อะไรจะคงสภาพของกระดูกขากรรไกรได้ดีที่สุดหลังจากการถอนฟัน

คำถามนี้มีความสำคัญเพราะเหตุใด

การถอนฟันเป็นวิธีการทั่วไปที่สามารถนำมาใช้เช่นตอน:

- ถอดฟันที่เสียหายหรือเป็นโรคออก
- ถอนฟันที่อยู่ผิดตำแหน่ง; หรือ
- จัดให้มีพื้นที่สำหรับฟันซี่อื่น

หลังจากการถอนฟัน กระดูกขากรรไกรส่วนที่ใช้ยึดฟันจะหดตัวลงเนื่องจากไม่จำเป็นต้องพยุงฟันอีกต่อไป หากกระดูกหดตัวมากเกินไป สิ่งนี้สามารถ:

- ทำให้ยุ่งยากหรือไม่สามารถที่จะแทนที่ฟันที่หายไปด้วยฟันเทียม (รากฟันเทียม) และ
- ทำให้การสนับสนุนและสุขภาพของฟันข้างเคียงอ่อนแอลง

เพื่อจำกัดการสูญเสียมวลกระดูกหลังจากการถอนฟัน ทันตแพทย์หรือศัลยแพทย์สามารถดำเนินการขั้นตอนที่เรียกว่าการรักษาสันเหงือกหลังถอนฟัน (ARP) ARP เกี่ยวข้องกับการอุดหลุมที่เหลือจากฟันที่หายไป (โดยใช้วัสดุและเทคนิคต่างๆ) และปล่อยทิ้งไว้ให้สมานกันเป็นเวลาหลายเดือน หลุมนี้สามารถใส่กระดูกคน สัตว์ หรือกระดูกเทียมก็ได้ สามารถคลุมไว้ได้ (เพื่อป้องกันไม่ให้เหงือกงอกโตเข้าไปในหลุม) โดยใช้:

- วัสดุที่ร่างกายดูดซึมตามธรรมชาติหลังจากผ่านไประยะเวลาหนึ่ง หรือ
- วัสดุที่ต้องถอดออกด้วยการผ่าตัดเมื่อไม่จำเป็นต้องใช้แล้ว

เพื่อตรวจสอบว่า ARP ทำงานเพื่อคงสภาพของกระดูกขากรรไกรหลังจากการถอนฟันหรือไม่ เราได้ทบทวนหลักฐานจากงานวิจัย เรายังต้องการทราบว่าวัสดุและเทคนิคของ ARP ใดดีกว่าอันอื่น

เราระบุและประเมินหลักฐานอย่างไร

อันดับแรก เราค้นหาวรรณกรรมการศึกษาทางการแพทย์เพื่อที่เปรียบเทียบ:

- ARP กับไม่มี ARP; หรือ
- วัสดุหรือเทคนิคของ ARP ที่แตกต่างกัน

จากนั้นเราเปรียบเทียบผลลัพธ์และสรุปหลักฐานจากการศึกษาทั้งหมด ตอนสุดท้าย ผู้วิจัยให้คะแนนความเชื่อมั่นในหลักฐานโดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น ระเบียบวิธีวิจัยและขนาดของการศึกษา และความสอดคล้องของสิ่งที่ค้นพบจากหลายการศึกษา

ผู้วิจัยค้นพบอะไรบ้าง

เราค้นพบการศึกษา 16 ฉบับที่ศึกษาติดตามในผู้ใหญ่ทั้งหมด 426 คนเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน การศึกษานี้เกิดขึ้นในอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ยุโรป และเอเชีย การศึกษา 4 ฉบับได้รับการสนับสนุนจากบริษัทยาและบริษัทอุปกรณ์ทางการแพทย์ การศึกษาอื่นๆ ไม่ว่าจะได้รับเงินทุนจากรัฐบาล ไม่เฉพาะเจาะจงแหล่งทุน หรือไม่ได้รายงานแหล่งเงินทุน

ARP เทียบกับไม่มี ARP

การศึกษา 8 ฉบับเปรียบเทียบ ARP กับไม่มี ARP ในการศึกษา 7 ฉบับ กระดูกสัตว์ถูกนำมาใช้เพื่ออุดรูฟันที่หายไป ในการศึกษา 1 ฉบับ อุดหลุมด้วยกระดูกเทียม

