ทำไมคำถามนี้จึงสำคัญ
โรคลมชักเป็นภาวะที่พบได้บ่อยที่ส่งผลต่อสมอง ผู้ที่เป็นโรคลมชักจะมีอาการชักหรือกระตุกซึ่งอาจส่งผลต่อชีวิตประจำวันของพวกเขา พวกเขามักได้รับการรักษาด้วยยาเพื่อควบคุมหรือป้องกันอาการชัก ผู้ที่เป็นโรคลมชักอาจพบว่ายากต่อการใช้ยาตามทีแพทย์สั่ง และนี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ไม่สามารถควบคุมอาการชักได้ดี การทบทวนการศึกษานี้รายงานเกี่ยวกับวิธีการปรับปรุงวิธีการใช้ยาต้านโรคลมชักของผู้ป่วย
สิ่งที่เราทำ
เราสืบค้นจากฐานข้อมูลทางการแพทย์สำหรับการศึกษาทางคลินิก โดยค้นหาวิธีปรับปรุงการรับประทานยาให้สม่ำเสมอในผู้ที่เป็นโรคลมชัก เราจำกัดการค้นหาเฉพาะการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCT) ที่ผู้เข้าร่วมวิจัยเป็นผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยทางคลินิกว่าเป็นโรคลมชักในทุกช่วงอายุ และรับการรักษาด้วยยากันชักในการดูแลรักษาเบื้องต้น (เช่น การผ่าตัดของแพทย์) ในแผนกผู้ป่วยนอก หรือสภาพแวดล้อมอื่นๆ ในชุมชน RCTs เป็นการศึกษาทางการแพทย์ที่ผู้เข้าร่วมวิจัยถูกสุ่มให้เข้าอยู่ในกลุ่มที่ได้รับการรักษา (เรียกว่า intervention group) หรือการรักษาแบบอื่นหรือไม่ได้รับการรักษา (เรียกว่า control group) การศึกษารูปแบบนี้ให้ความน่าเชื่อถือมากที่สุดที่จะพิสูจน์ว่าวิธีการรักษาต่างๆ ให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันหรือไม่
เราทบทวนการศึกษาที่มีอยู่จนถึงกุมภาพันธ์ 2020
สิ่งที่เราพบ
เรารวบรวมการศึกษาทั้งหมด 20 รายการ มีผู้เข้าร่วมการศึกษาทั้งหมด 2832 คน การศึกษาได้ดำเนินการในประเทศต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่มาจากสหรัฐอเมริกา การศึกษาได้ตรวจสอบการทดลองหลัก 3 ประเภท:
1. การให้ความรู้และการให้คำปรึกษาแก่ผู้เข้าร่วมการศึกษาในหัวข้อต่างๆ เช่น โรคลมชักและยาที่ใช้ควบคุมอาการลมชัก (การศึกาา 4 รายการ)
2. วิธีการที่ใช้การจัดการด้านพฤติกรรม เช่น การขอให้ผู้ที่เป็นโรคลมชักเชื่อมโยงความตั้งใจในการใช้ยาของตนที่มีการกำหนด เวลา สถานที่ และกิจกรรมประจำวันอื่นๆที่ทำเป็นประจำไว้อย่างชัดเจน (การศึกษา 13 รายการ) และ
3. วิธีการแบบผสม ซึ่งเป็นการใช้มากกว่า 1 วิธีการ (การศึกษา 4 รายการ)
มีการศึกษา 1 รายการ ที่ถูกนับ 2 ครั้งเพราะเปรียบเทียบวิธีการที่ใช้จัดการด้านพฤติกรรมกับวิธีการแบบผสม
การศึกษาที่รวบรวมมาประเมินความสม่ำเสมอในการใช้ยาด้วยวิธีต่างๆ เช่น ด้วยการใช้แบบสอบถาม ตัวอย่างเลือด หรือ electronic bottle tops การศึกษายังประเมินความถี่หรือความรุนแรงของอาการชักที่ลดลงเพื่อดูว่าการใช้ยาตามที่กำหนดทำให้เกิดความแตกต่างได้หรือไม่ งานวิจัยที่รวบรวมได้มีความแตกต่างกันมาก ดังนั้นเราจึงไม่สามารถรวมผลลัพธ์ได้
ผลลัพธ์ที่สำคัญและความน่าเชื่อถือของหลักฐาน
การให้การศึกษาและการให้คำปรึกษาอาจเพิ่มความสม่ำเสมอในการรับประทานยา การศึกษา 2 รายการ แสดงให้เห็นว่ามีการเพิ่มขึ้น อีกการศึกษา 1 รายการพบว่า มีการเพิ่มขึ้นเล็กน้อยและอีกหนึ่งการศึกษาพบว่าไม่มีการปรับปรุงการรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ
