ใจความสำคัญ
• ในช่วงวันแรกๆหลังคลอดทารกที่คลอดก่อนกำหนดจำเป็นต้องได้รับเกลือ (โซเดียม) น้อยกว่าเพื่อป้องกันภาวะโซเดียมในเลือดสูง อย่างไรก็ตาม เราไม่แน่ใจว่าจะมีผลกระทบใดๆ ต่อการเสียชีวิตของทารกหรือสุขภาพของทารกแรกเกิดขณะอยู่ในโรงพยาบาลหรือไม่ ส่วนใหญ่ไม่มีการรายงานผลลัพธ์การเจริญเติบโตและการพัฒนาการในระยะยาวในการศึกษาการเสริมโซเดียมในระยะแรก
• หลังจากวันแรกๆหลังคลอด ทารกที่คลอดก่อนกำหนดจำเป็นต้องได้รับโซเดียมในปริมาณที่สูงกว่าเพื่อป้องกันระดับโซเดียมในเลือดต่ำ โซเดียมปริมาณที่สูงกว่าอาจช่วยลดความล้มเหลวของการเจริญเติบโตหลังคลอดของทารกที่คลอดก่อนกำหนดได้ อย่างไรก็ตาม เราไม่แน่ใจว่ามีผลกระทบใดๆ ต่อการเสียชีวิต สุขภาพของทารกแรกเกิดขณะอยู่ในโรงพยาบาล หรือการพัฒนาการในระยะยาวหรือไม่
• เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ เราไม่ทราบว่าการให้โซเดียมในปริมาณที่สูงกว่าหรือต่ำกว่าในวันแรกๆหลังคลอดและประมาณหนึ่งสัปดาห์หลังคลอดจะส่งผลต่อระดับโซเดียมในเลือด การเจริญเติบโต การเสียชีวิต ผลลัพธ์ขณะอยู่ในโรงพยาบาล (รวมถึงปัญหาปอดเรื้อรังและการบาดเจ็บของลำไส้อย่างรุนแรง ภาวะลำไส้เน่า) และการพัฒนาการในระยะยาว
โซเดียมสูงคืออะไร
ทารกที่คลอดก่อนกำหนดมาก (ก่อนอายุครรภ์ 32 สัปดาห์) มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อภาวะระดับโซเดียมในเลือดสูง (เกลือ) (150 มิลลิโมล/ลิตร หรือสูงกว่า) ในวันแรกๆ (ภาวะโซเดียมในเลือดสูงระยะแรก) โดยส่วนใหญ่เกิดจากการสูญเสียน้ำผ่านทางผิวหนังในปริมาณมาก
โซเดียมต่ำคืออะไร
ทารกที่คลอดก่อนกำหนดมากยังมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะมีระดับโซเดียมในเลือดต่ำ (น้อยกว่า 130 มิลลิโมล/ลิตร) หลังจากวันแรกๆ (ภาวะโซเดียมในเลือดต่ำในช่วงหลัง) สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการสูญเสียโซเดียมในปัสสาวะสูงและความต้องการในการเจริญเติบโตของทารก
เราต้องการค้นหาอะไร
การได้รับโซเดียมปริมาณมากเกินไปหรือน้อยเกินไปอาจส่งผลต่อผลลัพธ์ของทารกแรกเกิดในโรงพยาบาล การเจริญเติบโตและพัฒนาการ เรามีเป้าหมายเพื่อพิจารณาถึงผลกระทบต่อระดับโซเดียม ผลลัพธ์ของทารกแรกเกิดใน nursery (รวมถึงปัญหาการเสียชีวิต ปัญหาเกี่ยวกับลำไส้และปอด) การเจริญเติบโตและพัฒนาการซึ่งเกี่ยวข้องกับการได้รับโซเดียมปริมาณสูงกว่าทียบกับปริมาณที่ต่ำกว่าในทารกที่คลอดก่อนกำหนด
เราทำอะไรไปแล้วบ้าง
เราค้นหาการศึกษาที่ศึกษาการได้รับโซเดียมปริมาณที่สูงกว่าหรือต่ำกว่าในทารกคลอดก่อนกำหนดโดยผ่านทางหลอดเลือดดำ (แบบหยดเข้าเส้นเลือด) หรือทางลำไส้ (ผ่านทางสายให้อาหารทางปากหรือจมูก) แก่ทารกคลอดก่อนกำหนด เราทำการเปรียบเทียบแยกการศึกษาที่ประเมินตั้งแต่แรก (น้อยกว่าอายุ 7 วันหลังคลอด) หลัง (อายุ 7 วันหรือมากกว่าหลังคลอด) และการเสริมโซเดียมในช่วงแรกและหลัง
