วัตถุประสงค์ของการทบทวนวรรณกรรมนี้คืออะไร
จุดมุ่งหมายของการทบทวนนี้คือเพื่อประเมินผลของกรดไฮยาลูโรนิกต่อการหายของบาดแผลเรื้อรัง กรดไฮยาลูโรนิกเป็นโมเลกุลที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติพบได้ในเซลล์ของมนุษย์ แผลเรื้อรังเป็นแผลที่ใช้เวลานานในการรักษา ได้แก่ แผลกดทับ แผลที่เท้า และแผลที่ขา
ใจความสำคัญ
เราไม่สามารถแน่ใจได้ว่าการทำแผลและยาเฉพาะที่ที่มีกรดไฮยาลูโรนิกมีประสิทธิภาพในการรักษาแผลกดทับหรือแผลที่เท้าในผู้ป่วยเบาหวานดีกว่าการทำแผลและใช้ยาเฉพาะที่อื่นๆ หรือไม่ เมื่อใช้กับผู้ที่มีแผลที่ขาและเปรียบเทียบกับสารที่ไม่ออกฤทธ์ที่รวมอยู่ในวัสดุปิดแผลเพื่อใช้เป็นช่องทางในการส่งกรดไฮยาลูโรนิก (กระสายยาที่เป็นกลาง) กรดไฮยาลูโรนิกอาจช่วยปรับปรุงการรักษาแผลให้สมบูรณ์และอาจลดความเจ็บปวดเล็กน้อยและเพิ่มการเปลี่ยนแปลงขนาดแผล มีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะตรวจสอบให้แน่ใจว่าวัสดุปิดแผลและยาเฉพาะที่ที่มีกรดไฮยาลูโรนิกเปรียบเทียบกับวัสดุทำแผลและยาเฉพาะที่อื่นๆ ในแง่ของผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างไร
การทบทวนวรรณกรรมนี้ได้ศึกษาเกี่ยวกับอะไร
บาดแผลเรื้อรังเป็นบาดแผลที่รักษายากซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ รวมถึงการตอบสนองต่อโรคประจำตัวด้วย การรักษารวมถึงวัสดุทำแผลชนิดต่างๆหรือยาเฉพาะที่ประเภทต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย เช่น การบำรุงรักษาสภาพแวดล้อมที่ชื้นในการสมานแผล การลดแบคทีเรียที่อยู่ในแผล และการป้องกันการติดเชื้อ
เราทำอะไร
เราค้นหาวรรณกรรมทางการแพทย์สำหรับการศึกษาที่ประเมินผลของกรดไฮยาลูโรนิกเมื่อเปรียบเทียบกับการทำแผลอื่นๆ เราเปรียบเทียบและสรุปผลการศึกษาและจัดอันดับความเชื่อมั่นของหลักฐานโดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น วิธีการศึกษาและขนาด เรารวมเฉพาะการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม ซึ่งเป็นการศึกษาประเภทหนึ่งที่ผู้คนได้รับการสุ่มให้ได้รับการรักษาที่แตกต่างกัน เนื่องจากการทดลองเหล่านี้ให้หลักฐานด้านสุขภาพที่เชื่อถือได้มากที่สุด
ผลลัพธ์หลักของการทบทวนวรรณกรรมคืออะไร
เราพบ 12 การทดลอง มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 1108 คน มีรายงานเพศสำหรับผู้เข้าร่วม 1022 คน (เป็นเพศหญิง 57.24%) อายุเฉลี่ยเท่ากับ 69.60 ปี วัสดุทำแผลที่มีความเข้มข้นของกรดไฮยาลูโรนิกต่างกัน หรือมีกรดไฮยาลูโรนิกร่วมกับการรักษาอื่น ถูกเปรียบเทียบกับการทำแผลประเภทอื่น