การสูญเสียมวลกระดูก: จากหลักฐานระบุว่า ARP อาจป้องกันการสูญเสียมวลกระดูกหลังจากการถอนฟันได้ อย่างไรก็ตาม เราไม่มั่นใจเกี่ยวกับสิ่งที่ค้นพบนี้ เนื่องจากการศึกษารายงานข้อค้นพบที่ขัดแย้งกันและไม่รายงานวิธีการศึกษาอย่างชัดเจน

ภาวะแทรกซ้อน: หลักฐานเกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อน (เช่น ความรู้สึกไม่สบายหรือความเจ็บปวด) รวมกัน การศึกษาหนึ่งเรื่องรายงานว่าการฟื้นตัวล่าช้าหนึ่งรายหลังได้รับ ARP ในอีกกรณีหนึ่ง บางคนมีอาการปวดและบวมหลังได้รับ ARP กรณีอื่นๆ รายงานว่าไม่มีภาวะแทรกซ้อน

ผลกระทบต่อการปลูกถ่ายฟัน: หลักฐานจากการศึกษาที่ ARP ใช้กระดูกสัตว์แสดงให้เห็นว่า ARP อาจสร้างความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่สร้างเลยกับความจำเป็นในการเพิ่มกระดูกให้กับขากรรไกรก่อนที่จะใส่รากฟันเทียมได้ อย่างไรก็ตาม เราไม่มั่นใจเกี่ยวกับสิ่งที่ค้นพบนี้ เนื่องจากการศึกษารายงานข้อค้นพบที่ขัดแย้งกันและไม่รายงานวิธีการศึกษาอย่างชัดเจน

ยังไม่ชัดเจนว่า ARP ส่งผลต่อความสำเร็จของการปลูกถ่ายหรือลักษณะที่ปรากฏของฟันหลังการปลูกถ่ายหรือไม่ เนื่องจากว่ามีการศึกษาวิจัยที่มีประสิทธิภาพน้อยเกินไปที่ตรวจสอบเรื่องนี้

การเปรียบเทียบระหว่างวัสดุที่แตกต่างกัน

การศึกษา 8 ฉบับเปรียบเทียบการใช้วัสดุ ARP ที่แตกต่างกัน (กระดูกสัตว์เทียบกับกระดูกเทียม) โดยทั่วไป การศึกษาเหล่านี้ไม่ได้ให้หลักฐานที่ชัดเจนเพียงพอที่จะบอกได้ว่าวัสดุชนิดใดดีที่สุด

การสูญเสียมวลกระดูก: มีหลักฐานบางอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าการสูญเสียมวลกระดูกระหว่างกระดูกสัตว์และกระดูกเทียมอาจมีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยหรือไม่ต่างเลย อย่างไรก็ตาม เราไม่มั่นใจเกี่ยวกับสิ่งที่ค้นพบนี้ เนื่องจากการศึกษารายงานข้อค้นพบที่ขัดแย้งกันและไม่รายงานวิธีการศึกษาอย่างชัดเจน

ภาวะแทรกซ้อน: หลักฐานเกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนมีความผสมกัน การศึกษาบางฉบับรายงานว่ามีรอยแดง ปวดหรือบวม แต่การศึกษาอื่นๆ ไม่ได้รายงานว่ามีภาวะแทรกซ้อนใดๆ เกิดขึ้น

ผลกระทบต่อการปลูกรากฟันเทียม: หลักฐานแสดงให้เห็นว่าวัสดุที่ใช้อาจสร้างความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือแทบไม่มีผลกับความจำเป็นในการเพิ่มกระดูกให้กับขากรรไกรก่อนที่จะใส่รากฟันเทียม อย่างไรก็ตาม เราไม่มั่นใจเกี่ยวกับสิ่งที่ค้นพบนี้ เนื่องจากการศึกษารายงานข้อค้นพบที่ขัดแย้งกันและไม่รายงานวิธีการศึกษาอย่างชัดเจน

