การรักษาเชิงอนุรักษ์สำหรับการจัดการภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่หลังการผ่าตัดต่อมลูกหมาก

ใจความสำคัญ

- ในผู้ชายที่มีภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่หลังการผ่าตัดต่อมลูกหมาก การรักษาแบบรวมทั้งแบบไม่ใช้เภสัชวิทยาและแบบไม่ต้องผ่าตัดอาจสร้างความแตกต่างเพียงเล็กน้อยต่อการกลั้นปัสสาวะ คุณภาพชีวิต หรือจำนวนผู้ชายที่ประสบกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์อันเป็นผลมาจากการรักษา

- หลักฐานไม่เชื่อมั่นว่าการฝึกกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานร่วมกับ biofeedback มีผลใดๆ ต่อการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่หรือคุณภาพชีวิตหรือไม่ ในขณะที่ไม่มีหลักฐานใดที่พบการประเมินการกระตุ้นด้วยไฟฟ้าสำหรับผลลัพธ์หลักที่เราสนใจ

- ความไม่เชื่อมั่นในหลักฐานที่เราพบหมายความว่าจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม

ความเป็นมา

ต่อมลูกหมากเป็นต่อมขนาดเล็กขนาดลูกวอลนัทที่ช่วยให้ผู้ชายผลิตน้ำอสุจิ หากผู้ชายเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากหรือมีการขยายตัวของต่อมลูกหมากที่ไม่ใช่มะเร็งซึ่งไปปิดกั้นทางออกของกระเพาะปัสสาวะ (เรียกว่าการอุดตันจากต่อมลูกหมากที่ไม่เป็นอันตราย) พวกเขาอาจต้องได้รับการผ่าตัด หลังการผ่าตัดต่อมลูกหมาก ผู้ชายอาจมีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ มีการประเมินว่าระหว่าง 2% ถึง 60% ของผู้ชายอาจมีอาการ แม้ว่าภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่จะดีขึ้นตามธรรมชาติหลังการผ่าตัด ผู้ชายบางคนยังคงมีอาการที่อาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของพวกเขา

เราต้องการค้นหาอะไร

หากเป็นไปได้ ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่หลังการผ่าตัดต่อมลูกหมากสามารถจัดการได้โดยใช้วิธีการที่ไม่ต้องผ่าตัดและไม่ใช่เภสัชวิทยา เช่น การฝึกกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (PFMT) การกระตุ้นด้วยไฟฟ้าหรือแม่เหล็ก การปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต (เช่น การรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำ) รวมทั้งการผสมผสานของวิธีเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังมีความไม่เชื่อมั่นเกี่ยวกับประโยชน์ของการรักษาเหล่านี้ ดังนั้นเราจึงต้องการทราบว่าการรักษาโดยไม่ผ่าตัดและไม่ใช้เภสัชวิทยาช่วยจัดการภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในผู้ชายที่ได้รับการผ่าตัดต่อมลูกหมากหรือไม่

เราได้ทำอะไร

เราค้นหาการศึกษาที่ตรวจสอบผลของการรักษาแบบไม่ผ่าตัดและไม่ใช่เภสัชวิทยาต่อภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในผู้ชายที่ได้รับการผ่าตัดต่อมลูกหมาก เราเปรียบเทียบและสรุปผลการศึกษาเหล่านี้และให้คะแนนความเชื่อมั่นที่เรามีต่อผลการวิจัย โดยพิจารณาจากวิธีการ ขนาด และผลลัพธ์ของการศึกษา

เราพบอะไร

เราพบการศึกษา 25 ฉบับ มีผู้ชายทั้งหมด 3079 คน การศึกษา 23 ฉบับ คัดเลือกผู้ชายซึ่งเคยผ่านการผ่าตัดต่อมลูกหมากแบบทั้งหมดโดยที่เอาต่อมลูกหมากออกทั้งหมด มีเพียงการศึกษา 1 ฉบับที่คัดเลือกผู้ชายที่เคยผ่านการผ่าตัดต่อมลูกหมากผ่านท่อปัสสาวะ ซึ่งเป็นกระบวนการที่เอาชิ้นส่วนของต่อมลูกหมากออกทางองคชาติ ไม่ชัดเจนว่าผู้ชายได้รับการผ่าตัดประเภทใดในการศึกษา 1 ฉบับ

