คำถามของการทบทวนวรรณกรรม
เราทบทวนหลักฐานเกี่ยวกับผลของดนตรีบำบัดสำหรับคนออทิสติก เราเปรียบเทียบผลลัพธ์จากผู้ที่ได้รับการบำบัดด้วยดนตรี (หรือดนตรีบำบัดร่วมกับการดูแลมาตรฐาน) กับผลลัพธ์จากผู้ที่ได้รับการบำบัดที่คล้ายกันโดยไม่มีดนตรี (การบำบัดด้วย 'การหลอก') การดูแลมาตรฐาน หรือไม่มีการบำบัดเลย
ความเป็นมา
ออทิสติกเป็นภาวะการพัฒนาทางระบบประสาทที่ส่งผลต่อวิธีที่คนรับรู้โลกรอบตัวพวกเขา และวิธีที่พวกเขาสื่อสารและเกี่ยวข้องกับผู้อื่นอย่างตลอดชีวิต ดังนั้นปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและการสื่อสารทางสังคมจึงอยู่เป็นสิ่งสำคัญของความยากลำบากสำหรับคนออทิสติก ดนตรีบำบัดใช้ประสบการณ์ดนตรีและความสัมพันธ์ที่พัฒนาผ่านดนตรีพื่อให้สามารถเชื่อมโยงกับผู้อื่น สื่อสาร และแบ่งปันความรู้สึกของพวกเขา ด้วยวิธีนี้ ดนตรีบำบัดจะจัดการกับปัญหาหลักบางประการของคนออทิสติก ดนตรีบำบัดถูกนำมาใช้ในออทิสติกตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1950 ความพร้อมใช้งานสำหรับคนออทิสติกแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศและบริบท การประยุกต์ใช้ดนตรีบำบัดต้องมีการฝึกอบรมทางวิชาการและทางคลินิกเฉพาะทาง ซึ่งจะช่วยให้นักบำบัดสามารถปรับการรักษาให้เข้ากับความต้องการเฉพาะของบุคคลได้ เราต้องการตรวจสอบว่าดนตรีบำบัดช่วยคนออทิสติกได้หรือไม่เมื่อเทียบกับทางเลือกอื่นๆ
ช่วงเวลาที่ค้นหา
หลักฐานเป็นปัจจุบันจนถึงเดือนสิงหาคม 2021
ลักษณะของการศึกษา
เรารวม 16 การศึกษาใหม่ ในการปรับปรุงนี้ ดังนั้นหลักฐานในการทบทวนนี้จึงอยู่ที่ 26 การศึกษา ซึ่งมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 1165 คน การศึกษาได้ตรวจสอบผลในระยะสั้นและระยะกลางของการรักษาด้วยดนตรีบำบัด (สามวันถึงแปดเดือน) สำหรับเด็กออทิสติก เยาวชน และคนหนุ่มสาวแบบตัวต่อตัวหรือแบบกลุ่ม ไม่มีการศึกษาใดรายงานเงินทุนโดยหน่วยงานที่มีผลประโยชน์เชิงพาณิชย์เกี่ยวกับผลการศึกษา; แหล่งสนับสนุนที่รายงาน ได้แก่ เงินทุนจากรัฐบาล มหาวิทยาลัย และมูลนิธิ ในการศึกษาสามชิ้น สมาคมดนตรีบำบัดให้การสนับสนุน
ผลลัพธ์ที่สำคัญ
ดนตรีบำบัดเมื่อเทียบกับการรักษาด้วย 'การหลอก' หรือการดูแลแบบมาตรฐานอาจเพิ่มโอกาสของการปรับปรุงโดยรวมเมื่อสิ้นสุดการรักษา มีแนวโน้มว่าจะปรับปรุงคุณภาพชีวิตและความรุนแรงของอาการออทิสติกโดยรวมทันทีหลังการรักษา และอาจไม่เพิ่มเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ จากหลักฐานที่มีอยู่ เราไม่สามารถบอกได้ว่าดนตรีบำบัดมีผลต่อปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและการสื่อสารด้วยวาจาและการสื่อสารแบบไม่ใช้คำพูดหรือไม่เมื่อสิ้นสุดการบำบัด
คุณภาพของหลักฐาน
