วิตามินดีเพื่อรักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (โรคปอดอักเสบเรื้อรัง)

ใจความสำคัญ

การทบทวนวรรณกรรม Cochrane ฉบับนี้ ไม่ พบว่าวิตามินดีสามารถป้องกันการกำเริบเฉียบพลันของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ซึ่งเป็นโรคปอดเรื้อรังที่มีการอักเสบและทำให้หายใจลำบาก นอกจากนี้ยัง ไม่ พบว่าวิตามินดีช่วยปรับปรุงอาการโดยรวมในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

ทำไมเราจึงคิดว่าวิตามินดีอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

ระดับวิตามินดี (หรือที่เรียกว่า 'วิตามินแสงแดด')ในเลือดต่ำ มีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของอาการกำเริบของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังรุนแรง อาการกำเริบเหล่านี้ ผู้ป่วยจะมีอาการหายใจลำบากและไอมากขึ้น โดยอาการกำเริบรุนแรงหมายถึงอาการที่ต้องใช้ยาเม็ดหรือยาฉีดสเตียรอยด์ ดังนั้น เราจึงคิดว่าการเสริมเพื่อให้มีวิตามินดีในระดับที่ดีอาจช่วยป้องกันอาการกำเริบและควบคุมอาการได้ดีขึ้น

เราต้องการค้นหาอะไร

เราต้องการทราบว่าการเสริมวิตามินดี:

• ลดความเสี่ยงของการกำเริบของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

• ช่วยปรับปรุงการควบคุมอาการ COPD

• มีผลข้างเคียงด้านลบหรือไม่

เราทำอะไรไปแล้วบ้าง

เราค้นหาการศึกษาวิจัยที่เปรียบเทียบผลของวิตามินดีกับยาหลอก (ยาหลอก) ต่อความเสี่ยงของการกำเริบเฉียบพลันของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังและการควบคุมอาการของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เราไม่ได้วางข้อจำกัดใด ๆ เกี่ยวกับปริมาณวิตามินดีที่ให้ วิธีการให้ หรือระยะเวลาในการศึกษา เราเปรียบเทียบและสรุปผลการศึกษาและจัดอันดับความเชื่อมั่นของเราในหลักฐาน โดยพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น วิธีการศึกษา

นอกจากนี้ เรายังวิเคราะห์ว่าผลของการเสริมวิตามินดีแตกต่างกันหรือไม่ตามระดับวิตามินดีของผู้เข้าร่วมก่อนจะรับการเสริม (ระดับพื้นฐาน) ความรุนแรงของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังของผู้เข้าร่วมในระยะเริ่มแรก และการใช้ยาสเตียรอยด์เป็นประจำ

เราค้นพบอะไร

เรารวมข้อมูลจากการศึกษา 10 ฉบับในการทบทวนวรรณกรรมนี้ ซึ่งมีผู้คนรวมทั้งสิ้น 1372 คน จากการศึกษาเหล่านี้ มีการศึกษา 5 ฉบับที่รายงานข้อมูลเกี่ยวกับอัตราการเกิดอาการกำเริบรุนแรง การศึกษาใช้เวลาระหว่าง 6 สัปดาห์ถึง 40 เดือน และทั้งหมดศึกษาเกี่ยวกับวิตามินดีรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า cholecalciferol หรือวิตามินดี 3 นี่คือรูปแบบของวิตามินดีแบบเม็ดที่พบได้บ่อยที่สุด การศึกษา 1 ฉบับได้ศึกษาอีกรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า calcitriol ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่มีภาวะ COPD ระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง และมีกลุ่มน้อยที่มีภาวะ COPD รุนแรง

โดยรวมแล้ว การให้ผู้ป่วยรับวิตามินดีเสริมจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ได้เพียงเล็กน้อยหรือแทบไม่มีเลยเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอก

• วิตามินดีแทบไม่ก่อให้เกิดความแตกต่างเลยในสัดส่วนของผู้ที่มีอาการกำเริบหนึ่งครั้งหรือมากกว่านั้นในช่วงเวลาที่ศึกษา

• การเสริมวิตามินดีอาจส่งผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อความจุของปอด (lung capacity) หรือความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายร้ายแรง