การศึกษา 1 ฉบับระบุว่าพวกเขาไม่ได้รับทุนใดๆ ในขณะที่การศึกษา 7 ฉบับได้รับทุนสนับสนุนจากองค์กรของรัฐแต่อย่างเดียว และการศึกษาอีก 1 ฉบับได้รับทุนจากมูลนิธิเท่านั้น การศึกษา 1 ฉบับได้รับทุนสนับสนุนจากองค์กรของรัฐและมหาวิทยาลัย การศึกษา 1 ฉบับได้จากองค์กรการกุศลและมหาวิทยาลัย และอีกหนึ่งเรื่องมาจากองค์กรการกุศลและบริษัทยา การศึกษา 10 ฉบับ ไม่ได้รายงานว่าพวกเขาได้รับทุนสนับสนุนจากที่ใด

ผลลัพธ์หลัก

การศึกษา 4 ฉบับรายงานเกี่ยวกับ PFMT ร่วมกับผลตอบรับทางชีวภาพ เทียบกับการไม่รักษา การรักษาหลอก และ/หรือคำแนะนำทางวาจาหรือลายลักษณ์อักษรเพื่อดำเนินการรักษา PFMT ร่วมกับ biofeedback อาจส่งผลให้ผู้ชายจำนวนมากขึ้นที่รายงานการหายของภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ตั้งแต่ 6 ถึง 12 เดือน อย่างไรก็ตาม ผู้ชายที่ทำ PFMT และ biofeedback อาจมีโอกาสน้อยกว่าที่จะหายตามวิธีการวัดผลของแพทย์ในช่วง 6 ถึง 12 เดือน ไม่เชื่อมั่นว่าการทำ PFMT และ biofeedback มีผลต่อเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับพื้นผิวหรือผิวหนัง (เช่น ปฏิกิริยาที่ผิวหนังหรือรอยฟกช้ำ) หรือผลข้างเคียงที่เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อ (เช่น อาการเจ็บหรือรู้สึกไม่สบาย) คุณภาพชีวิตเฉพาะเงื่อนไข การปฏิบัติตามการรักษาของผู้เข้าร่วมการทดลอง และคุณภาพชีวิตทั่วไปไม่ได้รายงานโดยการศึกษาใด ๆ สำหรับการเปรียบเทียบนี้

การศึกษา 11 ฉบับประเมินการรักษาแบบประคับประคองหลายอย่างเทียบกับการไม่รักษา การรักษาหลอก และ/หรือคำแนะนำทางวาจาหรือลายลักษณ์อักษรเพื่อดำเนินการรักษา การรักษาแบบรวมหลายอย่างอาจนำไปสู่ความแตกต่างเล็กน้อยในจำนวนผู้ชายที่รายงานการหายหรือการดีขึ้นของภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ระหว่าง 6 ถึง 12 เดือน การรักษาแบบรวมอาจนำไปสู่ความแตกต่างเล็กน้อยในคุณภาพชีวิตเฉพาะเงื่อนไขและอาจแตกต่างกันเล็กน้อยในคุณภาพชีวิตทั่วไประหว่าง 6 ถึง 12 เดือน มีความแตกต่างเล็กน้อยระหว่างการรักษาแบบรวมและกลุ่มควบคุมในแง่ของการหายหรือการดีขึ้นของภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่วัดตามวิธีการของแพทย์ระหว่าง 6 ถึง 12 เดือน อย่างไรก็ตาม ไม่เป็นที่เชื่อมั่นว่าการปฏิบัติตามการรักษาของผู้เข้าร่วมระหว่าง 6 ถึง 12 เดือนจะเพิ่มขึ้นหรือไม่สำหรับการรักษาแบบรวม อาจไม่มีความแตกต่างระหว่างการรักษาแบบรวมและกลุ่มควบคุมในแง่ของจำนวนผู้ชายที่ประสบกับผลข้างเคียงที่เกี่ยวข้องกับพื้นผิวหรือผิวหนัง แต่ไม่เชื่อมั่นว่าการรักษาแบบรวมทำให้ผู้ชายจำนวนมากขึ้นมีผลข้างเคียงที่เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อหรือไม่

