คำถามของการทบทวนวรรณกรรม
ประโยชน์และโทษของก๊าซต่างๆ สำหรับการใส่ (การเติมด้วยก๊าซ) ของช่องท้อง (ท้อง) เพื่อให้เข้าถึงอวัยวะต่างๆ ได้ง่ายขึ้นในระหว่างการผ่าตัดช่องท้องผ่านกล้อง (แบบเจาะรู) คืออะไร
ที่มาและความสำคัญของปัญหา
การผ่าตัดส่องกล้องในปัจจุบันมีการดำเนินการอย่างกว้างขวางเพื่อรักษาโรคในช่องท้องต่างๆ ก๊าซในอุดมคติสำหรับการใส่เข้าช่องท้อง เพิ่มพื้นที่การทำงาน และการมองเห็น ควรมีราคาถูก ไม่มีสี ไม่ติดไฟ ไม่ระเบิด ร่างกายกำจัดได้ง่าย และไม่เป็นพิษต่อผู้เข้าร่วม ปัจจุบันก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นก๊าซที่ใช้บ่อยที่สุดเพื่อการนี้ อย่างไรก็ตาม การใช้คาร์บอนไดออกไซด์อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของหัวใจหรือปอดได้ ดังนั้นจึงมีการแนะนำให้ใช้ก๊าซอื่นแทนคาร์บอนไดออกไซด์
ลักษณะการศึกษา
เราค้นหาการศึกษาที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจนถึงเดือนตุลาคม 2021
เราพบ 10 การทดลองทางคลินิก มีผู้เข้าร่วม 583 คน โดย 3 การทดลอง (ผู้เข้าร่วม 260 คน) เปรียบเทียบไนตรัสออกไซด์ (แก๊สหัวเราะ) กับคาร์บอนไดออกไซด์ 5 การทดลอง (ผู้เข้าร่วม 177 คน) เปรียบเทียบฮีเลียมกับคาร์บอนไดออกไซด์ และ 1 การทดลอง(ผู้เข้าร่วม 146 คน) เปรียบเทียบอากาศในห้องกับ คาร์บอนไดออกไซด์ การศึกษาดำเนินการในสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย จีน ฟินแลนด์ อิหร่าน และเนเธอร์แลนด์ อายุเฉลี่ยของผู้เข้าร่วมในการทดลองอยู่ระหว่าง 19 ถึง 62 ปี
แหล่งเงินทุนสนับสนุนการศึกษา
2 ใน 10 การศึกษาที่รวมอยู่ได้รับการสนับสนุนโดยเงินช่วยเหลือที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์ 8 การศึกษาไม่ได้รายงานแหล่งเงินทุน
ผลลัพธ์ที่สำคัญ
เราไม่ทราบว่าไนตรัสออกไซด์ ฮีเลียม และอากาศในห้องนั้นเหนือกว่า เทียบเท่า หรือด้อยกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ในจำนวนผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อนของหัวใจหรือปอด ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด หรือเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรง
เนื่องจากมีผู้เข้าร่วมไม่กี่คนที่รวมอยู่ในการตรวจสอบ ความปลอดภัยในการใช้ไนตรัสออกไซด์ ฮีเลียม หรืออากาศในห้องไม่เป็นที่ทราบ
คุณภาพของหลักฐาน
โดยรวมแล้วคุณภาพของหลักฐานสำหรับผลลัพธ์นั้นต่ำมาก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการทดลองที่ออกแบบมาอย่างดีในอนาคตเพื่อตรวจสอบภาวะแทรกซ้อน อันตราย คุณภาพชีวิต และความเจ็บปวด
หลักฐานมีความไม่เชื่อมั่นอย่างมากเกี่ยวกับผลของ nitrous oxide, helium, และ room air pneumoperitoneum เมื่อเปรียบเทียบกับ carbon dioxide pneumoperitoneum ในผลลัพธ์หลักใดๆ รวมถึงภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวกับหัวใจและปอด การเจ็บป่วยจากการผ่าตัด และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรง ความปลอดภัยของ nitrous oxide, helium และ room air pneumoperitoneum ยังไม่ได้รับการสรุป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะให้ยาสลบ
นี่เป็นการปรับปรุงครั้งที่ 2 ของ Cochrane Review ที่เผยแพร่ครั้งแรกในปี 2013 และปรับปรุงครั้งล่าสุดในปี 2017
การผ่าตัดส่องกล้องในปัจจุบันมีการดำเนินการอย่างกว้างขวางเพื่อรักษาโรคในช่องท้องต่างๆ ปัจจุบัน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นก๊าซที่ใช้บ่อยที่สุดในการทำให้มีลมในช่องท้อง (pneumoperitoneum) แม้ว่าคาร์บอนไดออกไซด์จะเป็นไปตามข้อกำหนดส่วนใหญ่สำหรับการทำให้มีลมในช่องท้อง แต่การดูดซึมของคาร์บอนไดออกไซด์อาจสัมพันธ์กับเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ ดังนั้นจึงมีการแนะนำก๊าซอื่นๆ เป็นทางเลือกแทนคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อสร้าง pneumoperitoneum
เพื่อประเมินความปลอดภัย ประโยชน์ และอันตรายของก๊าซต่างๆ (เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ ฮีเลียม อาร์กอน ไนโตรเจน ไนตรัสออกไซด์ และอากาศในห้อง) ที่ใช้ในการสร้างภาวะ pneumoperitoneum ในผู้เข้าร่วมการผ่าตัดช่องท้องหรือทางนรีเวชผ่านกล้อง
