ใจความสำคัญ
วัคซีนสามารถป้องกันโรคงูสวัดในผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีได้
งูสวัดคืออะไร
งูสวัดคือการกระตุ้นไวรัส varicella zoster ให้กลับมาทำงานอีกครั้ง ไวรัส varicella zoster ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใสและสามารถยังคงอยู่ในเซลล์ประสาทแบบสงบโดยไม่ทำให้เกิดอาการใด ๆ ได้เป็นเวลาหลายปี ไวรัสสามารถถูกกระตุ้นให้กลับมาทำงานได้อีกครั้งโดยผ่านทางเส้นประสาทไปยังผิวหนังและไปทำให้เกิดเป็นตุ่มน้ำที่ผิวหนังตามแนวของเส้นประสาท ภาวะนี้เรียกว่างูสวัด (herpes zoster) และส่วนใหญ่จะเป็นในคนที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น ผู้สูงอายุ ก่อนที่ตุ่มน้ำพองจะปรากฏ อาจจะมีอาการอื่น ซึ่งรวมถึงอาการคัน ชา รู้สึกเสียว หรือปวดเฉพาะที่ โรคงูสวัดทำให้เกิดการอักเสบของเส้นประสาทและอาการปวดอย่างรุนแรงที่อาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิต อุบัติการณ์ของงูสวัดอยู่ระหว่าง 2.08 ถึง 6.20 รายต่อประชากร 1000 คน-ปี (หมายถึงจำนวนของผู้ป่วยรายใหม่ต่อประชากรที่มีความเสี่ยงในช่วงเวลาที่กำหนด) จำนวนผู้ป่วยนี้กำลังเพิ่มขึ้นเนื่องจากคนเรามีอายุยืนยาวขึ้น
เราต้องการค้นหาอะไร
เราต้องการทราบว่าผู้สูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรงที่ได้รับวัคซีนไวรัสงูสวัดมีโอกาสน้อยที่จะเป็นโรคนี้หรือไม่ เมื่อเทียบกับผู้สูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรงซึ่งได้รับ 'วัคซีนหลอก' (เช่น ยาหลอก ซึ่งเป็นการฉีดที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบใดๆ เกี่ยวข้องกับโรคงูสวัด) เรายังต้องการทราบว่าวัคซีนเมื่อเปรียบเทียบกับวัคซีนหลอกนั้นก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ใดๆ หรือไม่
เราทำอะไร
เราค้นหาการศึกษาที่ตรวจสอบและเปรียบเทียบผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดี (อายุเฉลี่ยของผู้เข้าร่วมอายุ 60 ปีขึ้นไป) ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดกับผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีที่ได้รับวัคซีนหลอก
เราเปรียบเทียบและสรุปผลการศึกษา และประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐานตามขนาดการศึกษา วิธีการนำเสนอข้อมูล และความเสี่ยงของอคติ (ความเป็นไปได้ที่คุณลักษณะของการออกแบบการศึกษาหรือการดำเนินการของการศึกษาจะนำไปสู่ความผิดพลาดของผลลัพธ์)
เราพบอะไร
นี่เป็นการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ และเราพบการศึกษาใหม่ 2 ฉบับ ทำให้มีการศึกษาที่รวบรวมไว้ทั้งหมด 26 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 90,259 คน)
การศึกษาเหล่านี้ทดสอบวัคซีนสองประเภทที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้แล้ว การศึกษา 16 ฉบับทดสอบวัคซีนไวรัสเชื้อเป็น (LZV) และรวมผู้เข้าร่วม 55,975 คน (โดสเดียว); การศึกษา 10 ฉบับทดสอบวัคซีนรีคอมบิแนนท์งูสวัด (RZV) และรวมผู้เข้าร่วม 34,284 คน (ฉีด 2 โดสโดยเว้นระยะห่าง 2 เดือน)
การศึกษาทั้งหมดเกี่ยวข้องกับผู้เข้าร่วมที่เป็นผู้ป่วยนอก ผู้เข้าร่วมการศึกษาส่วนใหญ่เป็นชาวคอเคเซียน (เชื้อชาติผิวขาว)
ผลการศึกษาหลัก
ประสิทธิผลของวัคซีน
LZV (ฉีดครั้งเดียว)
ผู้เข้าร่วมที่ได้รับ LZV มีอัตราการเป็นโรคงูสวัดต่ำกว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนหลอก ดังนั้น LZV น่าจะได้ผลเนื่องจากความเชื่อมั่นของหลักฐานอยู่ในระดับปานกลาง จำเป็นต้องฉีดวัคซีน LVZ ให้กับผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีจำนวน 50 คน เพื่อป้องกันโรคงูสวัดครั้งหนึ่ง