ไม่ชัดเจนว่าถ้าวัสดุและวิธีการของ ARP ที่แตกต่างกันจะมีผลกระทบต่อความสำเร็จของการปลูกถ่ายที่แตกต่างกันหรือลักษณะที่ปรากฏของฟันหลังการปลูกถ่ายหรือไม่ เนื่องจากว่ามีการศึกษาวิจัยที่มีประสิทธิภาพน้อยเกินไปที่ตรวจสอบเรื่องนี้

ผลลัพธ์นี้หมายความว่าอย่างไร

เราไม่รู้ว่าอะไรดีที่สุดในการคงสภาพกระดูกขากรรไกรหลังการถอนฟัน มีความไม่ชัดเจน :

- ถ้า ARP ดีกว่าไม่มี ARP หรือ
- ถ้าวัสดุและเทคนิค ARP บางชนิดดีกว่าอันอื่น

เนื่องจากหลักฐานที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่เพียงพอ

ในการศึกษาต่อไปในอนาคตที่รายงานวิธีการอย่างชัดเจนและติดตามผู้คนมาเป็นเวลานานจะช่วยทำให้หลักฐานมีความแข็งแกร่งและสรุปผลได้

ความเป็นปัจจุบันของการทบทวนวรรณกรรมนี้

หลักฐานเป็นปัจจุบันจนถึงเดือนมีนาคม 2021

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

เทคนิค ARP อาจทำให้การเปลี่ยนแปลงโดยรวมในความสูงและความกว้างของสันเหงือกที่เหลืออยู่น้อยที่สุดหลังจากการถอนฟันหกเดือน แต่หลักฐานยังไม่แน่นอนอย่างมาก ขาดหลักฐานที่แสดงถึงความแตกต่างใดๆ ในความจำเป็นในการเสริมเพิ่มเติมตอนที่ ใส่รากฟันเทียม ความล้มเหลวของการใส่รากฟันเทียม ผลลัพธ์ด้านความสวยงาม หรือพารามิเตอร์ทางคลินิกอื่นๆ เนื่องจากขาดข้อมูลหรือข้อมูลในระยะยาว ไม่มีหลักฐานที่แสดงถึงความแตกต่างที่มีนัยสำคัญทางคลินิกระหว่างวัสดุสำหรับการปลูกถ่ายและอุปสรรคที่ใช้สำหรับ ARP หลังจากนี้ต้องมี RCT ระยะยาวเพิ่มเติมที่ดำเนินการตามแนวทางของ CONSORT ( www.consort-statement.org )

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

การเปลี่ยนแปลงของกระดูกสันเหงือกหลังจากการถอนฟันอาจส่งผลต่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางทันตกรรม การรักษาสันเหงือกหลังถอนฟัน (ARP) มีจุดมุ่งหมายเพื่อจำกัดความเปลี่ยนแปลง และปรับปรุงการฟื้นฟูสมรรถภาพทางทันตกรรมและความสวยงามเมื่อใช้การปลูกถ่าย การทบทวนวรรณกรรมนี้ป็นการปรับปรุงการทบทวนของ Cochrane ที่เผยแพร่ครั้งแรกในปี 2015

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินผลกระทบทางคลินิกของวัสดุและเทคนิคที่หลากหลาย สำหรับ ARP หลังจากการถอนฟัน เปรียบเทียบกับการถอนฟันเพียงอย่างเดียวหรือ วิธีอื่นๆ ของ ARP หรือทั้งสองอย่าง ในผู้ป่วยที่ต้องการการใส่รากฟันเทียมหลังการรักษาช่องที่ถูกถอนฟันออก

วิธีการสืบค้น: 

ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลของ Cochrane Oral Health ทำการสืบค้นจากฐานข้อมูลต่อไปนี้: Cochrane Oral Health's Trials Register (ถึง 19 มีนาคม 2021), Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL) (the Cochrane Library 2021, ฉบับที่ 2), MEDLINE Ovid (1946 ถึง 19 มีนาคม 2021), Embase Ovid (1980 ถึง 19 มีนาคม 2021), ฐานข้อมูลข้อมูล Latin American and Caribbean Health Science (1982 ถึง 19 มีนาคม 2021), Web of Science Conference Proceedings (1990 ถึง 19 มีนาคม 2021), Scopus (1966 ถึง 19 มีนาคม 2021), ProQuest Dissertations and Theses (1861 ถึง 19 มีนาคม 2021) ) และ OpenGrey (ถึง 19 มีนาคม 2021) ได้ค้นหาการทดลองที่กำลังดำเนินอยู่ในแพลตฟอร์มของ The US National Institutes of Health Ongoing Trials Register (ClinicalTrials.gov) และ the World Health Organization International Clinical Trials Registry Platform ไม่มีข้อจำกัดทางด้านภาษาหรือวันที่เผยแพร่ในการค้นหาฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ วารสารส่วนหนึ่งก็ถูกค้นหาด้วยมือ

