การควบคุมโรคมาลาเรียด้วยยา ivermectin

วัตถุประสงค์ของการทบทวนวรรณกรรมนี้คืออะไร

จุดมุ่งหมายของ Cochrane Review นี้คือการค้นหาว่าการให้ยา ivermectin แก่ชุมชนทั้งหมดสามารถลดการแพร่เชื้อมาลาเรียได้หรือไม่ เราตรวจสอบการศึกษาที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อตอบคำถามนี้ และพบการศึกษาที่เกี่ยวข้อง 1 รายการ

ใจความสำคัญ

ณ จุดนี้ไม่สามารถพูดได้ว่าการรักษาทั้งชุมชนด้วยยา ivermectin ช่วยลดมาลาเรียได้ มีหลายการศึกษาวิจัยที่กำลังดำเนินการ เราคาดว่าการวิจัยพวกนี้จะให้คำตอบเพิ่มเติมในอนาคต

ในการทบทวนวรรณกรรมนี้สิ่งที่ศึกษาคืออะไร

มาลาเรียเป็นโรคที่ติดต่อสู่มนุษย์ผ่านการกัดของยุงที่ติดเชื้อปรสิต พลาสโมเดียม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเกือบครึ่งล้านคนทุกปี ยา ivermectin เป็นยาที่ให้กับทั้งชุมชนเพื่อควบคุมปรสิตที่ทำให้เกิดโรคเท้าช้าง และ ตาบอดแถบแม่น้ำ (river blindness) มีการตั้งข้อสังเกตว่า ivermectin สามารถฆ่ายุงได้เมื่อกินเลือดของผู้ที่ได้รับยานี้ ดังนั้นจึงเชื่อกันว่าการให้ยานี้แก่ทั้งชุมชนจะฆ่ายุงได้จำนวนมากและสามารถลดการแพร่กระจายของมาลาเรียได้

ในการทบทวนวรรณกรรมนี้ เราประเมินว่าการรักษาชุมชนทั้งหมดด้วยยา ivermectin จะลดการแพร่เชื้อมาลาเรียได้หรือไม่ เราสืบค้นการศึกษาจากแหล่งต่างๆ และรวมเฉพาะการศึกษาที่เกิดขึ้นในชุมชนที่เป็นโรคมาลาเรีย และสุ่มเลือกกลุ่มคนให้ใช้ยา ivermectin หรือกลุ่มควบคุม ซึ่งอาจเป็นยาหลอกหรือยามาตรฐานในชุมชน เราต้องการทราบว่าการรักษามีผลต่อการเกิดโรคมาลาเรียในชุมชนหรือไม่

อะไรคือผลลัพธ์หลักของการทบทวนวรรณกรรมนี้

มีการสึกษา 1 รายการ ตรงตามเกณฑ์การคัดเลือก การศึกษานี้รวมหมู่บ้าน 8 แห่งใน Burkina Faso ซึ่งได้รับการสุ่มให้รับยา ivermectin หรือกลุ่มควบคุม ทุกหมู่บ้านได้รับ ivermectin ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการควบคุมโรค lymphatic filariasis นอกจากนี้ หมู่บ้านกลุ่มรักษ ยังได้รับยา ivermectin อีก 5 ครั้งทุกๆ 3 สัปดาห์ ผลของ ivermectin ต่อโรคมาลาเรียวัดในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ในเด็กเหล่านี้ การรักษาไม่ได้แสดงให้เห็นความแตกต่างอย่างเด่นชัดในการมีมาลาเรียระหว่างกลุ่มที่รักษาและกลุ่มควบคุม (หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก)

ดังนั้นจึงไม่สามารถพูดได้ในตอนนี้ว่าการรักษาชุมชนทั้งหมดด้วยยา ivermectin มีผลต่อการลดไข้มาลาเรียหรือไม่ มีหลายการศึกษาวิจัยที่กำลังดำเนินการ เราคาดว่าการวิจัยพวกนี้จะให้คำตอบเพิ่มเติมในอนาคต

ความเป็นปัจจุบันของการทบทวนวรรณกรรมนี้เป็นอย่างไร

เราสืบค้นการศึกษาที่เผยแพร่จนถึง 14 มกราคม 2021

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

เราไม่เชื่อมั่นว่าการให้ ivermectin ในชุมชน มีผลต่อการแพร่เชื้อมาลาเรียหรือไม่ โดยอิงจากการทดลอง 1 รายการที่เผยแพร่จนถึงปัจจุบัน

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

มาลาเรียติดต่อผ่านการกัดของ ยุงก้นปล่อง ตัวเมียที่ติดเชื้อ พลาสโมเดียม ยา ivermectin เป็นยาต้านปรสิต ทำหน้าที่ฆ่ายุงที่สัมผัสกับยาในขณะที่กินเลือดของคน (เรียกว่าอาหารเลือด) ที่กินยาเข้าไป ผลต่อยุงนี้แสดงให้เห็นโดยการทดลองแบบสุ่มแต่ละรายการ ผลกระทบนี้สร้างความสนใจในการใช้ ivermectin เป็นเครื่องมือในการควบคุมโรคมาลาเรีย