วิธีการที่ใช้การจัดการด้านพฤติกรรมและวิธีการแบบผสมอาจช่วยให้การรับประทานยาดีขึ้น ผู้ป่วยในกลุ่มทดลองแสดงการกินยาอย่างสมำเสมอที่ดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม
การศึกษาสี่เรื่องแสดงให้เห็นว่าเมื่อการปฏิบัติตัวในการกินยาตามแผนการรักษาดีขึ้น ความถี่ในการชักหรือความรุนแรงของอาการชักก็ลดลง
เราไม่สามารถสรุปผลที่แน่นอนเกี่ยวกับผลลัพธ์ได้ เนื่องจากการศึกษาแตกต่างกันมาก และไม่ได้ใช้วิธีวิจัยที่ดีที่สุดเสมอไป ซึ่งหมายความว่าเราไม่แน่ใจเกี่ยวกับหลักฐานที่ได้มา
อะไรที่ควรจะเกิดขึ้นต่อไป
เราต้องการการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมที่ออกแบบมาอย่างรอบคอบ ที่ใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวนมากขึ้น มีระยะเวลาติดตามผลนานขึ้น เพื่อระบุวิธีการที่ดีที่สุดในการรับประทานยากันชักอย่างสม่ำเสมอ
วิธีการที่ใช้การจัดการด้านพฤติกรรม เช่น การเตือนอย่างเข้มข้นและการใช้วิธีการแบบผสมแสดงให้เห็นผลลัพธ์ในเชิงบวก อย่างไรก็ตาม เราต้องการหลักฐานที่เชื่อถือได้มากขึ้นเกี่ยวกับประสิทธิผลของวิธีการเหล่านั้น ซึ่งได้มาจากการศึกษาแบบ RCTs ที่ออกแบบอย่างระมัดระวังก่อนที่เราจะสามารถสรุปผลที่ชัดเจนได้ การศึกษาใหม่ที่นำมาทบทวนเพิ่มไม่ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในข้อสรุปของเรา
การใช้ยากันชักที่ไม่สมำเสมอสัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิต การเจ็บป่วย และค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้น ในการทบทวนนี้ เรามุ่งเน้นไปที่การทดลองที่ออกแบบและทดสอบในการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) และ quasi-RCT เพื่อช่วยเหลือผู้ที่รับประทานยากันชัก การศึกษานี้เป็นการปรับปรุง Cochrane review หลังจากเผยแพร่ครั้งแรกในปี 2011 และมีการปรับปรุงล่าสุดในปี 2017
เพื่อตรวจสอบประสิทธิผลของการทดลองที่มุ่งส่งเสริมการรับประทานยากันชักในผู้ใหญ่และเด็กที่เป็นโรคลมชัก
สำหรับการปรับปรุงล่าสุด เราได้สืบค้นจากฐานข้อมูลต่อไปนี้เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2020: Cochrane Register of Studies (CRS Web), MEDLINE,CINAHL Plus and PsycINFO ซึ่ง CRS Web ประกอบด้วยการทดลองแบบสุ่มมีกลุ่มควบคุม หรือ quasi-randomised controlled trials จาก PubMed, Embase, ClinicalTrials.gov, World Health Organization International Clinical Trials Registry Platform (ICTRP), Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL) และ the Specialized Registers of Cochrane Review Groups including Epilepsy นอกจากนี้ยังค้นรายการอ้างอิงทั้งหมดจากบทความวิจัยที่เกี่ยวข้อง
RCTs และ quasi-RCTs ของการทดลองที่ส่งเสริมการปฏิบัติตัวตามแผนการรักษาซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยทางคลินิกว่าเป็นโรคลมชัก (ตามที่กำหนดไว้ในการศึกษาแต่ละเรื่อง) ทุกช่วงอายุ และรับการรักษาด้วยยากันชักในการดูแลเบื้องต้น ในแผนกผู้ป่วยนอก หรือในชุมชนอื่นๆ