เราพบอะไร
เราพบการศึกษา 4 ฉบับกับทารก 103 คนที่เปรียบเทียบการให้ในระยะแรก (น้อยกว่าอายุ 7 วันหลังคลอด) การศึกษา 4 ฉบับกับทารก 138 คนที่เปรียบเทียบการให้ระยะหลัง (อายุ 7 วันหรือมากกว่าหลังคลอด) และการศึกษา 1 เรื่องกับทารก 20 คนที่รายงานการให้โซเดียมในระยะแรก และระยะหลัง ให้ปริมาณโซเดียมสูงกว่าหรือต่ำกว่า
ผลลัพธ์หลัก
การได้รับปริมาณโซเดียมที่สูงกว่าตั้งแต่ระยะแรก (อายุก่อน 7 วันหลังคลอด) อาจส่งผลให้ทารกมีระดับโซเดียมสูง แต่ก็พบว่าจำนวนทารกคลอดก่อนกำหนดที่มีระดับโซเดียมต่ำมีจำนวนใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตาม เราไม่แน่ใจว่าจะมีผลกระทบใดๆ ต่อการเสียชีวิตของทารกหรือสุขภาพอื่นๆของทารกแรกเกิดขณะอยู่ในโรงพยาบาลหรือไม่ มีงานวิจัยเพียงไม่กี่ฉบับที่รายงานการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกในระยะยาวหลังจากออกจากโรงพยาบาล
การได้รับโซเดียมปริมาณที่สูงกว่าในช่วงหลัง (อายุตั้งแต่ 7 วันขึ้นไปหลังคลอด) อาจลดอุบัติการณ์ของระดับโซเดียมต่ำได้ เราไม่แน่ใจว่าการได้รับโซเดียมปริมาณที่สูงกว่าในระยะหลังจะส่งผลต่ออุบัติการณ์ของระดับโซเดียมสูงหรือไม่ การได้รับโซเดียมในปริมาณที่สูงกว่าในช่วงหลังอาจลดความล้มเหลวในการเจริญเติบโตหลังคลอด เราไม่แน่ใจว่าการได้รับโซเดียมปริมาณที่สูงกว่าในช่วงหลังส่งผลต่อการเสียชีวิตของทารกหรือมีผลกระทบอื่นๆ ต่อสุขภาพขณะอยู่ในโรงพยาบาล หรือพัฒนาการของทารกในระยะยาวหลังจากออกจากโรงพยาบาลหรือไม่
เราไม่ทราบว่าการได้รับโซเดียมที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับการได้รับโซเดียมที่ต่ำกว่าในช่วงแรกและหลังจะส่งผลต่อระดับโซเดียมในเลือด การเจริญเติบโต การเสียชีวิตของทารก สุขภาพทารกแรกเกิดในโรงพยาบาล และผลลัพธ์ระยะยาวหรือไม่
ข้อจำกัดของหลักฐานคืออะไร
การศึกษาในการทบทวนนี้เป็นการศึกษาขนาดเล็กทั้งหมด และมีผลลัพธ์จำนวนมากที่ไม่สมบูรณ์หรือไม่ได้รายงาน ผลพบว่าเราไม่แน่ใจอย่างมากเกี่ยวกับผลกระทบของการได้รับโซเดียมปริมาณที่สูงกว่า หรือ ต่ำกว่า สำหรับทารกที่คลอดก่อนกำหนดมีผลต่อสุขภาพของทารกในขณะที่อยู่ในโรงพยาบาล รวมถึงการเสียชีวิตของทารก การเจริญเติบโต และพัฒนาการของทารกในระยะยาวหลังจากออกจากโรงพยาบาล จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อพิจารณาปริมาณโซเดียมที่ดีที่สุดที่ควรได้รับในวันแรกหลังคลอด ผลกระทบของการได้รับโซเดียมที่สูงกว่าเทียบกับการได้รับโซเดียมที่ต่ำกว่าในช่วงสัปดาห์แรกต่อผลลัพธ์ของการอยู่โรงพยาบาล การเติบโตและผลลัพธ์ระยะยาว และผลกระทบของการได้รับปริมาณโซเดียมที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับการได้รับปริมาณโซเดียมปานกลางหลังจากสัปดาห์แรกในด้านการเจริญเติบโต ผลลัพธ์ของการอยู่โรงพยาบาล และพัฒนาการของทารกในระยะยาวหลังจากออกจากโรงพยาบาล
