การจำกัดเวลารับประทาน (การอดอาหารเป็นระยะ) ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดได้หรือไม่

โรคหัวใจและหลอดเลือดคืออะไร

โรคหัวใจและหลอดเลือด (CVD) เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของประชากรทั้งโลก การสูบบุหรี่ โรคเบาหวาน และการมีน้ำหนักเกิน เป็นปัจจัยเสี่ยงของ CVD ซึ่งหมายความว่าจะเพิ่มโอกาสในการเกิด CVD CVD มักสามารถป้องกันได้ด้วยวิถีชีวิตที่ทำให้สุขภาพดี เช่นการรักษาน้ำหนักให้เหมาะสม หรือลดน้ำหนักหากจำเป็น

การควบคุมการรับประทานอาหาร

บางคนเลือกที่จะลดน้ำหนักด้วยการควบคุมการรับประทานอาหาร ตัวอย่างเช่น การกินไขมันให้น้อยลง หรือลดจำนวนแคลอรี่ที่กิน การอดอาหารเป็นระยะ เป็นการควบคุมน้ำหนักประเภทหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบการกินและการอดอาหาร (ไม่กินอาหาร) ไม่ได้จำกัดอาหารที่กิน แต่จำกัดเวลาที่สามารถกินได้ รูปแบบการรับประทานอาหารในการอดอาหารเป็นระยะ ได้แก่ การอดอาหาร 1 หรือ 2 วันในแต่ละสัปดาห์ อดอาหารวันเว้นวัน หรือกินเฉพาะบางช่วงเวลา และอดอาหารอย่างน้อย 12 ชั่วโมงทุกวัน

ทำไมเราถึงทำการทบทวนวรรณกรรมครั้งนี้

อาหารที่เกี่ยวข้องกับการอดอาหารเป็นระยะกำลังเป็นที่นิยม เราต้องการทราบว่าการอดอาหารเป็นระยะสามารถลดหรือป้องกัน CVD ได้หรือไม่

ผู้วิจัยทำการศึกษาอย่างไร

เราสืบค้นการศึกษาที่ทดสอบการอดอาหารเป็นระยะๆ กับ 'การกินตามปกติ' (กินอาหารอะไรก็ได้ตามที่ต้องการ เมื่อใดก็ได้ตามที่ต้องการ) หรือกับอาหารที่ 'จำกัดพลังงาน' (จำกัดจำนวนแคลอรี่ที่กิน)

เราต้องการค้นหาว่าการอดอาหารเป็นระยะ ส่งผลต่อการเสียชีวิต การเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ ความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง หัวใจวาย หรือหัวใจล้มเหลวหรือไม่ นอกจากนี้เรายังดูด้วยว่าการอดอาหารเป็นระยะ ส่งผลต่อน้ำหนักตัวและระดับน้ำตาลในเลือดหรือไม่

วันที่ค้นข้อมูล: เรารวมหลักฐานที่เผยแพร่ถึง 12 ธันวาคม 2019

สิ่งที่เราพบ

เราพบการศึกษาที่เกี่ยวข้อง 26 รายการ จากนั้นเราใช้ผลจากการศึกษา 18 รายการ เพื่อเปรียบเทียบการควบคุมอาหารที่แตกต่างกัน การศึกษา 18 รายการ รวมผู้ใหญ่ 1125 คน (อายุมากกว่า 18 ปี) บางคนในการศึกษามีปัจจัยเสี่ยงต่อ CVD และบางคนไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อ CVD การศึกษาส่วนใหญ่ได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยและศูนย์วิจัย มีการศึกษา 2 รายการ ได้รับทุนจากบริษัทที่ผลิตอาหารลดน้ำหนัก