• การเสริมวิตามินดีอาจส่งผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตหรือคุณภาพชีวิตของผู้เข้าร่วม

ข้อจำกัดของหลักฐานคืออะไร

• เราเชื่อมั่นว่าวิตามินดีไม่มีผลต่ออาการกำเริบของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และค่อนข้างเชื่อมั่นว่าวิตามินดีน่าจะมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อสมรรถภาพของปอดและความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงร้ายแรงที่เป็นอันตราย

• อย่างไรก็ตาม เรามีความเชื่อมั่นน้อยในหลักฐานเกี่ยวกับความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เนื่องจากหลักฐานดังกล่าวมีพื้นฐานจากการศึกษากับผู้เข้าร่วมจำนวนน้อย เรายังมีความเชื่อมั่นน้อยในหลักฐานเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตเนื่องจากการศึกษาวิจัยต่าง ๆ ใช้การวัดที่หลากหลายซึ่งไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้ง่าย

• เรามีความเชื่อมั่นน้อยในผลลัพธ์ของการศึกษา 1 ฉบับ เนื่องจากเป็นการอาศัยความร่วมมือจากผู้เข้าร่วมในการจดจำอาการที่เกิดขึ้นในแต่ละวันตลอด 2 เดือนก่อนหน้าโดยไม่ได้ใช้สมุดบันทึก การศึกษาเรื่องนี้ให้ข้อมูลผลลัพธ์หลักประการหนึ่ง ซึ่งก็คือการทำงานของปอดของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง อย่างไรก็ตาม เมื่อเราทำการวิเคราะห์ซ้ำโดยไม่รวมการศึกษานี้ ผลโดยรวมก็ไม่เปลี่ยนแปลง - การเสริมวิตามินดีไม่มีผลในทั้งสองกรณี

การวิจัยในอนาคต

เราขอแนะนำให้ทำการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับความสมดุลของประโยชน์และอันตรายของการเสริมวิตามินดีสำหรับผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่มีระดับวิตามินดีเริ่มต้นต่ำมากหรือสูงมาก เนื่องจากเราพบหลักฐานไม่มากนักที่จะช่วยตอบคำถามของเราสำหรับกลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้ได้

หลักฐานนี้เป็นปัจจุบันแค่ไหน

หลักฐานเป็นข้อมูลล่าสุดจนถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2022

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

เราพบว่าการให้วิตามินดีมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่ออัตราการกำเริบของโรคปานกลางหรือรุนแรงที่ต้องใช้ systemic corticosteroids ยาปฏิชีวนะ หรือทั้งสองอย่าง หรือสัดส่วนของผู้เข้าร่วมที่ประสบกับการกำเริบของโรคหนึ่งครั้งขึ้นไป (ปานกลางหรือรุนแรง) (หลักฐานทั้งคู่มีความเชื่อมั่นสูง) นอกจากนี้ วิตามินดีอาจไม่มีผลต่อความแตกต่างระหว่างกลุ่มในการเปลี่ยนแปลงของปริมาตรปอดและสัดส่วนของผู้เข้าร่วมที่มีอาการไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรงหนึ่งอย่างหรือมากกว่าจากสาเหตุใด ๆ ก็ตาม (ทั้งคู่มีหลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) และอาจสร้างความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยในอัตราการเสียชีวิตหรือคุณภาพชีวิต (ทั้งคู่มีหลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ)

เราขอแนะนำให้มีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับความสมดุลระหว่างประโยชน์และอันตรายของการเสริมวิตามินดีสำหรับผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) สำหรับผู้ที่มีระดับวิตามินดีเริ่มต้นต่ำมากหรือสูงมาก เนื่องจากเราประเมินหลักฐานที่มีอยู่ว่ามีความเชื่อมั่นต่ำสำหรับกลุ่มเหล่านี้

