วิธีการที่ไม่ใช้ยาสำหรับปัญหาการนอนหลับในภาวะสมองเสื่อม

ปัญหาการนอนหลับในผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมคืออะไร

ผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อมมักมีปัญหาในการนอนหลับ รวมถึงระยะเวลาและจำนวนครั้งของการตื่นนอนเพิ่มขึ้นและจำนวนครั้งในการนอนหลับตื้นๆ สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหาหลายประการแก่ผู้ได้รับผลกระทบ ญาติ และผู้ดูแล อาจนำไปสู่ความทุกข์ยากของผู้ดูแลและการรับผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมไปยังบ้านพักคนชราหรือสถานดูแลระยะยาว

วิธีการที่ไม่ใช้ยาสามารถช่วยได้หรือไม่

เนื่องจากเราไม่ทราบว่ายาสามารถช่วยปรับปรุงการนอนหลับในผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมได้หรือไม่ จึงมักแนะนำให้ใช้วิธีการที่ไม่ใช้ยา สิ่งเหล่านี้รวมถึงการบำบัดด้วยแสง กิจกรรมทางสังคมและทางกายภาพ การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม (เช่น การลดเสียงและแสงสว่างในตอนกลางคืน) หรือการหลีกเลี่ยงการนอนกลางวัน นอกจากนี้ยังมีโปรแกรมการแทรกแซงที่ประกอบด้วยองค์ประกอบเหล่านี้มากกว่าหนึ่งรายการ (เรียกว่า 'วิธีการแบบหลายรูปแบบ' เช่น การรวมการบำบัดด้วยแสงและกิจกรรมสำหรับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม)

เราต้องการค้นหาอะไร

เราค้นหาการทดลองทางคลินิกที่ทดสอบผลของวิธีการที่ไม่ใช้ยาสำหรับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมและมีปัญหาการนอนหลับ เราต้องการทราบว่าวิธีการที่ใช้หรือโปรแกรมเหล่านี้สามารถส่งเสริมการนอนหลับและหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงสำหรับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมและผู้ดูแลได้หรือไม่

เราทำอะไร

เราค้นหาการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (การออกแบบการศึกษาที่มักจะให้หลักฐานที่น่าเชื่อถือที่สุดเกี่ยวกับผลของการรักษา) เพื่อประเมินการวิธีการที่ไม่ใช่ยาเพื่อปรับปรุงการนอนหลับในผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม เราเปรียบเทียบและสรุปผลการศึกษาและให้คะแนนความเชื่อมั่นในหลักฐาน โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น วิธีการศึกษาและจำนวนผู้เข้าร่วม

เราพบอะไร

เราพบการศึกษา 19 ฉบับ รวมผู้เข้าร่วม 1335 คน การศึกษารวมผู้เข้าร่วม 13 ถึง 193 คนที่มีปัญหาการนอนหลับและภาวะสมองเสื่อม การศึกษาทั้งหมดใช้วิธีการที่ไม่ใช้ยาหนึ่งอย่างหรือมากกว่า (เช่น การบำบัดด้วยแสง กิจกรรมทางร่างกายและสังคม การดูแลโดยผู้ดูแล การจำกัดการนอนหลับในเวลากลางวัน การนวดหลังแบบช้าๆ หรือการกระตุ้นด้วยไฟฟ้าผ่านกะโหลกศรีษะ (วิธีที่ส่งกระแสไฟฟ้าขนาดต่ำไปยังหนังศีรษะที่เปลี่ยนแปลงการทำงานของสมอง)) การศึกษา 7 ฉบับประเมินวิธีการแบบหลายรูปแบบ การศึกษาประเมินการนอนหลับด้วยวิธีต่างๆ แต่ส่วนใหญ่ใช้ Actigraphy ซึ่งเป็นสายรัดข้อมือเพื่อวัดการนอนหลับตอนกลางคืน

