ปัญหาคืออะไร
มะเร็งในช่องปาก (ปาก) และมะเร็งคอหอย (คอ) ที่ถูกตรวจพบตั้งแต่แรกๆ ส่วนใหญ่ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดหรือการฉายรังสี การรักษาเหล่านี้มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคมะเร็งและเพิ่มอัตราการรอดชีวิต อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดและการฉายรังสีเพียงอย่างเดียวก็ยังมีโอกาสที่มะเร็งจะกลับมาเป็นอีก ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตรอดได้สั้นลง การให้เคมีบำบัดเพิ่มเติมจากการผ่าตัดหรือการฉายรังสีอาจช่วยให้อัตราการรอดชีวิตดีขึ้น
เหตุใดหัวข้อนี้จึงสำคัญ
การรักษาด้วยเคมีบำบัดคือยาที่ทำงานโดยการฆ่าเซลล์ที่แบ่งตัวอย่างรวดเร็ว เช่น เซลล์มะเร็ง มีเซลล์ชนิดอื่นๆ ที่แบ่งตัวอย่างรวดเร็วในร่างกายของเรา เช่น เซลล์บนผิวหนังหรือเซลล์ในลำไส้ของเรา เคมีบำบัดสามารถส่งผลต่อเซลล์ปกติเหล่านี้ได้เช่นกัน ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมการรักษาเหล่านี้จึงมีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์
ในการรักษาโรคมะเร็ง สามารถให้เคมีบำบัดได้ก่อนการผ่าตัดหรือการฉายรังสี ระหว่างการฉายรังสี หรือหลังได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดหรือการฉายรังสี นอกจากนี้ยังมีเคมีบำบัดหลายประเภทที่สามารถให้ได้ทั้งแบบเม็ดยาหรือผ่านเส้นเลือด (ทางหลอดเลือดดำ) ความแตกต่างในวิธีการให้เคมีบำบัดและประเภทของเคมีบำบัดมีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อการอยู่รอดที่แตกต่างกัน ในตอนนี้เราไม่รู้ว่าวิธีไหนดีที่สุด
การทบทวนวรรณกรรมนี้ เป็นการปรับปรุงฉบับที่เผยแพร่ในปี 2011
เราต้องการค้นหาอะไร
เราต้องการทราบว่าการให้เคมีบำบัดร่วมกับการผ่าตัดหรือการฉายรังสีช่วยให้อัตราการรอดชีวิตดีขึ้น นอกจากนี้เรายังต้องการทราบว่าการให้เคมีบำบัดร่วมกับการผ่าตัดหรือการฉายรังสีช่วยเพิ่มโอกาสที่มะเร็งจะหดตัวหรือไม่ และการรักษาเหล่านี้ช่วยลดความเสี่ยงที่มะเร็งจะกลับมาเป็นอีก (การกลับมาเป็นซ้ำ) หรือไม่
เราทำอะไรไปแล้วบ้าง
เราค้นหาฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์หลายแห่งสำหรับการศึกษาที่ประเมินการให้เคมีบำบัดก่อน ระหว่าง หรือหลังการรักษาด้วยการฉายรังสีหรือการผ่าตัดในผู้ป่วยผู้ใหญ่ (อายุ > 18 ปี) ที่เป็นมะเร็งในช่องปากหรือคอหอย
เราแบ่งการศึกษาออกเป็น 4 กลุ่มและรวมผลลัพธ์ไว้ในแต่ละกลุ่ม เราได้ประเมินความน่าเชื่อถือของหลักฐานที่เราพบ
เราพบการศึกษาอะไรบ้าง
เราพบการศึกษา 100 ฉบับ ที่ประเมินการใช้เคมีบำบัดร่วมกับการผ่าตัดหรือการฉายรังสี รวมผู้ป่วยมากกว่า 18,000 ราย จากทั่วโลก การศึกษา 36 ฉบับ ประเมินการใช้เคมีบำบัดก่อนการผ่าตัดหรือการฉายรังสี การศึกษา 11 ฉบับ ประเมินการใช้เคมีบำบัดหลังการผ่าตัดหรือการฉายรังสี; การศึกษา 30 ฉบับ ประเมินการใช้เคมีบำบัดร่วมกับรังสีบำบัด และการศึกษา 23 ฉบับ ประเมินยาเคมีบำบัดต่างๆ ที่แตกต่างกัน ที่ให้ก่อน ระหว่าง หรือหลังการผ่าตัดหรือรังสีบำบัด