หลักฐานที่เราพบในการทบทวนนี้มีความเชื่อมั่นต่ำถึงปานกลาง ซึ่งหมายความว่าการวิจัยในอนาคตอาจเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์หล่านี้และความเชื่อมั่นของเรา เราพบว่าดนตรีบำบัดน่าจะมีประสิทธิภาพในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตโดยรวม ความรุนแรงของอาการออทิสติกโดยรวม และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่วัดเมื่อสิ้นสุดการรักษาโดยพิจารณาจากความเชื่อมั่นในระดับปานกลางของหลักฐานในโดเมนเหล่านี้ ยังไม่ชัดเจนว่าดนตรีบำบัดมีผลต่อปฏิสัมพันธ์ทางสังคม การสื่อสารแบบไม่ใช้คำพูด และการสื่อสารด้วยวาจาเมื่อสิ้นสุดการบำบัดหรือไม่ เนื่องจากความเชื่อมั่นของหลักฐานอยู่ในระดับต่ำถึงต่ำมาก เหตุผลที่จำกัดความเชื่อมั่นของหลักฐานคือปัญหาเกี่ยวกับการออกแบบการศึกษาและการปกปิกกลุ่ม (กล่าวคือ ผู้ที่รวัดผลลัพธ์มักจะรู้ว่าผู้เข้าร่วมได้รับการบำบัดด้วยดนตรีหรือไม่ ซึ่งอาจส่งผลต่อผลการประเมินของพวกเขา)
ผลสรุปจากผู้ประพันธ์
ดนตรีบำบัดเมื่อเทียบกับการบำบัดด้วย 'ยาหลอก' หรือการดูแลตามมาตรฐานอาจเพิ่มโอกาสการดีขึ้นโดยรวมเมื่อสิ้นสุดการรักษา นอกจากนี้ยังอาจช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและลดความรุนแรงของอาการ ดนตรีบำบัดอาจไม่เพิ่มเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ เราไม่สามารถบอกได้ว่าดนตรีบำบัดอาจช่วยในการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม การสื่อสารแบบไม่ใช้คำพูด และการสื่อสารด้วยวาจาเมื่อสิ้นสุดการบำบัด การศึกษาที่รวบรวมมาส่วนใหญ่นำเสนอการรักษาที่สอดคล้องกับดนตรีบำบัดที่มีการปฏิบัติทางคลินิกในแง่วิธีการและบริบทได้ดี หลักฐานใหม่นี้มีความสำคัญสำหรับคนออทิสติกและครอบครัว ตลอดจนสำหรับผู้กำหนดนโยบาย ผู้ให้บริการ และแพทย์ เพื่อช่วยในการตัดสินใจว่าจะเลือกการรักษาใด และในการวางแผนทรัพยากร การวิจัยเพิ่มเติมด้วยการออกแบบที่ดีพอ (เช่น การได้มาซึ่งหลักฐานที่เชื่อถือได้) โดยต้องพิจารณาประเด็นที่สำคัญกับคนออทิสติก เนื่องจากผลของการบำบัดในระยะยาวมีความสำคัญต่อคนออทิสติกและครอบครัว จึงต้องตรวจสอบเป็นพิเศษว่าผลของดนตรีบำบัดจะอยู่ได้นานแค่ไหน
ผลการทบทวนวรรณกรรมฉบับปรับปรุงนี้ให้หลักฐานว่าดนตรีบำบัดอาจเกี่ยวข้องกับโอกาสที่คนออทิสติกจะดีขึ้นโดยรวมและมีแนวโน้มช่วยให้ความรุนแรงและคุณภาพชีวิตของคนออทิสติกโดยรวมดีขึ้น และอาจไม่เพิ่มเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในทันทีหลังจากการรักษา ความเชื่อมั่นของหลักฐานได้รับการจัดอันดับเป็น 'ปานกลาง' สำหรับผลลัพธ์ทั้งสี่นี้ หมายความว่าเรามีความเชื่อมั่นในการประเมินผลในระดับปานกลาง ไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนของความแตกต่างสำหรับการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม การสื่อสารแบบไม่ใช้คำพูด และการสื่อสารด้วยวาจาที่วัดทันทีหลังการรักษา สำหรับผลลัพธ์เหล่านี้ ความเชื่อมั่นของหลักฐานได้รับการจัดอันดับเป็น 'ต่ำ' หรือ 'ต่ำมาก' ซึ่งหมายความว่าผลที่แท้จริงอาจแตกต่างอย่างมากจากผลที่ำด้ เมื่อเทียบกับการทบทวนวรรณกรรมครั้งก่อน