หลักฐานนี้มีความทันสมัยแค่ไหน
หลักฐานนี้เป็นข้อมูลล่าสุดถึงเดือนสิงหาคม 2022
การได้รับโซเดียมปริมาณที่สูงกว่าในช่วงแรก (< 7 วันหลังคลอด) อาจส่งผลให้อุบัติการณ์ภาวะโซเดียมในเลือดสูงเพิ่มขึ้น และอาจส่งผลให้มีอุบัติการณ์ของภาวะโซเดียมในเลือดต่ำใกล้เคียงกันเมื่อเปรียบเทียบกับการเสริมที่ต่ำกว่า เราไม่แน่ใจว่ามีผลกระทบใดๆ ต่อการเสียชีวิตหรือการเจ็บป่วยของทารกแรกเกิดหรือไม่ ส่วนใหญ่ไม่มีการรายงานผลลัพธ์การเจริญเติบโตและการพัฒนาในระยะยาวในการทดลองการเสริมโซเดียมในระยะแรก
การเสริมโซเดียมในปริมาณที่สูงขึ้นระยะหลัง (≥ 7 วันหลังคลอด) อาจลดอุบัติการณ์ของภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ เราไม่แน่ใจว่าการได้รับในปริมาณที่สูงกว่าในระยะหลังจะส่งผลต่ออุบัติการณ์ของภาวะโซเดียมในเลือดสูงหรือไม่เมื่อเทียบกับการได้รับในปริมาณที่ต่ำ การได้รับโซเดียมในปริมาณที่สูงกว่าในช่วงหลังอาจลดความล้มเหลวในการเจริญเติบโตหลังคลอด เราไม่แน่ใจว่าการได้รับโซเดียมในปริมาณที่สูงกว่าในช่วงหลังจะส่งผลต่อการเสียชีวิต การเจ็บป่วยอื่นๆของทารกแรกเกิด หรือการพัฒนาการในระยะยาวหรือไม่
เราไม่แน่ใจว่าการให้โซเดียมปริมาณที่สูงกว่าหรือต่ำกว่าในช่วงแรกและหลังจะส่งผลต่อผลลัพธ์หรือไม่
ทารกที่คลอดก่อนกำหนดมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อการเกิดภาวะโซเดียมในเลือดสูงในช่วงแรก (ระดับโซเดียมในเลือดสูงกว่าปกติ) และภาวะโซเดียมในเลือดต่ำในช่วงหลัง (ระดับโซเดียมในเลือดต่ำกว่าปกติ) มีความกังวลว่าความไม่สมดุลของการให้โซเดียมอาจส่งผลต่อการเจ็บป่วย การเจริญเติบโต และผลลัพธ์พัฒนาการของทารกแรกเกิด
เพื่อประเมินผลของการเสริมโซเดียมในปริมาณสูงกว่าเทียบกับการเสริมโซเดียมในปริมาณต่ำกว่าในทารกคลอดก่อนกำหนด
เราสืบค้นจาก CENTRAL ในเดือนกุมภาพันธ์ 2023; และ MEDLINE, Embase และการลงทะเบียนการทดลองในเดือนมีนาคมและเมษายน 2022 เราตรวจสอบรายการอ้างอิงของการศึกษาที่รวบรวมไว้และการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบซึ่งมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับวิธีการหรือประชากรที่ในการทบทวนนี้ เราเปรียบเทียบการเสริมโซเดียมตั้งแต่ช่วงแรก (อายุ < 7 วันหลังคลอด) ช่วงหลัง (อายุ ≥ 7 วันหลังคลอด) และการเสริมโซเดียมในช่วงแรกและหลังโดยแยกกัน