การศึกษาเปรียบเทียบการอดอาหารเป็นระยะ กับการรับประทานอาหารตามปกติ (การศึกษา 7 รายการ); อาหารจำกัดพลังงาน (การศึกษา 8 รายการ); และอาหารที่กินตามปกติและจำกัดพลังงาน (การศึกษา 3 รายการ) การศึกษาใช้เวลาตั้งแต่ 4 สัปดาห์ถึง 6 เดือน รายงานผลลัพธ์หลังจาก 3 เดือน (ระยะสั้น) และระหว่าง 3 ถึง 12 เดือน (ระยะกลาง)

เราไม่พบข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับการเสียชีวิต การเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง หัวใจวาย หรือหัวใจล้มเหลว

เราพบว่าคนอาจลดน้ำหนักได้มากขึ้นโดยการอดอาหารเป็นระยะ ๆ มากกว่าการรับประทานอาหารตามปกติในช่วง 3 เดือน (หลักฐานจากการศึกษา 7 รายการ มี 224 คน) แต่น้ำหนักไม่ลดเมื่อเทียบกับอาหารที่จำกัดพลังงานเป็นเวลา 3 เดือน (การศึกษา 10 รายการ มี 719 คน) หรือนานกว่านั้น (3 ถึง 12 เดือน; การศึกษา 4 รายการ มี 279 คน)

นอกจากนี้เรายังพบว่าการอดอาหารเป็นระยะไม่ส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดเมื่อเทียบกับการรับประทานอาหารตามปกติในช่วง 3 เดือน (3 การศึกษา ใน 95 คน); อาหารจำกัดพลังงานในช่วง 3 เดือน (9 การศึกษา ใน 582 คน); หรืออาหารจำกัด พลังงานในช่วง 3 ถึง 12 เดือน (4 การศึกษา ใน 279 คน)

น้ำหนักที่ลดและการเปลี่ยนแปลงของน้ำตาลในเลือดที่รายงานในการศึกษามีเพียงเล็กน้อย การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่ถือว่ามีนัยสำคัญทางคลินิก

มีงานวิจัยเพียง 4 รายการเท่านั้นที่รายงานผลที่ไม่พึงประสงค์ของการอดอาหารเป็นระยะๆ: บางคนที่มีส่วนร่วมรายงานว่ามีอาการปวดศีรษะเล็กน้อย มีงานวิจัยเพียงรายการเดียวที่รายงานเกี่ยวกับความสุขสบาย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคะแนนความสุขสบายทางกายภาพเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

ความเชื่อมั่นในผลลัพธ์ของเรา

เราไม่เชื่อมั่นในผลลัพธ์ของเรา เราพบข้อจำกัดในวิธีการออกแบบ การดำเนินการ และการรายงานผลการศึกษา; และในบางการศึกษาผลการศึกษามีความหลากหลายหรือไม่สอดคล้องกัน ผลลัพธ์เหล่านี้น่าจะมีเปลี่ยนแปลงหากมีหลักฐานเพิ่มเติม

ใจความสำคัญ

เราไม่พบหลักฐานที่น่าเชื่อถือเพียงพอที่จะทราบว่าการอดอาหารเป็นระยะ สามารถป้องกัน CVD ได้หรือไม่ เราพบว่าการอดอาหารเป็นระยะอาจช่วยให้ลดน้ำหนักได้มากกว่าการกินอาหารตามปกติ (ไม่ใช่การอดอาหาร) แต่มีผลคล้ายกับการรับประทานอาหารที่จำกัดพลังงาน เราต้องการการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อทดสอบประโยชน์และอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการอดอาหารเป็นระยะ และเพื่อทดสอบว่าอาจส่งผลต่อจำนวนผู้เสียชีวิตหรือเป็นโรค CVD