ผลลัพธ์หลักคืออะไร
เราไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนว่าการให้เคมีบำบัดก่อนการผ่าตัดหรือการฉายรังสีช่วยให้อัตราการรอดชีวิตดีขึ้น ในทำนองเดียวกัน การให้เคมีบำบัดหลังการผ่าตัดดูเหมือนจะไม่ทำให้อัตราการรอดชีวิตดีขึ้น
เราพบว่าการรักษาด้วยการฉายรังสีและเคมีบำบัดร่วมกันหลังการผ่าตัด เมื่อเทียบกับการฉายรังสีเพียงอย่างเดียวหลังการผ่าตัด อาจเพิ่มโอกาสรอดชีวิตได้ นอกจากนี้ ในผู้ป่วยที่ไม่เหมาะได้รับการผ่าตัด อาจเพิ่มความอยู่รอดได้หากเพิ่มเคมีบำบัดในการบำบัดด้วยรังสี เมื่อเทียบกับการรักษาด้วยการฉายรังสีเพียงอย่างเดียว ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะตัดสินว่าควรใช้ยาเคมีบำบัดชนิดใดดีที่สุด
ผลลัพธ์น่าเชื่อถือแค่ไหน
การศึกษาที่นำเข้ามีความแตกต่างในด้านประเภทและจำนวนผู้เข้าร่วม รวมไปถึงประเภทของยาเคมีบำบัดที่ให้ ความแตกต่างเหล่านี้อาจส่งผลต่อผลลัพธ์ ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่สามารถแน่ใจเกี่ยวกับผลลัพธ์เหล่านี้ได้ และการวิจัยในอนาคตอาจเปลี่ยนแปลงข้อสรุปของเราได้
ผลลัพธ์นี้หมายความว่าอย่างไร
ผลลัพธ์เหล่านี้สนับสนุนการเพิ่มเคมีบำบัดร่วมกับการฉายรังสีในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดมะเร็งช่องปากหรือคอหอย ในผู้ป่วยที่ไม่เหมาะได้รับการผ่าตัด ผลลัพธ์ของเราสนับสนุนการใช้เคมีบำบัดร่วมกับการฉายรังสี เมื่อเทียบกับการฉายรังสีเพียงอย่างเดียว
เราสรุปได้ว่ามีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนการใช้เคมีบำบัดนอกเหนือจากสถานการณ์เหล่านี้ เราเชื่อในสิ่งที่เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้เคมีบำบัดร่วมกับการผ่าตัดหรือการฉายรังสี
การทบทวนวรรณกรรมนี้เป็นปัจจุบันแค่ไหน
การทบทวนวรรณกรรมนี้ได้รับการปรับปรุงถึงเดือนกันยายน 2021
ผลลัพธ์ของการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าการให้เคมีบำบัดในมะเร็งช่องปากและมะเร็งคอหอยเพียงอย่างเดียวดูเหมือนจะมีประโยชน์เมื่อรักษาในสถานะการณ์เฉพาะร่วมกับการรักษาเฉพาะจุด จากหลักฐานไม่ได้แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ต่อการรอดชีวิตที่ชัดเจนจากการใช้เคมีบำบัดนำก่อนการฉายรังสี การผ่าตัด หรือ CRT การรักษา CRT เสริม ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ 16% เมื่อเทียบกับการรักษาด้วยการฉายรังสีเพียงอย่างเดียว การให้เคมีบำบัดร่วมเมื่อเปรียบเทียบกับการฉายรังสีเพียงอย่างเดียวมีความสัมพันธ์กับการรอดชีวิตโดยรวมที่ดีขึ้นมากกว่า 20% อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อรายงายว่าวิธีการให้เคมีบำบัดแบบใดที่อาจส่งผลต่อประโยชน์นี้
