ยาแก้ปวดนอกเหนือจาก opioid เพื่อรักษาความเจ็บปวดในทารกที่กำลังทำหัตถการอันเจ็บปวด

ข้อความสำคัญ

• เราไม่พบหลักฐานที่เพียงพอเกี่ยวกับยาแก้ปวดที่ไม่ใช่ opioids ในการจัดการความเจ็บปวดในทารกที่เข้ารับการทำหัตถการที่เกิดความเจ็บปวด เราพบการศึกษาขนาดเล็กเพียง 2 ฉบับที่เปรียบเทียบยาแก้ปวด (คีตามีน) กับยาแก้ปวดอื่น (Opioid) หรือสารละลายที่มีความหวานเพื่อให้ในการทำหัตถการต่างๆ

• จำเป็นต้องมีการศึกษาขนาดใหญ่เกี่ยวกับยาแก้ปวดหลายชนิดเพื่อให้เข้าใจถึงประโยชน์และโทษของยาแก้ปวดชนิดต่างๆ ได้ดีขึ้น และวิธีที่ดีที่สุดในการให้ยาแก้ปวด

เราต้องการค้นหาอะไร

ทารก โดยเฉพาะทารกที่คลอดเร็วเกินไปหรือป่วยหนักที่สุด อาจได้รับการทำหัตถการที่เจ็บปวดหลายครั้งระหว่างพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ยังไม่ชัดเจนว่ายาแก้ปวดชนิดใดดีที่สุดสำหรับการบรรเทาอาการปวดอย่างเพียงพอและปลอดภัย เรามุ่งเน้นไปที่การศึกษาประเมินยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน และ N-methyl-D-aspartate (NMDA) receptor antagonists เช่น ketamine สำหรับทารกระหว่างการทำหัตถการที่เจ็บปวด เราต้องการทราบว่าสิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อความรุนแรงของความเจ็บปวดในทารกอย่างไรในระหว่างทำหัตถการและผลข้างเคียงที่เกิดจากยาแก้ปวด

เราทำอะไร

เราค้นหาการศึกษาที่เปรียบเทียบ:

• NMDA receptor antagonists (เช่น ketamine) หรือ NSAIDs (เช่น ibuprofen) เทียบกับการไม่รักษา ยาหลอก (การรักษาหลอก) การให้สารให้ความหวานทางปาก หรือวิธีการที่ไม่ใช่ยาแก้ปวด

• ยาแก้ปวดหนึ่งตัวกับยาแก้ปวดอีกตัวหนึ่ง หรือ

• วิธีการให้ยาแก้ปวดชนิดเดียวกันหลายวิธี (เช่น ทางปากหรือทางหลอดเลือดดำ)

เราประเมินการศึกษาและจัดอันดับความเชื่อมั่นของเราในหลักฐานตามวิธีการศึกษา

เราพบอะไร

เราพบการศึกษา 2 ฉบับที่มีทารกทั้งหมด 269 คนเข้ารับการทำหัตถการที่เจ็บปวด การศึกษา 1 ฉบับ ที่ดำเนินการในไนจีเรียเปรียบเทียบการให้คีตามีนกับน้ำเชื่อมทางปากสำหรับการขลิบ การศึกษาอื่น ดำเนินการในอินเดีย เปรียบเทียบเฟนทานิลและคีตามีนที่ให้ทางหลอดเลือดดำระหว่างการรักษาด้วยเลเซอร์สำหรับโรคตา ในการศึกษาทั้ง 2 ฉบับ ทารกที่ได้รับคีตามีนมีคะแนนความเจ็บปวดต่ำกว่า อย่างไรก็ตาม การศึกษาใช้วิธีการที่แตกต่างกันและประเมินหัตถการที่แตกต่างกัน ทำให้ยากต่อการสรุปใดๆ การศึกษาเรื่องที่สองให้หลักฐานที่ไม่ชัดเจนเกี่ยวกับผลของการรักษาต่อปัญหาการหายใจและความดันโลหิต

ข้อจำกัของหลักฐานคืออะไร

เราไม่มั่นใจในหลักฐานและไม่แน่ใจอย่างมากเกี่ยวกับผลลัพธ์เนื่องจากมีการศึกษาที่จำกัด การศึกษาขนาดที่เล็ก และวิธีการที่ใช้น่าจะก่อให้เกิดข้อผิดพลาด

หลักฐานนี้ทันสมัยแค่ไหน

หลักฐานเป็นปัจจุบันจนถึง เดือนมิถุนายน 2022

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

การศึกษาขนาดเล็ก 2 ฉบับที่มีการเปรียบเทียบคีตามีนกับยาหลอกหรือเฟนทานิล ซึ่งหลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก ทำให้เราไม่สามารถหาข้อสรุปที่มีความหมายได้ หลักฐานมีความไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับผลของคีตามีนต่อคะแนนความเจ็บปวดในระหว่างการทำหัตถการเมื่อเทียบกับยาหลอกหรือเฟนทานิล เราไม่พบหลักฐานเกี่ยวกับ NSAIDs หรือการศึกษาเปรียบเทียบแนวทางการให้ยาที่แตกต่างกัน

