การผ่าตัดรักษาภาวะกระดูกนิ้วหัวแม่เท้าเอียงได้ดีกว่าการไม่ได้รับการรักษาหรือการรักษาที่ไม่มีการผ่าตัดหรือไม่

ใจความสำคัญ

– การผ่าตัดอาจส่งผลให้ความเจ็บปวดดีขึ้น และการทำงานของร่างกายและความพึงพอใจต่อการรักษาดีขึ้นเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับการไม่ได้รับการรักษาหรือการรักษาแบบไม่มีการผ่าตัด อย่างไรก็ตาม ภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัด เช่น การติดเชื้อของแผล, หรือการระคายเคืองจากอุปกรณ์ที่ใส่ในร่างการเพิ่มเติมจากการผ่าตัด, จะต้องได้รับความสมดุลระหว่างประโยชน์ที่ได้รับในด้านความเจ็บปวดและการทำงานของร่างกายที่ดีขึ้น

โรคกระดูกนิ้วหัวแม่เท้าเท้าเอียงคืออะไร

โรคกระดูกนิ้วหัวแม่เท้าเอียงคือก้อนกระดูกที่ปูดออกมาเกิดขึ้นด้านในของเท้า (ที่เรียกกันว่า ภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียง) สาเหตุที่แน่ชัดยังไม่ทราบ แต่อาการจะแย่ลงได้จากแรงกดที่บริเวณหน้าเท้าอย่างต่อเนื่อง เช่น รองเท้าที่ไม่พอดีหรือรองเท้าส้นสูง โรคกระดูกนิ้วหัวแม่เท้าเอียงทำให้ทรงตัวได้ไม่ดีและมีความเสี่ยงต่อการหกล้มเพิ่มมากขึ้น ผู้ป่วยอาจประสบปัญหาในการสวมรองเท้าทั่วไป และมีอาการปวดบริเวณฝ่าเท้าและนิ้วหัวแม่เท้า รวมถึงอาการปวดเนื่องจากข้อต่อเสื่อม อาการทั้งหมดนี้จะแย่ลงเมื่อต้องรับน้ำหนัก (เช่น เมื่อยืนขึ้น)

ผู้ที่เป็นโรคกระดูกนิ้วหัวแม่เท้าเอียงต้องการให้เท้าไม่มีอาการเจ็บปวดเมื่อสวมรองเท้าธรรมดา อาการบวม ปวดข้อ และขนาดของกระดูกโป้งเท้าดีขึ้น การเดินดีขึ้น ข้อจำกัดในการเล่นกีฬาลดลง ใช้อุปกรณ์ช่วยเดินหรือเฝือก/เครื่องพยุงน้อยลง มีรูปลักษณ์ภายนอกที่ดีขึ้น และไม่ต้องใช้ยารักษาอีกต่อไป

โรคกระดูกนิ้วหัวแม่เท้าเอียงรักษาอย่างไร

การรักษานั้นรวมถึงวิธีการที่ไม่ต้องผ่าตัด เช่น การใส่เฝือก การดาม หรือการพันเทป และหัตถการผ่าตัดที่มีการกรีดเพียงครั้งเดียว (การผ่าตัดแบบง่าย) หรือการกรีดสองครั้งขึ้นไป (การผ่าตัดแบบซับซ้อน) เพื่อปรับให้กระดูกกลับไปอยู่ในตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งที่คาดไว้

เราต้องการค้นหาอะไร

เราต้องการค้นหาว่าการผ่าตัดจะดีกว่าการไม่ได้รับการรักษาหรือการรักษาแบบไม่มีการผ่าตัดหรือไม่เพื่อทำให้ความเจ็บปวด การทำงานของร่างกาย คุณภาพชีวิต นั้นดีขึ้น และผู้ป่วยมองว่าการรักษานั้นประสบความสำเร็จหรือไม่

นอกจากนี้ เรายังต้องการหาว่า การผ่าตัดมีความเกี่ยวข้องกับผลข้างเคียงที่ไม่ต้องการหรือความจำเป็นในการผ่าตัดอีกครั้ง (การรักษาล้มเหลว) หรือไม่