เรารวมการทดลองแบบสุ่ม แบบกึ่งสุ่ม หรือแบบควบคุมแบบคลัสเตอร์ที่เปรียบเทียบการเสริมโภชนาการที่รวมการเสริมโซเดียมปริมาณสูงเทียบกับการเสริมโซเดียมปริมาณต่ำโดยการให้ทางหลอดเลือดดำหรือทางการรับประทาน หรือทั้งสองอย่าง ผู้เข้าร่วมการศึกษาคือทารกคลอดก่อนกำหนดที่เกิดก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ หรือมีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่า 2500 กรัม หรือทั้งสองอย่าง เราไม่รวมการศึกษาที่มีการกำหนดปริมาณการได้รับปริมาณน้ำที่แตกต่างกันระหว่างกลุ่ม
ผู้ประพันธ์ 2 คนทำการประเมินการศึกษาที่เข้าเกณฑ์การคัดเลือก รวมถึงการประเมินความเสี่ยงของการเกิดอคติ ดึงข้อมูลอย่างอิสระต่อกัน เราใช้วิธี GRADE เพื่อประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐาน
เรารวบรวมการศึกษาทั้งหมด 9 ฉบับ อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถดึงข้อมูลจากการศึกษา 1 ฉบับ (ทารก 20 คน) การศึกษาบางการศึกษามีส่วนทำให้เกิดการเปรียบเทียบมากกว่า 1 การเปรียบเทียบ มีการศึกษา 8 ฉบับ (ทารก 241 คน) สำหรับการประเมิน meta-analysis การศึกษา 4 ฉบับ (ทารก 103 คน) เปรียบเทียบปริมาณโซเดียมที่ได้รับในปริมาณที่สูงกว่าเทียบกับปริมาณโซเดียมที่ได้รับในปริมาณที่ต่ำกว่าในช่วงแรก และการศึกษา 4 ฉบับ (ทารก 138 คน) เปรียบเทียบการได้รับปริมาณโซเดียมที่สูงกว่ากับการได้รับปริมาณโซเดียมที่ต่ำกว่าในช่วงหลัง การศึกษา 2 ฉบับ (ทารก 103 คน) เปรียบเทียบการเสริมปริมาณโซเดียมในระดับกลาง (≥ 3 มิลลิโมล/กก./วัน ถึง < 5 มิลลิโมล/กก./วัน) กับการไม่มีการเสริม และการศึกษา 2 ฉบับ (ทารก 52 คน) เปรียบเทียบการเสริมโซเดียมในปริมาณที่สูงกว่า (≥ 5 มิลลิโมล/กก./วัน) ) กับการไม่มีการเสริม เราประเมินพบว่ามีเพียงการศึกษา 2 ฉบับ (ทารก 63 คน) ที่มีความเสี่ยงของการมีอคติต่ำ
การได้รับโซเดียมในช่วงแรก (น้อยกว่า 7 วันหลังคลอด) ในปริมาณที่สูงกว่าเทียบกับการได้รับในปริมาณที่ต่ำกว่า
การได้รับปริมาณโซเดียมที่สูงกว่าหรือต่ำกว่าในช่วงแรกอาจไม่ส่งผลต่อการเสียชีวิต (อัตราส่วนความเสี่ยง (RR) 1.02, ช่วงความเชื่อมั่น (CI) 95% 0.38 ถึง 2.72; I 2 = 0%; การศึกษา 3 ฉบับ, ทารก 83 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) ไม่มีรายงานการติดตามพัฒนาการทางระบบประสาท การได้รับปริมาณโซเดียมที่สูงกว่าหรือต่ำกว่าในช่วงแรกอาจนำไปสู่อุบัติการณ์ของภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ < 130 มิลลิโมล/ลิตร (RR 0.68, 95% CI 0.40 ถึง 1.13; I 2 = 0%; การศึกษา 3 ฉบับ, ทารก 83 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) แต่พบการเพิ่มขึ้นของอุบัติการณ์ของภาวะโซเดียมในเลือดสูง ≥ 150 มิลลิโมล/ลิตร (RR 1.62, 95% CI 1.00 ถึง 2.65; I 2 = 0%; การศึกษา 4 ฉบับ ทารก 103 คน; ความแตกต่างความเสี่ยง (RD) 0.17, 95% CI 0.01 ถึง 0.34; จำนวนที่ต้องรักษาสำหรับผลลัพธ์ที่เป็นอันตรายเพิ่มเติม 6, 95% CI 3 ถึง 100; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) ไม่มีรายงานความล้มเหลวในการเจริญเติบโตหลังคลอด หลักฐานไม่แน่นอนสำหรับผลกระทบต่อภาวะลำไส้เน่า (RR 4.60, 95% CI 0.23 ถึง 90.84; การศึกษา 1 ฉบับ, ทารก 46 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) ไม่มีรายงานโรคปอดเรื้อรังที่ 36 สัปดาห์
