ยาที่ลดอาการปวดและความรู้สึกไม่สุขสบายระหว่างการเจาะน้ำไขสันหลังในทารกแรกเกิด

ใจความสำคัญ

• การเจาะน้ำไขสันหลังเป็นหัตถการที่เจ็บปวด แต่วิธีการจัดการที่ดีที่สุดกับความเจ็บปวดและความรู้สึกไม่สุขสบายในทารกแรกเกิดยังไม่มีความชัดเจน
• เราได้มีการชี้ให้เห็นถึงการศึกษาวิจัยที่ใช้ครีมที่มีส่วนประกอบของยาแก้ปวด โดยทาบนผิวหนังที่จะทำการเจาะน้ำไขสันหลัง
• ครีมเหล่านี้อาจลดความเจ็บปวดในระหว่างการเจาะน้ำไขสันหลัง แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีผลในแง่ความสำเร็จในการเจาะน้ำไขสันหลังให้สำเร็จในครั้งแรกหรือไม่ จำนวนครั้งในเจาะน้ำไขสันหลังให้สำเร็จ จำนวนครั้งของการเกิดหัวใจเต้นช้า (bradycardia)(การเต้นของหัวใจช้าลง) จำนวนครั้งของค่าความอิ่มตัวออกซิเจนลดลง (desaturation) (ปริมาณออกซิเจนในเลือดลดลง) และจำนวนทารกแรกเกิดที่เกิดภาวะหยุดหายใจ (apnea) (หยุดหายใจ)

การเจาะน้ำไขสันหลังคืออะไร

การเจาะน้ำไขสันหลัง (Spinal tap) หรือการเจาะน้ำไขสันหลัง (Lumbar puncture) เป็นหัตถการที่พบได้บ่อยในทุกอายุ รวมถึงทารกแรกเกิด โดยการแทงเข็มผ่านเข้าไปในช่องว่างของกระดูกสันหลัง เพื่อนำน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง (cerebrospinal fluid: CSF) ออกมา เหตุผลในการเจาะน้ำไขสันหลังมีหลายประการ แต่เหตุผลที่พบบ่อยที่สุดคือเพื่อสืบค้นว่ามีการติดเชื้อของสมองและไขสันหลังหรือไม่ เนื่องจากการเจาะน้ำไขสันหลังจะต้องมีการแทงเข็ม จึงอาจทำให้เกิดอาการเจ็บปวดและไม่สุขสบายได้

เนื่องจากความเจ็บปวดและไม่สุขสบายนั้น ในบางครั้งจึงอาจส่งผลให้ทารกแรกเกิดแสดงอาการหัวใจเต้นช้าลง (หรือที่เรียกว่า bradycardia) และการหยุดหายใจ (หรือที่เรียกว่า apnea) ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณออกซิเจนในเลือดลดลง (หรือเรียกว่า desaturation) นอกจากนี้ หากทารกรู้สึกไม่สุขสบายอาจส่งผลให้ผู้ทำการเจาะน้ำไขสันหลังจำเป็นต้องทำหัตถการนี้หลายครั้ง

เราต้องการค้นหาอะไร

เราต้องการทราบว่าการใช้ยาบางชนิดดีกว่าการใช้ยาอื่นๆ หรือการไม่ใช้ยาใด ๆเลยเพื่อลด:
• จำนวนครั้งในการพยายามเจาะน้ำไขสันหลังให้สำเร็จในทารกแรกเกิด
• จำนวนครั้งในการพยายามทำหัตถการทั้งหมด;
• ความเจ็บปวดและไม่สุขสบายในระหว่างการเจาะน้ำไขสันหลังในทารกแรกเกิด;
• จำนวนครั้งของการเกิดหัวใจเต้นช้า;
• จำนวนครั้งของการเกิดค่าความอิ่มตัวออกซิเจนลดลง; และ
• จำนวนครั้งของภาวะหยุดหายใจ

