คำถามของการทบทวนวรรณกรรม
เราได้ทบทวนหลักฐานเกี่ยวกับผลของการทดลองวิธีการต่างๆ ในการเพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านมในสตรี เราพบ 2 การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม ซึ่งเป็นการวิจัยที่มีคุณภาพสูงสุด
ความเป็นมา
มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่ได้รับการวินิจฉัยบ่อยที่สุดในสตรีทั่วโลก การตรวจหา การวินิจฉัยและการรักษามะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้นเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ผลลัพธ์ดีขึ้น เนื่องจากสตรีจำนวนมากจะตรวจพบอาการของมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง สิ่งสำคัญคือพวกเธอต้องมีการตระหนักรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านม เช่นมีความรู้ ทักษะและมีความมั่นใจในการสังเกตการเปลี่ยนแปลงของเต้านมที่เกิดขึ้นและไปพบแพทย์โดยทันที
ลักษณะของการศึกษา
การสืบค้นการทดลองเพื่อตรวจสอบการทดลองเกี่ยวกับการตระหนักรู้มะเร็งเต้านมในสตรีที่ดำเนินการในเดือนมกราคม 2016 เราพบการทดลอง 2 เรื่อง ในสตรีทั้งหมด 997 คน
การศึกษาวิธีการส่งเสริมการค้นพบอาการมะเร็งเต้านมในระยะแรกๆ (PEP) ซึ่งได้รับทุนจากศูนย์มะเร็งเต้านมในประเทศสหราชอาณาจักร มีสตรีเข้าร่วมวิจัยทั้งหมด 867 คนได้รับการสุ่มเข้ากลุ่มการทดลอง 1 ใน 3 วิธี: (1) หนังสือเล่มเล็กที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรและการดูแลตามปกติ (2) หนังสือเล่มเล็กที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรและการดูแลตามปกติรวมถึงมีการสนทนาแบบตัวต่อตัวกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือ (3) การดูแลตามปกติเท่านั้น สตรีมีอายุระหว่าง 67 ถึง 70 ปีและได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมการศึกษาที่หน่วยคัดกรองมะเร็งเต้านมในประเทศสหราชอาณาจักร
การศึกษาของมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ Zahedan (ZUMS) มีสตรีเข้าร่วมวิจัยจำนวน 130 คนและถูกสุ่มออกเป็น 2 กลุ่มที่ได้รับอย่างใดอย่างหนึ่ง: (1) กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการศึกษาโดยใช้สื่อที่เป็นลายลักษณ์อักษรและการพูดคุย ที่เน้น "พฤติกรรมป้องกันมะเร็งเต้านม" (เช่นการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และความเชื่อเชิงบวกต่อพฤติกรรมการตรวจเต้านมด้วยตนเอง) หรือ (2) ไม่มีการให้ทำกิจกรรมใดๆ เป็นกลุ่มควบคุม สตรีที่เข้าร่วมวิจัยทำงานอยุู่ที่ ZUMS และมีอายุระหว่าง 35 ถึง 39 ปี
ผลลัพธ์ที่สำคัญ
ในการศึกษาทั้ง 2 รายการ ผลการศึกษาได้รับการประเมินที่แตกต่างกัน การศึกษาของ PEP ประเมินผลลัพธ์ใน 1 เดือน, 1 ปี และ 2 ปีหลังจากสิ้นสุดการทดลอง การศึกษา ZUMS วัดผลลัพธ์ใน 1 เดือนหลังจากสิ้นสุดการทดลอง เนื่องจากการศึกษามีความแตกต่างกันมากในแง่ของอายุของผู้เข้าร่วมวิจัย โปรแกรมการทดลอง ผลลัพธ์และระยะเวลาที่ประเมินผล ผู้วิจัยจึงรายงานผลการศึกษาแยกกัน
ความรู้เกี่ยวกับอาการมะเร็งเต้านม
ใน PEP: สตรีมีความรู้เกี่ยวกับอาการมะเร็งเต้านมดูเหมือนจะดีขึ้นบ้างหลังจากได้รับหนังสือเล่มเล็กหรือได้รับหนังสือเล่มเล็กที่เป็นลายลักษณ์อักษรร่วมกับมีการพูดคุย ผลลัพธ์เหล่านี้ดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับการดูแลตามปกติในการประเมินผล 2 ปีหลังการการทดลอง ใน ZUMS: การตระหนักรู้ของสตรีเกี่ยวกับอาการมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นใน 1 เดือนหลังจากสิ้นสุดการทดลอง
ความรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับอายุ
ใน PEP: สตรีที่ได้รับหนังสือเล่มเล็กเป็นลายลักษณ์อักษรและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพ มีค่าคะแนนความรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงเรื่องอายุคือหากมีอายุเพิ่มขึ้นจะทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับการดูแลตามปกติในการประเมิน 2 ปีหลังสิ้นสุดการทดลอง สำหรับสตรีที่ได้รับเฉพาะหนังสือเล่มเล็กมีความรู้เพิ่มขึ้นแต่น้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่มีการพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญร่วมด้วย ใน ZUMS: การศึกษานี้ประเมินได้เฉพาะในกรณีที่สตรีรับรู้ว่าตัวเองมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านม การรับรู้ความเสี่ยงด้วยตนเองนี้เพิ่มขึ้นในหนึ่งเดือนหลังสิ้นสุดการทดลอง
รายงานผลการตรวจเต้านมด้วยตนเอง
ใน PEP: สตรีรายงานว่ามีการตรวจเต้านมทุกเดือนเพิ่มขึ้น แต่ไม่มากอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในการประเมินผลในปีที่ 2 หลังการทดลองเมื่อเปรียบเทียบกับการดูแลตามปกติ ใน ZUMS: สตรีรายงานว่ามี "พฤติกรรมป้องกันมะเร็งเต้านม" เพิ่มขึ้นในการประเมินผล 1 เดือนหลังสิ้นสุดการทดลอง หากสรุปให้มีความเฉพาะผลการศึกษานี้หมายถึงการมีความเชื่อในเชิงบวกของพวกเขาที่มีต่อพฤติกรรมการตรวจเต้านมด้วยตนเอง
การตระหนักรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านม
ใน PEP: การตระหนักรู้มะเร็งเต้านมของสตรีโดยรวมไม่เปลี่ยนแปลงหลังจากได้รับหนังสือเล่มเล็กเพียงอย่างเดียวเมื่อเปรียบเทียบกับการดูแลตามปกติในการประเมินผล 2 ปี หลังสิ้นสุดการทดลอง อย่างไรก็ตามการตระหนักรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นในสตรีที่ได้รับหนังสือเล่มเล็กเป็นลายลักษณ์อักษรและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนี้เห็นได้เมื่อเปรียบเทียบกับการดูแลตามปกติในการติดตามประเมินผล 2 ปีหลังสิ้นสุดการทดลอง ใน ZUMS มีรายงานว่า "พฤติกรรมป้องกันมะเร็งเต้านม" ของสตรีมีเพิ่มขึ้นใน 1 เดือน
ไม่มีการศึกษาใดที่รายงานเกี่ยวกับประเด็นอื่น ๆ ของการตระหนักรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านม ความตั้งใจที่จะขอความช่วยเหลือ คุณภาพชีวิต ผลข้างเคียงของการทดลอง หรือผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งเต้านม
คุณภาพของหลักฐาน
หลักฐานที่นำมาทบทวนได้รับการพิจารณาว่าการศึกษา PEP มีคุณภาพปานกลาง และการศึกษา ZUMS มีคุณภาพต่ำ ไม่มีการศึกษาใดอธิบายความหมายของ 'การตระหนักรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านม' ได้ชัดเจน การที่การศึกษาที่นำมาทบทวนไม่มีคุณภาพสูงทำให้เรามีความสามารถที่จำกัดในการหาข้อสรุปจากผลการทบทวนวรรณกรรม อย่างไรก็ตามผลการศึกษาของ PEP ชี้ให้เห็นว่าการรวมข้อมูลที่เป็นลายลักษณ์อักษรและการอภิปรายแบบตัวต่อตัวกับผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพมีผลในระยะยาวในการเพิ่มการตระหนักรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านมของสตรี ในอนาคตการศึกษาควรใช้กลุ่มตัวอย่างที่มีขนาดใหญมากขึ้นและติดตามสตรีเป็นระยะเวลานานมากขึ้น
