ใจความสำคัญ
- การเติมฟลูออไรด์ลงในแหล่งน้ำอาจช่วยลดอาการฟันผุในฟันน้ำนมของเด็กได้เล็กน้อย
- อาจส่งผลให้เด็ก ๆ ไม่มีฟันผุเพิ่มขึ้นเล็กน้อยด้วย
- ประโยชน์ของฟลูออไรด์ในแหล่งน้ำอาจน้อยลงเมื่อเทียบกับก่อนที่จะมีการเติมฟลูออไรด์ในยาสีฟันอย่างแพร่หลาย
ฟันผุและการใช้ฟลูออไรด์
ฟันผุเป็นปัญหาทั่วโลกที่ส่งผลกระทบต่อทั้งผู้ใหญ่และเด็กส่วนใหญ่ ฟันผุที่ไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดอาการปวดและต้องถอนฟัน
ฟลูออไรด์เป็นแร่ธาตุที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในน้ำในความเข้มข้นที่แตกต่างกัน ช่วยป้องกันฟันผุ ตั้งแต่ปี 1975 ฟลูออไรด์ได้เป็นส่วนผสมของยาสีฟันส่วนใหญ่ มีอยู่ในน้ำยาบ้วนปากบางชนิด และทันตแพทย์ก็ใช้การรักษาที่ประกอบด้วยฟลูออไรด์ สามารถเติมฟลูออไรด์ลงในแหล่งน้ำประปาในท้องถิ่นได้ ในกรณีนี้ ทุกคนในชุมชนจะสามารถเข้าถึงฟลูออไรด์ได้
หากเด็กเล็กกลืนฟลูออไรด์มากเกินไปในขณะที่ฟันแท้กำลังก่อตัว อาจทำให้เกิดรอยต่าง ๆ ขึ้นบนฟันได้ ซึ่งเรียกว่าภาวะฟลูออโรซิสของฟัน ภาวะนี้อาจเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย โดยอาจมีเส้นหรือริ้วสีขาวที่แทบมองไม่เห็น ในบางกรณี ฟลูออโรซิสอาจมองเห็นได้ชัดเจน และผู้คนอาจไม่ชอบลักษณะของฟันของตนเอง
เราต้องการค้นหาอะไร
เราต้องการทราบว่าน้ำที่เติมฟลูออไรด์ในแหล่งน้ำประปาท้องถิ่นจะดีกว่าน้ำที่ไม่มีการเติมฟลูออไรด์หรือไม่:
- ลดจำนวนฟันหรือผิวฟันที่มีสัญญาณฟันผุ
- เพิ่มจำนวนผู้ที่ไม่มีฟันผุ
นอกจากนี้เรายังอยากทราบเกี่ยวกับผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ด้วย
เราทำอะไรไปแล้ว
เราค้นหาการศึกษาที่เปรียบเทียบชุมชนที่มีการเติมฟลูออไรด์ลงในแหล่งน้ำกับชุมชนที่ไม่มีฟลูออไรด์เพิ่มเติมในน้ำ
ครั้งสุดท้ายที่เราเผยแพร่การทบทวนวรรณกรรม Cochrane นี้ เรายังได้ค้นหาการศึกษาที่รายงานเกี่ยวกับภาวะฟลูออโรซิสของฟันและความเข้มข้นของฟลูออไรด์ในน้ำด้วย เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างน้ำที่มีฟลูออไรด์กับภาวะฟลูออโรซิสของฟันเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง เราจึงไม่ได้อัปเดตหลักฐานในครั้งนี้
เราค้นพบอะไร
เราพบการศึกษา 21 ฉบับที่ประเมินผลจากการเติมฟลูออไรด์ลงในแหล่งน้ำ นอกจากนี้ เรายังพบการศึกษา 1 ฉบับที่ประเมินผลของการหยุดการเติมฟลูออไรด์เทียมในแหล่งน้ำด้วย การศึกษาจะวัดเฉพาะฟันผุในเด็กเท่านั้น
ในการทบทวนวรรณกรรมครั้งล่าสุดซึ่งไม่ได้รับการอัปเดตในครั้งนี้ เราพบการศึกษา 135 ฉบับ ที่ประเมินความสัมพันธ์ระหว่างน้ำที่มีฟลูออไรด์กับภาวะฟลูออโรซิสของฟัน
ผลลัพธ์หลัก
การศึกษาที่ดำเนินการภายหลังปี 1975 แสดงให้เห็นว่าการเติมฟลูออไรด์ลงในน้ำอาจช่วยลดอาการฟันผุในฟันน้ำนมของเด็กได้เล็กน้อย เราไม่แน่ใจว่าการเติมฟลูออไรด์ลงในน้ำจะช่วยลดฟันผุในฟันแท้ของเด็กหรือการผุที่ผิวฟันแท้หรือไม่