RZV (ฉีด 2 ครั้ง)
การฉีดวัคซีน RZV ก็อาจจะได้ผลเช่นกัน (หลักฐานความเชื่อมั่นระดับปานกลาง) และอาจมีประสิทธิภาพมากกว่าการฉีดวัคซีนด้วย LZV เนื่องจากผลลัพธ์แสดงให้เห็นว่าจำเป็นต้องฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีจำนวน 33 คน เพื่อป้องกันโรคงูสวัดครั้งหนึ่ง
ความปลอดภัย
วัคซีนทั้งสองชนิดน่าจะปลอดภัย (หลักฐานมีความเชื่อมั่นปานกลาง) สำหรับผลที่ไม่พึงประสงค์
ในการศึกษาที่ทดสอบ RZV ซึ่งต้องฉีดวัคซีนครั้งที่สองในอีกสองเดือนต่อมา อัตราการออกกลางคัน (จำนวนผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2) ในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนจริงสูงกว่ากลุ่มที่ได้รับวัคซีนหลอกสูงกว่าในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนหลอก สามารถวัดปริมาณได้ในลักษณะที่ว่าสำหรับผู้สูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรงทุกๆ 100 คนที่ได้รับวัคซีนจริง 2 โดส ผู้สูงอายุหนึ่งคนที่ได้รับวัคซีนโดสแรกจะไม่ได้รับโดสที่ 2 ปฏิกิริยา (ผลข้างเคียง) ของวัคซีนเข็มแรกอาจมีส่วนทำให้เกิดพฤติกรรมนี้
บทสรุป
LZV (ฉีดครั้งเดียว) และ RZV (ฉีด 2 ครั้ง) อาจมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคงูสวัดเป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปี สำหรับวัคซีนทั้งสองชนิด ความแน่นอนของหลักฐานอยู่ในระดับปานกลางในด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยเป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปี
ข้อจำกัดของหลักฐานคืออะไร
เรามีหลักฐานความเชื่อมั่นปานกลางสำหรับผลลัพธ์ด้านประสิทธิผลและความปลอดภัยทั้งหมด จากการศึกษาที่รวมผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีจำนวนมากที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
หลักฐานนี้เป็นปัจจุบันแค่ไหน
หลักฐานเป็นปัจจุบันถึงวันที่ 21 ตุลาคม 2022
LZV (ฉีดครั้งเดียว) และ RZV (ฉีด 2 ครั้ง) อาจมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคงูสวัดเป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปี จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีข้อมูลที่จะแนะนำการฉีดวัคซีนกระตุ้นหลังจากได้รับวัคซีนพื้นฐานตามกำหนดสำหรับวัคซีนแต่ละชนิด วัคซีนทั้งสองชนิดทำให้เกิดอาการข้างเคียงของระบบทั่วร่างกายและอาการเฉพาะที่ที่ตำแหน่งที่ฉีดโดยมีความรุนแรงระดับน้อยถึงปานกลาง ข้อสรุปไม่มีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับการทบทวนอย่างเป็นระบบฉบับก่อนหน้า
โรคงูสวัด (herpes zoster, shingles) เป็นโรคเกี่ยวกับระบบประสาทและผิวหนัง โดยเกิดจากการกระตุ้นของไวรัส varicella ซึ่งเป็นไวรัสตัวเดียวกันกับไวรัสที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส หลังจากอาการของโรคอีสุกอีใสหายไป ไวรัสสามารถยังคงอยู่อย่างสงบในเซลล์ประสาท dorsal ganglia ของกระดูกสันหลัง เมื่อเวลาผ่านไปหลายปีและบุคคลนั้นมีภูมิคุ้มกันลดลง ไวรัส varicella zoster (vzv) จะมีการถูกกระตุ้นและทำให้เกิดโรคงูสวัด ซึ่งจะมีอาการปวดมากและอาจมีอาการนานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนที่เป็นโรคอย่างมีนัยสำคัญ กระบวนการชราตามธรรมชาตินั้นสัมพันธ์กับภูมิคุ้มกันที่ลดลง และทำให้ผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคงูสวัดมากขึ้น การฉีดวัคซีนที่ประกอบด้วยเชื้อไวรัส VZV ที่ทำให้อ่อนฤทธ์ จะไปกระตุ้นการสร้าง T-cell ที่เฉพาะเจาะจงสำหรับเชื้อไวรัส VZV เพื่อใช้ป้องกันการกระตุ้นตัวไวรัส VZV