การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกคืออะไร
การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก (ACF) เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ออกไปในชุมชนเพื่อระบุตัวผู้ที่เป็นวัณโรคซึ่งอาจไม่ได้ขอความช่วยเหลือในคลินิก (เช่น เพราะพวกเขาอาศัยอยู่ไกลจากสถานพยาบาลมากเกินไปหรือไม่มีเงินพอที่จะไปที่นั่น) จุดมุ่งหมายของ ACF คือการค้นหาผู้ที่เป็นวัณโรคและให้การรักษา เพื่อลดการแพร่กระจายของโรคและช่วยดูแลสุขภาพของผู้ติดเชื้อด้วย
เราต้องการค้นหาอะไร
เรามุ่งหวังที่จะทำความเข้าใจประสบการณ์และมุมมองของผู้คนที่เกี่ยวข้องกับ ACF รวมถึงผู้ที่เป็นวัณโรค สมาชิกในชุมชน และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
ผู้วิจัยค้นพบอะไรบ้าง
เรารวบรวมการศึกษา 45 ฉบับ และสุ่มตัวอย่างจำนวน 20 จากทั่วภูมิภาคต่างๆ ขององค์การอนามัยโลก (WHO) (แอฟริกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก และอเมริกา) จากข้อมูลเหล่านี้ เราได้ข้อสรุปหลัก 5 ข้อดังต่อไปนี้
•
ACF ได้ช่วยในการเข้าถึงการวินิจฉัยสำหรับหลายๆ คน แต่แทบไม่ได้ช่วยเหลือคนที่ยากจนที่สุดเลย
ACF ได้ช่วยการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพสำหรับผู้ที่มีสุขภาพแย่และมีทรัพยากรน้อยลง อย่างไรก็ตาม โปรแกรมต่างๆ ไม่ได้รับความสนใจเสมอไปจากผู้คนที่ต้องใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ที่อพยพไปทำงานหรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลก็เข้าถึง ACF ได้น้อยเช่นกัน
•
ผู้คนกลัวการวินิจฉัยและผลกระทบ
การตกเป็นเป้าคัดกรองนั้นน่ากลัว มันทำให้ผู้คนถูกเลือกปฏิบัติ เนื่องจากการตีตรา และผู้คนก็อาจคิดว่าตนเองติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย ด้วยเหตุนี้ บางคนจึงอาจปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการวินิจฉัยและการรักษา นอกจากนี้ ผู้คนรายงานว่ารู้สึกหนักใจและหวาดกลัวเมื่อได้รับการวินิจฉัย เพราะพวกเขากลัวถึงผลข้างเคียงของยาและโอกาสที่จะมีชีวิตอยู่ร่วมกับการเจ็บป่วยร้ายแรง
•
การคัดกรองถูกด้อยค่าโดยโครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพที่อ่อนแอ
ในหลายพื้นที่ การขาดการลงทุนส่งผลให้บริการไม่ดี เป็นผลให้ผู้คนต้องได้รับการทดสอบซ้ำและการไปคลินิกซ้ำ เสียเวลา และปฏิสัมพันธ์ที่ยากลำบากกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผู้ที่ป่วยเป็นวัณโรคหรืออาการอื่นๆ ที่เข้ารับการตรวจคัดกรองคาดหวังการดูแลติดตามผล ซึ่งอาจได้รับหรือไม่ได้รับก็ได้ สุดท้ายนี้ สมาชิกในชุมชน ผู้ปกครอง และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมักได้รับข้อมูลไม่เพียงพอ ซึ่งอาจนำไปสู่อันตรายต่อเด็กได้
•
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเป็นส่วนที่ถูกประเมินต่ำเกินไป แต่เป็นส่วนสำคัญของ ACF
ACF อาจทำให้ผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพรู้สึกลำบากเนื่องจากขาดการสนับสนุน พวกเขายังป้องกันวัณโรคได้ไม่ดีและกลัวว่าพวกเขาหรือครอบครัวอาจติดเชื้อได้ แม้จะมีอุปสรรคเหล่านี้ แต่การดูแลและช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขช่วยให้ผู้คนรู้สึกว่าสามารถจัดการกับสภาวะของตนเองได้
•
ผู้นำในท้องถิ่นเป็นสิ่งจำเป็นแต่ไม่เพียงพอสำหรับการทำให้มั่นใจในโปรแกรม
เมื่อผู้คนจากชุมชนท้องถิ่นส่งเสริมหรือดำเนินการ ACF จะเป็นการเพิ่มการสนับสนุนสำหรับการบริการ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจำเป็นต้องสร้างสมดุลระหว่างอำนาจทางวิชาชีพกับความรู้และความสัมพันธ์กับคนในท้องถิ่น
