คำถามของการทบทวนวรรณกรรม
เราตรวจสอบว่าการให้นมบุตรหรือน้ำนมแม่เสริม (การให้น้ำนมแม่ผ่านทางสายยางให้อาหารหรือโดยการหยดน้ำนมแม่ไว้ในปากของทารก) เพื่อทำหน้าที่เหมือนเป็นยาแก้ปวดในทารกแรกเกิดได้ดีเพียงใดในขณะที่ทารกต้องเข้ารับการทำหัตถการที่เจ็บปวด (เช่น การฉีดวัคซีน การเจาะส้นเท้า การเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อทดสอบ หรือการตรวจสายตา) การตอบสนองต่อความเจ็บปวดของทารก (เช่น การเปลี่ยนแปลงของอัตราการเต้นของหัวใจ ระดับออกซิเจน ความดันโลหิต ร้อยละของเวลาในการร้องไห้ ระยะเวลาของการร้องไห้ เป็นต้น) ได้รับการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพเพื่อวัดความเจ็บปวดที่ทารกกำลังประสบ
ความเป็นมา
การให้ดูดนมแม่อาจช่วยบรรเทาอาการปวดสำหรับทารกแรกเกิดที่อยู่ระหว่างขั้นตอนที่เจ็บปวด โดยทั่วไปมีการให้ยาเพื่อบรรเทาอาการปวดสำหรับขั้นตอนที่เจ็บปวดที่สำคัญ แต่อาจไม่ได้รับสำหรับขั้นตอนที่เจ็บปวดเล็กน้อย เช่น การเก็บตัวอย่างเลือด (โดยการเจาะส้นเท้าหรือการเก็บตัวอย่างจากหลอดเลือดดำ) มีกลยุทธ์การไม่ใช้ยาหลายรูปแบบที่สามารถนำมาใช้เพื่อลดความเจ็บปวดในทารกได้ เช่น การอุ้มหรือห่อตัว การดูดจุกนมหลอก หรือการให้สารละลายที่มีรสหวาน (เช่น ซูโครสหรือกลูโคส) การศึกษาต่างๆ ที่ทำกับทารกแรกเกิดแสดงให้เห็นว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อาจเป็นวิธีที่ดีในการลดความเจ็บปวดที่พวกเขารู้สึกเมื่อเข้ารับการทำหัตถการเล็กๆน้อยๆที่เจ็บปวด การศึกษาเหล่านี้ทำกับทารกที่ครบกำหนดคลอด และแสดงให้เห็นว่าการให้ดูดนมแม่อาจมีประสิทธิภาพโดยแสดงให้เห็นว่าจะช่วยลดเวลาการร้องไห้ของทารกและคะแนนความเจ็บปวดต่างๆ ที่ได้รับการตรวจสอบสำหรับทารกแล้ว นมแม่ที่ได้รับจากกระบอกฉีดยาไม่ได้แสดงประสิทธิภาพเช่นเดียวกับการให้ดูดนมแม่ มีการศึกษาน้อยมากในทารกคลอดก่อนกำหนด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการศึกษาใหม่เพื่อตรวจสอบว่าการใช้นมแม่เสริมในทารกตัวเล็กเหล่านี้มีประสิทธิภาพในการลดความเจ็บปวดหรือไม่
ลักษณะของการศึกษา
เราค้นหาวรรณกรรมทางการแพทย์อย่างถี่ถ้วนจนถึงวันที่ 1 สิงหาคม 2022 เพื่อหาการศึกษาที่ตรวจสอบผลการบรรเทาความเจ็บปวดของการดูดนมแม่หรือการเสริมนมแม่สำหรับหัตถการทางการแพทย์เล็กน้อยในทารกแรกเกิดครบกำหนดคลอดและทารกแรกเกิดคลอดก่อนกำหนด เรารวบรวมการทดลองแบบสุ่มเท่านั้น เนื่องจากให้ความน่าเชื่อถือมากที่สุดในบรรดาหลักฐานทางการแพทย์ เราพบการศึกษา 66 พบที่รายงานทารกทั้งหมดมากกว่า 6200 คนในการทบทวนวรรณกรรมนี้ การศึกษา 36 ฉบับ ประเมินการดูดนมแม่ การศึกษา 29 ฉบับ ประเมินการให้นมแม่เสริม ในขณะที่การศึกษา 1 ฉบับ เปรียบเทียบทั้งสองอย่างนี้ การศึกษามากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นการบรรเทาอาการปวดเกิดขึ้นระหว่างการเจาะเลือดที่ส้นเท้า ในบางกรณีเป็นระหว่างการฉีดวัคซีน