ได้ ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันงูสวัด 2 ประเภท หนึ่งในนั้นคือวัคซีนงูสวัดเชื้อเป็น ชนิด single-dose live attenuated zoster vaccine (LZV) ซึ่งมีไวรัสเชื้อเป็นชนิดเดียวกับที่ใช้ในวัคซีนโรคอีสุกอีใส แต่มี plaque-forming units ของไวรัสชนิดเชื้ออ่อนฤทธิ์มากกว่า 14 เท่าต่อโดส อีกประเภทหนึ่งคือวัคซีนงูสวัดชนิด recombinant zoster vaccine (RZV) ซึ่งไม่มีไวรัสเฃื้อเป็นที่ทำให้อ่อนฤทธ์ แต่เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของไวรัสที่ไม่สามารถแบ่งตัวซ้ำได้ แต่สามารถเพิ่มภูมิคุ้มกันได้ ตารางที่แนะนำสำหรับ RZV คือ 2 โดส ห่างกัน 2 เดือน
นี่คือการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมที่เผยแพร่ครั้งแรกในปี 2010 และปรับปรุงในปี 2012, 2016 และ 2019
เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคงูสวัดในผู้สูงอายุ
สำหรับการปรับปรุงปี 2022 นี้ เราได้ค้นหาใน Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL 2022, Issue 10), MEDLINE (1948 ถึง ตุลาคม 2022), Embase (2010 ถึง ตุลาคม 2022), CINAHL (1981 ถึง ตุลาคม 2022), LILACS (1982 ถึง ตุลาคม 2022) และทะเบียนการทดลอง 3 แหล่ง
เรารวบรวมการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดี (อายุเฉลี่ย 60 ปีขึ้นไป) เรารวบรวม randomised controlled trials (RCTs) หรือ quasi-RCTs ที่เปรียบเทียบวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด (ไม่จำกัดว่าฉีดกี่ครั้งและไม่จำกัดความแรงของวัคซีน) เทียบกับการปฏิบัติวิธีอื่น ๆ (เช่นการให้วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส การให้ยาต้านไวรัส) การให้วัคซีนหลอกหรือการไม่มีการแทรกแซงใดๆ (ไม่มีการให้วัคซีน) ผลลัพธ์ ได้แก่ อุบัติการณ์สะสมของโรคงูสวัด เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ (การเสียชีวิต เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรง ปฏิกิริยาทางระบบ หรือปฏิกิริยาเฉพาะที่ที่เกิดขึ้นในเวลาใดก็ได้หลังการฉีดวัคซีน) และการออกจากการทดลอง
เราใช้ระเบียบวิธีการมาตรฐานที่ Cochrane กำหนดไว้
เรานำเข้าการศึกษาใหม่ 2 ฉบับ มีผู้เข้าร่วม 1736 คนในการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมครั้งนี้ การทบทวนวรรณกรรมครั้งนี้รวมการศึกษาทั้งหมด 26 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดี 90,259 คน โดยมีอายุเฉลี่ย 63.7 ปี มีการศึกษาเพียง 3 ฉบับที่ประเมินอุบัติการณ์ของงูสวัดในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนที่ศึกษากับวัคซีนหลอก การศึกษาส่วนใหญ่ได้ดำเนินการในประเทศที่มีรายได้สูงในยุโรปและอเมริกาเหนือและ Caucasians ที่มีสุขภาพดี (เข้าใจว่าเป็นผู้เข้าร่วมผิวขาว) อายุ 60 ปีหรือมากกว่าโดยไม่มีโรคประจำตัวทางระบบภูมิคุ้มกัน มีการศึกษา 2 ฉบับ ดำเนินการในญี่ปุ่น และ 1 ฉบับดำเนินการในสาธารณรัฐเกาหลี การศึกษา 16 ฉบับใช้ LZV การศึกษา 10 ฉบับทดสอบ RZV
ความเชื่อมั่นโดยรวมของหลักฐานอยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งบ่งชี้ว่าวิธีการที่ใช้อาจได้ผล ข้อมูลส่วนใหญ่สำหรับผลลัพธ์หลัก (อุบัติการณ์รวมของโรคงูสวัด) และผลลัพธ์รอง (เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์และ dropouts) มาจากการศึกษาที่มีความเสี่ยงของการมีอคติต่ำและมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
