เมื่อเราใช้คำว่า 'ผู้คน' ในบทสรุปนี้ เราหมายถึงบุคคลที่มีความสามารถในการตั้งครรภ์ในปัจจุบัน
ข้อความสำคัญ
- การใส่ห่วงคุมกำเนิดหรือห่วงอนามัยภายในช่วงวันที่คลอดบุตร (การใส่ทันทีขณะอยู่โรงพยาบาล) แทนที่จะรอใส่ที่ 4 ถึง 6 สัปดาห์หลังคลอด (การใส่ที่ล่าช้า) ทำให้จำนวนผู้ที่ได้รับการใส่เพิ่มขึ้น
- ระยะเวลาของการใส่มีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างกับจำนวนผู้ที่ใช้วิธีการคุมกำเนิดเหล่านี้ในช่วง 6 หรือ 12 เดือนหลังคลอดบุตร
- ดูเหมือนว่าการหลุดของ IUDs ออกจะเกิดขึ้นบ่อยกว่าในผู้ที่ใส่ห่วงอนามัยทันที
- จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับอัตราการตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจทั้งการใส่ยาฝังและใส่ห่วงอนามัทันทีและการใส่ล่าช้า
ยาฝังคุมกำเนิดหรืออุปกรณ์ใส่มดลูกคืออะไร
อุปกรณ์ฝังคุมกำเนิดและอุปกรณ์ใส่ในมดลูก (IUDs) เป็นวิธีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูง เป็นแบบชั่วคราวและปลอดภัยสำหรับการใช้งานหลังจากคลอดบุตรไม่นาน แพทย์หรือพยาบาลจะใส่ยาฝังคุมกำเนิดที่ต้นแขนและใส่ห่วงอนามัยเข้าไปในมดลูก (มดลูก) ผู้ที่ใช้วิธีการคุมกำเนิดเหล่านี้จะใช้การฝังยาหรือห่วงอนามัย
ระยะห่างระหว่างการตั้งครรภ์ที่เหมาะสมนั้นดีต่อสุขภาพของทั้งคนท้องและทารกแรกเกิด โดยปกติแล้ว การคุมกำเนิดจะให้ในการนัดตรวจสุขภาพแบบครอบคลุมครั้งแรกหลังคลอดบุตร (โดยปกติประมาณหกสัปดาห์หลังคลอดบุตร) อย่างไรก็ตาม บางคนมีเพศสัมพันธ์ก่อนการนัดตรวจหรือไม่มาตามนัด ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์โดยไม่ได้วางแผน การใส่ยาคุมกำเนิดหรือห่วงอนามัยภายในช่วงวันที่คลอดก่อนออกจากโรงพยาบาลจะสะดวกสำหรับผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ บุคคลที่มีการฝังหรือใส่ IUD เป็นที่ทราบกันดีว่าจะไม่ตั้งครรภ์ และการปฏิบัตินี้อาจเพิ่มจำนวนผู้ที่สามารถใช้วิธีการคุมกำเนิดเหล่านี้ได้
เราต้องการทราบอะไร
เราต้องการทราบว่าการใส่ยาฝังคุมกำเนิดหรือห่วงอนามัยภายในช่วงวันที่คลอดบุตรนั้นดีกว่าการรอ 6 ถึง 8 สัปดาห์หลังคลอด สำหรับ:
- จำนวนผู้ที่ยินยอมให้ใส่ (อัตราการใส่)
- จำนวนผู้ที่ยังคงใช้วิธีคุมกำเนิดเหล่านี้ (อัตราการใช้)
- การป้องกันการตั้งครรภ์ และ
- การใส่ยาคุมกำเนิดหรือห่วงอนามัยภายในช่วงวันที่คลอดบุตรมีความสัมพันธ์กับผลที่ไม่พึงประสงค์หรือไม่
เราทำอะไร
เราค้นหาการศึกษาที่ตรวจสอบการใส่ยาคุมกำเนิดหรือห่วงอนามัยในผู้คนภายในช่วงวันที่คลอดบุตร ('การใส่ทันที') เทียบกับการใส่ 6 ถึง 8 สัปดาห์หลังคลอด (การใส่ 'ล่าช้า')
เราเปรียบเทียบและสรุปผลการศึกษาและให้คะแนนความเชื่อมั่นในหลักฐาน โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น วิธีการศึกษาและขนาด
เราพบอะไร
เราพบการศึกษา 16 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับผู้คนทั้งหมด 2609 คน (715 คนในการศึกษาเกี่ยวกับการฝังยาคุมกำเนิด และ 1894 คนในการศึกษาเกี่ยวกับห่วงอนามัย) การศึกษาทั้งหมดดำเนินการในโรงพยาบาล ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา แต่ที่อื่น ๆ เกิดขึ้นในยูกันดา อียิปต์ บราซิล และศรีลังกา การศึกษานี้รวมผู้ที่เพิ่งคลอดบุตร ซึ่งส่วนใหญ่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป แม้ว่าการศึกษา 1 ฉบับจะรวมผู้ที่มีอายุน้อยกว่า การศึกษาได้ตรวจสอบชนิดของยาฝังคุมกำเนิดและห่วงอนามัย
ผลลัพธ์หลัก
ยาฝังคุมกำเนิด
ผู้คนมีโอกาส มากขึ้น 48% ที่จะฝังยาคุมกำเนิดเมื่อสามารถใส่ได้ภายในไม่กี่วันหลังคลอดเมื่อเทียบกับการใส่ที่ล่าช้า