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

เราไม่แน่ใจเกี่ยวกับผลของการอดอาหารเป็นระยะๆ ต่อเหตุการณ์ทางคลินิก เช่น การเสียชีวิต กล้ามเนื้อหัวใจตาย และภาวะหัวใจล้มเหลว เนื่องจากไม่มีข้อมูลสำหรับผลลัพธ์เหล่านี้ การวิเคราะห์อภิมานของแต่ละบุคคลแสดงให้เห็นว่าการอดอาหารเป็นระยะๆ อาจมีประสิทธิภาพในการลดน้ำหนักเมื่อเทียบกับการกินอาหารตามต้องการ และอาจมีประสิทธิภาพเท่ากับการกินแบบจำกัดพลังงานอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ดูเหมือนจะไม่มีนัยสำคัญทางคลินิกในการติดตามผลระยะสั้น คุณภาพของหลักฐานที่มีอยู่ในระดับต่ำถึงต่ำมาก ซึ่งหมายความว่ายังคงมีความไม่แน่นอนอยู่หลายประเด็น จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับความปลอดภัยและการวิเคราะห์ประโยชน์ ความเสี่ยง ของ IF ในกลุ่มผู้ป่วยเฉพาะ (เช่นผู้ป่วยโรคเบาหวานหรือความผิดปกติของการรับประทานอาหาร) รวมถึงผลต่อผลลัพธ์ในระยะยาว เช่น การเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ และกล้ามเนื้อหัวใจตาย

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

โรคหัวใจและหลอดเลือด (CVD) เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของประชากรทั้งโลก การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันโรค ซึ่งรวมถึงคำแนะนำเช่นการเพิ่มการออกกำลังกายและการรับประทานอาหารที่สมดุลเพื่อสุขภาพ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยง การอดอาหารเป็นระยะๆ (IF) เป็นแผนการรับประทานอาหารที่ได้รับความนิยมซึ่งเกี่ยวข้องกับการจำกัดปริมาณแคลอรี่ในบางวันของสัปดาห์ เช่นการอดอาหารแบบสลับวัน และการอดอาหารเป็นระยะ และการจำกัดการรับประทานเป็นจำนวนชั่วโมงในวันนั้นๆ หรือที่เรียกว่าการกินอาหารแบบจำกัดเวลา IF กำลังได้รับการวิจัยเพื่อดูประโยชน์ และการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมจำนวนมากได้พิจารณาถึงประโยชน์ในการป้องกัน CVD

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินบทบาทของ IF ในการป้องกันและลดความเสี่ยงของ CVD ในผู้ที่มีหรือไม่มี CVD ก่อนหน้านี้

วิธีการสืบค้น: 

เราทำการค้นหาเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2019 เราค้นหาจาก CENTRAL, MEDLINE และ Embase นอกจากนี้เรายังค้นหาการศึกษาจากการลงทะเบียนการทดลอง 3 รายการ และค้นหาเอกสารอ้างอิงของงานวิจัยที่รวบรวมเข้ามา นอกจากนี้ยังมีการดูการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบเพื่อหาการศึกษาเพิ่มเติม ไม่มีข้อจำกัดด้านภาษา

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เราได้รวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม ที่เปรียบเทียบ IF กับการกินอาหารตามต้องการ (กินเมื่อใดก็ได้โดยไม่มีการจำกัดแคลอรี่ที่เฉพาะเจาะจง) หรือการจำกัดพลังงานอย่างต่อเนื่อง (CER) ผู้เข้าร่วมต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไปและรวมผู้ที่มีและไม่มีปัจจัยเสี่ยงของ cardiometabolic การอดอาหารเป็นระยะ แบ่งออกเป็นการอดอาหารแบบสลับวัน การอดอาหารแบบสลับวันที่ปรับเปลี่ยน การอดอาหารเป็นระยะและการกินอาหารแบบจำกัดเวลา