การได้รับโซเดียมในช่วงหลัง (ตั้งแต่ 7 วันหลังคลอด) ในปริมาณที่สูงกว่าเทียบกับการได้รับในปริมาณที่ต่ำกว่า
ปริมาณโซเดียมที่ได้รับในปริมาณที่สูงกว่าหรือต่ำกว่าในช่วงหลังอาจไม่ส่งผลต่อการเสียชีวิต (RR 0.13, 95% CI 0.01 ถึง 2.20; การศึกษา 1 ฉบับ ทารก 49 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) ไม่มีรายงานการติดตามพัฒนาการทางระบบประสาท การได้รับโซเดียมปริมาณที่สูงกว่าหรือต่ำกว่าในช่วงหลังอาจลดอุบัติการณ์ของภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ < 130 มิลลิโมล/ลิตร (RR 0.13, 95% CI 0.03 ถึง 0.50; I 2 = 0%; การศึกษา 2 ฉบับ, ทารก 69 คน; RD −0.42, 95% CI −0.59 ถึง −0.24; จำนวนที่ต้องรักษาเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์เพิ่มเติม 2, 95% CI 2 ถึง 4; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) หลักฐานไม่แน่ชัดถึงผลกระทบต่อภาวะโซเดียมในเลือดสูง ≥ 150 มิลลิโมล/ลิตร (RR 7.88, 95% CI 0.43 ถึง 144.81; I 2 = 0%; การศึกษา 2 ฉบับ, ทารก 69 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) การศึกษาขนาดเล็กหนึ่งการศึกษารายงานว่าการบริโภคโซเดียมปริมาณที่สูงกว่าเทียบกับการบริโภคในปริมาณที่ต่ำกว่าในภายหลังอาจลดอุบัติการณ์ของความล้มเหลวในการเจริญเติบโตหลังคลอด (RR 0.25, 95% CI 0.09 ถึง 0.69; การศึกษา 1 ฉบับ; ทารก 29 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) หลักฐานมีความไม่แน่นอนสำหรับผลกระทบต่อภาวะลำไส้เน่า (RR 0.07, 95% CI 0.00 ถึง 1.25; การศึกษา 1 ฉบับ, ทารก 49 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) และโรคปอดเรื้อรัง (RR 2.03, 95% CI 0.80 ถึง 5.20; การศึกษา 1 ฉบับ ทารก 49 ราย หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก)
ช่วงแรกและช่วงหลัง (วันที่ 1 ถึง 28 หลังคลอด) ปริมาณการได้รับปริมาณโซเดียมที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับปริมาณที่ต่ำกว่าสำหรับทารกคลอดก่อนกำหนด
การได้รับโซเดียมปริมาณที่สูงกว่าหรือต่ำกว่าในช่วงแรกและช่วงหลังอาจไม่ส่งผลต่อภาวะโซเดียมในเลือดสูง ≥ 150 มิลลิโมล/ลิตร (RR 2.50, 95% CI 0.63 ถึง 10.00; การศึกษา 1 ฉบับ, ทารก 20 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) ไม่มีการรายงานผลลัพธ์รองอื่น ๆ
แปลโดย ผศ.พิเศษ พญ.นันท์ธิดา ภัทราประยูร วันที่ 27 ตุลาคม 2023