พฤษภาคม 2020 โดย พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น