เราทำอะไรไปแล้วบ้าง

เราค้นหาการศึกษาที่เปรียบเทียบการผ่าตัดกับการไม่ได้รับการรักษาหรือการรักษาแบบไม่ผ่าตัดหรือการผ่าตัดแบบอื่นในผู้ใหญ่ เราเปรียบเทียบและสรุปผลการศึกษาและจัดอันดับตามความเชื่อมั่นของหลักฐานของพวกเราโดยพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น วิธีการศึกษาและขนาดการศึกษา

เราค้นพบอะไร

เราพบการศึกษาทั้งหมด 25 ฉบับ โดยมีผู้เข้าร่วมในการศึกษาเป็นวัยผู้ใหญ่จำนวน 1597 คน อายุระหว่าง 16 ถึง 80 ปี ซึ่งมีจำนวนผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ผู้เข้าร่วมในการวิจัยได้รับการติดตามเป็นเวลาเฉลี่ย 20 เดือน (ช่วงระหว่าง 5 ถึง 84 เดือน) เราไม่พบการศึกษาที่เปรียบเทียบการผ่าตัดกับยาหลอก (การรักษาหลอก) การศึกษา 1 ฉบับได้เปรียบเทียบการผ่าตัดกับการไม่ได้รับการรักษาและการรักษาแบบไม่ผ่าตัด และมีการศึกษาอีก 24 ฉบับ ที่ได้เปรียบเทียบการผ่าตัดในแบบที่ต่างกัน

ผลลัพธ์หลัก

ในการศึกษาครั้งนี้ เราจะรายงานเฉพาะการเปรียบเทียบหลัก คือ การผ่าตัดเทียบกับการไม่ได้รับการรักษา (การศึกษา 1 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 140 ราย)

ในการศึกษามาตรวัดความเจ็บปวดคือระดับ 0 ถึง 100 โดยคะแนนยิ่งต่ำลงแสดงว่ามีความเจ็บปวดน้อยลง หลังจากผ่าตัด 12 เดือน อาการปวดอาจลดลงเมื่อเทียบกับการไม่ได้รับการรักษา (ลดลง 18 คะแนน)

– ผู้ที่ไม่ได้รับการรักษาให้คะแนนความเจ็บปวดของตนเองอยู่ที่ 39 คะแนน

– ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดจะให้คะแนนความเจ็บปวดอยู่ที่ 21 คะแนน

การศึกษานี้ได้วัดการทำงานของร่างกายด้วยมาตราวัด 0 ถึง 100 โดยคะแนนยิ่งสูงขึ้นก็แสดงว่าการทำงานดีขึ้น หลังจากผ่าตัด 12 เดือน การทำงานของร่างกายอาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการไม่ได้รับการรักษา (เพิ่มขึ้น 9 คะแนน)

– ผู้ที่ไม่ได้รับการรักษามีคะแนนการทำงานของตนเองอยู่ที่ 66 คะแนน

– ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดให้คะแนนการทำงานของร่างกายตนเองอยู่ที่ 75 คะแนน

ในการศึกษานี้มาตรวัดคุณภาพชีวิตในระดับ 0 ถึง 100 คะแนน โดยคะแนนที่สูงขึ้นหมายถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในช่วง 12 เดือนหลังการผ่าตัด คุณภาพชีวิตของแต่ละกลุ่มอาจไม่แตกต่างกันมากนักหรือแทบไม่มีความแตกต่างเลย

– ผู้ที่ไม่ได้รับการรักษามีคะแนนคุณภาพชีวิตอยู่ที่ 93 คะแนน

– ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดมีคะแนนคุณภาพชีวิตอยู่ที่ 93 คะแนน เช่นกัน

ในการศึกษานี้มาตรวัดความพึงพอใจต่อการรักษา 0 ถึง 100 คะแนน โดยคะแนนที่สูงขึ้นหมายถึงความพึงพอใจที่มากขึ้น หลังจากผ่าตัด 12 เดือน ความพึงพอใจอาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการไม่ได้รับการรักษา (เพิ่มขึ้น 19 คะแนน)

– ผู้ที่ไม่ได้รับการรักษามีคะแนนความพึงพอใจ 61 คะแนน

– ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดมีคะแนนความพึงพอใจ 80 คะแนน