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินผลของการใช้ยา ivermectin ในชุมชน ต่อการแพร่เชื้อมาลาเรีย

วิธีการสืบค้น: 

เราสืบค้น Cochrane Infectious Diseases Group (CIDG) Specialized Register, CENTRAL, MEDLINE, Embase, LILACS, Science Citation index - expanded, the World Health Organization (WHO) International Clinical Trials Registry Platform, ClinicalTrials.gov และ the National Institutes of Health (NIH) RePORTER database ถึงวันที่ 14 มกราคม 2021

เราตรวจสอบรายการอ้างอิงของการศึกษาที่รวมไว้สำหรับการศึกษาอื่นๆ ที่อาจมีความเกี่ยวข้อง และติดต่อนักวิจัยที่ทำงานภาคสนามเพื่อหาการทดลองที่ไม่ได้เผยแพร่และกำลังดำเนินการ

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวมการศึกษาวิจัยแบบ cluster-randomized controlled trials (cRCTs) ที่เปรียบเทียบยา ivermectin ให้แบบครั้งเดียวหรือหลายครั้ง กับยากลุ่มควบคุมหรือยาหลอกที่ให้กับประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีเชื้อมาลาเรียในบริบทของการบริหารยาจำนวนมาก ผลลัพธ์หลักคือความชุกของการติดเชื้อปรสิตมาลาเรียและอุบัติการณ์ของโรคมาลาเรียทางคลินิกในชุมชน

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ประพันธ์การทบทวนวรรณกรรม 2 คน ดึงข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนเหตุการณ์และจำนวนผู้เข้าร่วมในแต่ละกลุ่มการทดลองในขณะที่ทำการประเมินผลอย่างอิสระ สำหรับข้อมูลอัตรา เราบันทึกเวลาทั้งหมดที่มีความเสี่ยงในแต่ละกลุ่มการทดลอง ในการประเมินความเสี่ยงของการมีอคติ เราใช้เครื่องมือ RoB 2 ของ Cochrane สำหรับ cRCT เราบันทึกวิธีการวิเคราะห์ข้อมูล การปรับเปลี่ยนใดๆ สำหรับผลของ cluster หรือตัวแปรร่วมอื่นๆ และบันทึกการประมาณค่า intra-cluster correlation (ICC) coefficient

เราวิเคราะห์ข้อมูลการทดลอง ที่ผู้วิจัยให้มาอีกครั้งเพื่อปรับผลของ cluster เราใช้ Poisson mixed-effect model ที่มีการแก้ไขสำหรับกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็ก และการวิเคราะห์ระดับ cluster โดยใช้ linear weighted mode เพื่อปรับให้เพียงพอสำหรับ cluster

ผลการวิจัย: 

เรารวม cRCT 1 รายการและพบการทดลองที่กำลังดำเนินการอยู่ 6 รายการ

cRCT ที่รวมไว้ได้ตรวจสอบอุบัติการณ์ของโรคมาลาเรียใน 8 หมู่บ้านใน Burkina Faso โดยสุ่มเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มทดลองทั้งสองได้รับยา ivermectin 150 ไมโครกรัม/กก. ถึง 200 ไมโครกรัม/กก. ครั้งเดียว ร่วมกับขนาดยา albendazole หมู่บ้านในกลุ่ม intervention ได้รับยา ivermectin เพิ่มอีก 5 ครั้ง ทุกๆ 3 สัปดาห์ เด็ก ๆ ได้รับการลงทะเบียนใน active cohort ซึ่งได้รับการตรวจคัดกรองการติดเชื้อมาลาเรียซ้ำแล้วซ้ำอีก

ผลลัพธ์หลักคืออุบัติการณ์สะสมของมาลาเรียที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนในกลุ่มเด็กอายุ 5 ปีหรือน้อยกว่า ตลอดการศึกษา 18 สัปดาห์ เราตัดสินว่าการศึกษานี้มีความเสี่ยงสูงที่จะมีอคติ เนื่องจากการวิเคราะห์ไม่ได้พิจารณาถึงผลของ cluster หรือความสัมพันธ์ระหว่างผู้เข้าร่วมในหมู่บ้านเดียวกัน

การศึกษาไม่ได้แสดงผลของ ivermectin ต่ออุบัติการณ์สะสมของมาลาเรียที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ในกลุ่มเด็กตลอดการศึกษา 18 สัปดาห์ (risk ratio 0.86, ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) 0.62 ถึง 1.17; P = 0.2607; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก)

บันทึกการแปล: 

แปลโดย ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 9 กรกฏาคม 2021

Tools
Information