คำถามของการทบทวนวรรณกรรม
เราทบทวนประสิทธิผลและความปลอดภัยของการรักษาสตรีที่เป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญพันธุ์ด้วยยา pentoxifylline เพื่อดูว่าช่วยให้อาการปวดและผลการเจริญพันธุ์ดีขึ้นหรือไม่ Pentoxifylline เป็นสารกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (สารที่มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน) ที่อาจเป็นแนวทางทางเลือกในการรักษาภาวะนี้ เรามุ่งที่จะเปรียบเทียบ pentoxifylline กับการไม่รักษาหรือใช้ยาหลอก (การรักษาหลอก) การรักษาอื่นๆ หรือการผ่าตัดรักษา
ความเป็นมา
Endometriosis เป็นอาการเจ็บปวดที่เนื้อเยื่อคล้ายเยื่อบุโพรงมดลูก (เนื้อเยื่อที่คล้ายกับเยื่อบุโพรงมดลูก) งอกขึ้นนอกมดลูก ซึ่งอาจส่งผลต่อความสามารถในการตั้งครรภ์ของสตรี การศึกษาล่าสุดสนับสนุนผลของระบบภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้ Pentoxifylline เป็นยากระตุ้นภูมิคุ้มกันที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ (ลดการอักเสบ) ซึ่งอาจบรรเทาอาการของโรคได้โดยไม่ต้องป้องกันการตกไข่
ลักษณะของการศึกษา
เรารวบรวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ 5 การศึกษา (การศึกษาที่ผู้เข้าร่วมได้รับการสุ่มให้เป็นหนึ่งในสองกลุ่มการรักษาหรือมากกว่า) ที่เปรียบเทียบ pentoxifylline กับยาหลอกหรือไม่มีการรักษาหรือการรักษาอื่นๆ ในสตรีทั้งหมด 415 คน หลักฐานเป็นปัจจุบันถึงวันที่ 16 ธันวาคม 2020
ผลลัพธ์สำคัญ
มีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะให้ข้อสรุปเกี่ยวกับประสิทธิผลและความปลอดภัยของ pentoxifylline ในแง่ของภาวะเจริญพันธุ์และการบรรเทาอาการปวดในสตรีที่เป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ไม่มีการศึกษารายงานผลลัพธ์หลักของอัตราการเกิดมีชีพหรือเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง)
Pentoxifylline เทียบกับยาหลอก
เราไม่แน่ใจว่า pentoxifylline ส่งผลต่ออัตราการตั้งครรภ์ทางคลินิก อัตราการกลับเป็นซ้ำของเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรืออัตราการแท้งบุตรเมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก ขาดข้อมูลเกี่ยวกับผลลัพธ์อื่นๆ
Pentoxifylline เทียบกับไม่มีการรักษา
เราไม่แน่ใจว่า pentoxifylline ส่งผลต่อความเจ็บปวดโดยรวมหรือไม่ เมื่อเทียบกับการไม่รักษา ขาดข้อมูลเกี่ยวกับผลลัพธ์อื่นๆ
เราไม่สามารถคัดลอกข้อมูลจากการศึกษาใดๆ ที่เปรียบเทียบ pentoxifylline กับการรักษาอื่นๆ และไม่มีการศึกษาใดที่เปรียบเทียบ pentoxifylline กับการผ่าตัด
คุณภาพของหลักฐาน
คุณภาพของหลักฐานโดยรวมต่ำมาก ข้อจำกัดหลักในหลักฐานคือการขาดการวิเคราะห์แบบ intention-to-treat (การประเมินของทุกคนที่เข้าร่วมในการทดลองตามกลุ่มที่พวกเขาได้รับการจัดสรรในขั้นต้น (และสุ่ม) โดยไม่คำนึงถึงว่าพวกเขาจะหลุดออกจากการรักษาหรือไม่ ยึดมั่นในการรักษาอย่างเต็มที่ หรือเปลี่ยนไปใช้การรักษาทางเลือกอื่น) ขาดการปิดบัง (กระบวนการที่ทั้งสตรที่เข้าร่วมในการทดลองและเจ้าหน้าที่วิจัยถูกจัดการให้ไม่ทราบถึงการรักษาที่ใช้) และความไม่แม่นยำ (random error และตัวอย่างขนาดเล็กของบางการศึกษา)
