เราต้องการค้นหาอะไร
เราต้องการเปรียบเทียบประสิทธิผลของการฝึกควบคุมการปัสสาวะเทียบกับการรักษาอื่นๆ สำหรับผู้ใหญ่ที่มีภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน (OAB)
ความเป็นมา
OAB เป็นภาวะเรื้อรังทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับการปัสสาวะบ่อยในเวลากลางวัน การปัสสาวะระหว่างการนอนหลับ และการกระตุ้นให้ปัสสาวะกะทันหันโดยมีหรือไม่มีภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ (การปัสสาวะไหลโดยไม่ได้ตั้งใจ) ความผิดปกติดังกล่าวทำให้คุณภาพชีวิตลดลงและส่งผลให้เกิดภาระทางเศรษฐกิจที่สำคัญต่อสังคม การฝึกควบคุมการปัสสาวะเป็นพฤติกรรมบำบัดที่กำหนดเป้าหมายการรักษาและใช้เทคนิคในการปรับเปลี่ยนการตอบสนองที่ไม่เหมาะสมต่อความเร่งด่วนของการปัสสาวะ จุดมุ่งหมายคือเพื่อปรับปรุงอาการ OAB โดยลดการกระตุ้นให้ปัสสาวะบ่อย แม้ว่าหลักเกณฑ์ทางคลินิกจะแนะนำให้มีการฝึกควบคุมการปัสสาวะเพื่อรักษา OAB แต่ก็ไม่มีการทบทวนเพื่อประเมินประสิทธิภาพอย่างเป็นระบบ
เราทำอะไร
เราค้นหาการศึกษาที่ตรวจสอบการฝึกควบคุมการปัสสาวะด้วยวิธีการ (interventions) 7 ประการต่อไปนี้: 1. เปรียบเทียบกับการไม่รักษา, 2. เทียบกับยาที่เรียกว่า anticholinergics, 3. เทียบกับยาที่เรียกว่า β3-adrenoceptor agonists, 4. เทียบกับการฝึกกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (PFMT; การเสริมสร้างกล้ามเนื้อบริเวณกระเพาะปัสสาวะ ทวารหนัก และช่องคลอด หรือ องคชาต), 5. ใช้การควบคุมการปัสสาวะร่วมกับยาต้านโคลิเนอร์จิก เทียบกับยาต้านโคลิเนอร์จิคเพียงอย่างเดียว, 6. ใช้การควบคุมการปัสสาวะร่วมกับ β3-adrenoceptor agonists เทียบกับ β3-adrenoceptor agonists เพียงอย่างเดียว และ 7. ใช้การควบคุมการปัสสาวะร่วมกับ PFMT เทียบกับ PFMT เพียงอย่างเดียว
เราพบอะไร
เราพบการศึกษาที่เข้าเกณฑ์ 15 ฉบับ เกี่ยวข้องกับผู้เข้าร่วม 2007 คน ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง การศึกษาเปรียบเทียบการฝึกควบคุมการปัสสาวะกับการเปรียบเทียบ 3 รายการ: การไม่รักษา ยาต้านโคลิเนอร์จิค และ PFMT ในผู้ใหญ่ที่มี OAB ไม่มีการศึกษาใดที่ตรวจสอบการเปรียบเทียบอีก 4 รายการ การศึกษา 7 ฉบับ ได้รับทุนสนับสนุนจากสาธารณะ การศึกษา 2 ฉบับ ได้รับทุนจากบริษัทยา การศึกษา 6 ฉบับ ไม่ได้บอกแหล่งเงินทุน
ผลการศึกษาที่สำคัญ
การฝึกควบคุมการปัสสาวะเทียบกับการไม่รักษา : การฝึกควบคุมการปัสสาวะอาจรักษาให้หายหรือทำให้อาการดีขึ้นจากภาวะ OAB ได้ แต่เราไม่แน่ใจอย่างมากเกี่ยวกับผลลัพธ์ การฝึกควบคุมการปัสสาวะอาจลดจำนวนครั้งท่ีกลั้นปัสสาวะไม่ได้ เราไม่พบการศึกษาที่จะช่วยตอบคำถามของเราเกี่ยวกับผลลัพธ์อื่นๆ
การฝึกควบคุมการปัสสาวะเทียบกับการใช้ยาต้านโคลิเนอร์จิค : การฝึกควบคุมการปัสสาวะอาจรักษให้หายาหรือดีขึ้นของอาการ OAB ได้มากกว่าการใช้ยาต้านโคลิเนอร์จิค เราไม่ทราบว่าการฝึกควบคุมการปัสสาวะส่งผลต่อผลลัพธ์อื่นๆ หรือไม่ และเราพบว่าไม่มีการศึกษาที่จะช่วยตอบคำถามของเราเกี่ยวกับความพึงพอใจที่ผู้ป่วยรายงาน