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

COPD เป็นโรคทางเดินหายใจที่พบได้บ่อย สามารถป้องกันและรักษาได้ และปัจจุบันเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 ของโลก คาดว่าประชากรทั่วโลกราวหนึ่งพันล้านคนมีภาวะขาดวิตามินดีหรือไม่เพียงพอ ภาวะขาดวิตามินดีพบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และมีรายงานว่าเกี่ยวข้องกับการทำงานของปอดที่ลดลงและมีการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงต่อการกำเริบเฉียบพลันของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ได้มีการทดลองทางคลินิกจำนวนมากในการใช้วิตามินดีเพื่อป้องกันการกำเริบเฉียบพลันของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (acute exacerbations of chronic obstructive pulmonary disease; AECOPD) และปรับปรุงการควบคุมโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) แต่การทำ meta-analysis ของการทดลองแบบสุ่มที่ควบคุมด้วยยาหลอกแบบปกปิดสองทาง (double-blind, randomised, placebo-controlled trials) ทั้งหมดเกี่ยวกับการรักษานี้ยังคงขาดอยู่

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินผลของวิตามินดีในการจัดการอาการกำเริบเฉียบพลันและอาการต่าง ๆ สำหรับผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

วิธีการสืบค้น: 

เราค้นหา Cochrane Airways Group Trial Register และรายการอ้างอิงของบทความ นอกจากนี้ เรายังค้นหาทะเบียนการทดลองโดยตรงและติดต่อกับผู้ประพันธ์การศึกษาเพื่อหาการทดลองเพิ่มเติม วันที่ค้นหาครั้งสุดท้าย คือวันที่ 24 สิงหาคม 2022

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เราได้รวมการทดลองแบบสุ่มที่ควบคุมด้วยยาหลอกแบบปกปิดสองทาง ของวิตามินดีหรือ hydroxylated metabolite สำหรับผู้ใหญ่ที่มีการวินิจฉัยทางคลินิกว่าเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังโดยอาศัยอาการลักษณะเฉพาะและการอุดตันของการไหลเวียนของอากาศที่ไม่สามารถกลับคืนปกติได้ เราไม่ได้กำหนดข้อจำกัดเกี่ยวกับความรุนแรงของโรคหรือสถานะวิตามินดีเบื้องต้นเพื่อให้มีความสามารถในการแปรผลสู่ประชากรเป้าหมายสูงสุด

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

เราใช้วิธีตามมาตรฐานของ Cochrane ผลลัพธ์หลักคืออัตราการกำเริบของอาการปานกลางหรือรุนแรง (ต้องใช้ systemic corticosteroids ยาปฏิชีวนะ หรือทั้งสองอย่าง) นอกจากนี้ เรายังดำเนินการวิเคราะห์กลุ่มย่อยเพื่อตรวจสอบว่าผลของวิตามินดีต่ออัตราการกำเริบปานกลางหรือรุนแรงมีการเปลี่ยนแปลงโดยสถานะวิตามินดีในช่วงเริ่มต้น ความรุนแรงของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือการใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์สูดพ่นเป็นประจำหรือไม่

ผลลัพธ์รองหลักที่น่าสนใจคือสัดส่วนของผู้เข้าร่วมที่ประสบกับอาการกำเริบหนึ่งครั้งขึ้นไป (ปานกลางหรือรุนแรง) การเปลี่ยนแปลงของ forced expiratory volume ในหนึ่งวินาที (FEV1, % ที่คาดการณ์ไว้) และสัดส่วนของผู้เข้าร่วมที่มีอาการไม่พึงประสงค์ร้ายแรงหนึ่งรายการขึ้นไปจากสาเหตุใดๆ ก็ได้ อัตราการเสียชีวิต (จากทุกสาเหตุ) และคุณภาพชีวิต เราใช้ GRADE เพื่อประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐานสำหรับแต่ละผลลัพธ์

ผลการวิจัย: 

