การจ่ายยาปฏิชีวนะล่าช้า(Delayed antibiotic prescriptions) สำหรับการติดเชื้อทางเดินหายใจ

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม

การเลื่อน การให้ยาปฏิชีวนะเมื่อเปรียบเทียบกับการสั่งจ่ายยา ทันที หรือ การไม่ให้ ยาจะลดจำนวนยาปฏิชีวนะที่ต้องใช้กับผู้ที่ติดเชื้อทางเดินหายใจ รวมถึงอาการเจ็บคอ หูชั้นกลางอักเสบ อาการไอ (หลอดลมอักเสบ) และโรคไข้หวัดหรือไม่

ความเป็นมา

การใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินไปจะเพิ่มความเสี่ยงของอาการไม่พึงประสงค์ และส่งผลให้ค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้น และเพิ่มการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรีย กลยุทธ์หนึ่งในการลดการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นคือต้องมีเขียนใบจ่ายยาปฏิชีวนะ แต่แนะนำให้ชะลอการใช้ยาออกไป ผู้สั่งจ่ายยาจะประเมินว่าไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะในทันที โดยคาดหวังว่าอาการจะหายได้โดยไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ

เราค้นหาการศึกษาที่เปรียบเทียบการให้ยาปฏิชีวนะ ที่ล่าช้าหรือเลื่อนออกไป เปรียบเทียบกับการให้ยาปฏิชีวนะ ทันที หรือ ไม่ให้เลย สำหรับการติดเชื้อทางเดินหายใจ โดยไม่คำนึงถึงว่ามีข้อบ่งชี้ในการให้ยาปฏิชีวนะหรือไม่ นอกจากนี้เรายังประเมินการใช้ยาปฏิชีวนะ ความพึงพอใจของผู้ป่วย การดื้อยาปฏิชีวนะ อัตราการกลับมาปรึกษาซ้ำ และการใช้การรักษาทางเลือกอื่น นี่เป็นการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมที่เผยแพร่ครั้งแรกในปี 2007 และปรับปรุงมาก่อนหน้านี้ในปี 2010, 2013 และ 2017

วันที่ค้นหา

หลักฐานเป็นปัจจุบันถึงวันที่ 20 สิงหาคม 2022

ลักษณะของการศึกษา

เรารวมการศึกษา 12 ฉบับ มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 3968 คน ซึ่งมีข้อมูลจาก 3750 คนสำหรับการประเมินกลยุทธ์การสั่งจ่ายยาสำหรับผู้ที่มีการติดเชื้อทางเดินหายใจที่หลากหลาย การศึกษา 11 ฉบับเปรียบเทียบกลยุทธ์ในการ ชะลอหรือให้ล่าช้าของการใช้ ยาปฏิชีวนะกับ การสั่งจ่ายยาทันที การศึกษา 5 ฉบับเปรียบเทียบยาปฏิชีวนะ ที่ให้ล่าช้า กับ การไม่ให้ ยาปฏิชีวนะ จากการศึกษา 12 ฉบับ มี 6 ฉบับที่ศึกษาในเด็กเท่านั้น (ผู้เข้าร่วม 1569 คน) 2 ฉบับ ศึกษาเฉพาะในผู้ใหญ่ (ผู้เข้าร่วม 589 คน) และ 4 ฉบับศึกษาทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ (ผู้เข้าร่วม 1596 คน) การศึกษาใหม่ที่รวมอยู่ในการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมนี้มีผู้เข้าร่วม 448 คน และ 436 คนได้รับการวิเคราะห์จากการใช้เกณฑ์การคัดออก

แหล่งทุนของการศึกษา

การศึกษา 2 ฉบับได้รับทุนจากบริษัทยา การศึกษา 2 ฉบับไม่ได้อธิบายแหล่งเงินทุน และการศึกษาที่เหลืออีก 8 ฉบับได้รับทุนจากสถาบันของรัฐหรือวิทยาลัยเฉพาะทาง