ผลลัพธ์หลัก

– กิจกรรมทางกาย กิจกรรมทางสังคม การแทรกแซงของผู้ดูแล และวิธีการแบบหลายรูปแบบอาจปรับปรุงการนอนหลับตอนกลางคืนเล็กน้อยหรือพอประมาณในผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม

– เราไม่พบหลักฐานว่าการบำบัดด้วยแสง การนวดหลังแบบช้าๆ หรือการกระตุ้นด้วยไฟฟ้าผ่านกะโหลกศรีษะช่วยลดปัญหาการนอนหลับในผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม

ข้อจำกัด ของหลักฐานคืออะไร

แม้ว่าเราจะสามารถรวบรวมการศึกษา 19 ฉบับที่มีผู้เข้าร่วม 1335 คนเพื่อประเมินวิธีการที่ไม่ใช้ยาเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการนอนหลับในผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม แต่เราก็ไม่สามารถสรุปผลที่แน่ชัดได้ เนื่องจากความแตกต่างที่สำคัญระหว่างวิธีการและการขาดคุณภาพของระเบียบวิธี ดังนั้น ผลของการทบทวนนี้จึงต้องตีความด้วยความระมัดระวัง และจำเป็นต้องมีการศึกษาที่มีคุณภาพสูงอย่างเร่งด่วน

หลักฐานนี้ทันสมัยแค่ไหน

หลักฐานมีถึงวันที่ 13 มกราคม 2022

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

แม้จะรวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม 19 ฉบับ แต่ก็ไม่มีหลักฐานสรุปเกี่ยวกับวิธีการที่ไม่ใช่เภสัชวิทยาสำหรับปัญหาการนอนหลับในผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม แม้ว่าวิธีการแบบเดี่ยวหรือหลายรูปแบบไม่ได้ช่วยให้การนอนหลับดีขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยมีความแน่นอนเพียงพอ แต่เราพบผลเชิงบวกบางประการต่อกิจกรรมทางกายและทางสังคม ตลอดจนผู้ดูแล การศึกษาในอนาคตควรใช้วิธีการที่เข้มงวดในการพัฒนาและประเมินประสิทธิผลของวิธีการแบบหลายรูปแบบโดยใช้แนวทางปัจจุบันเกี่ยวกับการพัฒนาและการประเมินวิธีการที่ใช้ที่ซับซ้อน ในปัจจุบัน ไม่มีวิธีการแบบเดี่ยวหรือหลายรูปแบบที่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าเหมาะสมสำหรับการดำเนินการอย่างกว้างขวาง

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

อาการนอนไม่หลับมักเกิดขึ้นในผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมโดยมีความชุกสูงถึง 40% ปัญหาที่พบบ่อยคือจำนวนและระยะเวลาของการตื่นที่เพิ่มขึ้นและร้อยละการนอนหลับตื้นที่เพิ่มขึ้น ความผิดปกติของการนอนหลับเกี่ยวข้องกับปัญหาหลายอย่างในผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม ญาติ และผู้ดูแล ในผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม อาจนำไปสู่อาการทางการรับรู้ที่แย่ลง พฤติกรรมที่ท้าทาย เช่น อยู่ไม่สุขหรือหลงทาง และอันตรายอื่นๆ เช่น การหกล้มโดยไม่ได้ตั้งใจ การรบกวนการนอนหลับยังเกี่ยวข้องกับความทุกข์ใจของผู้ดูแลอย่างมากและมีรายงานว่าเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการจัถูกส่งเข้าสถานดูแลผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม เนื่องจากวิธีการทางเภสัชวิทยาได้ผลลัพธ์ที่ไม่น่าพอใจ จึงมีความจำเป็นต้องสังเคราะห์หลักฐานการวิจัยเกี่ยวกับกลยุทธ์ที่ไม่ใช่เภสัชวิทยาเพื่อปรับปรุงการนอนหลับในผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม เนื่องจากวิธีการที่ใช้มักจะซับซ้อน ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบที่ใช้งานอยู่มากกว่าหนึ่งองค์ประกอบ และดำเนินการในบริบทที่ซับซ้อน การระบุองค์ประกอบของวิธีการที่ใช้ที่มีประสิทธิภาพอาจไม่ง่ายนัก