การเจาะเลือดจากหลอดเลือดดำหรือการทำหัตถการอื่นๆ การศึกษาใช้กลุ่มเปรียบเทียบที่หลากหลาย เช่น ยาหลอก ไม่มีการแทรกแซง การอุ้มชูของมารดา การสัมผัสแบบเนื้อแนบเนื้อ ปริมาณน้ำที่ใกล้เคียงกัน จุกนมหลอก การดูแลตามปกติ ซูโครสหรือกลูโคสที่มีความเข้มข้นต่างๆ 'การอุ้มอย่างสะดวก' ( อุ้มทารกในท่างอโดยวางแขนแนบลำตัวและวางมือเพื่อช่วยในการดูดนม) การห่อตัว การให้ความอบอุ่นที่ส้นเท้า ครีมยาชาสำหรับผิวหนัง หรือให้ร่วมกัน การศึกษานี้ใช้เครื่องมือวัดความเจ็บปวดที่หลากหลาย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของอัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต และระยะเวลาการร้องไห้เพื่อประเมินความเจ็บปวด
แหล่งทุนของการศึกษา
การศึกษาที่รวมอยู่ในการทบทวนไม่ได้รับทุนจากภายนอกตามข้อมูลที่ให้ไว้ในรายงาน
ผลการศึกษาที่สำคัญ
ทารกแรกเกิดในกลุ่มที่ให้ดูดนมแม่มีอัตราการเต้นของหัวใจต่ำกว่า, ระยะเวลาร้องไห้สั้นกว่า, เปอร์เซ็นเวลาร้องไห้ต่ำกว่า และคะแนนตามระดับความเจ็บปวดของทารกแรกเกิดต่ำกว่าทารกที่ไม่ได้รับการแทรกแซง กลูโคส/ซูโครสความเข็มข้นระดับปานกลางอาจมีประสิทธิผลใกล้เคียงกับการให้ดูดนมแม่ การศึกษาการให้นมแม่เสริมแสดงให้เห็นผลลัพธ์ที่หลากหลาย พบว่านมแม่เสริมมีอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้นต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับน้ำ และระยะเวลาร้องไห้น้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก
ข้อจำกัดของหลักฐานคืออะไร
เรามั่นใจพอสมควรว่าการดูดนมแม่จะช่วยลดความเจ็บปวดโดยประเมินโดยอัตราการเต้นของหัวใจ ระยะเวลาการร้องไห้ หรือระดับความเจ็บปวดที่ตรวจสอบได้ เปรียบเทียบกับการไม่ดำเนินการใดๆ การให้นมแม่เสริมสำหรับขั้นตอนที่เจ็บปวดอาจลดความเจ็บปวดได้ เมื่อเปรียบเทียบกับการไม่ใช้ยาหรือยาหลอก
เนื่องจากมีกลุ่มผู้เปรียบเทียบจำนวนมาก มีการประเมินมาตรวัดความเจ็บปวดอื่นๆ ในการศึกษาจำนวนน้อยมาก การศึกษาส่วนใหญ่ไม่ได้รายงานเกี่ยวกับผลการรักษาที่ไม่พึงประสงค์หรือเป็นอันตราย ผู้ที่ทำสิ่งนี้ระบุว่าไม่มีผลการรักษาที่ไม่พึงประสงค์หรือเป็นอันตรายในทารกคนใด
หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นระดับปานกลาง/ต่ำ แสดงให้เห็นว่าการให้นมบุตรหรือการให้นมบุตรเสริมอาจลดความเจ็บปวดในทารกแรกเกิดที่เข้ารับการทำหัตถการที่เจ็บปวด เมื่อเปรียบเทียบกับการไม่มีการแทรกแซง/การจัดท่า/การอุ้ม หรือยาหลอก หรือการแทรกแซงที่ไม่ใช่ทางเภสัชวิทยา หลักฐานความน่าเชื่อถือต่ำแสดงให้เห็นว่ากลูโคส/ซูโครสที่มีความเข้มข้นปานกลาง (20% ถึง 33%) อาจนำไปสู่ความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยในการลดความเจ็บปวดเมื่อเปรียบเทียบกับการให้ดูดนมแม่ ควรศึกษาประสิทธิผลของน้ำนมแม่สำหรับขั้นตอนที่เจ็บปวดในประชากรที่คลอดก่อนกำหนด เนื่องจากปัจจุบันมีการศึกษาจำนวนจำกัดที่ประเมินประสิทธิผลในประชากรกลุ่มนี้