การฝึกควบคุมการปัสสาวะเทียบกับ PFMT : การฝึกควบคุมการปัสสาวะอาจสร้างความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อคุณภาพชีวิตหรือจำนวนครั้งที่กลั้นปัสสาวะไม่ได้ต่อ 24 ชั่วโมง การศึกษาเดียวที่พิจารณาผลข้างเคียงรายงานว่าไม่มีเหตุการณ์ใดๆเกิดขึ้น ไม่ชัดเจนว่าการฝึกควบคุมการปัสสาวะส่งผลต่อจำนวนครั้งของการปัสสาวะหรือไม่ เราไม่พบการศึกษาที่วัดผลลัพธ์อื่นๆ
ข้อจำกัดของหลักฐานคืออะไร
การศึกษาที่นำเข้าส่วนใหญ่ถูกจำกัดเนื่องจากมีผู้เข้าร่วมจำนวนน้อยและการรายงานรายละเอียดการศึกษาที่ไม่ดี ซึ่งนำไปสู่ความไม่แน่นอนในหลักฐาน หลักฐานในปัจจุบันไม่เพียงพอที่จะแสดงให้เห็นประสิทธิผลของการฝึกควบคุมการปัสสาวะเพื่อรักษา OAB และจำเป็นต้องมีการศึกษาที่ออกแบบมาอย่างดีเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่แน่ชัด
การทบทวนวรรณกรรมนี้เป็นปัจจุบันแค่ไหน
หลักฐานเป็นข้อมูลถึงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2022
การทบทวนนี้มุ่งเน้นไปที่ผลของการฝึกควบคุมการปัสสาวะเพื่อรักษา OAB อย่างไรก็ตาม หลักฐานส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นต่ำหรือต่ำมาก จากหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำหรือต่ำมาก การฝึกควบคุมการปัสสาวะอาจรักษาให้หายหรืออาการดีขึ้นของ OAB เมื่อเทียบกับการไม่ได้รับการรักษา การฝึกควบคุมการปัสสาวะอาจมีประสิทธิภาพในการรักษาแล้วหายหรืออาการดีขึ้นของ OAB มากกว่ายาต้านโคลิเนอร์จิค และอาจมีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์น้อยกว่า อาจไม่มีความแตกต่างในด้านประสิทธิภาพหรือความปลอดภัยระหว่างการฝึกควบคุมการปัสสาวะกับ PFMT จำเป็นต้องมีการทดลองที่ออกแบบมาอย่างดีเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน
กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน (overactive bladder; OAB) เป็นภาวะเรื้อรังและน่ารำคาญที่พบบ่อย การฝึกควบคุมการปัสสาวะถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางว่าเป็นการรักษาขั้นแรกสำหรับ OAB แต่ประสิทธิภาพการรักษาด้วยวิธีนี้มีการประเมินอย่างเป็นระบบสำหรับภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ มากกว่าการประเมิน OAB เพียงอย่างเดียว
เพื่อประเมินประโยชน์และผลเสียของการฝึกควบคุมการปัสสาวะในการรักษาผู้ใหญ่ที่มีภาวะ OAB เปรียบเทียบกับการไม่รักษา การใช้ anticholinergics, β3-adrenoceptor agonists หรือการฝึกกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (pelvic floor muscle training; PFMT) เพียงอย่างเดียวหรือร่วมกัน
เราใช้วิธีการค้นหาแบบมาตรฐานและครอบคลุมตามวิธีการของ Cochrane วันที่ค้นหาล่าสุดคือ 6 พฤศจิกายน 2022
เรารวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมที่เกี่ยวข้องกับผู้ใหญ่อายุ 18 ปีขึ้นไปที่มีภาวะ OAB ที่ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาท เราไม่รวมการศึกษาของผู้เข้าร่วมที่มีอาการเกิดจากปัจจัยภายนอกระบบทางเดินปัสสาวะ (เช่น ความผิดปกติทางระบบประสาท ความบกพร่องทางสติปัญญา โรคทางนรีเวช)