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินประโยชน์และผลเสียของวิธีการที่ไม่ใช่เภสัชวิทยาต่อการรบกวนการนอนหลับในผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมเมื่อเทียบกับการดูแลตามปกติ การไม่รักษา วิธีการอื่นที่ใช้ ที่ไม่ใช่เภสัชวิทยา หรือการรักษาด้วยยาที่มุ่งหมายเพื่อปรับปรุงการนอนหลับ และเพื่ออธิบายองค์ประกอบและกระบวนการของวิธีการที่ใช้ที่ซับซ้อน

วิธีการสืบค้น: 

เราใช้วิธีการค้นหามาตรฐานของ Cochrane ที่ครอบคลุม การค้นหาล่าสุดคือ 13 มกราคม 2022

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวมการทดลองที่มีการควบคุมแบบสุ่มเป็นรายบุคคลหรือแบบกลุ่มในผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมโดยเปรียบเทียบวิธีการที่ไม่ใช้เภสัชวิทยาเพื่อปรับปรุงการนอนหลับเมื่อเทียบกับการดูแลตามปกติหรือวิธีการอื่นๆ ทุกประเภท การศึกษาที่เข้าเกณฑ์จะต้องมีผลลัพธ์หลักที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ เรารวบรวมผู้ที่มีการวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมและปัญหาการนอนหลับที่จุดเริ่มต้น โดยไม่คำนึงถึงอายุ ประเภทของภาวะสมองเสื่อม ความรุนแรงของความบกพร่องทางสติปัญญา หรือสภาวะแวดล้อม การศึกษาที่รายงานผลในกลุ่มตัวอย่างแบบผสม (เช่น ในบ้านพักคนชรา) จะพิจารณารวมเข้าไว้ก็ต่อเมื่อผู้เข้าร่วมอย่างน้อย 80% มีภาวะสมองเสื่อม

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

เราใช้ระเบียบวิธีมาตรฐานของ Cochrane ผลลัพธ์หลักของเราคือ 1. ผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับที่วัดได้ (เช่น เวลานอนตอนกลางคืนทั้งหมด เวลานอนรวมในตอนกลางคืน ประสิทธิภาพการนอนหลับ เวลาตื่นทั้งหมดตอนกลางคืน , จำนวนครั้งของการตื่นตอนกลางคืน ระยะเวลาตั้งแต่เริ่มนอนจนหลับ อัตราส่วนเวลานอนกลางวัน/กลางคืน, อัตราส่วนเวลากลางคืน/เวลานอนรวมตลอด 24 ชั่วโมง) และ 2. เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ ผลลัพธ์รองของเราคือ 3. ผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับตามอัตวิสัย 4. อาการทางพฤติกรรมและจิตใจของภาวะสมองเสื่อม 5. คุณภาพชีวิต 6. สถานะการทำงาน 7. การเข้าอยู่ในสถานดูแล 8. การปฏิบัติตามมาตรการ และ 9. อัตราการออกจากการศึกษา เราใช้ GRADE เพื่อประเมินความแน่นอนของหลักฐานและเลือกผลลัพธ์หลักที่จะรวมไว้ในบทสรุปของตารางผลการวิจัย

ผลการวิจัย: 

เรารวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม 19 ฉบับ โดยมีผู้เข้าร่วม 1335 คนซึ่งจัดสรรให้กับกลุ่มการรักษาหรือกลุ่มควบคุม การศึกษา 14 ฉบับดำเนินการในบ้านพักคนชรา การศึกษา 3 ฉบับศึกษาในผู้อยู่อาศัยในชุมชน การศึกษา 1 ฉบับ ศึกษาใน 'ผู้ป่วยใน' การศึกษา 1 ฉบับ ศึกษาในคนจากศูนย์สุขภาพจิต และอีก 1 ฉบับ ศึกษาในคนจากศูนย์ชุมชนประจำอำเภอสำหรับผู้สูงอายุ มีการศึกษา 14 ฉบับ ดำเนินการในสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ เรายังพบว่ามีการศึกษาที่กำลังดำเนินอยู่ 9 ฉบับ