เราไม่แน่ใจเกี่ยวกับผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์หรือความจำเป็นในการทำหัตถการอื่นอีกระหว่างสองกลุ่ม

ข้อจำกัดของหลักฐานคืออะไร

การศึกษาทั้ง 25 ฉบับ มีจุดอ่อนที่อาจส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของผลลัพธ์ได้ โดยทั่วไปการศึกษาจะมีวิธีวิจัยที่ไม่ค่อยดีและมีผู้เข้าร่วมในการศึกษาน้อย

หลักฐานเป็นปัจจุบันแค่ไหน

หลักฐานเป็นปัจจุบันถึงวันที่ 20 เมษายน 2023

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

ไม่มีการทดลองที่เปรียบเทียบการผ่าตัดกับยาหลอกหรือการรักษาหลอก การผ่าตัดอาจส่งผลให้อาการปวดลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางคลินิก เมื่อเปรียบเทียบกับการไม่ได้รับการรักษาหรือการรักษาแบบไม่มีการผ่าตัด การผ่าตัดอาจส่งผลให้การทำงานของเท้าและการประเมินความสำเร็จของการรักษาโดยรวมของผู้เข้าร่วมเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการไม่ได้รับการรักษาหรือการรักษาแบบไม่มีการผ่าตัด คุณภาพชีวิตระหว่างการผ่าตัดเทียบกับการไม่ได้รับการรักษาหรือการรักษาแบบไม่มีการผ่าตัดอาจมีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย เราไม่แน่ใจเกี่ยวกับผลของการผ่าตัดต่อการผ่าตัดซ้ำ (การรักษาล้มเหลว), อาการไม่พึงประสงค์ หรืออาการไม่พึงประสงค์ร้ายแรง เมื่อเปรียบเทียบกับการไม่ได้รับการรักษาหรือการรักษาแบบไม่มีการผ่าตัด

การผ่าตัดกระดูกแบบซับซ้อนและแบบเรียบง่ายให้ผลลัพธ์ที่คล้ายคลึงกันต่อความเจ็บปวด การตัดกระดูกแบบซับซ้อนอาจมีโอกาสเพิ่มการผ่าตัดซ้ำ (การรักษาล้มเหลว) มากขึ้น และอาจมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อการประเมินความสำเร็จโดยรวมของผู้เข้าร่วมและเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรง เมื่อเปรียบเทียบกับการผ่าตัดกระดูกแบบง่าย เราไม่แน่ใจเกี่ยวกับผลกระทบของการผ่าตัดกระดูกแบบซับซ้อนต่อการทำงานของเท้า, คุณภาพชีวิต และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

โรคกระดูกนิ้วหัวแม่เท้าเอียง (การเอียงออกด้านข้างของนิ้วหัวแม่เท้าเข้าหานิ้วเท้าอื่น ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า กระดูกหัวแม่เท้าเอียง) เกิดขึ้นประมาณ 23% ถึง 35% ของประชากร ภาวะดังกล่าวจะนำไปสู่การทรงตัวที่ไม่ดีและเพิ่มความเสี่ยงในการล้ม ซึ่งจะทำให้ใส่รองเท้าได้ยากขึ้นและเกิดความเจ็บปวด การรักษาแบบประคับประคอง (ไม่มีการผ่าตัด) เป็นการรักษาอาการปวดมากกว่าที่จะเป็นการรักษาความผิดปกติผิดรูปมักเป็นการรักษาขั้นแรก เมื่อมีการระบุให้ทำการผ่าตัด ในภาพรวมของขั้นตอนการผ่าตัดที่ดีที่สุดเป็นหัวข้อของการสนทนาที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินประโยชน์และอันตรายของการผ่าตัดประเภทต่าง ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ยาหลอกหรือการผ่าตัดหลอก, การไม่รับรักษา, การรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด และการผ่าตัดแบบอื่น ๆ สำหรับผู้ใหญ่ที่มีภาวะกระดูกนิ้วหัวแม่เท้าเอียง

วิธีการสืบค้น: 