เราค้นหา CENTRAL, Ovid MEDLINE, Ovid Embase, ฐานข้อมูลอื่นๆ สี่แห่ง และทะเบียนการทดลองสามรายการในวันที่ 15 ตุลาคม 2021 ร่วมกับการตรวจสอบเอกสารอ้างอิง การค้นหาการอ้างอิง และการติดต่อกับผู้ประพันธ์การศึกษาเพื่อหาการศึกษาเพิ่มเติม
เรารวบรวมการศึกษาแบบ randomized controlled trials (RCTs) ที่เปรียบเทียบก๊าซต่างๆ สำหรับการสร้าง pneumoperitoneum ในผู้เข้าร่วม (โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ หรือเชื้อชาติ) ที่ได้รับการผ่าตัดผ่านกล้องช่องท้องหรือทางนรีเวชภายใต้การดมยาสลบ
เราใช้ขั้นตอนวิธีการมาตรฐานที่ Cochrane กำหนด
เรารวบรวม 10 RCTs ที่สุ่มผู้เข้าร่วม 583 คน เปรียบเทียบก๊าซต่างๆ สำหรับการสร้าง pneumoperitoneum: ไนตรัสออกไซด์ (4 การทดลอง) ฮีเลียม (5 การทดลอง) หรืออากาศในห้อง (1 การทดลอง) เปรียบเทียบกับคาร์บอนไดออกไซด์ RCTs ทั้งหมดเป็นการศึกษาแบบศูนย์เดียว มี 4 RCTs ดำเนินการในสหรัฐอเมริกา 2 การศึกษา ในออสเตรเลีย 1 การศึกษาในจีน 1 การศึกษาในฟินแลนด์ 1 การศึกษาในอิหร่าน และ 1 การศึกษาในเนเธอร์แลนด์ อายุเฉลี่ยของผู้เข้าร่วมอยู่ระหว่าง 27.6 ถึง 49.0 ปี
4 การทดลองสุ่มผู้เข้าร่วมเข้ากลุ่ม nitrous oxide pneumoperitoneum (ผู้เข้าร่วม 132 คน) หรือ carbon dioxide pneumoperitoneum (ผู้เข้าร่วม 128 คน) ไม่มีการทดลองใดที่มีความเสี่ยงของการมีอคติต่ำ หลักฐานมีความไม่เชื่อมั่นอย่างมากเกี่ยวกับผลของ nitrous oxide pneumoperitoneum เมื่อเปรียบเทียบกับ carbon dioxide pneumoperitoneum ต่อภาวะแทรกซ้อนของหัวใจและหลอดเลือด (Peto odds ratio (OR) 2.62, 95% CI 0.78 ถึง 8.85; 3 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 204 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) หรือ การเจ็บป่วยจากการผ่าตัด (Peto OR 1.01, 95% CI 0.14 ถึง 7.31; 3 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 207 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) ไม่มีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรงที่เกี่ยวข้องกับ nitrous oxide หรือ carbon dioxide pneumoperitoneum (4 การศึกษา มีผู้เข้าร่วม 260 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก)
4 การทดลองสุ่มผู้เข้าร่วมให้ได้ helium pneumoperitoneum (ผู้เข้าร่วม 69 คน) หรือ carbon dioxide pneumoperitoneum (ผู้เข้าร่วม 75 คน) และ 1 การทดลองซึ่งมีผู้เข้าร่วม 33 คนไม่ได้ระบุจำนวนผู้เข้าร่วมในแต่ละกลุ่ม ไม่มีการทดลองใดที่มีความเสี่ยงของการมีอคติต่ำ หลักฐานมีความไม่เชื่อมั่นมากเกี่ยวกับผลของ nitrous oxide pneumoperitoneum เมื่อเปรียบเทียบกับ carbon dioxide pneumoperitoneum ต่อภาวะแทรกซ้อนของหัวใจและหลอดเลือด (Peto OR 1.66, 95% CI 0.28 to 9.72; 3 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 128 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) หรือ การเจ็บป่วยจากการผ่าตัด (5 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 177 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) มี 3 เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรง (ถุงลมโป่งพองใต้ผิวหนัง) ที่เกี่ยวข้องกับ helium pneumoperitoneum (3 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 128 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก)
1 การทดลองสุ่มผู้เข้าร่วมเข้ากลุ่มที่ได้รับ room air pneumoperitoneum (ผู้เข้าร่วม 70 คน) หรือ carbon dioxide pneumoperitoneum (ผู้เข้าร่วม 76 คน) การทดลองนี้มีความเสี่ยงของการมีอคติสูง ไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่หัวใจและปอด เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรง หรือการเสียชีวิตที่สังเกตได้จากการใช้ room air หรือ carbon dioxide pneumoperitoneum
แปลโดย ศ.นพ.ภิเศก ลุมพกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 19 มีนาคม 2022