เราได้รวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมด้วยยาหลอกแบบปกปิดสองทาง จำนวน 10 ฉบับในการทบทวนวรรณกรรมนี้ โดยมีผู้ใหญ่เข้าร่วมทั้งหมด 1372 คน การศึกษา 5 ฉบับให้ข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์ผลลัพธ์หลักของอัตราการกำเริบของโรคปานกลางหรือรุนแรงที่ต้องใช้ systemic corticosteroids ยาปฏิชีวนะ หรือทั้งสองอย่าง ระยะเวลาของการศึกษาใช้ตั้งแต่ 6 สัปดาห์ถึง 40 เดือน และทั้งหมดศึกษาวิจัยผลของการให้ cholecalciferol (วิตามินดี 3 ) การศึกษา 1 ฉบับประกอบด้วยกลุ่มรักษา 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้วิตามินดี 3 และอีกกลุ่มหนึ่งให้ calcitriol (1,25-dihydroxyvitamin D) ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่มีภาวะ COPD ระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง และภาวะขาดวิตามินดีอย่างรุนแรง (25-hydroxyvitamin D (25(OH)D) < 25 nmol/L) เมื่อเริ่มต้นการรักษาพบได้น้อย (มีผู้เข้าร่วม 123 รายที่นำข้อมูลไปวิเคราะห์กลุ่มย่อย)

การให้วิตามินดีหรือ hydroxylated metabolites ของวิตามินดีส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยในอัตราโดยรวมของการกำเริบของโรคที่ต้องใช้ systemic corticosteroids ยาปฏิชีวนะ หรือทั้งสองอย่าง (อัตราส่วนอัตรา (RR) 0.98, 95% CI 0.86 ถึง 1.11; การศึกษา 5 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 980 ราย; หลักฐานความเชื่อมั่นสูง)

การเสริมวิตามินดีไม่มีผลต่อผลลัพธ์รองที่วิเคราะห์แบบเมตต้า ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นปานกลางหรือสูง โดยไม่นับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์และคุณภาพชีวิตซึ่งมีพื้นฐานมาจากหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำ เราสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลยในสัดส่วนของผู้เข้าร่วมที่ประสบกับการกำเริบของโรคปานกลางหรือรุนแรงหนึ่งครั้งขึ้นไป (odds ratio (OR) 0.94, 95% CI 0.72 ถึง 1.24; การศึกษา 5 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 980 ราย; หลักฐานความเชื่อมั่นสูง) นอกจากนี้ วิตามินดีอาจส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงค่าเฉลี่ย FEV1 ระหว่างกลุ่มเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย (% ที่คาดการณ์) (mean difference สูงกว่า 2.82 ในกลุ่มรักษา, 95% CI -2.42 ถึง 8.06; การศึกษา 7 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 1063 ราย; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง)

นอกจากนี้ วิตามินดีอาจไม่มีผลต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ร้ายแรงจากสาเหตุใด ๆ แม้ว่าเราจะพบผลสัมบูรณ์ที่คาดไว้คือ อาการไม่พึงประสงค์เพิ่มเติม 36 รายการต่อ 1000 คน แต่ช่วงความเชื่อมั่นนั้นรวมถึงสมมติฐานว่าไม่มีผลใดๆ (OR 1.19, 95% CI 0.82 ถึง 1.71; การศึกษา 5 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 663 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง)

วิตามินดีอาจส่งผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่ออัตราการเสียชีวิต (OR 1.13, 95% CI 0.57 ถึง 2.21; การศึกษา 6 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 1019 ราย; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) นอกจากนี้ อาจมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อคุณภาพชีวิตที่วัดโดยเครื่องมือที่ผ่านการตรวจสอบ (ผลการวิจัยเชิงบรรยาย จากการศึกษา 5 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 663 ราย; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ)

เราประเมินการศึกษา 1 ฉบับว่ามีความเสี่ยงของการมรอคติสูงในอย่างน้อยหนึ่งโดเมน ซึ่งไม่ได้ให้ข้อมูลใน meta-analysis ของผลลัพธ์หลักที่รายงานไว้ข้างต้น การวิเคราะห์ความไว (sensitivity analysis) ที่แยกการศึกษานี้ออกจากผลลัพธ์ที่วิเคราะห์แบบเมตต้าซึ่งรวมการศึกษานี้ ซึ่งก็คือการเปลี่ยนแปลงค่าเฉลี่ย FEV1 ระหว่างกลุ่ม ไม่ได้เปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ที่พบ

บันทึกการแปล: 

แปลโดย ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 9 ตุลาคม 2024 Edit โดย ศ.พ.ญ. ผกากรอง ลุมพิกานนท์ 13 มกราคม 2025

Tools
Information