- ระยะเวลาของการใส่มีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างเลยต่อจำนวนผู้ที่ใช้วิธีการคุมกำเนิดเหล่านี้ในช่วง 6 หรือ 12 เดือนหลังคลอดบุตร
เลือดออกทางช่องคลอดดูเหมือนจะอยู่นานกว่าในผู้ที่ใส่วัสดุภายในไม่กี่วันหลังคลอดเมื่อเทียบกับการใส่ที่ล่าช้า (มีเลือดออกมากกว่า 3 วัน) แต่ไม่มีความแตกต่างระหว่างกลุ่มสำหรับการมีเลือดออกหลังจากคลอดบุตร 6 เดือน
เราไม่แน่ใจว่ามีอัตราการตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจระหว่างกลุ่มที่ 6 และ 12 เดือนหลังคลอดแตกต่างกันหรือไม่
ห่วงอนามัย
ผู้คนมีแนวโน้มที่จะใส่ห่วงอนามัยมากกว่า 27% เมื่อสามารถใส่ได้ภายในไม่กี่วันหลังคลอดเมื่อเทียบกับการใส่ที่ล่าช้า
- ระยะเวลาของการใส่มีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างสำหรับจำนวนผู้ที่ใช้วิธีการคุมกำเนิดเหล่านี้ในช่วง 6 หรือ 12 เดือนหลังคลอดบุตร
6 เดือนหลังการคลอดบุตร การหลุดของห่วงอนามัยออกจากมดลูดูเหมือนจะเกิดขึ้นบ่อยกว่าในผู้ที่ใส่ห่วงอนามัยภายในไม่กี่วันหลังจากคลอดบุตร
เราไม่แน่ใจว่ามีอัตราการตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจระหว่างกลุ่มที่ 6 และ 12 เดือนหลังคลอดแตกต่างกันหรือไม่
ข้อจำกัดของหลักฐานคืออะไร
ความเชื่อมั่นในหลักฐานสำหรับผลลัพธ์ที่แตกต่างกันมีตั้งแต่ปานกลางถึงไม่แน่นอน ทั้งนี้เนื่องจากผู้คนในการศึกษาทราบว่าได้รับการใส่ยาฝังหรือใส่ห่วงอนามัย ซึ่งอาจส่งผลต่อการรายงานผลลัพธ์บางอย่าง และเนื่องจากอัตราการออกกลางคันจากการศึกษา นอกจากนี้ การศึกษาบางฉบับไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับทุกสิ่งที่เราสนใจ ซึ่งหมายความว่าผลลัพธ์บางชิ้นอิงจากคนจำนวนที่น้อยลง
หลักฐานนี้ทันสมัยแค่ไหน
หลักฐานเป็นปัจจุบันถึงเดือนธันวาคม 2020
หลักฐานจากการทบทวนฉบับปรับปรุงนี้บ่งชี้ว่าการใส่หลังคลอดทันทีช่วยเพิ่มอัตราการเริ่มต้นของทั้งยาฝังคุมกำเนิดและห่วงอนามัยที่การนัดตรวจหลังคลอดครั้งแรกเมื่อเทียบกับการใส่ล่าช้า อย่างไรก็ตาม ไม่เป็นที่แน่ชัดว่ามีความแตกต่างกันในอัตราการใช้ที่หลังคลอด 6 และ 12 เดือนหรือไม่ เราไม่แน่ใจว่ามีความแตกต่างในอัตราการตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจที่ 12 เดือนหรือไม่ การให้ยาฝังที่ปล่อยโปรเจสตินและห่วงอนามัยทันทีหลังคลอดอาจมีผลเสียเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อย่างไรก็ตาม อัตราการขับออกของห่วงอนามัยและเลือดออกทางช่องคลอดเป็นเวลานานที่เกี่ยวข้องกับการฝังยาคุมทันทีดูเหมือนจะสูงกว่า
การคุมกำเนิดแบบแบบชั่วคราวที่ออกฤทธิ์นาน (LARC) ได้แก่อุปกรณ์ที่ใส่ในมดลูก (IUDs) และยาฝังคุมกำเนิดเป็นวิธีการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวที่มีประสิทธิภาพสูง การให้วิธีการ LARC ในช่วงหลังคลอดเป็นสิ่งสำคัญในการสนับสนุนทางเลือกในการคุมกำเนิด และเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจและช่วงระหว่างการตั้งครรภ์ที่สั้น การชะลอการแนะนำการคุมกำเนิดให้กับคนหลังคลอดจนกว่าจะมีการนัดตรวจหลังคลอดครั้งแรกตามปกติที่ประมาณ 6 สัปดาห์หลังคลอด อาจทำให้คนหลังคลอดบางคนมีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจ ทั้งจากการขาดการมาติดตามหรือเนื่องจากการมีเพศสัมพันธ์ก่อนที่จะได้รับการคุมกำเนิด ดังนั้น การจัดเตรียมการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูงในทันทีก่อนที่จะออกจากโรงพยาบาล จึงมีศักยภาพในการปรับปรุงการใช้การคุมกำเนิด และป้องกันการตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจและช่วงการตั้งครรภ์ที่สั้นลง