มะเร็งช่องปากและมะเร็งคอหอยหลังช่องปากเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดที่เกิดในศีรษะและคอ โดยทั่วไปการรักษามะเร็งช่องปากจะเป็นการผ่าตัดตามด้วยรังสีรักษา ในขณะที่มะเร็งคอหอยหลังช่องปากซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเป็นระยะลุกลามในขณะที่วินิจฉัย จะได้รับการจัดการด้วยการฉายรังสีหรือเคมีบำบัด การรักษามะเร็งในช่องปากด้วยการผ่าตัดอาจทำให้หน้าตาผิดรูปร่างได้ และทั้งการผ่าตัดและการฉายรังสีก็มีผลข้างเคียง การพัฒนายาเคมีบำบัดชนิดใหม่ การผสมผสารยาเคมีชนิดใหม่ และการเปลี่ยนแปลงระยะเวลาในการผ่าตัด การฉายรังสี และการรักษาด้วยเคมีบำบัด อาจส่งผลให้ทั้งอัตราการรอดชีวิตและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเพิ่มขึ้น การทบทวนวรรณกรรมนี้ เป็นการปรับปรุงฉบับที่เผยแพร่ในปี 2011
เพื่อตรวจสอบว่าเคมีบำบัด ที่รักษาเสริมจากการฉายรังสีและ/หรือการผ่าตัดสำหรับมะเร็งช่องปากและคอหอยในเซลล์มะเร็งแบบสความัส ส่งผลให้การรอดชีวิตในภายรวมดีขึ้น ระยะเวลารอดชีวิตโดยปลอดโรคดีขึ้น และ/หรือการควบคุมจุดเฉพาะในช่องปากดีขึ้น เมื่อรวมเข้ากับการรักษานำก่อนการรักษาแบบเฉพาะที่ (เช่น การฉายรังสีหรือการผ่าตัด) ควบคู่ไปกับการฉายรังสีหรือการรักษาเสริม (เช่น หลังการรักษาเฉพาะจุดด้วยการฉายรังสีหรือการผ่าตัด)
ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลค้นหาใน 4 ฐานข้อมูลจนถึงวันที่ 15 กันยายน 2021 และใช้วิธีการค้นหาเพิ่มเติมเพื่อระบุการศึกษาที่ตีพิมพ์ ไม่ได้ตีพิมพ์ และที่กำลังดำเนินการอยู่
เราคัดเลือกการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) โดยที่ผู้เข้าร่วมมากกว่า 50% มีเนื้องอกระยะแรกในช่องปากหรือคอหอย และมีการประเมินการรักษาเสริมจากเคมีบำบัดไปสู่การรักษาอื่นๆ เช่น การฉายรังสีและ/หรือการผ่าตัด หรือเปรียบเทียบรูปแบบเคมีบำบัด 2 สูตรขึ้นไป หรือในส่วนของการบริหารจัดการ
สำหรับการปรับปรุงในครั้งนี้ เราประเมินความเสี่ยงของการมีอคติของการทดลองใหม่ที่รวบรวมเข้ามา และผู้วิจัยอย่างน้อย 2 คนดึงข้อมูลจากการทดลองเหล่านั้น ผลลัพธ์หลักของเราคือการรอดชีวิตในภาพรวม (ระยะเวลาที่จะเสียชีวิตจากสาเหตุใดๆ ก็ตาม) ผลลัพธ์รองคือระยะเวลารอดชีวิตโดยปลอดโรค (ระยะเวลาที่จะเกิดโรคซ้ำหรือเสียชีวิตจากสาเหตุใดๆ ก็ตาม) และการควบคุมเฉพาะจุด (ที่ตอบสนองต่อการรักษาหลัก)
เราติดต่อผู้เขียนโครงการวิจัยเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมหรือคำชี้แจงเมื่อมีความจำเป็น
เรานำเข้าการศึกษา 100 ฉบับ โดยมีจำนวนผู้เข้าร่วม 18,813 ราย ไม่มีการศึกษาใดที่รวบรวมมามีความเสี่ยงของอคติที่ต่ำ