การเติมฟลูออไรด์ลงในน้ำอาจช่วยเพิ่มจำนวนเด็กที่ไม่มีฟันผุไม่ว่าจะเป็นฟันน้ำนมหรือฟันแท้ได้เล็กน้อย อย่างไรก็ตามผลลัพธ์เหล่านี้ยังรวมถึงความเป็นไปได้ที่ฟันผุจะมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยด้วย
การศึกษาที่ดำเนินการในปี 1975 หรือก่อนหน้านั้นแสดงให้เห็นผลกระทบที่ชัดเจนและสำคัญต่อการป้องกันฟันผุในเด็ก อย่างไรก็ตาม เนื่องจากฟลูออไรด์ในยาสีฟันมีมากขึ้นตั้งแต่ปี 1975 จึงไม่น่าเป็นไปได้ที่เราจะเห็นผลกระทบนี้ในประชากรทั้งหมดในปัจจุบัน
เราไม่แน่ใจว่าการกำจัดฟลูออไรด์ออกจากแหล่งน้ำจะมีผลต่อฟันผุหรือไม่
เราไม่แน่ใจว่าฟลูออไรด์จะช่วยลดความแตกต่างในการเกิดฟันผุระหว่างคนรวยและคนจนหรือไม่
ในการทบทวนวรรณกรรมฉบับล่าสุดนี้ เราพบว่าการเติมฟลูออไรด์ลงในแหล่งน้ำจะทำให้จำนวนผู้ป่วยโรคฟลูออโรซิสของฟันเพิ่มขึ้น หากน้ำมีฟลูออไรด์ 0.7 มิลลิกรัมต่อลิตร คนประมาณ 12% อาจมีภาวะฟลูออโรซิสของฟัน ซึ่งทำให้กังวลเกี่ยวกับลักษณะของฟันของตนเอง และคนประมาณ 40% อาจมีภาวะฟลูออโรซิสของฟันในระดับใดก็ได้ เราไม่แน่ใจว่าฟลูออไรด์ในน้ำทำให้เกิดผลเสียอื่น ๆ ที่ไม่พึงประสงค์หรือไม่
ข้อจำกัดของหลักฐานคืออะไร
ความเชื่อมั่นของเรามีจำกัดเนื่องจากการตรวจสอบนี้รวมถึงการศึกษาที่ชุมชนได้รับการคัดเลือกโดยเจตนาให้มีการเปลี่ยนแปลงระดับฟลูออไรด์ในแหล่งน้ำ แม้ว่านี่จะเป็นวิธีการศึกษาทั่วไปสำหรับเรื่องนี้ แต่ก็อาจหมายถึงมีข้อแตกต่างระหว่างชุมชนที่อาจส่งผลต่อผลลัพธ์ได้ นอกจากนี้ ผลจากบางการศึกษาก็แตกต่างจากการศึกษาอื่น ๆ โดยผลจากบางการศึกษาอาจมีโอกาสทั้งมีและไม่มีประโยชน์
มีการศึกษาในอดีตก่อนที่จะมีการใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์อย่างแพร่หลายและมีการปรับปรุงวิธีอื่นๆ ในการป้องกันฟันผุ ซึ่งหมายความว่าเราไม่สามารถบอกได้ว่าผลลัพธ์เหล่านี้สามารถนำไปใช้กับเวลาปัจจุบันได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้อาจยังเกี่ยวข้องกับประเทศที่มีฟันผุสูงมากและประชาชนไม่สามารถเข้าถึงยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์และกลยุทธ์การป้องกันอื่นๆ ได้ง่าย
หลักฐานนี้มีความทันสมัยเพียงใด
สำหรับผลของฟลูออไรด์ในน้ำต่อฟันผุ การทบทวนวรรณกรรมนี้เป็นการอัปเดตการทบทวนวรรณกรรมก่อนหน้าของเรา และหลักฐานก็ทันสมัยถึงเดือนสิงหาคม 2023
สำหรับการเชื่อมโยงระหว่างน้ำที่มีฟลูออไรด์กับภาวะฟลูออโรซิสของฟัน หลักฐานการทบทวนวรรณกรรมมีความทันสมัยจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2015