ความเจ็บปวดในทารกแรกเกิดสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมและสรีรวิทยาเฉียบพลัน ความเจ็บปวดสะสมสัมพันธ์กับการเจ็บป่วย รวมถึงผลลัพธ์ด้านพัฒนาการทางระบบประสาทที่ไม่พึงประสงค์ การศึกษาพบว่าการเปลี่ยนแปลงในพารามิเตอร์ทางสรีรวิทยาและการวัดคะแนนความเจ็บปวดลดลงหลังการให้ยาแก้ปวดล่วงหน้าในทารกแรกเกิดที่ประสบความเจ็บปวดหรือความเครียด มาตรการที่ไม่ใช่ทางเภสัชวิทยา (เช่น การกอด ห่อตัว และการให้นมแม่) และมาตรการทางเภสัชวิทยา (เช่น อะเซตามิโนเฟน ซูโครส และฝิ่น) ถูกนำมาใช้เพื่อระงับความเจ็บปวด นี่เป็นการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมที่เผยแพร่ครั้งแรกในปี 2006 และปรับปรุงในปี 2012
วัตถุประสงค์หลักคือเพื่อประเมินประสิทธิผลของการให้ดูดนมแม่หรือเสริมนมแม่ในการลดความเจ็บปวดจากหัตถการในทารกแรกเกิด วัตถุประสงค์รองคือการวิเคราะห์กลุ่มย่อยตามประเภทของมาตรการควบคุม อายุครรภ์ และปริมาณการให้นมแม่เสริม
เราค้นหาใน CENTRAL, MEDLINE, Embase, CINAHL และทะเบียนการทดลอง (ICTRP, ISRCTN และ Clinicaltrials.gov) ในเดือนสิงหาคม 2022; การค้นหาถูกจำกัดตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นไป นอกจากนี้ยังตรวจสอบเอกสารอ้างอิงของการศึกษาที่เข้าเกณฑ์และการทบทวนวรรณกรรมในหัวข้อที่เกี่ยวข้อง
เรารวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (randomised controlled trials ; RCTs) หรือ quasi-RCTs ของการให้ดูดนมแม่หรือให้นมแม่เสริม เทียบกับการไม่รักษา/มาตรการอื่นๆ ในทารกแรกเกิด เรารวมทั้งทารกคลอดครบกำหนด (≥ 37 สัปดาห์ที่สมบูรณ์หลังมีประจำเดือน) และทารกคลอดก่อนกำหนด (< 37 สัปดาห์ที่สมบูรณ์หลังมีประจำเดือน) จนถึงอายุสูงสุดหลังมีประจำเดือน 44 สัปดาห์ การศึกษาจะต้องรายงานตัวชี้วัดทางสรีรวิทยาของความเจ็บปวดหรือคะแนนความเจ็บปวดที่ได้รับการตรวจสอบแล้ว
เราประเมินคุณภาพระเบียบวิธีของการทดลองโดยใช้ข้อมูลที่ให้ไว้ในการศึกษาและโดยการสื่อสารส่วนตัวกับผู้เขียน เราดึงข้อมูลเกี่ยวกับผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้อง ประเมินขนาดผลกระทบ และรายงานเป็นค่าความแตกต่างเฉลี่ย (mean difference; MD) เราใช้วิธี GRADE เพื่อประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐาน
จากการศึกษา 66 ฉบับ มีการประเมินการให้ดูดนมแม่ 36 ฉบับ การประเมินนมแม่เสริม 29 ฉบับ และการศึกษา 1 ฉบับ เปรียบเทียบสองวิธีนี้ ขั้นตอนที่ดำเนินการในการศึกษา ได้แก่: แลนซ์ส้นเท้า (39 ฉบับ) การเจาะหลอดเลือดดำด้วยเข็ม (11 ฉบับ) การฉีดวัคซีนเข้ากล้าม (9 ฉบับ) การตรวจตาเพื่อหาโรคจอประสาทตาของทารกคลอดก่อนกำหนด (4 ฉบับ) การดูด (4 ฉบับ) และการดึงเทปกาวออก (1 ฉบับ) เราสังเกตเห็นความแตกต่างที่ชัดเจนในมาตรของกลุ่มควบคุมและการวิธีประเมินความเจ็บปวดในการศึกษาต่างๆ เนื่องจากการศึกษาจำนวนมากรวมกลุ่มการศึกษาหลายกลุ่มที่มีการดูดนมแม่/นมแม่เสริมเป็นตัวเปรียบเทียบหลัก เราจึงไม่สามารถสังเคราะห์สิ่งแทรกแซงทั้งหมดร่วมกันได้ มาตรการของแต่ละบุคคลจะถูกเปรียบเทียบกับการให้ดูดนมแม่/เสริมนมแม่ และรายงาน จำนวนการศึกษา/ผู้เข้าร่วมที่นำเสนอผลการวิจัยไม่ได้นำมาจากการวิเคราะห์แบบรวมผลลัพธ์การศึกษา (ตามปกติใน Cochrane Reviews) แต่เป็นผลรวมโดยรวมในการเปรียบเทียบแต่ละครั้ง