การศึกษาทั้งหมดใช้วิธีการที่ไม่ใช่เภสัชวิทยาอย่างน้อยหนึ่งรายการโดยมีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงการนอนหลับทางสรีรวิทยาในผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมและมีปัญหาการนอนหลับ วิธีการเดี่ยว (single intervention) ที่ได้รับการตรวจสอบบ่อยที่สุดคือรูปแบบหนึ่งของการบำบัดด้วยแสง (การศึกษา 6 ฉบับ) การศึกษา 5 ฉบับประกอบด้วยกิจกรรมทางกายหรือทางสังคม 3 ฉบับใช้การดูแลโดยผู้ดูแล 1 ฉบับใช้การจำกัดการนอนหลับในตอนกลางวัน 1 ฉบับใช้การนวดหลังแบบช้าๆ และ 1 ฉบับใช้การกระตุ้นด้วยไฟฟ้าผ่านกะโหลกศีรษะ การศึกษา 7 ฉบับตรวจสอบวิธีการที่ใช้หลายรูปแบบที่ซับซ้อน

ความเสี่ยงของอคติของการศึกษาที่รวบรวมไว้มักไม่ชัดเจนเนื่องจากการรายงานที่ไม่สมบูรณ์ ดังนั้นเราจึงจัดอันดับไม่มีการศึกษาใดที่มีความเสี่ยงของอคติต่ำ

เราไม่แน่ใจว่าการรักษาด้วยแสงมีผลกระทบต่อผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับหรือไม่ (หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก) การออกกำลังกายอาจเพิ่มเวลานอนตอนกลางคืนและประสิทธิภาพการนอนโดยรวมเล็กน้อย และอาจลดเวลารวมที่ตื่นตอนกลางคืน และลดจำนวนครั้งของการตื่นนอนตอนกลางคืนเล็กน้อย (หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) กิจกรรมทางสังคมอาจเพิ่มเวลานอนตอนกลางคืนทั้งหมดและประสิทธิภาพการนอนหลับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย (หลักฐานความแน่นอนต่ำ) การดูแลโดยผู้ดูแลอาจเพิ่มเวลานอนตอนกลางคืนทั้งหมดเล็กน้อย อาจเพิ่มประสิทธิภาพการนอนหลับเล็กน้อย และอาจลดเวลาตื่นทั้งหมดระหว่างคืนลงเล็กน้อย (หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำจากการศึกษา 1 ฉบับ) วิธีการแบบหลายรูปแบบอาจเพิ่มเวลานอนตอนกลางคืนทั้งหมดอย่างพอประมาณ และอาจลดเวลาตื่นทั้งหมดตอนกลางคืนได้พอประมาณ แต่อาจส่งผลต่อจำนวนครั้งของการตื่นเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย (หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) เราไม่แน่ใจเกี่ยวกับผลของวิธีการที่ใช้แบบหลายรูปแบบต่อประสิทธิภาพการนอนหลับ (หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก) เราพบหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำว่าการจำกัดการนอนหลับในตอนกลางวัน การนวดหลังแบบช้าๆ และการกระตุ้นด้วยไฟฟ้าผ่านกะโหลกศรีษะอาจส่งผลให้ผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย

มีเพียงการศึกษา 2 ฉบับเท่านั้นที่รายงานข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ โดยตรวจพบเหตุการณ์ดังกล่าวเพียงไม่กี่รายการในกลุ่มที่ได้รับวิธีการที่นำมาใช้ (intervention groups)

บันทึกการแปล: 

แปลโดย พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี Edit โดย ผกากรอง 7 มีนาคม 2023

Tools
Information