ผู้ทบทวนทุกคนประเมินรายการอ้างอิงและบทคัดย่อที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นอิสระต่อกัน ผู้ทบทวนอย่างน้อย 2 คนดึงข้อมูลและดำเนินการประเมินคุณภาพของการศึกษาแต่ละเรื่องตามเครื่องมือ Cochrane สำหรับการประเมินความเสี่ยงของการมีอคติอย่างเป็นอิสระ เราให้คะแนนระดับหลักฐานสำหรับแต่ละผลลัพธ์ตาม GRADE การศึกษาที่นำมาทบทวนมีความแตกต่างกันอย่างมากตามประเภทของการทดลองและการวัดความสม่ำเสมอในการรับประทานยา ดังนั้นจึงไม่เหมาะสมที่จะรวมข้อมูลเข้าด้วยกัน
เรารวบรวมงานวิจัยได้จำนวน 20 เรื่อง ซึ่งเป็นข้อมูลจากผู้เข้าร่วมวิจัยจำนวน 2832 คน การศึกษา 13 รายการ กำหนดกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ใหญ่ที่เป็นโรคลมชัก, มีการศึกษา 1 รายการรวมผู้เข้าร่วมวิจัยทุกช่วงวัย, มีการศึกษาอีก 1 รายการ ใช้ผู้เข้าร่วมการศึกษาที่มีอายุมากกว่า 2 ปี, มีการศึกษา 1 รายการ ที่คัดเลือกเฉพาะผู้ป่วยเด็กอายุระหว่าง 1 เดือนถึง 15 ปี, การศึกษา 1 รายการ กำหนดกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ดูแลเด็กที่เป็นโรคลมชัก, การศึกษาอีก 1 รายการ กำหนดกลุ่มเป้าหมายเป็นวัยรุ่นและผู้ดูแล และการศึกษา 2 รายการ กำหนดกลุ่มเป้าหมายเป็นครอบครัวของเด็กที่เป็นโรคลมชัก เราพบการศึกษาที่กำลังดำเนินการวิจัยอยู่จำนวน 3 รายการ การศึกษาส่วนใหญ่มีการติดตามประเมินผลในระยะเวลาสั้น ตั้งแต่ 1 ถึง 12 เดือน การศึกษาสามารถแบ่งรูปแบบการทดลองออกเป็น 3 ประเภทหลัก: วิธีการทางการศึกษา, วิธีการที่ใช้การจัดการด้านพฤติกรรม และวิธีการแบบผสม ยกเว้นการศึกษา 3 รายการ เปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ได้รับการรักษากับกลุ่มที่ได้รับการดูแลตามปกติหรือ 'ไม่มี intervention' เนื่องจากความแตกต่างระหว่างการศึกษาในแง่ของวิธีการที่ใช้ (intervention), วิธีการที่ใช้ในการวัดความสม่ำเสมอของการรับประทานยา และวิธีการรายงานผลการศึกษา เราจึงไม่ได้รวมผลลัพธ์เข้าด้วยกันและผลการศึกษาเหล่านี้ไม่เหมาะสมที่จะรวมไว้ในการวิเคราะห์เมตต้า
การศึกษาและการให้คำปรึกษาของผู้เข้าร่วมวิจัยที่เป็นโรคลมชักให้ผลลัพธ์ในการประสบความสำเร็จที่หลากหลาย (หลักฐานมีความเชื่อมั่นระดับปานกลาง) วิธีการที่ใช้การจัดการด้านพฤติกรรม เช่น การใช้การเตือนอย่างเข้มข้นให้ผลที่ดีต่อการปฏิบัติตามแผนการรักษามากขึ้น (หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นระดับปานกลาง) ผลต่อการรับประทานยากันชักตามแผนการรักษาที่ใช้วิธีการแบบผสมแสดงให้เห็นว่ามีการปฏิบัติตัวตามแผนการรักษาที่ดีขึ้นในกลุ่มทดลองเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม (หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นระดับสูง)
การศึกษา 11 รายการ ให้ข้อมูลความถี่ในการชักหรือความรุนแรงของอาการชัก หรือทั้งสองอย่าง โดยการศึกษา 4 รายการ รายงานการปฏิบัติตัวตามแผนการรักษาที่ดีขึ้นและลดความถี่ในการชักในกลุ่มทดลอง (หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นระดับปานกลาง) ผลการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้ความสามารถของตนเองและคุณภาพชีวิตมีความหลากหลาย โดยไม่มีรูปแบบที่ชัดเจนจากวิธีการที่ใช้ประเภทต่างๆ
ผู้แปล สมพร รุ่งเรืองกลกิจ ภาควิชาการพยาบาลจิตเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 4 กรกฎาคม 2021