เราไม่พบการศึกษาใด ๆ ที่ประเมินการกระตุ้นด้วยไฟฟ้าหรือแม่เหล็ก เทียบกับการไม่รักษา การรักษาหลอก หรือคำแนะนำด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษรที่รายงานเกี่ยวกับผลลัพธ์หลักที่เราสนใจ

ข้อจำกัดของหลักฐานคืออะไร

ความเชื่อมั่นของหลักฐานที่พบมีความหลากหลาย ตั้งแต่หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมากไปจนถึงหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นสูง ข้อกังวลของเราส่วนใหญ่อยู่ที่จำนวนผู้เข้าร่วมที่เกี่ยวข้องกับการศึกษานี้ เนื่องจากการศึกษามักมีขนาดเล็ก เรายังมีความกังวลว่าอาจมีอคติเข้ามาในการศึกษาจำนวนมาก นอกจากนี้ยังไม่เชื่อมั่นว่าหลักฐานจากการผ่าตัดแบบเปิด/ส่องกล้องจะใช้ได้กับการผ่าตัดต่อมลูกหมากออกโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยหรือไม่

หลักฐานนี้เป็นปัจจุบันแค่ไหน

หลักฐานมีถึงวันที่ 22 เมษายน 2022

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

แม้จะมีการทดลองทั้งหมด 25 ฉบับ แต่ผลของการรักษาแบบประคับประคองสำหรับภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่หลังการผ่าตัดต่อมลูกหมากเพียงอย่างเดียวหรือใช้ร่วมกันนั้นยังคงไม่แน่นอน การทดลองที่มีอยู่มักมีขนาดเล็กและมีข้อบกพร่องด้านระเบียบวิธีวิจัย ปัญหาเหล่านี้รวมขึ้นจากการขาดมาตรฐานของเทคนิค PFMT และความแตกต่างอย่างมากของโปรโตคอลที่เกี่ยวข้องกับการรักษาแบบประคับประคอง เหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์หลังจากการรักษาแบบประคับประคองมักจะได้รับการบันทึกไว้ไม่ดีและอธิบายไม่ครบถ้วน ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นสำหรับการทดลองแบบสุ่มควบคุมขนาดใหญ่ คุณภาพสูง มีพลังเพียงพอ พร้อมระเบียบวิธีที่มีประสิทธิภาพเพื่อจัดการกับเรื่องนี้

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

ผู้ชายอาจต้องเข้ารับการผ่าตัดต่อมลูกหมากเพื่อรักษามะเร็งต่อมลูกหมากหรือโรคต่อมลูกหมากโต หลังการผ่าตัด ผู้ชายอาจมีอาการปัสสาวะเล็ด (UI) การรักษาแบบอนุรักษ์นิยม เช่น การฝึกกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (PFMT) การกระตุ้นด้วยไฟฟ้า และการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต สามารถดำเนินการเพื่อช่วยจัดการกับอาการของ UI

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินผลของการรักษาเชิงอนุรักษ์สำหรับการจัดการภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่หลังการผ่าตัดต่อมลูกหมาก

วิธีการสืบค้น: 

เราค้นหา Cochrane Incontinence Specialized Register ซึ่งมีการทดลองที่พบจาก Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL), MEDLINE, MEDLINE In-Process, MEDLINE Epub Ahead of Print, ClinicalTrials.gov, WHO ICTRP และวารสารที่ค้นหาด้วยมือและเอกสารประกอบการประชุม (สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2022) นอกจากนี้ยังค้นรายการอ้างอิงทั้งหมดจากบทความวิจัยที่เกี่ยวข้อง