ผลลัพธ์ที่สำคัญ

การใช้ยาปฏิชีวนะมีมากที่สุดในกลุ่มที่ให้ยาปฏิชีวนะ ทันที (93%) รองลงมาคือกลุ่มที่ชะลอหรือ ที่ล่าช้า ของการให้ยาปฏิชีวนะ (29% และกลุ่มที่ ไม่ให้ ยาปฏิชีวนะ (13%)

ความพึงพอใจของผู้ป่วยมีความคล้ายคลึงกันสำหรับผู้ที่ได้ยาปฏิชีวนะ ที่ล่าช้า (พอใจ 88%) เปรียบเทียบกับการให้ยาปฏิชีวนะ ทันที (พอใจ 90%) แต่มีมากกว่ากลุ่มที่ ไม่ให้ ยาปฏิชีวนะเลย (พอใจ 86% เทียบกับ 81%)

ไม่มีความแตกต่างระหว่างการให้ยาปฏิชีวนะ ทันที ล่าช้า และ ไม่ให้ สำหรับอาการต่างๆ รวมถึงมีไข้ ปวด รู้สึกไม่สบาย ไอ และมีน้ำมูกไหล ความแตกต่างมีเพียงเล็กน้อยที่สนับสนุน กลุ่มที่ให้ยาทันที คือลดอาการปวด ลดไข้ และน้ำมูกไหลเพื่อรักษาอาการเจ็บคอ และความเจ็บปวดและความรู้สึกไม่สบายจากการติดเชื้อที่หูชั้นกลาง เมื่อเทียบกับ การไม่ให้ ยาปฏิชีวนะ การให้ยาปฏิชีวนะ ล่าช้า ทำให้อาการปวด อาการไข้ และอาการไอของผู้ป่วยโรคหวัดลดลงเล็กน้อย ผลข้างเคียงของยาปฏิชีวนะมีความแตกต่างกันเล็กน้อย และไม่มีความแตกต่างที่มีนัยสำคัญในการเกิดภาวะแทรกซ้อน

ในเดือนแรกหลังจากการให้คำปรึกษาเบื้องต้น การศึกษา 2 ฉบับ ระบุว่าผู้เข้าร่วมไม่น่าจะกลับมาพบแพทย์อีกทั้งในกลุ่ม ที่ให้การสั่งจ่ายยาล่าช้า หรือกลุ่มที่สั่งจ่ายยา ทันที หากไม่รวมเดือนแรก การศึกษา 1 ฉบับพบว่าผู้เข้าร่วมไม่น่าจะกลับไปพบแพทย์อีกในช่วง 12 เดือนหลังจากการสั่งจ่ายยา ล่าช้า หรือ ทันที สำหรับการติดเชื้อทางเดินหายใจอื่น และการศึกษาอีกชิ้นพบว่าผู้เข้าร่วมมีแนวโน้มที่จะกลับมาพบแพทย์มากขึ้นในอีก 12 เดือนข้างหน้า หากอยู่ในกลุ่มสั่งยา ทันที เปรียบเทียบกับการสั่งยาที่ ล่าช้าหรือชะลอออกไป

การศึกษา 2 ฉบับ ซึ่งรวมถึงเด็กที่เป็นโรคหูน้ำหนวกเฉียบพลันรายงานการใช้ยาอื่นๆ ในกลุ่มที่ได้ยาปฏิชีวนะ ที่ล่าช้า และ ทันที ไม่มีความแตกต่างในการใช้ไอบูโพรเฟน พาราเซตามอล และยาหยอดในการศึกษา 1 ฉบับ ในการศึกษาอื่นอีก 1 ฉบับมีการใช้พาราเซตามอลในกลุ่มยาปฏิชีวนะที่ให้ ทันที น้อยกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มยาปฏิชีวนะ ที่ล่าช้า ในวันที่ 2 และ 3 หลังจากการมีอาการครั้งแรกของเด็ก ไม่มีการศึกษาที่รวบรวมมาประเมินยาสมุนไพรหรือยาเสริมรูปแบบอื่น