โดยรวมแล้ว การศึกษาที่รวบรวมมามีความเสี่ยงของการมีอคติต่ำ ยกเว้นการปกปิดการแทรกแซงและการประเมินผลลัพธ์ ซึ่งเกือบ 1 ใน 3 ของการศึกษามีความเสี่ยงของการมีอคติสูง
การให้นมบุตรเทียบกับกลุ่มควบคุม
การให้นมแม่อาจลดอัตราการเต้นของหัวใจที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการอุ้มโดยแม่ การสัมผัสแบบเนื้อแนบเนื้อ การป้อนนมแม่ด้วยขวด ความเข้มข้นปานกลางของซูโครส/กลูโคส (20% ถึง 33%) โดยมีการสัมผัสเนื้อแนบเนื้อ (หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ, การศึกษา 8 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 784 คน)
การดูดนมแม่มีแนวโน้มที่จะลดระยะเวลาของการร้องไห้เมื่อเทียบกับการไม่ทำอะไรเลย การนอนบนโต๊ะ การโยกตัว การอุ่นส้นเท้า การอุ้มโดยแม่ การสัมผัสเนื้อแนบเนื้อ การป้อนนมแม่จากขวด และกลูโคสความเข้มข้นปานกลาง (หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง, การศึกษา 16 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 1866 คน)
การให้นมบุตรอาจลดเปอร์เซ็นเวลาที่ร้องไห้เมื่อเปรียบเทียบกับการอุ้มโดยแม่ การสัมผัสเนื้อแนบเนื้อ นมแม่จากขวดนม ซูโครสความเข้มข้นปานกลาง และซูโครสความเข้มข้นปานกลางร่วมกับสัมผัสเนื้อแนบเนื้อ (หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ, การศึกษา 4 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 359 คน)
การให้นมแม่มีแนวโน้มที่จะลดคะแนนระดับความเจ็บปวดของทารกแรกเกิด (NIPS) เมื่อเทียบกับการไม่ดำเนินการใด ๆ การอุ้มโดยแม่ การอุ่นส้นเท้า การเปิดเพลง ครีม EMLA ความเข้มข้นของกลูโคสในระดับปานกลาง การห่อตัว การห่อตัวและการอุ้ม (หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง, การศึกษา 12 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 1432 คน)
การให้นมแม่อาจลดคะแนน Neonatal Facial Coding System (NFCS) เมื่อเทียบกับการไม่ได้รับสิ่งแทรกแซง การอุ้ม การใช้จุกนมหลอก และระดับกลูโคสในเลือดที่ความเข้มข้นปานกลาง (หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ, การศึกษา 2 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 235 คน)
การให้นมแม่อาจลดคะแนน Douleur Aigue Nouveau-né (DAN) เมื่อเทียบกับจัดท่า การอุ้มหรือยาหลอก (หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ, การศึกษา 4 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 709 คน)