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวบรวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) ทั้งหมดเกี่ยวกับการใช้เทคนิค ARP ที่มีการติดตามผลอย่างน้อย 6 เดือน การวัดผลลัพธ์ได้แก่: การเปลี่ยนแปลงความกว้างของสันเหงือกด้านใน/ด้านนอก การเปลี่ยนแปลงความสูงในแนวตั้งของสันเหงือก ภาวะแทรกซ้อน ความจำเป็นในการปรับโครงสร้างก่อนการใส่รากฟันเทียม ผลลัพธ์ด้านความสวยงาม อัตราความล้มเหลวของการใส่รากฟันเทียม ระดับการเปลี่ยนแปลงกระดูกรอบรากฟันเทียม การเปลี่ยนแปลงความลึกของช่อง และระดับการยึดเกาะทางคลินิกของฟันที่อยู่ติดกับตำแหน่งที่ถอนฟัน และภาวะแทรกซ้อนของการฟื้นฟูสมรรถภาพทางทันตกรรมในอนาคต

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

เราเลือกการทดลอง ดึงข้อมูล และประเมินความเสี่ยงของการมีอคติที่ซ้ำซ้อน ผู้ที่รับผิดชอบบทความจะได้รับการติดต่อเพื่อขอข้อมูลที่ขาดหายไป ผู้วิจัยได้ประมาณค่าความแตกต่างของค่าเฉลี่ย (MD) สำหรับผลลัพธ์แบบต่อเนื่อง และอัตรส่วนความเสี่ยง (RR) สำหรับผลลัพธ์แบบสองตัวเลือก กับช่วงความเชื่อมั่น 95% (95% CI) เราสร้างตาราง 'สรุปผลการค้นหา' เพื่อนำเสนอผลการค้นหาหลักและประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐานโดยใช้ GRADE

ผลการวิจัย: 

เรารวบรวมการศึกษาแบบ RCTs 16 ฉบับ ที่ศึกษาอยู่ทั่วโลก เกี่ยวข้องกับจุดที่ถอนฟันทั้งหมด 524 จุด ผู้เข้าร่วมในการศึกษาเป็นผู้ใหญ่ 426 คน เราประเมินการศึกษาทดลอง 4 ฉบับที่ในภาพรวมมีความเสี่ยงของอคติสูง และยังมีการศึกษาที่เหลือที่มีความเสี่ยงของการมีอคติไม่ชัดเจน การศึกษาทดลองใหม่ 9 ฉบับ ถูกรวบรวมไว้ในการอัปเดตนี้ โดยแบ่งเป็นการศึกษาทดลอง 6 ฉบับในหมวดหมู่ของการเปรียบเทียบ ARP กับการถอนฟันเพียงอย่างเดียว และการศึกษาทดลอง 3 ฉบับในหมวดหมู่ของการเปรียบเทียบวัสดุปลูกกระดูกเทียมที่แตกต่างกัน