ไม่มีการศึกษาที่รวมเข้าประเมินการดื้อยาปฏิชีวนะ

ความน่าเชื่อถือของหลักฐาน

ความเชื่อมั่นของเราต่อหลักฐานอยู่ในระดับปานกลางเนื่องจากความกังวลว่าบุคคลในการศึกษาไม่ได้รับการสุ่มเข้าในกลุ่มการรักษาที่แตกต่างกัน ซึ่งหมายความว่าความแตกต่างระหว่างกลุ่มอาจเกิดจากความแตกต่างระหว่างคนมากกว่าระหว่างการรักษา มีความเป็นไปได้ว่าผู้เข้าร่วมในการศึกษาทราบว่าพวกเขาได้รับการรักษาด้วยวิธีการใด นอกจากนี้ ไม่ใช่ทุกการศึกษาที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับทุกสิ่งที่เราสนใจ

เมื่อแพทย์รู้สึกว่าปลอดภัยที่จะไม่สั่งยาปฏิชีวนะ ทันที และให้คำแนะนำ ไม่ให้ยา แต่ให้กลับมาใหม่ถ้าอาการไม่หาย แทนที่จะสั่งยาปฏิชีวนะ ล่าช้า จะส่งผลให้มีการใช้ยาปฏิชีวนะน้อยลง แต่อาจทำให้ผู้ป่วยพึงพอใจน้อยลง การใช้ยาปฏิชีวนะ ที่ล่าช้า จะยังคงส่งผลให้การใช้ยาปฏิชีวนะลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับการให้ยาปฏิชีวนะ ทันที

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

สำหรับผลลัพธ์ทางคลินิกหลายอย่าง ไม่มีความแตกต่างระหว่างกลยุทธ์การสั่งจ่ายยา อาการของโรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันและอาการเจ็บคอดีขึ้นเล็กน้อยในกลุ่มที่ใช้ยาปฏิชีวนะ ทันที เมื่อเทียบกับกลุ่มยาปฏิชีวนะ ที่ล่าช้า ไม่มีความแตกต่างในอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อน การสั่ง จ่ายยาให้ล่าช้าไม่ได้ส่งผลให้ระดับความพึงพอใจของผู้ป่วยแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับการให้ยาปฏิชีวนะ ทันที (86% เทียบกับ 91%; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) อย่างไรก็ตาม การสั่งจ่ายยาให้ล่าช้า ได้รับการยอมรับมากกว่า การไม่ให้ ยาปฏิชีวนะ (87% เทียบกับ 82%) ยาปฏิชีวนะ ที่สั่งจ่ายล่าช้า มีอัตราการใช้ยาปฏิชีวนะที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับการสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะ ทันที (30% เทียบกับ 93%) กลยุทธ์ของ การไม่ให้ ยาปฏิชีวนะช่วยลดการใช้ยาปฏิชีวนะมากขึ้นเมื่อเทียบกับ การชะลอหรือเลื่อนหรือให้ล่าช้า ของการสั่งยาปฏิชีวนะ (13% เทียบกับ 27%)

ยาปฏิชีวนะ ที่สั่งจ่ายล่าช้า สำหรับผู้ที่มีการติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลันช่วยลดการใช้ยาปฏิชีวนะเมื่อเทียบกับการให้ยาปฏิชีวนะ ทันที แต่ไม่ได้แสดงให้เห็นว่ามีความแตกต่างจาก การไม่ให้ ยาปฏิชีวนะในแง่ของการควบคุมอาการและภาวะแทรกซ้อนของโรค ในกรณีที่แพทย์รู้สึกว่าปลอดภัยที่จะไม่สั่งยาปฏิชีวนะทันทีสำหรับผู้ที่เป็นโรค RTIs การไม่ให้ ยาปฏิชีวนะพร้อมกับให้คำแนะนำให้กลับมาหากอาการไม่หายมีแนวโน้มที่จะส่งผลให้มีการใช้ยาปฏิชีวนะน้อยที่สุด ในขณะเดียวกันก็รักษาความพึงพอใจของผู้ป่วยและผลลัพธ์ทางคลินิกที่คล้ายคลึงกันกับการให้ยายาปฏิชีวนะ ที่ล่าช้า ในกรณีที่แพทย์ไม่มั่นใจว่าจะไม่สั่งยาปฏิชีวนะ การสั่งยาปฏิชีวนะ ที่ล่าช้า อาจเป็นที่ยอมรับได้แทนการสั่งจ่ายยา ทันที เพื่อลดการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นสำหรับ RTIs อย่างมีนัยสำคัญ ขณะเดียวกันก็รักษาระดับความปลอดภัยและความพึงพอใจของผู้ป่วย

การศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลยุทธ์การสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะสำหรับ RTI อาจมุ่งเน้นไปที่การระบุกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงต่อภาวะแทรกซ้อนของโรค ปรับปรุงการสื่อสารของแพทย์กับผู้ป่วยเพื่อรักษาความพึงพอใจ แนวทางในการเพิ่มความมั่นใจของแพทย์ที่จะไม่สั่งยาปฏิชีวนะสำหรับ RTI และมาตรการเชิงนโยบายการลดการสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะที่ไม่จำเป็นสำหรับรักษา RTIs

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

มีความกังวลเกี่ยวกับการจ่ายยาปฏิชีวนะสำหรับการติดเชื้อทางเดินหายใจ (respiratory tract infections; RTIs) เนื่องจากอาการไม่พึงประสงค์ ต้นทุน และการดื้อยาต้านแบคทีเรีย กลยุทธ์หนึ่งที่เสนอเพื่อลดการสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะ คือการให้ใบสั่งยา แต่แนะนำให้ชะลอการใช้ยาปฏิชีวนะโดยคาดหวังว่าอาการของโรคจะดีขึ้นก่อนการได้ยา นี่เป็นการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมที่เผยแพร่ครั้งแรกในปี 2007 และมีการปรับปรุงในปี 2010, 2013 และ 2017

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินผลกระทบต่อระยะเวลา และ/หรือความรุนแรงของผลลัพธ์ทางคลินิก (ความเจ็บปวด อาการป่วย ไข้ ไอ และน้ำมูกไหล) การใช้ยาปฏิชีวนะ การดื้อยาปฏิชีวนะ และความพึงพอใจของผู้ป่วยในการได้รับคำแนะนำการจ่ายยาปฏิชีวนะที่ ล่าช้า ในการติดเชื้อทางเดินหายใจ

วิธีการสืบค้น: 

ข้อมูลตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2017 จนถึง 20 สิงหาคม 2022 นี่เป็นการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบพร้อมการค้นหาทุกเดือนของ Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL), MEDLINE, Embase, CINAHL และ Web of Science นอกจากนี้เรายังสืบค้นจาก WHO International Clinical Trials Registry Platform (ICTRP) และ ClinicalTrials.gov เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2022 เนื่องจากมีหลักฐานมากมายที่สนับสนุนการค้นพบที่สำคัญของการทบทวน การทบทวนวรรณกรรมจึงยุติการทบทวนอย่างเป็นระบบในวันที่ 21 สิงหาคม 2022

เกณฑ์การคัดเลือก: 

การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมที่มีผู้เข้าร่วมทุกวัยที่มี RTI โดยเปรียบเทียบการให้ยาปฏิชีวนะ ที่ล่าช้า กับยาปฏิชีวนะที่ ให้ทันที หรือ ไม่ได้ให้เลย เรากำหนดให้การให้ยาปฏิชีวนะ ที่ล่าช้า เป็นการให้คำแนะนำในการชะลอการรับยาปฏิชีวนะออกไปอย่างน้อย 48 ชั่วโมง เราพิจารณา RTI ทั้งหมดโดยไม่คำนึงว่าจะแนะนำให้ใช้ยาปฏิชีวนะหรือไม่