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ทบทวนวรรณกรรม 5 คน เลือกการศึกษาสำหรับการรวบรวมและคัดลอกข้อมูลโดยเป็นอิสระต่อกัน ผลลัพธ์หลักได้แก่ การตายจากทุกสาเหตุ การตายจากโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง กล้ามเนื้อหัวใจตาย และภาวะหัวใจล้มเหลว ผลลัพธ์รอง ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัวและกลูโคส นอกจากนี้ ผลข้างเคียง เช่น อาการปวดศีรษะ และการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตก็มีส่วนด้วย สำหรับข้อมูลต่อเนื่อง จะมีการคำนวณค่าเฉลี่ยของความแตกต่างรวม (MD) (ที่มีช่วงความเชื่อมั่น 95% (CIs)) เรามีการติดต่อผู้วิจัยของการศึกษานั้นๆ เพื่อขอข้อมูลที่ขาดหายไป เราใช้ GRADE เพื่อประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐาน

ผลการวิจัย: 

การสืบค้นของเราพบการวิจัย 39 เรื่อง,165 รายการหลังจากลบรายการที่ซ้ำกัน จากสิ่งนี้ มีการศึกษา 26 รายการ เป็นไปตามเกณฑ์ของเราและ 18 รายการรวมอยู่ในการวิเคราะห์ pooled analysis การศึกษา 18 รายการ มีผู้เข้าร่วม 1125 คนและ ติดตามผลลัพธ์ตั้งแต่ 4 สัปดาห์ ถึง 6 เดือน จากข้อมูลเชิงปริมาณที่วิเคราะห์ การศึกษา 7 รายการเปรียบเทียบ IF กับการกินอาหารแบบตามใจ การศึกษา 8 รายการเปรียบเทียบ IF กับ CER และการศึกษา 3 รายการเปรียบเทียบ IF กับทั้งการกินอาหารแบบตามใจและ CER มีการรายงานผลลัพธ์จากการติดตามผลในระยะสั้น (น้อยกว่าหรือเท่ากับ 3 เดือน) และระยะกลาง (มากกว่า 3 เดือนถึง 12 เดือน)

ผลลัพธ์หลักได้แก่ การตายจากทุกสาเหตุ การตายจากโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง กล้ามเนื้อหัวใจตาย และภาวะหัวใจล้มเหลว

น้ำหนักตัวลดลงด้วย IF เมื่อเทียบกับการกินอาหารแบบตามใจ ในระยะสั้น (MD -2.88 กก., 95% CI -3.96 ถึง -1.80; ผู้เข้าร่วม 224 คน; 7 การศึกษา; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) เราไม่แน่ใจถึงผลของ IF เมื่อเทียบกับ CER ในระยะสั้น (MD -0.88 kg, 95% CI -1.76 ถึง 0.00; ผู้เข้าร่วม 719 คน; 10 การศึกษา; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก) และอาจไม่มีผลในระยะกลาง (MD -0.56 กก., 95% CI -1.68 ถึง 0.56; ผู้เข้าร่วม 279 คน; 4 การศึกษา; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ)

เราไม่แน่ใจเกี่ยวกับผลของ IF ที่มีต่อกลูโคสเมื่อเปรียบเทียบกับการกินอาหารแบบตามใจ ในระยะสั้น (MD -0.03 mmol / L, 95% CI -0.26 ถึง 0.19; ผู้เข้าร่วม 95 คน; 3 การศึกษา; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก) และเมื่อเปรียบเทียบกับ CER ในระยะสั้น: MD -0.02 mmol / L, 95% CI -0.16 ถึง 0.12; ผู้เข้าร่วม 582 คน; 9 การศึกษา; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก; ระยะกลาง: MD 0.01, 95% CI -0.10 ถึง 0.11; ผู้เข้าร่วม 279 คน; 4 การศึกษา; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ)

การเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัวและกลูโคสไม่น่าจะมีนัยสำคัญทางคลินิก

การศึกษา 4 รายการ รายงานข้อมูลเกี่ยวกับผลข้างเคียง โดยผู้เข้าร่วมบางคนมีอาการปวดศีรษะเล็กน้อย การศึกษา 1 รายการ รายงานคุณภาพชีวิตโดยใช้คะแนน RAND SF-36 คะแนนสรุปองค์ประกอบทางกายภาพเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

บันทึกการแปล: 

แปลโดย พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว

Tools
Information