ในการเปรียบเทียบอื่นๆ ส่วนใหญ่ มีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยระหว่างกลุ่มที่ให้นมบุตรและกลุ่มควบคุมในการวัดผลลัพธ์ใดๆ
การให้นมบุตรเสริมเทียบกับกลุ่มควบคุม
การให้นมแม่เสริมอาจลดอัตราการเต้นของหัวใจที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการให้น้ำหรือไม่มีการแทรกแซงใดๆ (หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ การศึกษา 5 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 336 คน)
การให้นมแม่เสริมมีแนวโน้มที่จะลดระยะเวลาในการร้องไห้เมื่อเทียบกับการจัดท่า การนวด หรือยาหลอก (หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง, การศึกษา 11 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 1283 คน)
การให้นมแม่เสริมส่งผลให้ร้อยละเวลาที่ร้องไห้แตกต่างกันเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย เมื่อเทียบกับยาหลอกหรือไกลซีน (หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ, การศึกษา 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 70 คน)
การให้นมแม่เสริมส่งผลให้คะแนน NIPS แตกต่างกันเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย เมื่อเทียบกับการไม่ดำเนินการใดๆ,จุกนมหลอก, ความเข้มข้นปานกลางของซูโครส, ยาหยอดตา, การสัมผัสที่อ่อนโยนและการใช้คำพูดปลอบ และกลิ่นน้ำนมแม่และการใช้คำพูดปลอบ (หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ, การศึกษา 3 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 291 คน)
การให้นมแม่เสริมอาจลดคะแนน NFCS เมื่อเทียบกับไกลซีน (หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำโดยรวม, การศึกษา 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 40 คน) คะแนน DAN ต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการนวดและการดื่มน้ำ ไม่แตกต่างกันเมื่อเปรียบเทียบกับการไม่มีการแทรกแซง EMLA และซูโครสที่มีความเข้มข้นปานกลาง และสูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการโยกหรือจุกนมหลอก (หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ, การศึกษา 2 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 224 คน)
เนื่องจากมีการแทรกแซงเปรียบเทียบจำนวนมาก การวัดความเจ็บปวดอื่นๆ ได้รับการประเมินในการศึกษาจำนวนน้อยมากในการเปรียบเทียบทั้งสอง ซึ่งทำให้หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ
การศึกษาส่วนใหญ่ไม่ได้รายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ เมื่อพิจารณาถึงลักษณะที่ไม่เป็นอันตรายของสิ่งแทรกแซง การศึกษาที่รายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ไม่พบในผู้เข้าร่วมรายใด
ไม่มีการวิเคราะห์กลุ่มย่อยเนื่องจากมีการศึกษาจำนวนน้อย
แปลโดย พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี Edit โดย พญ ผกากรอง ลุมพิกานนท์ 2 ตุลาคม 2024