ยังไม่แน่ใจว่ากรดไฮยาลูโรนิกทำให้แผลดีขึ้นหรือแย่ลงในการรักษาแผลกดทับหรือแผลที่เท้าในผู้ป่วยเบาหวาน ยังไม่แน่ใจว่ามีผลกระทบระหว่างกรดไฮยาลูโรนิกกับการทำแผลอื่นๆ ต่อเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์และความเจ็บปวดในบาดแผลประเภทนี้หรือไม่ นี่เป็นเพราะความขาดแคลนข้อมูลในการวิเคราะห์หรือเนื่องจากข้อจำกัดในการศึกษา เช่น ขนาดตัวอย่างขนาดเล็ก และปัญหาด้านระเบียบวิธี
ในแผลที่ขา กรดไฮยาลูโรนิกอาจช่วยให้แผลหายดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาแบบกระสายยาเป็นกลาง ( 4 การทอลอง ผู้เข้าร่วม 526 คน) และอาจลดความเจ็บปวดได้เล็กน้อย (3 การทดลอง ผู้เข้าร่วม 337 คน) และเพิ่มการเปลี่ยนแปลงขนาดของแผลเล็กน้อย (2 การทดลอง ผู้เข้าร่วม 190 คน) ไม่แน่ใจว่ากรดไฮยาลูโรนิกดีกว่าหรือแย่กว่าในการรักษาแผลที่ขาเมื่อเปรียบเทียบกับไฮโดรคอลลอยด์ (สารที่สร้างเจลเมื่อสัมผัสกับของเหลวจากบาดแผล) ผ้ากอซพาราฟิน หรือเด็กซ์ทราโนเมอร์ (ผ้าปิดแผลประเภทหนึ่งที่ส่งเสริมการสมานแผล)
ไม่มีการทดลองรายงานคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพหรือการกลับเป็นซ้ำของบาดแผล
อะไรจำกัดความเชื่อมั่นในหลักฐานของเรา
การศึกษาส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก (ผู้เข้าร่วมน้อยกว่า 100 คน) และส่วนใหญ่ (9 จาก 12 การทดลอง) ใช้วิธีการที่อาจก่อให้เกิดข้อผิดพลาดในผลลัพธ์ ระยะเวลาการติดตามผลนั้นสั้น (การศึกษา 9 จาก 12 การทดลอง ติดตามผู้เข้าร่วมเป็นเวลา 60 วันหรือน้อยกว่า) และการศึกษาไม่ได้ออกแบบมาเพื่อประเมินเวลาในการรักษาให้หายขาด (มีเพียง 1 การทดลองเท่านั้นที่ติดตามผู้เข้าร่วมจนกว่าจะหายดี)
ความเป็นปัจจุบันของการทบทวนนี้เป็นอย่างไร
เราค้นหาการศึกษาที่ตีพิมพ์จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2022
ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะระบุประสิทธิผลของการใช้กรดไฮยาลูโรนิกในการรักษาแผลกดทับหรือแผลที่เท้าในผู้ป่วยโรคเบาหวาน เราพบหลักฐานว่ากรดไฮยาลูโรนิกอาจช่วยให้การรักษาแผลหายสมบูรณ์และอาจลดความเจ็บปวดเล็กน้อยและเพิ่มการเปลี่ยนแปลงขนาดแผลเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้กระสายยาที่เป็นกลาง การวิจัยในอนาคตเกี่ยวกับผลกระทบของกรดไฮยาลูโรนิกในการรักษาบาดแผลเรื้อรังควรพิจารณาขนาดตัวอย่างที่มากขึ้นและการปกปิดกลุ่มเพื่อลดอคติและปรับปรุงคุณภาพของหลักฐาน
กรดไฮยาลูโรนิกถูกสังเคราะห์ในพลาสมาเมมเบรนและสามารถพบได้ในเนื้อเยื่อนอกเซลล์ มีการเสนอว่าการใช้กรดไฮยาลูโรนิกกับบาดแผลเรื้อรังอาจส่งเสริมการสมานแผล และกลไกนี้อาจเนื่องมาจากความสามารถในการรักษาสภาพแวดล้อมของบาดแผลที่ชื้น ซึ่งช่วยในการเคลื่อนที่ของเซลล์ในแผล