บนพื้นฐานจากผลการวิจัยแบบ RCT 2 เรื่อง พบว่าการได้รับกิจกรรมการทดลองในระยะเวลาสั้น ๆ มีแนวโน้มในการเพิ่มการตระหนักรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านมของสตรี อย่างไรก็ตามควรแปลความข้อค้นพบของการทบทวนนี้ด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากบนฐานการประเมิน GRADE พบว่าหลักฐานมีคุณภาพระดับปานกลางใน 1 การศึกษาจาก 2 การศึกษาที่นำมาทบทวน นอกจากนี้การทดลองที่นำมาทบทวนมีความแตกต่างกันในแง่ของกิจกรรมการทดลอง ประชากรที่ศึกษาและเครื่องมือประเมินผลลัพธ์ ดังนั้นหลักฐานในปัจจุบันจึงไม่สามารถนำไปขยายต่อในบริบทที่กว้างขึ้น การศึกษาเพิ่มเติมรวมถึงมีขนาดของกลุ่มตัวอย่างที่ใหญ่ เครื่องมือในการประเมินผลลัพธ์มีการตรวจสอบความตรง และติดตามประเมินผลในระยะยาวเป็นสิ่งที่จะเชื่อถือได้
มะเร็งเต้านมยังคงเป็นมะเร็งที่ได้รับการวินิจฉัยบ่อยที่สุดในสตรีทั่วโลก การตรวจหา การวินิจฉัยและการรักษามะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้นเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ผลลัพธ์ดีขึ้น เนื่องจากสตรีจำนวนมากจะค้นพบอาการของมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง สิ่งสำคัญคือพวกเธอต้องมีการตระหนักรู้ถึงมะเร็งเต้านมเช่นมีความรู้ ทักษะและมีความมั่นใจในการตรวจค้นหาการเปลี่ยนแปลงของเต้านมและรายงานต่อแพทย์โดยทันที
เพื่อประเมินประสิทธิผลของกิจกรรมการสร้างความตระหนักรู้เรื่องมะเร็งเต้านมในสตรี
เราสืบค้นจากทะเบียนเฉพาะของ Cochrane Breast Cancer Group (สืบค้นเมื่อ 25 มกราคม 2016), ทะเบียน Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL; 2015, Issue 12) ใน Cochrane Library (สืบค้น 27 มกราคม 2016), MEDLINE OvidSP (2008 ถึง 27 มกราคม 2016) , Embase (Embase.com, 2008 ถึง 27 มกราคม 2016) the World Health Organization’s International Clinical Trials Registry Platform (ICTRP) search portal และ ClinicalTrials.gov (สืบค้นเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2016) นอกจากนี้เรายังสืบค้นจากรายการอ้างอิงที่ระบุไว้ในบทความและบทวิจารณ์ทีสืบค้นได้ ุและงานวิจัยที่เผยแพร่ในเอกสารการประชุมวิชาการและบทคัดย่อที่ตีพิมพ์ โดยไม่มีข้อจำกัดด้านภาษา
การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) มุ่งเน้นไปที่การทำกิจกรรมเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านมของสตรี เช่นความรู้เกี่ยวกับอาการ / การเปลี่ยนแปลงของมะเร็งเต้านมที่อาจเกิดขึ้นและความมั่นใจในการสำรวจและคลำหน้าอกโดยใช้วิธีการสร้างความตระหนักรู้แบบใดก็ได้เช่นแบบตัวต่อตัว / กลุ่ม / แคมเปญสื่อมวลชน
ผู้ประพันธ์การทบทวนบทความจำนวน 2 คนทำงานอย่างเป็นอิสระต่อกันในการคัดลอกข้อมูลและประเมินความเสี่ยงของการมีอคติ เรารายงาน odds ratio (OR) และช่วงความเชื่อมั่น 95% (CIs) สำหรับผลลัพธ์ที่แบ่งเป็นสองกลุ่มและความแตกต่างค่าเฉลี่ย (MD) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) สำหรับผลลัพธ์ที่เป็นข้อมูลต่อเนื่อง เราไม่สามารถรวมข้อมูลจากการศึกษาที่นำมาทบทวนได้ เนื่องจากการศึกษาทั้งหมดมีความแตกต่างกัน เราจึงนำเสนอผลการสังเคราะห์ในรูปแบบบรรยาย เราได้ประเมินคุณภาพของหลักฐานที่ได้โดยวิธีการของเกรด (GRADE)