อุบัติการณ์สะสมของโรคงูสวัดที่ติดตามถึง 3 ปีลดลงในผู้เข้าร่วมที่ได้รับ LZV (ฉีด 1 เข็มเข้าใต้ผิวหนัง) เมื่อเทียบกับผู้ที่ได้รับวัคซีนหลอก (อัตราส่วนความเสี่ยง (RR) 0.49, ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) 0.43 ถึง 0.56; risk difference (RD) 2%; จำนวนคนที่ต้องฉีดวัคซีนเพื่อทำให้ได้ประโยชน์ 1 คน (number needed to treat for an additional beneficial outcome; NNTB) เท่ากับ 50; หลักฐานมีความเชื่อมั่นปานกลาง) เป็นการศึกษาที่ใหญ่ที่สุดซึ่งรวมผู้เข้าร่วมถึง 38,546 ราย ไม่มีความแตกต่างระหว่างกลุ่มที่ฉีดวัคซีนและกลุ่มที่ฉีดวัคซีนหลอกสำหรับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรง (RR 1.08, 95% CI 0.95 ถึง 1.21) หรือเสียชีวิต (RR 1.01, 95% CI 0.92 ถึง 1.11; หลักฐานมีความเชื่อมั่นปานกลาง) กลุ่มที่ฉีดวัคซีนมีอุบัติการณ์สะสมที่สูงขึ้นของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์อย่างน้อย 1 อย่าง (RR 1.71, 95% CI 1.38 ถึง 2.11; RD 23%; จำนวนที่ให้วัคซีนสำหรับผลที่เป็นอันตรายเพิ่มขึ้น 1 ราย (number needed to treat for an additional harmful outcome; NNTH) 4.3 และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ของตำแหน่งที่ฉีด (RR 3.73, 95% CI 1.93 ถึง 7.21; RD 28%; NNTH 3.6) โดยมีความรุนแรงระดับน้อยถึงปานกลาง (หลักฐานมีความเชื่อมั่นปานกลาง) ข้อมูลเหล่านี้มาจากการศึกษา 4 ฉบับ โดยมีผู้เข้าร่วม 6980 คน ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
มีการศึกษา 2 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 29,311 รายสำหรับการประเมินความปลอดภัยและผู้เข้าร่วม 22,022 รายสำหรับการประเมินประสิทธิภาพ) เปรียบเทียบ RZV (2 เข็มฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ห่างกัน 2 เดือน) เปรียบเทียบกับวัคซีนหลอก ผู้เข้าร่วมที่ได้รับวัคซีนใหม่มีอุบัติการณ์สะสมของงูสวัดลดลงที่การติดตามผล 3.2 ปี (RR 0.08, 95% CI 0.03 ถึง 0.23; RD 3%; NNTB 33; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) อาจบ่งชี้ถึงโปรไฟล์ที่ดีของวัคซีนใหม่ ไม่มีความแตกต่างระหว่างกลุ่มที่ได้รับวัคซีนและกลุ่มยาหลอกในอุบัติการณ์สะสมของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรง (RR 0.97, 95% CI 0.91 ถึง 1.03) หรือการเสียชีวิต (RR 0.94, 95% CI 0.84 ถึง 1.04; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) กลุ่มฉีดวัคซีนมีอุบัติการณ์สะสมที่สูงขึ้นของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ชนิดใด ๆ ก็ตาม สำหรับอาการของระบบต่างๆ ทั่วร่างกาย (RR 2.23, 95% CI 2.12 ถึง 2.34; RD 33%; NNTH 3.0), และอาการเฉพาะตำแหน่งที่ฉีด (RR 6.89, 95% CI 6.37 ถึง 7.45 ; RD 67%; NNTH 1.5) แม้ว่าผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่รายงานว่ามีอาการข้างเคียงใดๆ มีความรุนแรงแค่น้อยถึงปานกลาง แต่ความเสี่ยงของการ dropouts (ผู้เข้าร่วมไม่ได้กลับมารับวัคซีนเข็มที่ 2 หลังจากฉีดเข็มแรก 2 เดือน) สูงขึ้นในกลุ่มที่ได้วัคซีนเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้วัคซีนหลอก (RR 1.25, 95% CI 1.13 ถึง 1.39; RD 1%; NNTH 100, หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง)
มีเพียงการศึกษา 1 ฉบับที่รายงานว่ารับเงินทุนจากแหล่งที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์ (มูลนิธิวิจัยของมหาวิทยาลัย) การศึกษาอื่นทั้งหมดได้รับเงินทุนจากบริษัทยา
เราไม่ได้ดำเนินการวิเคราะห์แยกกลุ่มย่อยและวิเคราะห์ความไว (sensitivity analyses)
แปลโดย พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี Edit โดย พ.ญ. ผกากรอง ลุมพิกานนท์ 27 กันยายน 2024