เพื่อประเมินผลของกรดไฮยาลูโรนิก (และอนุพันธ์ของมัน) ต่อการหายของบาดแผลเรื้อรัง
เราใช้วิธีการค้นหาแบบมาตรฐานและครอบคลุมตามวิธีการของ Cochrane วันที่ค้นหาล่าสุดคือ กุมภาพันธ์ 2022
เรารวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมที่เปรียบเทียบผลของกรดไฮยาลูโรนิก (เป็นยาปิดแผลหรือยาทาเฉพาะที่) กับการทำแผลอื่นๆ ในการรักษาแผลกดทับ หลอดเลือดดำ หลอดเลือดแดงหรือสาเหตุผสมและแผลที่เท้าในผู้ป่วยเบาหวาน
เราใช้ระเบียบวิธีการมาตรฐานที่ Cochrane กำหนดไว้ เราประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐานโดยใช้วิธี GRADE
เรารวบรวมได้ 12 การทดลอง (บทความ 13 ฉบับ) ในการสังเคราะห์เชิงคุณภาพ และสามารถรวมข้อมูลจาก 4 การทดลอง ในการวิเคราะห์เชิงปริมาณ โดยรวมแล้ว การทดลองที่นำเข้ามามีผู้เข้าร่วม 1108 คน (อายุเฉลี่ย 69.60 ปี) โดยมีแผลกดทับ 178 คน แผลที่เท้าจากเบาหวาน 54 คน และแผลที่ขา 896 คน มีรายงานเพศสำหรับผู้เข้าร่วม 1022 คน (เป็นเพศหญิง 57.24%)
แผลกดทับ
ไม่แน่ใจว่ามีความแตกต่างในการหายของแผลโดยสมบูรณ์หรือไม่ (อัตราส่วนความเสี่ยง (RR) 1.17, 95% ช่วงความเชื่อมั่น (CI) 0.58 ถึง 2.35) การเปลี่ยนแปลงขนาดแผล (ความแตกต่างเฉลี่ย (MD) 25.60, 95% CI 6.18 ถึง 45.02); หรือเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ (ไม่มีรายงาน) ระหว่าง Platelet-rich Growth Factor (PRGF) + กรดไฮยาลูโรนิก และ PRGF เนื่องจากความเชื่อมั่นของหลักฐานต่ำมาก (1 การทดลอง ผู้เข้าร่วม 65 คน) ยังไม่แน่ใจว่ามีความแตกต่างในการรักษาหายโดยสมบูรณ์ระหว่าง lysine hyaluronate และ sodium hyaluronate หรือไม่ เนื่องจากความเชื่อมั่นของหลักฐานต่ำมาก (RR 2.50, 95% CI 0.71 ถึง 8.83; 1 การทดลอง, 14 แผล จากผู้เข้าร่วม 10 คน)
แผลที่เท้าในผู้ป่วยเบาหวาน
ไม่แน่ใจว่ามีความแตกต่างกันของเวลาในการหายของแผลโดยสมบูรณ์ระหว่างกรดไฮยาลูโรนิกและคอลลาเจนไลโอฟิไลซ์หรือไม่ เนื่องจากความเชื่อมั่นของหลักฐานต่ำมาก (MD 16.60, 95% CI 7.95 ถึง 25.25; 1 การทดลอง, ผู้เข้าร่วม 20 คน) ไม่ชัดเจนว่ามีความแตกต่างในการหายของแผลโดยสมบูรณ์ (RR 2.20, 95% CI 0.97 ถึง 4.97; 1 การทดลอง, ผู้เข้าร่วม 34 คน) หรือการเปลี่ยนแปลงขนาดแผล (MD −0.80, 95% CI −3.58 ถึง 1.98; 1 การทดลอง, ผู้เข้าร่วม 25 คน) ระหว่างกรดไฮยาลูโรนิกกับวิธีการทำแผลทั่วไป เนื่องจากความเชื่อมั่นของหลักฐานต่ำมาก
แผลที่ขา