หลักฐานนี้เป็นปัจจุบันแค่ไหน
เราค้นหาการศึกษาที่เผยแพร่ก่อนวันที่ 22 มิถุนายน 2023
การค้นหาผู้ป่วยวัณโรคระยะลุกลาม (ACF) และการบริการตรวจผู้สัมผัสโรคที่อาจจะไม่ได้มารับการวินิจฉัย เช่น ผู้ที่สบายดีหรือไม่มีอาการ และผู้ที่ป่วยที่มีอาการแต่มีทรัพยากรน้อยและอยู่ห่างจากสถานพยาบาล อย่างไรก็ตาม การตรวจหา 'ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการตรวจรักษา' เหล่านี้อาจไม่เพียงพอหากไม่มีการเสริมสร้างระบบสุขภาพที่เหมาะสมเพื่อรักษาผู้คนให้อยู่ในความดูแล ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยวัณโรคจะต้องต่อสู้กับการดูแลที่ซับซ้อนและไม่ยั่งยืน และสิ่งนี้ส่งผลต่อการรับรู้เกี่ยวกับ ACF และการตัดสินใจเข้าร่วมด้วย
การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก (active case finding; ACF) หมายถึงการค้นหาผู้ป่วยวัณโรคอย่างเป็นระบบในชุมชนและในกลุ่มประชากรที่ไม่อยู่ในสถานพยาบาล โดยใช้วิธีการต่างๆ เช่น การคัดกรองแบบเข้าค้นหาตามบ้านหรือการติดตามผู้สัมผัส การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก (ACF) อาจช่วยให้การเข้าถึงการวินิจฉัยและการรักษาวัณโรคสำหรับคนยากจนและผู้ที่ห่างไกลได้รับวินิจฉัยและการรักษาได้มากขึ้น การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกอาจลดการแพร่กระจายโรคอีกด้วย อย่างไรก็ตาม มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าใจว่าชุมชนมีประสบการณ์กับโครงการเหล่านี้อย่างไร เพื่อออกแบบบริการที่เหมาะสม
เพื่อสังเคราะห์ความคิดเห็นของชุมชนเกี่ยวกับโครงการค้นหาผู้ป่วยวัณโรค (ACF) ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง
เราค้นหา MEDLINE, Embase และฐานข้อมูลอื่นๆ อีก 8 ฐานข้อมูลจนถึงวันที่ 22 มิถุนายน 2023 ร่วมกับการตรวจสอบข้อมูลอ้างอิง การค้นหาการอ้างอิง และติดต่อกับผู้เขียนการศึกษาเพื่อระบุการศึกษาเพิ่มเติม เราไม่ได้รวบรวมวรรณกรรมที่ไม่ได้เผยแพร่
การทบทวนวรรณกรรมนี้เป็นการสังเคราะห์การวิจัยเชิงคุณภาพและการศึกษาแบบผสมผสาน (mixed-methods) โดยใช้ข้อมูลเชิงคุณภาพแยกกัน การศึกษาที่นำมาใช้ได้สำรวจประสบการณ์ในชุมชน การรับรู้ หรือทัศนคติของชุมชนต่อโครงการ ACF สำหรับวัณโรคในประเทศที่มีรายได้น้อยหรือปานกลางเฉพาะถิ่น โดยไม่มีข้อจำกัดด้านเวลา
เนื่องจากมีการระบุการศึกษาจำนวนมาก เราจึงเลือกที่จะสุ่มตัวอย่างการศึกษาที่มี 'thick' description และศึกษากลุ่มย่อยที่สำคัญของเด็กและผู้ลี้ภัย เราปฏิบัติตามวิธีมาตรฐานของ Cochrane สำหรับคำอธิบายการศึกษาและการประเมินข้อจำกัดของระเบียบวิธีการวิจัย เราดำเนินการสังเคราะห์แก่นสาระและพัฒนารหัสแบบเหนี่ยวนำโดยใช้ซอฟต์แวร์ ATLAS.ti เราตรวจสอบรหัสเพื่อหาแนวคิดพื้นฐาน ความเชื่อมโยง และการตีความ และจากนั้นจึงสร้างหัวข้อการอภิปราย (themes) เชิงวิเคราะห์ขึ้นมา เราประเมินความเชื่อมั่นในการค้นพบโดยใช้แนวทาง GRADE‐CERQual และสร้างแบบจำลองแนวความคิดเพื่อแสดงให้เห็นว่าการค้นพบต่างๆ มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างไร
เรารวมการศึกษา 45 ฉบับในการสังเคราะห์นี้ และสุ่มตัวอย่าง 20 การศึกษาครอบคลุมภูมิภาคต่างๆ ขององค์การอนามัยโลก (WHO) (แอฟริกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก และอเมริกา) และสำรวจมุมมองและประสบการณ์ของสมาชิกในชุมชน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในชุมชน และเจ้าหน้าที่คลินิกในประเทศที่มีรายได้ปานกลางและต่ำที่อยู่ในถิ่นระบาดของวัณโรค มี 5 หัวข้อการอภิปราย (themes) ต่อไปนี้