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) และ quasi-RCTs ของผู้ชายที่เป็นผู้ใหญ่ (อายุ 18 ปีขึ้นไป) ด้วย UI หลังการผ่าตัดต่อมลูกหมากเพื่อรักษามะเร็งต่อมลูกหมากหรือ LUTS/BPO เราไม่รวม cross-over และ cluster-RCTs เราตรวจสอบการเปรียบเทียบที่สำคัญต่อไปนี้: PFMT ร่วมกับ biofeedback เทียบกับไม่รักษา; การรักษาหลอก หรือคำแนะนำด้วยวาจา/ลายลักษณ์อักษร; การผสมผสานระหว่างการรักษาแบบอนุรักษ์นิยมกับการไม่รักษา การรักษาหลอก หรือคำแนะนำด้วยวาจา/ลายลักษณ์อักษร; และการกระตุ้นด้วยไฟฟ้าหรือแม่เหล็ก เทียบกับการไม่รักษา การรักษาหลอก หรือคำแนะนำด้วยวาจา/ลายลักษณ์อักษร

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

เราค้ดลอกข้อมูลโดยใช้แบบฟอร์มที่นำร่องล่วงหน้าและประเมินความเสี่ยงของอคติโดยใช้เครื่องมือการประมินการมีอคติของ Cochrane เราใช้วิธี GRADE เพื่อประเมินความเชื่อมั่นของผลลัพธ์และการเปรียบเทียบที่รวมอยู่ในตารางสรุปผลการศึกษา (summary of findings tables) เราใช้ GRADE ฉบับดัดแปลงเพื่อประเมินความเชื่อมั่นของผลลัพธ์ที่ไม่มีการวัดผลเพียงครั้งเดียว

ผลการวิจัย: 

เราพบการศึกษา 25 ฉบับ มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 3079 คน การศึกษา 23 ฉบับ ประเมินผู้ชายที่เคยผ่านการผ่าตัดต่อมลูกหมากออกทั้งหมด หรือการผ่าตัดต่อมลูกหมากออกทั้งหมดแบบ retropubic ในขณะที่มีการศึกษา 1 ฉบับเท่านั้นที่ประเมินผู้ชายที่เคยผ่านการตัดต่อมลูกหมากออกทางท่อปัสสาวะ การศึกษา 1 ฉบับไม่ได้รายงานเกี่ยวกับการผ่าตัดครั้งก่อน การศึกษาส่วนใหญ่มีความเสี่ยงสูงที่จะมีอคติอย่างน้อย 1 ประเด็น ความเชื่อมั่นของหลักฐานที่ประเมินโดยใช้ GRADE นั้นแตกต่างกัน

PFMT ร่วมกับ biofeedback เทียบกับการไม่รักษา การรักษาหลอก หรือคำแนะนำด้วยวาจา/ลายลักษณ์อักษร

การศึกษา 4 ฉบับ รายงานการเปรียบเทียบนี้ PFMT ร่วมกับ biofeedback อาจให้ผลในการรักษาดีขึ้นในความรู้สึกภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ตั้งแต่ 6 ถึง 12 เดือน (การศึกษา 1 ฉบับ; n = 102; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) อย่างไรก็ตาม ผู้ชายที่ทำ PFMT และ biofeedback อาจมีโอกาสน้อยที่จะหายอย่างเป็นรูปธรรมที่ 6 ถึง 12 เดือน (การศึกษา 2 ฉบับ; n = 269; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) ไม่เชื่อมั่นว่าการทำ PFMT และ biofeedback มีผลต่อเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับพื้นผิวหรือผิวหนัง (การศึกษา 1 ฉบับ; n = 205; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) หรือเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อ (การศึกษา 1 ฉบับ; n = 205; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) คุณภาพชีวิตเฉพาะเงื่อนไข การปฏิบัติตามการรักษาของผู้เข้าร่วมการทดลอง และคุณภาพชีวิตทั่วไปไม่ได้รายงานโดยการศึกษาใด ๆ สำหรับการเปรียบเทียบนี้