เราได้รวมการศึกษา RCT 2 รายการ ที่มีผู้เข้าร่วมวิจัยเป็นสตรีจำนวน 997 คน: การศึกษาแบบ RCT 1 รายการ (สตรี 867 คน) ได้สุ่มสตรีที่เข้าร่วมวิจัย เข้ากลุ่มที่ได้รับหนังสือเล่มเล็กที่เป็นลายลักษณ์อักษรและได้รับการดูแลตามปกติ (กลุ่มทดลองกลุ่มที่ 1) หรือเข้ากลุ่มที่ได้รับหนังสือเล่มเล็กที่เป็นลายลักษณ์อักษรและการดูแลตามปกติรวมถึงการโต้ตอบทางวาจากับนักถ่ายภาพรังสีหรือนักวิจัยที่เป็นนักจิตวิทยา (กลุ่มทดลองกลุ่มที่ 2) หรือการดูแลตามปกติ (กลุ่มควบคุม); และ การวิจัยแบบ RCT เรื่องที่ 2 (สตรี 130 คน) ได้สุ่มสตรีเข้ากลุ่มที่ได้รับโปรแกรมการศึกษา (3 ครั้ง ครั้งละ 60 ถึง 90 นาที) หรือเข้ากลุ่มที่ไม่มีการทำกิจกรรมใดๆ (กลุ่มควบคุม)
ความรู้เกี่ยวกับอาการมะเร็งเต้านม
ในการศึกษาเรื่องแรก ในกลุ่มทดลองกลุ่มที่ 1 ผู้เข้าร่วมวิจัยมีความรู้เกี่ยวกับอาการที่ไม่ใช่ก้อนเนื้อเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ในการประเมินผลหลังการทดลองไปแล้ว 2 ปี แต่ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ (OR 1.1, 95% CI 0.7 ถึง 1.6; P = 0.66; สตรี 449 คน; คุณภาพของหลักฐานอยู่ในระดับปานกลาง) เช่นเดียวกัน ในการประเมินผลหลังจากสิ้นสุดการทดลองไปแล้ว 2 ปี ผู้เข้าร่วมการวิจัยในกลุ่มการทดลองที่ 2 มีความรู้เกี่ยวกับอาการมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม แต่ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ (OR 1.4, 95% CI 0.9 ถึง 2.1; P = 0.11; สตรี 434 คน; คุณภาพของหลักฐานอยู่ในระดับปานกลาง) ในการศึกษาเรื่องที่ 2 การตระหนักรู้ของสตรีเกี่ยวกับอาการมะเร็งเต้านมในกลุ่มที่ได้รับการทดลองโดยการได้รับการศึกษาเพิ่มขึ้นในการประเมินผล 1 เดือนหลังจากสิ้นสุดการทดลอง (MD 3.45, SD 5.11; สตรี 65 คน; คุณภาพของหลักฐานอยู่ในระดับต่ำ) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม (MD −0.68, SD 5.93; สตรี 65 คน; P <0.001) ซึ่งมีการตระหนักรู้ลดลง
ความรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับอายุ
ในการศึกษาเรื่องแรก ในกลุ่มทดลองกลุ่มที่ 1 ผู้เข้าร่วมวิจัยมีความรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงต่อโอกาสการเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ในการประเมินผลหลังการทดลองไปแล้ว 2 ปี แต่ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ (OR 1.8, 95% CI 0.9 ถึง 3.5; P < 0.08; สตรี 447 คน; คุณภาพของหลักฐานอยู่ในระดับปานกลาง) ผู้เข้าร่วมวิจัยมีความรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงต่อโอกาสการเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในการทดลองกลุ่มที่ 2 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ในการประเมินผลหลังการทดลองไปแล้ว 2 ปี (OR 4.8, 95% CI 2.6 ถึง 9.0; P < 0.001; สตรี 431 คน; คุณภาพของหลักฐานอยู่ในระดับปานกลาง) ในการศึกษาเรื่องที่ 2 สตรีในกลุ่มทดลองที่ได้รับการศึกษามีการรับรู้ต่อตนเองถึงความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในการประเมินผล 1 เดือนหลังจากสิ้นสุดการทดลอง (MD 1.31, SD 3.57; สตรี 65 คน; คุณภาพของหลักฐานอยู่ในระดับต่ำ) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม (MD −0.55, SD 3.31; สตรี 65 คน; P = 0.005) ในขณะที่พบว่ามีการรับรู้ต่อตนเองถึงความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมลดลง
ความถี่ของการตรวจเต้านม
ในการศึกษาเรื่องแรก ไม่พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญสำหรับผู้เข้าร่วมวิจัยในกลุ่มทดลองกลุ่มที่ 1 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ในการประเมินผลหลังการทดลองไปแล้ว 2 ปี (OR 1.1, 95% CI 0.8 ถึง 1.6; P = 0.54; สตรี 457 คน; คุณภาพของหลักฐานอยู่ในระดับปานกลาง) ผู้เข้าร่วมวิจัยมีการตรวจเต้านมทุกเดือนเพิ่มมากขึ้นแต่ไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ ในการทดลองกลุ่มที่ 2 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ในการประเมินผลหลังการทดลองไปแล้ว 2 ปี (OR 1.3, 95% CI 0.9 ถึง 1.9; P = 0.14; สตรี 445 คน; คุณภาพของหลักฐานอยู่ในระดับปานกลาง) ในการศึกษาเรื่องที่ 2 พฤติกรรมการป้องกันการเป็นมะเร็งเต้านมของสตรีในกลุ่มที่ได้รับการทดลองโดยการได้รับการศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในการประเมินผล 1 เดือนหลังจากสิ้นสุดการทดลอง (MD 1.21, SD 2.54; สตรี 65 คน; คุณภาพของหลักฐานอยู่ในระดับต่ำ) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม (MD 0.15, SD 2.94; สตรี 65 คน; P <0.045)
การตระหนักรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านม
การตระหนักรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านมโดยรวมของสตรีไม่เปลี่ยนแปลงในกลุ่มการทดลองกลุ่มที่ 1 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมในการประเมินผล 2 ปีหลังสิ้นสุดการทดลอง (OR 1.8, 95% CI 0.6 ถึง 5.30; P = 0.32; สตรี 435 คน; คุณภาพของหลักฐานอยู่ในระดับปานกลาง) ในขณะที่การตระหนักรู้โดยรวมเพิ่มขึ้นในกลุ่มการทดลองกลุ่มที่ 2 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมในการประเมินผล 2 ปีหลังสิ้นสุดการทดลอง (OR 8.1, 95% CI 2.7 ถึง 25.0; P <0.001; สตรี 420 คน; คุณภาพของหลักฐานอยู่ในระดับปานกลาง) ในการศึกษาเรื่องที่ 2 มีคะแนนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเกี่ยวกับแบบจำลองความเชื่อด้านสุขภาพ (ซึ่งรวมถึงโครงสร้างของการตระหนักรู้และการรับรู้ความไวต่อความเสี่ยงที่จะเกิด) ในการประเมินผล 1 เดือนหลังสิ้นสุดการทดลองในกลุ่มทดลองที่ได้รับความรู้ (ค่าเฉลี่ย 1.21, SD 2.54; สตรี 65 คน) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม (ค่าเฉลี่ย 0.15, SD 2.94; สตรี 65 คน; P = 0.045)
ไม่มีการศึกษาใดรายงานผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องกับแรงจูงใจในการตรวจเต้านมของตนเอง ความมั่นใจในการขอความช่วยเหลือ ระยะเวลาตั้งแต่การค้นพบอาการเต้านมจนถึงการไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ความตั้งใจที่จะขอความช่วยเหลือ คุณภาพชีวิต ผลข้างเคียงของการทดลอง ระยะของมะเร็งเต้านม ประมาณการการอยู่รอด หรืออัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม
แปลโดย สมพร รุ่งเรืองกลกิจ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2021