เพื่อเปรียบเทียบอัตราการเริ่มต้น อัตราการใช้ (ที่ 6 เดือนและ 12 เดือนหลังคลอด) ประสิทธิผลและผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ของการฝังยาคุมและใส่ห่วงอนามัยหลังคลอดทันทีเทียบกับล่าช้า
เราสืบค้นการศึกษาที่ตรงตามเกณฑ์ใน Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL), MEDLINE, Embase และ POPLINE จนถึงเดือนธันวาคม 2020 เราตรวจสอบบทความและติดต่อผู้ศึกษา เราตรวจสอบการลงทะเบียนของการทดลองทางคลินิกที่กำลังดำเนินอยู่ รายการอ้างอิงของการศึกษาที่รวบรวม ตำราสำคัญ บทความที่ไม่ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ และการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบก่อนหน้านี้สำหรับการศึกษาที่เกี่ยวข้อง
เราค้นหาการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) ที่เปรียบเทียบการฝังยาคุมกำเนิดและห่วงอนามัยสำหรับการคุมกำเนิดหลังคลอดแบบทันทีกับล่าช้า
ผู้ทบทวนวรรณกรรมสองคน (JS, SK) คัดกรองชื่อเรื่องและบทคัดย่อของผลการค้นหาอย่างเป็นอิสระต่อกัน และประเมินบทความฉบับเต็มของการศึกษาที่อาจเกี่ยวข้องเพื่อรวมเข้าไว้ด้วยกัน พวกเขาดึงข้อมูลจากการศึกษาที่รวบรวม ประเมินความเสี่ยงของอคติ เปรียบเทียบผลลัพธ์ และแก้ไขข้อขัดแย้งโดยปรึกษาผู้ประพันธ์การทบทวนคนที่สาม (PL, SA หรือ PP) เราติดต่อผู้ศึกษาเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม หากเป็นไปได้ เราคำนวณ Mantel-Haenszel หรืออัตราส่วนความเสี่ยงความแปรปรวนผกผัน (RR) ด้วยช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) สำหรับผลลัพธ์ไบนารีและความแตกต่างของค่าเฉลี่ย (MD) และ 95% CI สำหรับตัวแปรต่อเนื่อง
ในการทบทวนฉบับปรับปรุงนี้ มีการศึกษา 16 ฉบับที่เข้าเกณฑ์การคัดเลือก; 5 ฉบับ เป็นการศึกษาเกี่ยวกับยาฝังคุมกำเนิด (ผู้เข้าร่วม 715 คน) และ 11 ฉบับ เป็นการศึกษาเกี่ยวกับห่วงอนามัย (ผู้เข้าร่วม 1894 คน) เราพบการศึกษาที่กำลังดำเนินอยู่ 12 ฉบับ เราใช้การตัดสินของ GRADE กับผลลัพธ์ของเรา ความเชื่อมั่นโดยรวมของหลักฐานสำหรับแต่ละผลลัพธ์มีตั้งแต่ปานกลางถึงต่ำมาก โดยมีข้อจำกัดหลักคือความเสี่ยงของอคติ ความไม่สอดคล้องกัน และความไม่แม่นยำ
ยาฝังคุมกำเนิด
การใส่ทันทีอาจช่วยเพิ่มอัตราการเริ่มต้นสำหรับการฝังคุมกำเนิดเมื่อเทียบกับการใส่ที่ล่าช้า (RR 1.48, 95% CI 1.11 ถึง 1.98; การศึกษา 5 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 715 คน; I 2 = 95%; หลักฐานมีความเชื่อมั่นปานกลาง)
เราไม่แน่ใจว่ามีความแตกต่างระหว่างสองกลุ่มสำหรับอัตราการใช้การคุมกำเนิดที่หกเดือนหลังคลอดหรือไม่ (RR 1.16, 95% CI 0.90 ถึง 1.50; การศึกษา 3 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 330 คน; I 2 = 89%; หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมาก) หรือที่ 12 เดือนหลังการใส่ (RR 0.98, 95% CI 0.93 ถึง 1.04; การศึกษา 2 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 164 คน; I2 = 0%; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก)
ผู้ที่ได้รับการฝังยาคุมกำเนิดหลังคลอดทันทีอาจมีจำนวนวันที่มีเลือดออกทางช่องคลอดเป็นเวลานานกว่าค่าเฉลี่ยภายในหกสัปดาห์หลังคลอด (ความแตกต่างของค่าเฉลี่ย (MD) 2.98 วัน, 95% CI -2.71 ถึง 8.66; การศึกษา 2 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 420 คน; I2 = 91%; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) และอัตราผลข้างเคียงอื่นที่สูงขึ้นใน 6 สัปดาห์แรกหลังคลอด (RR 2.06, 95% CI 1.38 ถึง 3.06; การศึกษา 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 215 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) มากกว่าผู้ที่ ได้รับการใส่หลังคลอดล่าช้า เราไม่แน่ใจว่ามีความแตกต่างระหว่างสองกลุ่มสำหรับการมีเลือดออกเป็นเวลานานที่ 6 เดือนหลังคลอดหรือไม่ (RR 1.19, 95% CI 0.29 ถึง 4.94; การศึกษา 2 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 252 คน; I 2 = 0%; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก)