ไม่มีการศึกษาที่รายงานเกี่ยวกับผลลัพธ์หลักของอัตราการเกิดมีชีพของเรา เนื่องจากหลักฐานที่จำกัดมาก เราจึงไม่แน่ใจถึงผลของ pentoxifylline ต่ออัตราการตั้งครรภ์ทางคลินิก อัตราการแท้งบุตร หรือความเจ็บปวดโดยรวม
ขณะนี้มีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนการใช้ pentoxifylline ในการรักษาสตรีที่เป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่เกี่ยวกับภาวะมีบุตรยากและการบรรเทาอาการปวด
Endometriosis เป็นภาวะอักเสบเรื้อรังที่เกิดขึ้นในช่วงวัยเจริญพันธุ์ มีลักษณะเป็นเนื้อเยื่อคล้ายเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญออกนอกโพรงมดลูก การพัฒนาเนื้อเยื่อเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ขึ้นอยู่กับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ผลิตโดยรังไข่เป็นหลัก และบางส่วนโดยเนื้อเยื่อเยื่อบุโพรงมดลูกด้วยตัวมันเอง ดังนั้นการจัดการแบบดั้งเดิมจึงมุ่งเน้นไปที่ยับยั้งการทำงานของรังไข่ (ovarian suppression) ในการทบทวนวรรณกรรมนี้ เราถือว่าบทบาทของการปรับระบบภูมิคุ้มกันเป็นแนวทางทางเลือก นี่คือการปรับปรุงของ Cochrane Review ที่เผยแพร่ก่อนหน้านี้ในปี 2012
เพื่อตรวจสอบประสิทธิผลและความปลอดภัยของ pentoxifylline ในการจัดการ endometriosis
เราสืบค้นใน Cochrane Gynecology and Fertility (CGF) Group Trials Register, CENTRAL, MEDLINE, Embase, PsycINFO และ AMED เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2020 ร่วมกับการตรวจสอบอ้างอิงและติดต่อกับผู้นิพนธ์การศึกษาและผู้เชี่ยวชาญในสาขานี้เพื่อค้นหาการศึกษาเพิ่มเติม
เรารวบรวมการศึกษาวิจัยแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) ที่เปรียบเทียบ pentoxifylline กับยาหลอกหรือไม่ได้รับการรักษา การรักษาอื่นๆ หรือการผ่าตัดในสตรีที่มีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ผลลัพธ์หลักคืออัตราการเกิดมีชีพและความเจ็บปวดโดยรวม (โดยวัดจากระดับความเจ็บปวดด้วย visual analogue scale (VAS) อื่น ๆ ที่ตรวจสอบแล้ว หรือผลลัพธ์แบบ dichotomous) ต่อสตรีที่ถูกสุ่ม ผลลัพธ์รองรวมถึงอัตราการตั้งครรภ์ทางคลินิก อัตราการแท้ง อัตราการกลับเป็นซ้ำ และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกิดจาก pentoxifylline
ผู้ประพันธ์การทบทวนวรรณกรรม 2 คน ประเมินการศึกษาตามเกณฑ์การคัดเข้าและประเมินความเสี่ยงของการมีอคติอย่างอิสระต่อกัน เราติดต่อผู้นิพนธ์การศึกษาตามความจำเป็น เราวิเคราะห์ผลลัพธ์แบบ dichotomous โดยใช้ Mantel-Haenszel risk ratio (RRs) ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CIs) และ fixed‐effect model สำหรับเหตุการณ์จำนวนน้อย เราใช้ Peto odds ratio (OR) กับ 95% CI แทน เราวิเคราะห์ผลลัพธ์ต่อเนื่องโดยใช้ mean difference (MD) ระหว่างกลุ่มที่นำเสนอด้วย CIs 95% เราใช้ I2 เพื่อประเมินความแตกต่างระหว่างการศึกษา เราใช้แนวทาง GRADE เพื่อประเมินคุณภาพของหลักฐาน