วิธีการทำคืออะไร

เราสืบค้นการศึกษาที่ศึกษาการใช้ยาบางชนิดเปรียบเทียบกับการใช้ยาอื่นๆ หรือการไม่ได้ใช้ยในทารกแรกเกิดที่เข้ารับการเจาะน้ำไขสันหลัง เราเปรียบเทียบและสรุปผลการศึกษาและให้คะแนนความเชื่อมั่นของหลักฐาน โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น วิธีการศึกษาและขนาดการศึกษา

สิ่งที่เราพบคืออะไร

เราพบว่ามี 3 การศึกษา โดยทารกแรกเกิดจำนวน 206 คนที่ได้รับการเจาะน้ำไขสันหลัง ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าการใช้ยาแก้ปวดที่ทาบนผิวหนัง (ยาชาเฉพาะที่) เมื่อเทียบกับการไม่ใช้ยาใดๆ จะมีผลต่อจำนวนการเจาะน้ำไขสันหลังให้สำเร็จในครั้งแรก จำนวนครั้งในการพยายามเจาะน้ำไขสันหลังให้สำเร็จ จำนวนครั้งของการเกิดหัวใจเต้นช้า จำนวนครั้งของค่าความอิ่มตัวออกซิเจนลดลง และจำนวนครั้งของภาวะหยุดหายใจ

ยาชาเฉพาะที่เมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก (dummy medicine) อาจลดความเจ็บปวดในทารกแรกเกิด 15% ถึง 20%

ยังคงมีงานวิจัยขนาดใหญ่ที่กำลังดำเนินอยู่ 3 งานวิจัยเพื่อประเมินผลของยาอื่นๆ แต่การศึกษายังไม่มีการตีพิมพ์เผยแพร่ นอกจากนี้เรายังแสดงการศึกษาทั้ง 3 การศึกษาที่ยังอยู่ระหว่างการจำแนกประเภทเนื่องจากยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะนำมารวมเข้าหรือคัดออก

ข้อจำกัดของหลักฐานคืออะไร

เรามีความเชื่อมั่นเพียงเล็กน้อยในหลักฐานเรื่องความเจ็บปวด เนื่องจากการศึกษาเหล่านี้ใช้มาตรฐานในการวัดความเจ็บปวดที่แตกต่างกัน

เราไม่มีความเชื่อมั่นในหลักฐานสำหรับผลลัพธ์อื่นๆ เนื่องจากมีการศึกษาจำนวนน้อยเกินไปที่จะทำให้เชื่อมั่นในผลลัพธ์เหล่านี้ มีความเป็นไปได้ว่าผู้เข้าร่วมในการศึกษาทราบว่าพวกเขาได้รับการรักษาด้วยวิธีการใด สุดท้ายนี่ ไม่ใช่ทุกการศึกษาที่ให้ข้อมูลในสิ่งที่เราสนใจ

การทบทวนนี้มีความทันสมัยแค่ไหน

ผู้ประพันธ์มีการทบทวนสืบค้นการศึกษาจนถึงเดือนธันวาคม 2022

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

หลักฐานมีความไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับผลของยาชาเฉพาะที่ (ลิโดเคน) เมื่อเทียบกับการไม่ดมยาสลบ ในเรื่องของความสำเร็จของการเจาะน้ำไขสันหลังในครั้งแรก จำนวนครั้งของการเจาะน้ำไขสันหลัง จำนวนครั้งของการเกิดหัวใจเต้นช้า จำนวนครั้งการเกิดค่าความอิ่มตัวออกซิเจนลดลง และจำนวนครั้งของภาวะหยุดหายใจ เมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก พบว่ายาชาเฉพาะที่ (ลิโดเคน หรือ EMLA) อาจลดความเจ็บปวดซึ่งประเมินด้วย NFCS score มี 1 การศึกษา ที่กำลังดำเนินอยู่ซึ่งประเมินผลการรักษาโดยใช้ยาที่มีผลต่อระบบทั่วไปของร่างกาย