อาจมีความแตกต่างเล็กน้อยหรือไม่มีเลยระหว่างสองกลุ่มสำหรับอัตราการตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจที่ 6 เดือน (RR 0.20, 95% CI 0.01 ถึง 4.08; การศึกษา 1 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 205 คน หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) เราไม่แน่ใจว่ามีความแตกต่างในอัตราการตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจที่ 12 เดือนหลังคลอดหรือไม่ (RR 1.82, 95% CI 0.38 ถึง 8.71; การศึกษา 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 64 คน; หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมาก) อาจมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยระหว่างสองกลุ่มสำหรับอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ 6 เดือน (RR 0.97, 95% CI 0.92 ถึง 1.01; การศึกษา 2 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 225 คน; I2 = 48%; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ)
ห่วงอนามัย
การใส่ห่วงอนามัยทันทีอาจช่วยเพิ่มอัตราการเริ่มต้นเมื่อเทียบกับการใส่ห่วงอนามัยที่ล่าช้า โดยไม่คำนึงถึงประเภทของห่วงอนามัย (RR 1.27, 95% CI 1.07 ถึง 1.51; การศึกษา 10 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 1894 คน; I2 = 98%; หลักฐานมีความเชื่อมั่นปานกลาง) อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้รับการใส่ห่วงอนามัยหลังคลอดทันทีอาจมีอัตราการขับออกที่สูงขึ้นเมื่อ 6 เดือนหลังคลอด (RR 4.55, 95% CI 2.52 ถึง 8.19; การศึกษา 8 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 1206 คน; I2 = 31%; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) เมื่อเทียบกับผู้ที่ได้รับการใส่หลังคลอดล่าช้า
เราไม่แน่ใจว่ามีความแตกต่างระหว่าง 2 กลุ่มในการใช้ห่วงอนามัยที่ 6 เดือนหลังจากการใส่หรือไม่ (RR 1.02, 95% CI 0.65 ถึง 1.62; การศึกษา 6 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 971 คน; I 2 = 96%; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก ) หรือที่ 12 เดือนหลังการใส่ (RR 0.86, 95% CI 0.5 ถึง 1.47; การศึกษา 3 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 796 คน; I2 = 92%; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก)
การใส่ห่วงอนามัยทันทีอาจลดการตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจที่ 12 เดือน (RR 0.26, 95% CI 0.17 ถึง 0.41; การศึกษา 1 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 1000 คน หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) เราไม่แน่ใจว่ามีความแตกต่างของอัตราการให้นมแม่ที่ 6 เดือนในผู้ที่ได้รับห่วงอนามัยที่ปล่อยโปรเจสตินหรือไม่ (RR 0.90, 95% CI 0.63 ถึง 1.30; การศึกษา 5 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 435 คน; I 2 = 54%; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก)
แปลโดย พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว Edit โดย ผกากรอง 15 มกราคม 2023