เราค้นหาใน CENTRAL, MEDLINE, Embase และการลงทะเบียนการทดลองจนถึง 20 เมษายน 2023 เราไม่มีข้อจำกัดด้านภาษาหรือการตีพิมพ์ใด ๆ

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เราได้รวบรวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมที่ประเมินวิธีการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคกระดูกนิ้วหัวแม่เท้าเอียงเทียบกับการผ่าตัดหลอก, การไม่ได้รับรักษา, การรักษาแบบไม่ผ่าตัด, หรือการผ่าตัดแบบอื่น ๆ ตัวแปรผลลัพธ์ที่สำคัญ ได้แก่ ความเจ็บปวด, การทำงาน, คุณภาพชีวิต, การประเมินความสำเร็จของการรักษาโดยรวมของผู้เข้าร่วม, การผ่าตัดซ้ำ (จากการรักษาล้มเหลว), เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรง

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ทบทวนวรรณกรรม 2 คนคัดเลือกการศึกษาเพื่อนำเข้า, ดึงข้อมูล, และประเมินความเสี่ยงของการมีอคติและความเชื่อมั่นของหลักฐานอย่างอิสระต่อกันโดยใช้ GRADE

ผลการวิจัย: 

เรารวบรวมการศึกษา 25 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับผู้เข้าร่วม 1597 ที่เป็นโรคกระดูกนิ้วหัวแม่เท้าเอียง การศึกษาทั้งหมดรวมทั้งเป็นผู้ใหญ่และส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง การศึกษาหนึ่งได้เปรียบเทียบการผ่าตัด (การผ่าตัดกระดูกรูปตัววี) กับการไม่ได้รับการรักษา และการรักษาแบบไม่ผ่าตัด การศึกษา 15 ฉบับ เปรียบเทียบเทคนิคการผ่าตัดที่แตกต่างกัน รวมถึงการผ่าตัดกระดูกรูปตัววี (การผ่าตัดกระดูกแบบเชฟรอน) เทียบกับการผ่าตัดกระดูกแบบอื่น ๆ การศึกษา 9 ฉบับ ได้เปรียบเทียบเทคนิคการผ่าตัดกระดูกอย่างง่ายที่แตกต่างกันต่อกันและกัน หรือเทียบกับการผ่าตัดตัดกระดูกรูปตัว Z บริเวณกึ่งกลางกระดูก (Scarf osteotomy)

การทดลองส่วนใหญ่มีอคติเกิดขึ้นได้: โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อคติในการคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการ (80%), อคติในการปฏิบัติต่อผู้เข้าร่วมโครงการ (88%), อคติในการประเมินผล (96%) และอคติในการเลือกรายงานผล (64%)

การผ่าตัดเปรียบเทียบกับการไม่ได้รับรักษา

การผ่าตัดอาจช่วยลดอาการปวดได้อย่างมีนัยสำคัญทางคลินิก หลังจาก 12 เดือน อาการปวดเฉลี่ยอยู่ที่ 39 คะแนน (มาตราวัดความปวดด้วยสายตา 0 ถึง 100, 100 = ปวดมากที่สุด) ในกลุ่มที่ไม่ได้รับการรักษา และอยู่ที่ 21 คะแนนในกลุ่มที่ได้รับการผ่าตัด (ความแตกต่างเฉลี่ย (MD) −18.00, ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) −26.14 ถึง −9.86; การศึกษา 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 140 ราย; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) หลักฐานถูกปรับระดับลงเนื่องจากมีอคติที่ขาดการปกปิดและขาดความแม่นยำ

การผ่าตัดอาจทำให้การทำงานของเท้าเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หลังจาก 12 เดือน ค่าเฉลี่ยของการทำงานของเท้าอยู่ที่ 66 คะแนน (คะแนน 0 ถึง 100 ตาม มาตรวัดสุขภาพเท้าและข้อเท้าของสมาคมศัลยแพทย์ศัลยกรรมกระดูกและข้ออเมริกัน (AOFAS), 100 = การทำงานของเท้าดีที่สุด) ในกลุ่มที่ไม่ได้รับการรักษา และอยู่ที่ 75 คะแนนในกลุ่มที่ได้รับการผ่าตัด (MD 9.00, 95% CI 5.16 ถึง 12.84; การศึกษา 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 140 ราย; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) หลักฐานถูกปรับระดับลงเนื่องจากมีอคติที่ขาดการปกปิดและขาดความแม่นยำ