การศึกษาในปัจจุบันบ่งชี้ว่าการเริ่ม CWF อาจนำไปสู่การลดลงของ dmft มากขึ้นเล็กน้อยและอาจนำไปสู่การเพิ่มขึ้นเล็กน้อยของสัดส่วนเด็กที่ไม่มีฟันผุ แต่มีขนาดของผลที่เล็กกว่าการศึกษาก่อนปี 1975 ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะบอกผลของการหยุด CWF ต่อฟันผุ และการใส่ฟลูออไรด์ในน้ำว่าส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของความแตกต่างของฟันผุแตกต่างกันตามสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมหรือไม่ เราไม่พบการศึกษาที่เข้าเกณฑ์ที่รายงานผลลัพธ์ฟันผุในผู้ใหญ่
การดำเนินการให้มีหรือการหยุดใช้ CWF จำเป็นต้องพิจารณาหลักฐานปัจจุบันอย่างรอบคอบในบริบทที่กว้างขึ้นของสุขภาพช่องปากของประชากร อาหารและการบริโภคน้ำประปา การเคลื่อนย้ายหรือการโยกย้าย และความพร้อมและการยอมรับกลยุทธ์การป้องกันฟันผุอื่น ๆ ไปใช้ ควรคำนึงถึงความยอมรับ ความคุ้มทุน และความเป็นไปได้ในการดำเนินการและการติดตามโครงการ CWF ด้วย
โรคฟันผุเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญในประเทศอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ โดยมีเด็กนักเรียนได้รับผลกระทบ 60% ถึง 90% ปัจจุบัน การเติมฟลูออไรด์ลงในน้ำของชุมชน (Community water fluoridation; CWF) ได้มีการดำเนินการใน 25 ประเทศ โดยหน่วยงานด้านสาธารณสุขถือว่าการเติมฟลูออไรด์เป็นกลยุทธ์สำคัญในการป้องกันฟันผุ การเติมฟลูออไรด์ลงในน้ำของชุมชน (CWF) เป็นที่สนใจของผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ ผู้กำหนดนโยบาย และประชาชนทั่วไป นี่คือการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรม Cochrane ที่เผยแพร่ครั้งแรกในปี 2015 ซึ่งมุ่งเน้นไปที่หลักฐานร่วมสมัยเกี่ยวกับผลกระทบของ CWF ต่อฟันผุ
เพื่อประเมินผลของการเริ่มดำเนินการหรือการหยุดโปรแกรม CWF ในการป้องกันฟันผุ
เพื่อประเมินความสัมพันธ์ระหว่างฟลูออไรด์ในน้ำ (ที่ทำขึ้นหรือธรรมชาติ) กับภาวะฟลูออโรซิสของฟัน
เราค้นหา CENTRAL, MEDLINE, Embase และ 4 ฐานข้อมูลอื่นจนถึงวันที่ 16 สิงหาคม 2023 นอกจากนี้ เรายังค้นหา 2 ทะเบียนการทดลองทางคลินิกและค้นหาการอ้างอิงแบบย้อนหลังด้วย
เราศึกษาครอบคลุมประชากรทุกวัย
สำหรับวัตถุประสงค์แรกของเรา (ผลของการเริ่มหรือการหยุดโปรแกรม CWF ต่อฟันผุ) เราได้รวมการศึกษาแบบควบคุมแบบ prospective ที่เปรียบเทียบประชากรที่ได้รับน้ำที่มีฟลูออไรด์กับประชากรที่ได้รับน้ำที่ไม่มีฟลูออไรด์หรือน้ำที่มีฟลูออไรด์ต่ำตามธรรมชาติ เพื่อประเมินการเปลี่ยนแปลงสถานะฟันผุ การศึกษาได้วัดฟันผุทั้งภายใน 3 ปีหลังจากการเปลี่ยนแปลงสถานะฟลูออไรด์และในช่วงการติดตามผลในตอนสิ้นสุดการศึกษา
สำหรับวัตถุประสงค์ที่ 2 ของเรา (การเชื่อมโยงระหว่างฟลูออไรด์ในน้ำกับโรคฟลูออโรซิสของฟัน) เราได้รวมการออกแบบการศึกษาชนิดใด ๆโดยมีการควบคุมพร้อมกันโดยเปรียบเทียบประชากรที่สัมผัสกับความเข้มข้นของฟลูออไรด์ในน้ำที่แตกต่างกัน ในการอัปเดตครั้งนี้ เราไม่ได้ค้นหาหรือรวมหลักฐานใหม่เพื่อวัตถุประสงค์นี้