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

เราใช้ระเบียบวิธีมาตรฐานของ Cochrane

ผลการวิจัย: 

สำหรับการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมในปี 2022 นี้ เราได้เพิ่มการทดลองใหม่ 1 ฉบับที่มีอาสาสมัครเด็ก 448 คน (ทำการวิเคราะห์ 436 คน) ที่มี RTI เฉียบพลันที่ไม่ซับซ้อน โดยรวมแล้ว การทบทวนนี้ประกอบด้วยการศึกษา 12 ฉบับ มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 3968 คน ซึ่งมีข้อมูลจาก 3750 คนพร้อมสำหรับการวิเคราะห์ การศึกษา 12 ฉบับ เกี่ยวข้องกับ RTI เฉียบพลัน รวมถึงโรคหูน้ำหนวกเฉียบพลัน (การศึกษา 3 ฉบับ) คอหอยอักเสบจากเชื้อสเตรปโตคอคคัส (การศึกษา 3 ฉบับ) อาการไอ (การศึกษา 2 ฉบับ) อาการเจ็บคอ (การศึกษา 1 ฉบับ) โรคไข้หวัด (การศึกษา 1 ฉบับ) และ RTI ต่างๆ (การศึกษา 2 ฉบับ) การศึกษา 6 ฉบับ ศึกษาในเด็กเท่านั้น มี 2 ฉบับ ศึกษาในผุ้ใหญ่เท่านั้น และ 4 ฉบับ ศึกษาทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก มีการศึกษา 6 ฉบับ ศึกษาในหน่วยบริการปฐมภูมิ การศึกษา 4 ฉบับ ศึกษาในคลินิกเด็ก และอีก 2 ฉบับ ศึกษาในแผนกฉุกเฉิน

การศึกษาได้รับการรายงานอย่างดีและดูเหมือนว่าจะให้หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นปานกลาง การสุ่มไม่ได้อธิบายไว้อย่างเพียงพอในการศึกษา 2 ฉบับ การศึกษา 4 ฉบับมีการปกปิดผู้ประเมินผลลัพธ์ และการศึกษา 3 ฉบับ มีการปกปิดผู้เข้าร่วมและแพทย์ เราทำการวิเคราะห์เมตต้าสำหรับความเจ็บปวด อาการป่วย ไข้ ผลข้างเคียง การใช้ยาปฏิชีวนะ และความพึงพอใจของผู้ป่วย

อาการไอ (การศึกษา 4 ฉบับ) : เราไม่พบความแตกต่างระหว่าง การล่าช้า ให้ทันที และ ไม่ให้ ยาปฏิชีวนะสำหรับผลลัพธ์ทางคลินิกในการศึกษาทั้ง 4 ฉบับ

อาการเจ็บคอ (การศึกษา 6 ฉบับ) : สำหรับผลของเรื่องไข้และเจ็บคอ การศึกษา 4 ใน 6 ฉบับสนับสนุนการให้ยาปฏิชีวนะ ทันที และ 2 ฉบับไม่พบความแตกต่าง สำหรับผลลัพธ์ของอาการปวดที่เกี่ยวข้องกับอาการเจ็บคอ มีการศึกษา 2 ฉบับที่สนับสนุนการใช้ยาปฏิชีวนะ แบบเร่งด่วนทันที และ การศึกษา 4 ฉบับพบว่าไม่มีความแตกต่าง การศึกษา 2 ฉบับเปรียบเทียบยาปฏิชีวนะ ที่ล่าช้า กับ การไม่ให้ ยาปฏิชีวนะสำหรับอาการเจ็บคอ และพบว่าผลลัพธ์ทางคลินิกไม่มีความแตกต่างกัน

หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน (การศึกษา 4 ฉบับ) : การศึกษา 2 ฉบับเปรียบเทียบการให้ยาปฏิชีวนะ ทันที กับ ล่าช้า - การศึกษา 1 ฉบับพบว่าไม่มีความแตกต่างในเรื่องไข้ และการศึกษาอีก 1 ฉบับ สนับสนุนการให้ยาปฏิชีวนะ ทันที เพื่อรักษาอาการปวดและความรุนแรงของอาการไม่สบายในวันที่ 3 การศึกษา 2 ฉบับเปรียบเทียบการให้ยาปฏิชีวนะ ล่าช้า กับ ไม่ให้ ยาปฏิชีวนะ: การศึกษา 1 ฉบับพบว่าไม่มีความแตกต่างสำหรับความเจ็บปวดและความรุนแรงของไข้ในวันที่ 3 และการศึกษาอีก 1 ฉบับ พบว่าไม่มีความแตกต่างกับจำนวนเด็กที่เป็นไข้ในวันที่ 3

โรคไข้หวัด (การศึกษา 2 ฉบับ) : ไม่มีการศึกษาใดพบความแตกต่างสำหรับผลลัพธ์ทางคลินิกระหว่างกลุ่มยาปฏิชีวนะ ที่ให้ล่าช้า และ กลุ่มที่ให้ยาปฏิชีวนะทันที การศึกษา 1 ฉบับพบว่าการให้ยาปฏิชีวนะ ที่ล่าช้า อาจได้รับผลดีกว่า การไม่ให้ สำหรับระยะเวลาของอาการปวด อาการไข้ และไอ (หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง)

ผลข้างเคียง : ไม่มีความแตกต่างสำหรับผลข้างเคียงหรือผลลัพธ์ที่อาจสนับสนุน การให้ยาล่าช้า มากกว่าการจ่ายยาปฏิชีวนะ ทันที โดยไม่มีความแตกต่างที่มีนัยสำคัญในอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อน (หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ)

การใช้ยาปฏิชีวนะ : การให้ล่าช้าของ ยาปฏิชีวนะอาจส่งผลให้การใช้ยาปฏิชีวนะลดลงเมื่อเทียบกับการให้ยาปฏิชีวนะ ทันที (odds ratio (OR) 0.03, 95% ช่วงความเชื่อมั่น (CI) 0.01 ถึง 0.07; การศึกษา 8 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 2257 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) อย่างไรก็ตาม การให้ยาปฏิชีวนะ ที่ล่าช้า น่าจะส่งผลให้มีรายงานการใช้ยาปฏิชีวนะมากกว่า การไม่ ใช้ยาปฏิชีวนะ (OR 2.52, 95% CI 1.69 ถึง 3.75; การศึกษา 5 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 1529 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง)

ความพึงพอใจของผู้ป่วย : ความพึงพอใจของผู้ป่วยอาจสนับสนุนในเรื่องการยาปฏิชีวนะ ให้แบบล่าช้า มากกว่าการ ไม่ให้ (OR 1.45, 1.08 ถึง 1.96; การศึกษา 5 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 1523 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) ความพึงพอใจของผู้ป่วยอาจไม่แตกต่างกันระหว่างการให้ยาปฏิชีวนะ ที่ล่าช้า และการให้ยาปฏิชีวนะ ทันที (OR 0.77, 95% CI 0.45 ถึง 1.29; การศึกษา 7 เรื่อง, ผู้เข้าร่วม 1927 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง)

ไม่มีการศึกษาใดที่ประเมินการดื้อยาปฏิชีวนะ อัตราการกลับมาขอคำปรึกษาซ้ำและการใช้ยาทางเลือกมีความคล้ายคลึงกันสำหรับกลยุทธ์ ที่ให้ยาปฏิชีวนะล่าช้า การให้ยาทันที และ การไม่ให้ ยาปฏิชีวนะ มีการศึกษา 1 ใน 4 ฉบับ ที่รายงานการใช้ยาทางเลือก มีการใช้พาราเซตามอลในกลุ่มที่ให้ยาปฏิชีวนะทันที น้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ให้ยาปฏิชีนะล่าช้า

บันทึกการแปล: 

แปลโดย พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี Edit โดย พ.ญ. ผกากรอง ลุมพิกานนท์ 27 กันยายน 2024

Tools
Information