การผ่าตัดอาจส่งผลถึงคุณภาพชีวิตดีขึ้นเพียงเล็กน้อยหรือแทบไม่มีเลย หลังจาก12 เดือน คุณภาพชีวิตเฉลี่ย (0 ถึง 100 ตามมาตวัด 15 มิติ โดย 100 = คุณภาพชีวิตสูงขึ้น) 93, คะแนนในทั้งสองกลุ่ม (MD 0, 95% CI −2.12 ถึง 2.12; การศึกษา 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 140 ราย; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) หลักฐานถูกปรับระดับลงเนื่องจากมีอคติที่ขาดการปกปิดและขาดความแม่นยำ

การผ่าตัดอาจส่งผลให้การประเมินความสำเร็จของการรักษาโดยรวมของผู้เข้าร่วมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อถึงเดือนที่ 12 การประเมินความสำเร็จของการรักษาโดยรวมของผู้เข้าร่วมโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 61 คะแนน (มาตรวัดความปวดด้วยสายตา 0 ถึง 100 คะแนน, 100 = พึงพอใจอย่างมากที่สุด) ในกลุ่มที่ไม่ได้รับการรักษา และอยู่ที่ 80 คะแนนในกลุ่มที่ได้รับการผ่าตัด (MD 19.00, 95% CI 8.11 ถึง 29.89; การศึกษา 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 140 ราย; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) หลักฐานถูกปรับระดับลงเนื่องจากมีอคติที่ขาดการปกปิดและขาดความแม่นยำ

การผ่าตัดอาจมีผลเพียงเล็กน้อยต่อการผ่าตัดซ้ำ (ไม่สามารถประมาณค่าผลสัมพัทธ์ได้), เหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ (อัตราส่วนความเสี่ยง (RR) 8.75, 95% CI 0.48 ถึง 159.53; การศึกษา 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 140 ราย, หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรง (ผลกระทบสัมพัทธ์ไม่สามารถประมาณได้) แต่เราก็ยังไม่แน่ใจ

การรักษาแบบผ่าตัดเปรียบเทียบกับการรักษาแบบไม่ผ่าตัด

การผ่าตัดอาจส่งผลให้ความเจ็บปวดทางคลินิกที่สำคัญลดลง การทำงานของร่างกายและการประเมินความสำเร็จของการรักษาโดยรวมของผู้เข้าร่วมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และคุณภาพชีวิตมีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย (การศึกษา 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 140 ราย; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) เราไม่แน่ใจเกี่ยวกับผลกระทบต่อการผ่าตัดซ้ำ, อาการไม่พึงประสงค์, และอาการไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรง (การศึกษา 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 140 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก)

การผ่าตัดกระดูกแบบซับซ้อนเทียบกับแบบเรียบง่าย

การผ่าตัดกระดูกแบบซับซ้อนอาจส่งผลให้ความเจ็บปวดมีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยเมื่อเทียบกับการผ่าตัดกระดูกแบบง่าย (การศึกษา 7 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 414 ราย; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) การผ่าตัดกระดูกแบบซับซ้อนอาจเพิ่มโอกาสในการผ่าตัดซ้ำ (การศึกษา 7 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 461 ราย; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) และอาจส่งผลต่อการประเมินความสำเร็จของการรักษาโดยรวมของผู้เข้าร่วมมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย (การศึกษา 8 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 462 ราย; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรง (การศึกษา 12 ฉบับ; ไม่ได้นำข้อมูลมารวมกัน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) เราไม่แน่ใจเกี่ยวกับผลกระทบของการผ่าตัดกระดูกที่ซับซ้อนต่อการทำงานของเท้าและเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ (หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมาก) ไม่มีการศึกษาวิจัยใดรายงานคุณภาพชีวิต

บันทึกการแปล: 

ผู้แปล นายฎลกร จำปาหวาย วันที่ 13 พฤศจิกายน 2024

Tools
Information