เราใช้วิธีตามมาตรฐานของ Cochrane ผลลัพธ์หลักของเราคือ 1. การรักษาหายหรืออาการดีขึ้นที่ผู้เข้าร่วมรายงาน 2. คุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้องกับอาการที่มี(QoL) และ 3. เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ ผลลัพธ์รอง ได้แก่ 4. ความพึงพอใจที่ผู้เข้าร่วมรายงาน 5. จำนวนครั้งที่กลั้นปัสสาวะไม่ได้ 6. จำนวนครั้งของการปัสสาวะเล็ดทันทีที่ปวดปัสสาวะ และ 7. จำนวนครั้งของการถ่ายปัสสาวะ เพื่อวัตถุประสงค์ของการทบทวนนี้ เราพิจารณาช่วงเวลาสองจุด: ทันทีหลังการรักษา (ระยะแรก) และอย่างน้อย 2 เดือนหลังการรักษา (ระยะปลาย) เราใช้ GRADE เพื่อประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐานสำหรับแต่ละผลลัพธ์
เรารวมการทดลอง 15 ฉบับ กับผู้เข้าร่วม 2007 คน ผู้เข้าร่วมการทดลองเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง (89.3%) เราประเมินความเสี่ยงของการมีอคติของผลลัพธ์สำหรับผลลัพธ์หลักและผลลัพธ์รอง ซึ่งในการศึกษาทั้งหมดมีความคล้ายคลึงกันและส่วนใหญ่มีความเสี่ยงของการมีอคติสูง และไม่มีผลลัพธ์ใดเลยที่มีความเสี่ยงของการมีอคติต่ำ ความเชื่อมั่นของหลักฐานอยู่ในระดับต่ำถึงต่ำมาก โดยมีปานกลางในบางผลลัพธ์
การฝึกควบคุมการปัสสาวะ เปรียบเทียบกับการไม่รักษา: การศึกษา 3 ฉบับที่มีผู้เข้าร่วม 92 คน เปรียบเทียบการฝึกควบคุมการปัสสาวะกับการไม่รักษา หลักฐานมีความไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับผลกระทบของการฝึกควบคุมการปัสสาวะต่อการหายจากอาการหรืออาการดีขึ้นในระยะเริ่มต้น (อัตราส่วนความเสี่ยง (RR) 17.00, 95% ช่วงความเชื่อมั่น (CI) 1.13 ถึง 256.56; การศึกษา 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 18 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) การฝึกควบคุมการปัสสาวะอาจลดจำนวนครั้งที่กลั้นปัสสาวะไม่ได้ (Mean Difference (MD) −1.86, 95% CI −3.47 ถึง −0.25; การศึกษา 1 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 14 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) ไม่มีการศึกษาที่วัด QoL ที่เกี่ยวข้องกับอาการและภาวะ จำนวนเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ ความพึงพอใจที่ผู้เข้าร่วมรายงาน จำนวนครั้งของการปัสสาวะเล็ดทันทีที่ปวดปัสสาวะ หรือจำนวนครั้งของการปัสสาวะในระยะแรก
การฝึกควบคุมการปัสสาวะเทียบกับการใช้ยาต้านโคลิเนอร์จิก: การศึกษา 7 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 602 คน) ตรวจสอบผลของการฝึกควบคุมการปัสสาวะเทียบกับการรักษาด้วยยาต้านโคลิเนอร์จิค การฝึกควบคุมการปัสสาวะอาจมีประสิทธิผลมากกว่าการใช้ยาต้านโคลิเนอร์จิกในการหายหรืออาการดีขึ้นในระยะแรก (RR 1.37, 95% CI 1.10 ถึง 1.70; การศึกษา 4 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 258 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) หลักฐานมีความไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับผลกระทบของการฝึกควบคุมการปัสสาวะต่อ QoL ที่เกี่ยวข้องกับอาการหรือภาวะ (standardized Mean Difference (SMD) −0.06, 95% CI −0.89 ถึง 0.77; การศึกษา 2 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 117 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) แม้ว่าหลักฐานจะมีความไม่แน่นอนมาก แต่มีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในกลุ่มการฝึกควบคุมการปัสสาวะน้อยกว่าในกลุ่มยาต้านโคลิเนอร์จิคส์ (RR 0.03, 95% CI 0.01 ถึง 0.17; การศึกษา 3 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 187 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) หลักฐานมีความไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวจำนวนครั้งที่กลั้นไม่ได้ต่อ 24 ชั่วโมง (MD 0.36, 95% CI −0.27 ถึง 1.00; การศึกษา 2 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 117 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) จำนวนครั้งที่ปัสสาวะเล็ดทันทีที่ปวดปัสสาวะต่อ 24 ชั่วโมง (MD 0.70, 95% CI -0.62 ถึง 2.02; การศึกษา 2 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 92 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) และจำนวนครั้งของการปัสสาวะต่อ 24 ชั่วโมง (MD −0.35, 95% CI −1.90 ถึง 1.20; การศึกษา 3 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 175 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) ไม่มีการศึกษาใดที่วัดความพึงพอใจที่ผู้เข้าร่วมรายงานในระยะแรก
การฝึกควบคุมการปัสสาวะ เปรียบเทียบกับ PFMT: การศึกษา 3 ฉบับ ที่มีผู้เข้าร่วม 203 คน เปรียบเทียบการฝึกควบคุมการปัสสาวะกับ PFMT หลักฐานมีความไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับผลกระทบที่แตกต่างกันระหว่างการฝึกควบคุมการปัสสาวะและ PFMT ต่อ QoL ที่เกี่ยวข้องกับอาการและภาวะในระยะแรก (SMD 0.10, 95% CI −0.19 ถึง 0.40; การศึกษา 2 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 178 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) ไม่มีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในทั้งสองกลุ่มในระยะแรก (การศึกษา 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 97 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) หลักฐานไม่แน่นอนเกี่ยวกับผลกระทบต่อจำนวนครั้งที่กลั้นปัสสาวะไม่ได้ต่อ 24 ชั่วโมง (MD 0.02, 95% CI −0.35 ถึง 0.39, การศึกษา 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 81 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) และมีความไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับจำนวนครั้งของการปัสสาวะต่อ 24 ชั่วโมง (MD 0.10, 95% CI −1.44 ถึง 1.64; การศึกษา 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 81 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) ไม่มีการศึกษาที่วัดการหายหลังการรักษาหรืออาการดีขึ้น ความพึงพอใจที่ผู้เข้าร่วมรายงาน หรือจำนวนครั้งที่ปัสสาวะเล็ดทันทีที่ปวดปัสสาวะในระยะแรก
แม้ว่าเราจะสนใจในการศึกษาที่ตรวจสอบการฝึกควบคุมการปัสสาวะเทียบกับ β3-adrenoceptor agonists, หรือการฝึกควบคุมกระเพาะปัสสาวะ เมื่อใช้ร่วมกับ β3-adrenoceptor agonists เทียบกับ β3-adrenoceptor agonists เพียงอย่างเดียว และ การฝึกควบคุมการปัสสาวะ เมื่อใช้ร่วมกับ PFMT เทียบกับ PFMT เพียงอย่างเดียว เราไม่พบการศึกษาใดที่เข้าเกณฑ์สำหรับการเปรียบเทียบเหล่านี้
แปลโดย พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี Edit โดย พ.ญ. ผกากรอง ลุมพิกานนท์ 25 กันยายน 2024