การให้เคมีบำบัดเป็นวิธีการอย่างแรก (induction chemotherapy) ในผู้ป่วยมะเร็งระยะที่เป็นมาก เราได้รายงานผลลัพธ์การรักษาแบบควบรวมซึ่งน่าสนใจสำหรับแพทย์และผู้ที่กำลังรับการรักษามะเร็งช่องปากและคอหอย ในภาพรวม ยังคงไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการรอดชีวิตจากการให้เคมีบำบัดเป็นวิธีการแรก (induction chemotherapy) ในผู้ป่วยมะเร็งระยะที่เป็นมาก ด้วยแพลตตินัมร่วมกับ 5-ฟลูออโรยูราซิลก่อนการรักษาด้วยการฉายรังสีนั้นมีประโยชน์ (hazard ratio (HR) ต่อการเสียชีวิต 0.85, ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) 0.70 ถึง 1.04, P-value = 0.11; ผู้เข้าร่วมในการศึกษา 7427 ราย มีการศึกษา 5 ฉบับ หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) การผ่าตัดภายหลัง (HR ต่อการเสียชีวิต 1.06, ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) 0.71 ถึง 1.60, P-value = 0.77; ผู้เข้าร่วมในการศึกษา 198 ราย มีการศึกษา 1 ฉบับ; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) หรือให้ยาเคมีบำบัดร่วมกับการฉายรังสีภายหลัง (CRT) ร่วมกับซิสพลาติน (HR ต่อการเสียชีวิต 0.71, ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) 0.37 ถึง 1.35, P-value = 0.30; ผู้เข้าร่วมในการศึกษา 389 ราย มีการศึกษา 2 ฉบับ; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) ยังคงไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะสนับสนุนการให้เคมีบำบัดเป็นวิธีการอย่างแรก (induction chemotherapy) ในผู้ป่วยมะเร็งระยะที่เป็นมากร่วมกับ ซิสพลาติน บวกกับ 5-ฟลูออโรยูราซิล บวกกับ โดซีแทคเซล ก่อน CRT ร่วมกับ ซิสพลาติน อัตราส่วนอันตราย (HR) ต่อการเสียชีวิต 1.08, 95%CI 0.80 ถึง 1.44, P-value = 0.63; ผู้เข้าร่วมการศึกษา 760 ราย มีการศึกษา 3 ฉบับ; ความเชื่อมั่นของหลักฐานต่ำ)
มีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนการให้เคมีบำบัดภายหลังการรักษาด้วยการผ่าตัด (HR ต่อการเสียชีวิต 0.95, 95%CI 0.73 ถึง 1.22, P-value = 0.67; ผู้เข้าร่วมการศึกษา 353 ราย, มีการศึกษา 5 ฉบับ; ความเชื่อมั่นของหลักฐานปานกลาง) ในบรรดาการศึกษาที่เปรียบเทียบ CRT หลังการผ่าตัด เปรียบเทียบกับ RT หลังการผ่าตัด CRT แสดงให้เห็นประโยชน์ต่อการรอดชีวิต (HR ต่อการเสียชีวิต 0.84, 95%CI 0.72 ถึง 0.98, P-value = 0.03; ผู้เข้าร่วมการศึกษา 1097 ราย, มีการศึกษา 4 ฉบับ; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง)
การรักษาขั้นแรกด้วย CRT เมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาด้วยการฉายรังสีเพียงอย่างเดียว มีความสัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงของการเสียชีวิต (HR ต่อการเสียชีวิต 0.74, 95%CI 0.67 ถึง 0.83, P-value < 0.00001; ผู้เข้าร่วมการศึกษา 2852 ราย, มีการศึกษา 24 ฉบับ; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง)
แปลโดย นายฎลกร จำปาหวาย