เรารวมการศึกษาแบบ parallel-design RCTs 5 การศึกษา ซึ่งมีสตรีทั้งหมด 415 คน เราได้รวม RCT เพิ่มเติม 1 การศึกษา ในการปรับปรุงนี้ มี 3 การศึกษาไม่ได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับ allocation concealment และ 2 การศึกษาไม่ได้ปิดบัง นอกจากนี้ยังมีความสูญเสียอย่างมากในการติดตาม โดยมี 4 การศึกษาที่ไม่ได้ทำการวิเคราะห์แบบ intention‐to‐treat เราตัดสินคุณภาพของหลักฐานว่าต่ำมาก
Pentoxifylline เทียบกับยาหลอก
ไม่มีการทดลองที่รายงานเกี่ยวกับผลลัพธ์หลักของเรา อัตราการเกิดมีชีพและความเจ็บปวดโดยรวม เราไม่แน่ใจว่าการรักษาด้วย pentoxifylline ส่งผลต่ออัตราการตั้งครรภ์ทางคลินิกหรือไม่เมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก (RR 1.38, 95% CI 0.91 ถึง 2.10; 3 RCTs, n = 285; I2= 0%; หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) หลักฐานแสดงให้เห็นว่าหากอัตราการตั้งครรภ์ทางคลินิกกับยาหลอกอยู่ที่ประมาณ 20% อัตราของการใช้ยา pentoxifylline จะอยู่ที่ประมาณ 18% ถึง 43% เรายังไม่แน่ใจด้วยว่า pentoxifylline ส่งผลต่ออัตราการกลับมาเป็นซ้ำของ endometriosis หรือไม่ (RR 0.84, 95% CI 0.30 ถึง 2.36; 1 RCT, n = 121; หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) หรืออัตราการแท้งบุตร (Peto OR 1.99, 95% CI 0.20 ถึง 19.37; 2 RCTs, n = 164; I2 = 0%; หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) ไม่มีการทดลองที่รายงานเกี่ยวกับผลของ pentoxifylline ต่อการดีขึ้นของอาการที่เกี่ยวข้องกับเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่นอกเหนือจากความเจ็บปวดหรือเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์
Pentoxifylline เทียบกับไม่มีการรักษา
ไม่มีการทดลองที่รายงานเกี่ยวกับอัตราการเกิดมีชีพ เราไม่แน่ใจว่าการรักษาด้วย pentoxifylline ส่งผลต่อความเจ็บปวดโดยรวมหรือไม่ เมื่อเทียบกับการไม่รักษาที่ 1 เดือน (MD −0.36, 95% CI −2.12 ถึง 1.40; 1 RCT, n = 34; หลักฐานคุณภาพต่ำมาก), 2 เดือน (MD -1.25, 95% CI −2.67 ถึง 0.17; 1 RCT, n = 34; หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) หรือ 3 เดือน (MD −1.60, 95% CI −3.32 ถึง 0.12; 1 RCT, n = 34; -หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) ไม่มีการทดลองที่รายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกิดจาก pentoxifylline หรือผลลัพธ์รองอื่นๆ ของเรา
Pentoxifylline เทียบกับการรักษาอื่นๆ
1 การศึกษา (n = 83) เปรียบเทียบ pentoxifylline กับยาเม็ดคุมกำเนิดแบบรวมหลังการผ่าตัดผ่านกล้องส่องกล้องเพื่อรักษา endometriosis แต่ไม่สามารถรวมไว้ใน meta-analysis ได้ เนื่องจากไม่ชัดเจนว่าข้อมูลถูกนำเสนอเป็น +/- ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานหรือไม่ และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานคืออะไร ระยะเวลาในการรักษาคืออะไร ไม่มีการทดลองที่รายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกิดจาก pentoxifylline หรือผลลัพธ์รองอื่นๆ ของเรา
Pentoxifylline เทียบกับการผ่าตัดแบบอนุรักษ์
ไม่มีการศึกษารายงานการเปรียบเทียบนี้
แปลโดย ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ 2 กันยายน 2021