เราไม่แน่ใจว่ามีความแตกต่างในการรักษาบาดแผลอย่างสมบูรณ์ (RR 0.98, 95% CI 0.26 ถึง 3.76), เปอร์เซ็นต์ของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ (RR 0.79, 95% CI 0.22 ถึง 2.80), ความเจ็บปวด (MD 2.10, 95% CI −5.81 ถึง 10.01) หรือการเปลี่ยนแปลงขนาดแผล (RR 2.11, 95% CI 0.92 ถึง 4.82) ระหว่างกรดไฮยาลูโรนิก + ไฮโดรคอลลอยด์และไฮโดรคอลลอยด์ เนื่องจากความเชื่อมั่นของหลักฐานต่ำมาก (1 การทดลอง, ผู้เข้าร่วม 125 คน) ไม่แน่ใจว่ามีความแตกต่างในการเปลี่ยนแปลงขนาดแผลระหว่างกรดไฮยาลูโรนิกและไฮโดรคอลลอยด์หรือไม่ เนื่องจากความเชื่อมั่นของหลักฐานต่ำมาก (RR 1.02, 95% CI 0.84 ถึง 1.25; 1 การทดลอง, ผู้เข้าร่วม 143 คน) เราไม่แน่ใจว่ามีความแตกต่างในการรักษาบาดแผลอย่างสมบูรณ์ระหว่างกรดไฮยาลูโรนิกและผ้ากอซพาราฟินหรือไม่ เนื่องจากความเชื่อมั่นของหลักฐานต่ำมาก (RR 2.00, 95% CI 0.21 ถึง 19.23; 1 การทดลอง, มี 24 แผล จากผู้เข้าร่วม 17 คน)
เมื่อเปรียบเทียบกับกระสายยาที่เป็นกลาง กรดไฮยาลูโรนิกอาจช่วยให้การหายของแผลสมบูรณ์ดีขึ้น (RR 2.11, 95% CI 1.46 ถึง 3.07; 4 การทดลอง, ผู้เข้าร่วม 526 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง); อาจเพิ่มการลดความเจ็บปวดเล็กน้อยจากการวัดความปวดในช่วง baseline (MD −8.55, 95% CI −14.77 ถึง −2.34; 3 การทดลอง, ผู้เข้าร่วม 337 คน) และอาจเพิ่มการเปลี่ยนแปลงขนาดแผลเล็กน้อย โดยวัดจากค่าเฉลี่ยที่ลดลงจากการตรวจวัดในช่วง baseline และวัดที่ 45 วัน (MD 30.44%, 95% CI 15.57 ถึง 45.31; 2 การทดลอง ผู้เข้าร่วม 190 คน) ไม่ชัดเจนว่ากรดไฮยาลูโรนิกจะเปลี่ยนอุบัติการณ์ของการติดเชื้อหรือไม่เมื่อเปรียบเทียบกับกระสายยาที่เป็นกลาง (RR 0.89, 95% CI 0.53 ถึง 1.49; 3 การทดลอง ผู้เข้าร่วม 425 คน) เราไม่แน่ใจว่ามีความแตกต่างในการเปลี่ยนแปลงขนาดแผล (ซม. 2 ) ระหว่างกรดไฮยาลูโรนิกและเด็กซ์ทราโนเมอร์หรือไม่ เนื่องจากความเชื่อมั่นของหลักฐานต่ำมาก (MD 5.80, 95% CI −10.0 ถึง 21.60; 1 การทดลอง ผู้เข้าร่วม 50 คน)
เราลดระดับความเชื่อมั่นของหลักฐานเนื่องจากความเสี่ยงของการมีอคติหรือความไม่แม่นยำ หรือทั้งสองอย่าง สำหรับการเปรียบเทียบข้างต้นทั้งหมด ไม่มีการทดลองรายงานคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพหรือการกลับเป็นซ้ำของบาดแผล การวัดการเปลี่ยนแปลงขนาดแผลไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกันในการศึกษาต่างๆ และข้อมูลที่ขาดหายไปทำให้ไม่สามารถวิเคราะห์เพิ่มเติมสำหรับการเปรียบเทียบบางอย่างได้
แปลโดย พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี Edit โดย ผกากรอง ลุมพิกานนท์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 19 กรกฏาคม 2024