เราใช้ระเบียบวิธีการมาตรฐานที่ Cochrane คาดหวังไว้
สำหรับวัตถุประสงค์แรกของเรา เราได้รวมผลลัพธ์เป็นการเปลี่ยนแปลงจากของเดิมต่อไปนี้ไว้: ฟันผุ หาย หรืออุด ('dmft' สำหรับฟันน้ำนมและ 'DMFT' สำหรับฟันแท้); ฟันผุ หาย หรืออุดผิวฟัน ('dmfs' สำหรับฟันน้ำนมและ 'DMFS' สำหรับฟันแท้); สัดส่วนของผู้เข้าร่วมที่ไม่มีฟันผุทั้งสำหรับฟันน้ำนมและฟันแท้; เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ เราแบ่งกลุ่มผลลัพธ์ของ meta-analyses ตามข้อมูลที่รวบรวมก่อนหรือหลังการใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์อย่างแพร่หลายในปี 1975
สำหรับวัตถุประสงค์ที่สองของเรา เราได้รวมภาวะฟลูออโรซิสของฟัน (ที่ก่อให้เกิดปัญหาด้านความสวยงาม หรือภาวะฟลูออโรซิสในระดับใด ๆ ก็ตาม) และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์อื่น ๆ ที่รายงานไว้ในการศึกษาที่รวบรวมมา
เรารวบรวมการศึกษา 157 ฉบับ ทั้งหมดใช้การออกแบบที่ไม่สุ่ม เมื่อพิจารณาถึงความเสี่ยงของการมีอคติซึ่งมีอยู่เป็นปกติวิสัยในการออกแบบเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการจัดการปัจจัยที่ทำให้เกิดความสับสนและการปกปิดผู้ประเมินผลลัพธ์ เราจึงลดระดับความเชื่อมั่นของหลักฐานทั้งหมดเนื่องจากความเสี่ยงเหล่านี้ เราลดระดับหลักฐานบางส่วนลงเนื่องจากความไม่แม่นยำ ความไม่สอดคล้องกัน หรือทั้งสองอย่าง หลักฐานจากการศึกษาในอดีตอาจไม่สามารถนำไปใช้กับสังคมร่วมสมัยได้ และเราได้ลดระดับหลักฐานเก่าลงเนื่องจากถือเป็นหลักฐานทางอ้อม
การเริ่มต้นเติมฟลูออไรด์ในน้ำ (การศึกษา 21 ฉบับ)
จากหลักฐานร่วมสมัย (หลังปี1975) การเริ่ม CWF อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของ dmft ที่มากขึ้นเล็กน้อยเมื่อเวลาผ่านไป (ความแตกต่างเฉลี่ย (MD) 0.24, ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) -0.03 ถึง 0.52; P = 0.09; การศึกษา 2 ฉบับ, เด็ก 2908 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) ซึ่งเท่ากับความแตกต่างของ dmft ประมาณ 1 ใน 4 ของฟันที่สนับสนุน CWF การประมาณผลนี้รวมถึงความเป็นไปได้ของการมีผลประโยชน์และไม่มีผลประโยชน์ หลักฐานร่วมสมัย (หลังปี 1975) ยังมีเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงใน DMFT (การศึกษา 4 ฉบับ เด็ก 2856 คน) และการเปลี่ยนแปลงใน DMFS (การศึกษา 1 ฉบับ เด็ก 343 คน) เราไม่เชื่อมั่นอย่างมากเกี่ยวกับผลเหล่านี้