การรักษาแบบประคับประคองหลายวิธีร่วมกัน เทียบกับการไม่รักษา การรักษาหลอก หรือคำแนะนำด้วยวาจา/ลายลักษณ์อักษร

การศึกษา 11 ฉบับ ประเมินการเปรียบเทียบนี้ การรักษาแบบประคับประคองแบบรวมอาจนำไปสู่ความแตกต่างเล็กน้อยในจำนวนผู้ชายที่รู้สึกว่าหายหรืออาการกลั้นปัสสาวะดีขึ้นระหว่าง 6 ถึง 12 เดือน (RR 0.97, 95% CI 0.79 ถึง 1.19; การศึกษา 2 ฉบับ; n = 788; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ; ในเงื่อนไขสมบูรณ์: กลุ่มที่ไม่มีการรักษาหรือกลุ่มรักษาหลอก: 307 ต่อ 1000 และในกลุ่มรักษา: 297 ต่อ 1000) การรักษาแบบประคับประคองหลายวิธีอาจนำไปสู่ความแตกต่างเพียงเล็กน้อยในคุณภาพชีวิตเฉพาะอย่าง (MD -0.28, 95% CI -0.86 ถึง 0.29; การศึกษา 2 ฉบับ; n = 788; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) และอาจแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยในคุณภาพชีวิตทั่วไป ระหว่าง 6 ถึง 12 เดือน (MD -0.01, 95% CI -0.04 ถึง 0.02; การศึกษา 2 ฉบับ; n = 742; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) มีความแตกต่างกันเล็กน้อยระหว่างการรักษาแบบประคับประคองหลายวิธี กับกลุ่มควบคุมในแง่ของการหายอย่างเป็นรูปธรรมหรือการดีขึ้นของภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ระหว่าง 6 ถึง 12 เดือน (MD 0.18, 95% CI -0.24 ถึง 0.60; การศึกษา 2 ฉบับ; n = 565; หลักฐานความเชื่อมั่นสูง) อย่างไรก็ตาม ไม่เชื่อมั่นว่าผู้เข้าร่วมการทดลองปฏิบัติตามการรักษาระหว่าง 6 และ 12 เดือนเพิ่มขึ้นหรือไม่สำหรับการรักษาแบบประคับประคองหลายวิธี (RR 2.08, 95% CI 0.78 ถึง 5.56; การศึกษา 2 ฉบับ; n = 763; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก; ในเงื่อนไขสัมบูรณ์: กลุ่มที่ไม่มีการรักษาหรือการรักษาหลอก: 172 ต่อ 1000 และกลุ่มรักษา: 358 ต่อ 1000) อาจไม่มีความแตกต่างกันระหว่างการรักษาแบบรวมกับกลุ่มควบคุมในแง่ของจำนวนผู้ชายที่ประสบกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ทางพื้นผิวหรือทางผิวหนัง (การศึกษา 2 ฉบับ; n = 853; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) แต่ไม่เชื่อมั่นว่าการรักษาแบบรวมทำให้มีผู้ชายมีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อมากขึ้นหรือไม่ (RR 2.92, 95% CI 0.31 ถึง 27.41; การศึกษา 2 ฉบับ; n = 136; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก ในเงื่อนไขสมบูรณ์: 0 ต่อ 1000 สำหรับทั้งสองกลุ่ม)

การกระตุ้นด้วยไฟฟ้าหรือแม่เหล็กเทียบกับการไม่รักษา การรักษาหลอก หรือคำแนะนำด้วยวาจา/ลายลักษณ์อักษร

เราไม่พบการศึกษาใด ๆ สำหรับการเปรียบเทียบนี้ที่รายงานเกี่ยวกับผลลัพธ์หลักที่เราสนใจ

บันทึกการแปล: 

แปลโดย ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยาวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อ 12 พฤษภาคม 2023 Edit โดย ผกากรอง 9 สิงหาคม 2023

Tools
Information