• ACF ช่วยการเข้าถึงการวินิจฉัยสำหรับหลาย ๆ คน แต่ช่วยชุมชนที่อยู่ชายขอบได้เพียงเล็กน้อย
การค้นหาผู้ป่วยวัณโรคเชิงลึก (ACF)และการติดตามผู้สัมผัสมีส่วนช่วยในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพในผู้ที่มีสุขภาพแย่ลงและมีทรัพยากรน้อยลง (ความมั่นใจสูง) ACF ช่วยค้นหาประชากรกลุ่มนี้ ซึ่งต้องเผชิญกับสภาพความเป็นอยู่ที่ถูกลิดรอน แต่ไม่ไวต่อสภาพของพวกเขาในมิติอื่น (ความมั่นใจสูง) และค่าใช้จ่ายที่ต้องรับผิดชอบในการดูแลต่อไป (ความมั่นใจสูง) สุดท้ายนี้ การอพยพและสภาพภูมิศาสตร์ที่ยากลำบากยังทำให้ชุมชนเข้าถึง ACF น้อยลง (ความมั่นใจสูง)
• ผู้คนกลัวการวินิจฉัยและผลกระทบ
สมาชิกในชุมชนบางคนพบว่าการคัดกรองเป็นเรื่องน่ากลัว มันทำให้พวกเขาถูกเลือกปฏิบัติในแบบที่แตกต่างกัน (การแยกจากครอบครัวและชุมชนในวงกว้าง การสูญเสียงานและที่อยู่อาศัย) การตีตรา HIV ประกอบกับการตีตราวัณโรคและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเลือกปฏิบัติบนเส้นทางเดียวกันนี้ (ความมั่นใจสูง) ด้วยเหตุนี้ ส่งผลให้สมาชิกในชุมชนปฏิเสธที่จะมีส่วนร่วมในการคัดกรอง การติดตามผู้สัมผัส และการรักษา (ความมั่นใจสูง) นอกจากนี้ มีการรายงานว่าผู้ป่วยวัณโรคมีอารมณ์สับสนเมื่อได้รับการวินิจฉัย เนื่องจากคาดว่าจะได้รับการรักษาอย่างเข้มข้นและยังต้องใช้ชีวิตร่วมกับอาการป่วยร้ายแรง (ความมั่นใจสูง)
• การคัดกรองถูกบ่อนทำลายโดยโครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพที่อ่อนแอ
ในหลายพื้นที่ การขาดทรัพยากรส่งผลให้การบริการอ่อนแอในด้านการแข่งขันกับโปรแกรมควบคุมโรคอื่นๆ (ความเชื่อมั่นปานกลาง) ในบริบทของการลงทุนต่ำนี้ ผู้คนต้องเผชิญกับการตรวจและการไปคลินิกซ้ำ เสียเวลา และมีความยากลำบากด้านปฏิสัมพันธ์กับผู้ให้บริการด้านสุขภาพ (ความเชื่อมั่นปานกลาง) ACF สามารถสร้างความคาดหวังในการติดตามผลด้านสุขภาพที่ไม่สามารถส่งมอบให้ได้ (ความเชื่อมั่นสูง) ในที่สุด การให้ความรู้ในชุมชนเพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับวัณโรคในบางพื้นที่ แต่การขาดข้อมูลที่ครบถ้วนส่งผลกระทบต่อสมาชิกในชุมชน ผู้ปกครอง และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และบางครั้งก็นำไปสู่อันตรายต่อเด็ก (ความมั่นใจสูง)
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขถูกประเมินค่าต่ำแต่อย่างไรก็ตามก็เป็นส่วนสำคัญของ ACF
ACF อาจทำให้ผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพรู้สึกลำบากในบริบทของระบบสุขภาพที่มีทรัพยากรไม่เพียงพอและกับผู้ที่อาจไม่ประสงค์ให้เปิดเผยตัวตน นอกจากนี้ หลักฐานยังชี้ให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้รับการป้องกันจากวัณโรคได้ไม่ดี และกลัวว่าพวกเขาหรือครอบครัวอาจติดเชื้อได้ (ความเชื่อมั่นปานกลาง) อย่างไรก็ตาม พวกเขาดูเหมือนจะเป็นศูนย์กลางของความสำเร็จของโครงการ เนื่องจากความเป็นมนุษย์ที่พวกเขามอบให้มักจะทำหน้าที่เป็นแรงผลักดันในการรักษาผู้ป่วยวัณโรคให้อยู่ในความดูแล (ความมั่นใจปานกลาง)
•ผู้นำในท้องถิ่นเป็นสิ่งจำเป็นแต่ยังไม่เพียงพอสำหรับการทำให้มั่นใจในโปรแกรม
ความเป็นผู้นำในท้องถิ่นสร้างแรงจูงใจภายในให้ชุมชนเห็นคุณค่าของบริการด้านสุขภาพ (ความมั่นใจสูง) อย่างไรก็ตาม ผู้นำท้องถิ่นไม่สามารถรับประกันความสำเร็จของ ACF และโครงการติดตามผู้สัมผัสได้ สิ่งสำคัญคือต้องสร้างสมดุลระหว่างอำนาจทางวิชาชีพกับความรู้และสายสัมพันธ์ในท้องถิ่น (ความมั่นใจสูง)
ผู้แปล แพทย์หญิงชุติมา ชุณหะวิจิตร วันที่ 12 เมษายน 2024