ARP เทียบกับการถอนฟัน: จากการทดลองทั้ง 7 ฉบับ ที่เปรียบเทียบซีโนกราฟต์กับการถอนฟันเพียงอย่างเดียว มีหลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมากของการลดการสูญเสียความกว้างของสันเหงือก (MD -1.18 mm, 95% CI -1.82 ถึง -0.54; P = 0.0003; การศึกษา 6 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 184 คน จุดถอนฟัน 201 แห่ง) และความสูง (MD -1.35 มม. 95% CI -2.00 ถึง -0.70; P < 0.0001; การศึกษา 6 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 184 คน, จุดถอนฟัน 201 แห่ง) ที่ใช้ซีโนกราฟต์ แต่เราพบว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอของความแตกต่างที่มีนัยสำคัญสำหรับความจำเป็นในการเสริมประสิทธิภาพ (RR 0.68, 95% CI 0.29 ถึง 1.62; P = 0.39; การศึกษา 4 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 154 คน, จุดถอนฟัน 156 แห่ง; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) หรืออัตราความล้มเหลวของการปลูกถ่าย (RR 1.00 , 95% CI 0.07 ถึง 14.90; การศึกษา 2 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 70 คน/ตำแหน่งที่ถอนฟัน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) จากการศึกษาทดลอง 1 ฉบับที่เปรียบเทียบการใช้อัลโลพลาสต์กับการถอนฟัน มีหลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมากของการลดการสูญเสียความสูงของสันเหงือก (MD -3.73 มม.; 95% CI -4.05 ถึง -3.41; การศึกษา 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 15 คน, ตำแหน่งการถอนฟัน 60 แห่ง) ที่แนะนำการใช้อัลโลพลาสต์ การศึกษาทดลองนี้ไม่ได้รายงานผลลัพธ์อื่น

วัสดุการปลูกถ่ายที่แตกต่างกันสำหรับ ARP: การศึกษาทดลอง 3 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 87 คน/ตำแหน่งที่ถอนฟัน) เปรียบเทียบอัลโลกราฟต์กับซีโนกราฟต์ การทดลอง 2 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 37 คน ตำแหน่งถอนฟัน 55 แห่ง) เปรียบเทียบอัลโลพลาสต์กับซีโนกราฟต์ การศึกษาทดลอง 1 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 20 คน/ตำแหน่งถอนฟัน) เปรียบเทียบการอัลโลพลาสต์ที่มีและไม่มีเนื้อเยื่อ การศึกษาทดลอง 1 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 18 คน ตำแหน่งการถอน 36 แห่ง) เปรียบเทียบอัลโลกราฟต์ที่มีและไม่มีเปปไทด์ที่จับกับเซลล์สังเคราะห์ P-15 และการศึกษาทดลอง 1 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 30 คน/ตำแหน่งถอนฟัน) เปรียบเทียบอัลโลพลาสต์ที่มีขนาดอนุภาคต่างกัน หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมากสำหรับการเปรียบเทียบส่วนใหญ่ และไม่เพียงพอที่จะระบุได้ว่ามีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางคลินิกระหว่างเทคนิค ARP ที่แตกต่างกันโดยพิจารณาจากการเปลี่ยนแปลงความกว้างและความสูงของสันเหงือก ความจำเป็นในการเสริมเติมก่อนการใส่รากฟันเทียม หรือความล้มเหลวของการใส่รากฟันเทียม

เราไม่พบการศึกษาทดลองใดที่ประเมินพารามิเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับระดับการเข้าร่วมทางคลินิค, ลักษณะความสวยงามเฉพาะ หรือ ผลลัพธ์ทางทันตกรรมประดิษฐ์สำหรับการเปรียบเทียบใดใดก็ตาม
ไม่มีรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรง โดยการศึกษาทดลองส่วนใหญ่ระบุว่าขั้นตอนนี้ไม่พบเหตุการณ์ใดๆ ภาวะแทรกซ้อนที่รายงาน แผลหายช้าพร้อมกับเห็นชั้นกระดูกแก้มด้านนอกบางส่วนหลังตัดไหม, อาการปวดและบวมหลังผ่าตัด, การใช้วัสดุเฉพาะเพื่อเพิ่มความสว่างเรียบเนียน, อาการแดงและบวม, การเผยเนื้อเยื่อบางส่วนและการสูญเสียวัสดุบางส่วน, และการเกิดเนื้อเยื่อที่ส่วนคอที่เคยรักษามาก่อน, สำหรับการเปรียบเทียบซีโนกราฟต์กับการถอนฟัน, อัลโลกราฟต์เทียบกับซีโนกราฟต์, อัลโลพลาสต์เทียบกับซีโนกราฟต์ และอัลโลพลาสต์ที่มีและไม่มีเนื้อเยื่อ

บันทึกการแปล: 

แแปลโดย นายฎลกร จำปาหวาย วันที่ 24 เมษายน 2024

Tools
Information