การวิจัยในอนาคตควรให้ความสำคัญกับการศึกษาขนาดใหญ่ที่ประเมินยาแก้ปวดที่ไม่ใช่ Opioid ในประชากรกลุ่มนี้ เนื่องจากการศึกษาที่รวมอยู่ในการทบทวนนี้ชี้ให้เห็นถึงผลในเชิงบวกที่อาจเกิดขึ้นจากการให้คีตามีน การศึกษาที่ประเมินคีตามีนจึงเป็นเรื่องที่สนใจ นอกจากนี้ เนื่องจากเราไม่พบการศึกษาเกี่ยวกับ NSAIDs ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายในทารกที่มีอายุมากกว่า หรือการเปรียบเทียบวิธีการให้ยาที่แตกต่างกัน การศึกษาดังกล่าวควรมีความสำคัญเป็นลำดับแรกที่ควรทำต่อ

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

ทารกแรกเกิดเป็นประชากรผู้ป่วยที่เปราะบางมาก โดย 6% ถึง 9% เข้ารับการรักษาในหออภิบาลทารกแรกเกิด (NICU) หลังคลอด ทารกแรกเกิดที่เข้ารับการรักษาใน NICU จะได้รับการทำหัตถการที่เจ็บปวดหลายครั้งต่อวันตลอดการเข้าโรงพยาบาล มีหลักฐานเพิ่มมากขึ้นว่าการได้รับสิ่งกระตุ้นที่เจ็บปวดบ่อยครั้งและซ้ำๆ นั้นสัมพันธ์กับผลลัพธ์ที่แย่ลงในภายหลัง

จนถึงปัจจุบัน กลไกการควบคุมความเจ็บปวดที่หลากหลายได้รับการพัฒนาและนำไปใช้เพื่อจัดการกับความเจ็บปวดจากการทำหัตถการในทารกแรกเกิด การทบทวนนี้มุ่งเน้นไปที่ยาแก้ปวดที่ไม่ใช่ opioid โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) และ N-methyl-D-aspartate (NMDA) receptor antagonists ซึ่งช่วยบรรเทาความเจ็บปวดผ่านการยับยั้งทางเดินของเซลล์เพื่อให้ได้ผลในการระงับอาการปวด

ยาแก้ปวดที่พิจารณาในการทบทวนนี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการบรรเทาอาการปวดในทางคลินิก อย่างไรก็ตาม ยังขาดการสรุปหลักฐานที่รวบรวมยาแต่ละชนิดที่ประกอบขึ้นและสรุปประโยชน์และโทษของการบริหารยา ดังนั้นเราจึงต้องการสรุปหลักฐานเกี่ยวกับระดับความเจ็บปวดที่ทารกแรกเกิดประสบทั้งระหว่างและหลังหัตถการ เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับยา ได้แก่ ภาวะหยุดหายใจ ภาวะออกซิเจนต่ำ หัวใจเต้นช้า และความดันเลือดต่ำ และผลของยาร่วมกัน

เนื่องจากสาขาการจัดการความปวดจากการทำหัตถการในทารกแรกเกิดมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การทบทวนนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อระบุขอบเขตของยาแก้ปวดที่ไม่ใช่สารกลุ่ม opioid สำหรับความเจ็บปวดจากการทำหัตถการในทารกแรกเกิด เพื่อให้เห็นภาพรวมของตัวเลือกที่มีอยู่เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติทางคลินิกตามหลักฐานที่ดียิ่งขึ้น

วัตถุประสงค์: 

เพื่อพิจารณาผลของยาแก้ปวดที่ไม่ใช่กลุ่ม opioid ในทารกแรกเกิด (คลอดครบกำหนดหรือคลอดก่อนกำหนด) ที่ได้รับความเจ็บปวดจากการทำหัตถการ เปรียบเทียบกับยาหลอกหรือไม่ได้ใช้ยา วิธีการที่ไม่ใช่ทางเภสัชวิทยา ยาแก้ปวดอื่น ๆ หรือวิธีการให้ยาที่แตกต่างกัน

วิธีการสืบค้น: 

เราค้นหาใน Cochrane Library (CENTRAL), PubMed, Embase และทะเบียนการทดลอง 2 แหล่งในเดือนมิถุนายน 2022 เราคัดกรองรายการอ้างอิงของการศึกษาที่รวบรวมสำหรับการศึกษาที่ไม่ได้ระบุโดยการค้นหาฐานข้อมูล

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) quasi-RCTs และ cluster-RCTs ในทารกแรกเกิด (คลอดครบกำหนดหรือคลอดก่อนกำหนด) ที่ได้รับการผ่าตัดที่มีความเจ็บปวดโดยเปรียบเทียบ NSAIDs และ NMDA receptor antagonists กับยาหลอกหรือไม่มียา วิธีการที่ไม่ใช่เภสัชวิทยา ยาแก้ปวดอื่นๆ หรือการบริหารวิธีอื่นๆ