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

การเจาะน้ำไขสันหลัง (Lumbar puncture) เป็นหัตถการรุกรานที่พบบ่อยซึ่งส่วนใหญ่ทำเพื่อวินิจฉัยภาวะติดเชื้อ แพทย์ผู้ทำการเจาะน้ำไขสันหลังทำร่วมกับผู้ช่วยโดยเทคนิคปลอดเชื้ออย่างเข้มงวด การเฝ้าระวังติดตามทารกตลอดทุกขั้นตอนของกระบวนการทำหัตถการเป็นสิ่งสำคัญ หากไม่มียาแก้ปวดที่เพียงพอ การเจาะน้ำไขสันหลังอาจทำให้เกิดความเจ็บปวดและความรู้สึกไม่สุขสบาย เนื่องจากทารกแรกเกิดมีความไวต่อความเจ็บปวด การจัดการความเจ็บปวดในขณะทำหัตถการการเจาะน้ำไขสันหลังในประชากรกลุ่มนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินประโยชน์และผลเสีย ซึ่งรวมถึงความเจ็บปวด ความรู้สึกไม่สุขสบาย และอัตราความสำเร็จของการใช้ยาในระหว่างการเจาะน้ำไขสันหลังในทารกแรกเกิดเมื่อเทียบกับการใช้ยาหลอก หรือการไม่ให้วิธีการใดๆเลย หรือการให้วิธีการอื่นที่ไม่ใช่ยา หรือการให้ยาด้วยวิธีอื่นๆ

วิธีการสืบค้น: 

เราค้นหาจาก CENTRAL, PubMed, Embase และจากการลงทะเบียนงานวิจัย 3 ฐาน ในเดือนธันวาคม 2022 นอกจากนี้เรายังคัดกรองจากรายการอ้างอิงของการศึกษาที่รวบรวมไว้และจากการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบที่เกี่ยวข้องสำหรับการศึกษาที่สามรถไม่ได้พบได้จากการค้นหาฐานข้อมูล

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวบรวมการศึกษาชนิดการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) และการทดลองแบบกึ่งการศึกษาแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ (quasi-RCTs) เปรียบเทียบกับยาที่ใช้สำหรับการจัดการความเจ็บปวด การระงับประสาท หรือทั้งสองอย่าง ระหว่างการทำการเจาะน้ำไขสันหลัง เราพิจารณาว่ายาเหล่านี้เหมาะสมในการจัดเข้ารวมไว้ในกลุ่มคัดเลือกเข้าในการศึกษา

• ยาชาเฉพาะที่ (เช่น ยาชาเฉพาะที่ที่ผสมยูเทคติก [EMLA], ลิโดเคน)
• ฝิ่น (เช่น มอร์ฟีน เฟนทานิล)
• Alpha-2 agonist (เช่น clonidine, dexmedetomidine)
• N-Methyl-D-aspartate (NMDA) receptor antagonists (เช่น คีตามีน)
• ยาแก้ปวดอื่นๆ (เช่น พาราเซตามอล)
• ยาระงับประสาท (เช่น เบนโซไดอะซีพีน เช่น มิดาโซแลม)

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

เราใช้วิธีมาตรฐานของ Cochrane เราใช้ fixed-effect model เพื่อประเมินผล risk ratio (RR) สำหรับข้อมูลชนิดไดโคโตมัสและผลต่างค่าเฉลี่ย (MD) หรือผลต่างค่าเฉลี่ยมาตรฐาน (SMD) สำหรับข้อมูลชนิดต่อเนื่อง โดยมีช่วงความเชื่อมั่น (CIs) 95% ผลการศึกษาหลักคือความสำเร็จการทำการเจาะน้ำไขสันหลังในครั้งแรก จำนวนครั้งของการพยายามทำการเจาะน้ำไขสันหลัง จำนวนครั้งการเกิดหัวใจเต้นช้า ระดับคะแนนความเจ็บปวด จำนวนครั้งการเกิดภาวะออกซิเจนลดลง (desaturation) จำนวนครั้งของภาวะหยุดหายใจ (apnea) และจำนวนครั้งการเกิดภาวะหยุดหายใจอย่างน้อย 1 ครั้ง เราใช้วิธี GRADE เพื่อประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐาน

ผลการวิจัย: 

เรารวบรวมการศึกษาไว้ทั้งหมด 3 การศึกษา (โดยเป็นการศึกษาแบบ RCTs 1 การศึกษา และ quasi-RCT 1 การศึกษา) โดยมีจำนวนทารกแรกเกิดทั้งหมด 206 คน มี 1 การศึกษาที่รวมเฉพาะทารกครบกำหนดคลอดเท่านั้น โดยการศึกษาทั้งหมดเป็นศึกษาซึ่งประเมินโดยให้การรักษาเฉพาะที่เทียบกับยาหลอกหรือการไม่ให้วิธีการใดๆเลย ยาชาเฉพาะที่ ได้แก่ ลิโดเคน 4%, ลิโดเคน 1% และ EMLA เราพบว่าไม่มีการศึกษาที่เสร็จสมบูรณ์เกี่ยวกับฝิ่น ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยา alpha-2 agonists ยาต้านตัวรับ NMDA receptor (NMDA receptor antagonists) ยาแก้ปวดอื่นๆ ยาระงับประสาท หรือการเปรียบเทียบวิธีการรักษาโดยตรง (ยา A กับยา B)

จากหลักฐานที่มีซึ่งมีความเชื่อมั่นต่ำมากของการศึกษาแบบ quasi‐RCTs จำนวน 1 การศึกษาในทารกจำนวน 76 ราย ทำให้ไม่สามารถแน่ใจได้ว่ายาชาเฉพาะที่ (ลิโดเคน) จะมีผลต่อผลลัพพ์ต่อไปนี้หรือไม่ เมื่อเทียบกับการไม่ให้ยาชา

• ความสำเร็จการเจาะน้ำไขสันหลังในครั้งแรก (48% ของทารกในกลุ่มที่ได้รับลิโดเคนพบว่าสามารถเจาะน้ำไขสันหลังสำเร็จในครั้งแรก และ 42% ในกลุ่มควบคุม)
• จำนวนครั้งของการเจาะน้ำไขสันหลัง (ค่าเฉลี่ย 1.9 ครั้ง [ความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน 0.2] ในกลุ่มได้รับลิโดเคน และค่าเฉลี่ย 2.1 ครั้ง [ความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน 2.1] ในกลุ่มควบคุม)
• จำนวนครั้งของการเกิดหัวใจเต้นช้า (0% ของการเจาะน้ำไขสันหลังในกลุ่มที่ได้รับลิโดเคนและ 4% ของการเจาะน้ำไขสันหลังในกลุ่มควบคุม)
• จำนวนครั้งการเกิดภาวะออกซิเจนลดลง (0% ของการเจาะน้ำไขสันหลังในกลุ่มได้รับลิโดเคนและ 8% ของการเจาะน้ำไขสันหลังในกลุ่มควบคุม)
• จำนวนครั้งของการเกิดภาวะหยุดหายใจ (RR 3.24, 95% CI 0.14 ถึง 77.79; Risk difference [RD] 0.02, 95% CI −0.03 ถึง 0.08)

ยาชาเฉพาะที่เมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอกอาจลดความเจ็บปวดซึ่งประเมินด้วย Neonatal Facial Coding System (NFCS) score (SMD −1.00 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD), 95% CI −1.47 ถึง −0.53; I² = 98%; การศึกษาแบบ RCTs 2 การศึกษา, จำนวนทารก 112 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) ไม่มีการศึกษาใดรายงานการเปรียบเทียบจำนวนครั้งของภาวะหยุดหายใจ

เราระบุการศึกษาที่กำลังดำเนินอยู่ 3 การศึกษา ซึ่งประเมินผลของการได้รับ EMLA, ลิโดเคน และเฟนทานิล มี 3 การศึกษาอยู่ระหว่างการจำแนกประเภท

บันทึกการแปล: 

แปลโดย แพทย์หญิงนันท์ธิดา ภัทราประยูร วันที่ 5 ตุลาคม 2023

Tools
Information