CWF อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่มากขึ้นเล็กน้อยเมื่อเวลาผ่านไปในสัดส่วนของเด็กที่ไม่มีฟันผุในระยะปรากฏของชุดฟันน้ำนม (MD -0.04, 95% CI -0.09 ถึง 0.01; P = 0.12; การศึกษา 2 ฉบับ, เด็ก 2908 คน) และฟันแท้ (MD -0.03, 95% CI -0.07 ถึง 0.01; P = 0.14; การศึกษา 2 ฉบับ, เด็ก 2348 คน) ผลลัพธ์ที่มีความเชื่อมั่นต่ำเหล่านี้ (ความแตกต่าง 4 จุดเปอร์เซ็นต์และความแตกต่าง 3 จุดเปอร์เซ็นต์สำหรับฟันน้ำนมและฟันแท้ตามลำดับ) สนับสนุน CWF การประมาณผลเหล่านี้รวมถึงความเป็นไปได้ของการมีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ ไม่มีข้อมูลร่วมสมัยเกี่ยวกับผลที่ไม่พึงประสงค์
เนื่องจากหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมาก เราจึงไม่แน่ใจเกี่ยวกับขนาดของผลของ CWF เมื่อใช้หลักฐานที่เก่ากว่า (จากปี 1975 หรือก่อนหน้านั้น) ต่อผลลัพธ์ทั้งหมด: การเปลี่ยนแปลงใน dmft (การศึกษา 5 ฉบับ, เด็ก 5709 คน) การเปลี่ยนแปลงใน DMFT (การศึกษา 3 ฉบับ, เด็ก 5623 คน) การเปลี่ยนแปลงในสัดส่วนของเด็กที่ไม่มีฟันผุของฟันน้ำนม (การศึกษา 5 ฉบับ, เด็ก 6278 คน) หรือฟันแท้ (การศึกษา 4 ฉบับ, เด็ก 6219 คน) หรือผลข้างเคียง (การศึกษา 2 ฉบับ, เด็ก 7800 คน)
มีการศึกษาเพียง 1 ฉบับซึ่งดำเนินการหลังปี 1975 ซึ่งรายงานความแตกต่างกันตามสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม โดยไม่มีหลักฐานว่าการขาดมีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างการได้น้ำกับสถานะฟันผุ
การหยุดการเติมฟลูออไรด์ลงในน้ำ (การศึกษา 1 ฉบับ)
เนื่องจากมีหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมาก เราจึงไม่สามารถบอกได้ว่าการหยุด CWF ส่งผลต่อ DMFS หรือไม่ (การศึกษา 1 ฉบับ ดำเนินการหลังจากปี 1975 มีเด็ก 2994 คน) ไม่มีข้อมูลสำหรับผลลัพธ์การตรวจสอบอื่น ๆ สำหรับการเปรียบเทียบนี้
ความสัมพันธ์ระหว่างฟลูออไรด์ในน้ำกับภาวะฟลูออโรซิสของฟัน (การศึกษา 135 ฉบับ)
การทบทวนวรรณกรรมรุ่นก่อนหน้านี้พบหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำว่าน้ำที่มีฟลูออไรด์อาจเกี่ยวข้องกับภาวะฟลูออโรซิสของฟัน ระดับฟลูออไรด์ที่ 0.7 ส่วนต่อล้านส่วน (parts per million; ppm) ผู้เข้าร่วมประมาณ 12% มีภาวะฟลูออโรซิสที่ส่งผลต่อความสวยงาม (95% CI 8% ถึง 17%; การศึกษา 40 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 59,630 ราย) และประมาณ 40% มีภาวะฟลูออโรซิสที่ระดับใดก็ได้ (95% CI 35% ถึง 44%; การศึกษา 90 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 180,530 ราย) เนื่องจากหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมาก เราจึงไม่แน่ใจเกี่ยวกับผลข้างเคียงอื่น ๆ (รวมถึงภาวะฟลูออโรซิสของกระดูก กระดูกหัก และโครงกระดูกไม่สมบูรณ์; การศึกษา 5 ฉบับ จำนวนผู้เข้าร่วมไม่ครบถ้วน)
แปลโดย ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 19 ตุลาคม 2024 Edit โดย ศ พ.ญ. ผกากรอง ลุมพิกานนท์ 23 มกราคม 2025