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

เราใช้วิธีมาตรฐานของ Cochrane ผลลัพธ์หลักของเราคือการประเมินความเจ็บปวดระหว่างการทำหัตถการและติดตามไปจนนานที่สุด 10 นาทีหลังการทำหัตถการด้วยมาตราส่วนที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว, การเกิดของ bradycardia, การเกิดของภาวะหยุดหายใจ และความดันเลือดต่ำที่ต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์

ผลการวิจัย: 

เรารวบรวม RCT 2 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับทารกแรกเกิดทั้งหมด 269 คนซึ่งดำเนินการในไนจีเรียและอินเดีย

NMDA receptor antagonists เทียบกับการไม่รักษา ยาหลอก การให้สารให้ความหวานทางปาก หรือวิธีการที่ไม่ใช่ทางเภสัชวิทยา

RCT 1 ฉบับรประเมินโดยใช้คีตามีน (Ketamine) แบบรับประทาน (10 มก./กก. น้ำหนักตัว) เทียบกับน้ำเชื่อม (66.7% น้ำหนัก/น้ำหนักที่ 1 มล./กก. น้ำหนักตัว) สำหรับการทำหัตถการการขลิบทารกแรกเกิด

หลักฐานมีความไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับผลของคีตามีนต่อคะแนนความปวดในระหว่างการทำหัตถการ ซึ่งประเมินด้วยมาตราส่วนความเจ็บปวดของทารกแรกเกิด (NIPS) เปรียบเทียบกับยาหลอก (ความแตกต่างของค่าเฉลี่ย (MD) −0.95, ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) −1.32 ถึง −0.58; 1 RCT; ผู้เข้าร่วม 145 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก) ไม่มีการรายงานผลลัพธ์อื่นที่สนใจ

การเปรียบเทียบแบบตัวต่อตัวของยาแก้ปวดชนิดต่างๆ

RCT 1 ฉบับ ประเมินโดยใช้เฟนทานิลให้ทางหลอดเลือดดำเทียบกับคีตามีนทางหลอดเลือดดำระหว่างใช้แสงเลเซอร์ทำ photocoagulation สำหรับความผิดปกติของจอประสาทตาในทารกคลอดก่อนกำหนด ทารกแรกเกิดที่ได้รับคีตามีนตามสูตรเริ่มต้น ( 0.5 มก./กก. ให้ใน 1 นาทีก่อนทำหัตถการ) หรือสูตรที่ปรับปรุงใหม่ (เพิ่มขนาดยาเป็นระยะๆ 0.5 มก./กก. ทุก 10 นาที จนถึงสูงสุด 2 มก./กก.) ในขณะที่เด็กที่ได้รับเฟนทานิล ทำตามสูตรเริ่มต้น (2 ไมโครกรัม/กก. ในเวลา 5 นาที, 15 นาทีก่อนการทำหัตถการ ตามด้วย 1 ไมโครกรัม/กก./ชั่วโมง หยดต่อเนื่อง) หรือสูตรที่ปรับปรุง (ค่อยๆเพิ่มขึ้นทีละ 0.5 ไมโครกรัม/กก./ชั่วโมง ทุก 15 นาที สูงสุด 3 ไมโครกรัม/กิโลกรัม/ชั่วโมง) หลักฐานมีความไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับผลของคีตามีนเมื่อเทียบกับเฟนทานิลต่อคะแนนความปวดที่ประเมินด้วยคะแนนความปวดในทารกคลอดก่อนกำหนด (PIPP-R) ในระหว่างทำหัตถการ (MD 0.98, 95% CI 0.75 ถึง 1.20; 1 RCT; ผู้เข้าร่วม 124 คน ; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก); ในภาวะหยุดหายใจขณะที่เกิดขึ้นระหว่างทำหัตถการ (อัตราส่วนความเสี่ยง (RR) 0.31, 95% CI 0.08 ถึง 1.18; ความแตกต่างของความเสี่ยง (RD) −0.09, 95% CI −0.19 ถึง 0.00; การศึกษา 1 ฉบับ; ทารก 124 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก); และความดันเลือดต่ำที่ต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์ที่เกิดขึ้นระหว่างหัตถการ (RR 5.53, 95% CI 0.27 ถึง 112.30; RD 0.03, 95% CI −0.03 ถึง 0.10; การศึกษา 1 ฉบับ; ทารก 124 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก) การศึกษาที่รวบรวมไม่ได้รายงานคะแนนความเจ็บปวดที่ประเมินได้จนถึง 10 นาทีหลังจากการทำหัตการหรืออาการของหัวใจเต้นช้าที่เกิดขึ้นระหว่างการทำหัตถการ

เราไม่พบการศึกษาใด ๆ ที่เปรียบเทียบ NSAIDs กับการไม่ใช้ยา ยาหลอก การให้สารให้ความหวานทางปาก หรือวิธีการที่ไม่ใช่ทางเภสัชวิทยา หรือแนวทางการให้ยาแก้ปวดชนิดเดียวกันที่มีวิธีการให้ยาที่แตกต่างกัน เราพบการศึกษา 3 ฉบับที่กำลังรอการจัดประเภท

บันทึกการแปล: 

แปลโดย แพทย์หญิงวิลาสินี หน่อแก้ว โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี Edit โดย ผกากรอง 23 พฤศจิกายน 2023

Tools
Information