การศึกษาใหม่ที่รวมอยู่ในการปรับปรุงนี้ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นและการนำไปใช้ของสิ่งที่ค้นพบของการทบทวนวรรณกรรมเพราะกลุ่มตัวอย่างที่ใหญ่ขึ้น กลุ่มอายุที่ขยายออกไป ระยะเวลาในการรักษาที่ยาวนานขึ้น และการรวมการประเมินติดตามผล และโดยส่วนใหญ่ ใช้เกณฑ์ที่ผ่านการตรวจสอบแล้วเพื่อวัดพฤติกรรมทั่วไป (เช่น พฤติกรรมที่อยู่นอกบริบทการรักษา) หลักฐานใหม่นี้มีความสำคัญสำหรับบุคคลออทิสติกและครอบครัว ตลอดจนสำหรับผู้กำหนดนโยบาย ผู้ให้บริการ และแพทย์ เพื่อช่วยในการตัดสินใจเกี่ยวกับประเภทและปริมาณของการรักษาที่ควรได้รับและในการวางแผนเกี่ยวกับทรัพยากร การนำข้อค้นพบนี้ไปใช้ยังคงจำกัดเฉพาะกลุ่มอายุที่รวมอยู่ในการศึกษานี้ และยังไม่มีข้อสรุปโดยตรงเกี่ยวกับดนตรีบำบัดในบุคคลออทิสติกที่มีอายุมากกว่าวัยหนุ่มสาว จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมโดยใช้การออกแบบที่เข้มงวด การวัดผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้อง และระยะเวลาติดตามผลในระยะยาว เพื่อยืนยันการค้นพบนี้และเพื่อตรวจสอบว่าผลของดนตรีบำบัดจะคงอยู่ต่อไปหรือไม่
ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและการสื่อสารทางสังคมเป็นส่วนสำคัญของปัญหาสำหรับคนออทิสติก ดนตรีบำบัดใช้ประสบการณ์ทางดนตรีและความสัมพันธ์ที่พัฒนาเพื่อให้สามารถสื่อสารและแสดงออก ดังนั้นจึงสามารถแก้ไขปัญหาหลักบางประการของคนออทิสติก ดนตรีบำบัดถูกนำมาใช้ในออทิสติกตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1950 แต่ความพร้อมให้บริการสำหรับบุคคลออทิสติกแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศและบริบท การประยุกต์ใช้ดนตรีบำบัดจำเป็นต้องมีการฝึกอบรมทางวิชาการและทางคลินิกเฉพาะทาง ซึ่งช่วยให้นักบำบัดสามารถปรับวิธีการให้เข้ากับความต้องการเฉพาะของแต่ละบุคคลได้ การทบทวนวรรณกรรมฉบับปัจจุบันเกี่ยวกับดนตรีบำบัดสำหรับคนออทิสติกนี้เป็นการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรม Cochrane ก่อนหน้าที่เผยแพร่ในปี 2014 (หลังการทบทวน Cochrane ต้นฉบับที่เผยแพร่ในปี 2006)
เพื่อทบทวนผลของดนตรีบำบัดหรือดนตรีบำบัดให้ร่วมกับการดูแลมาตรฐานสำหรับคนออทิสติก
ในเดือนสิงหาคม 2021 เราค้นหา CENTRAL, MEDLINE, Embase, ฐานข้อมูลอื่น ๆ อีก 11 แห่งและทะเบียนการทดลองสองรายการ เรายังดำเนินการค้นหาการอ้างอิง ตรวจสอบรายการอ้างอิง และติดต่อผู้ประพันธ์การศึกษาเพื่อค้นหาการศึกษาเพิ่มเติม
การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ (RCTs), quasi-randomised trials และ controlled clinical trials ที่เปรียบเทียบดนตรีบำบัด (หรือดนตรีบำบัดควบคู่ไปกับการดูแลแบบมาตรฐาน) กับการบำบัดด้วย 'การหลอก' การไม่ให้การบำบัดหรือรักษามาตรฐานสำหรับผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคออทิสติกสเปกตรัม จะถูกรวมในการประเมิน
เราใช้ขั้นตอนวิธีมาตรฐานของ Cochrane ผู้ประพันธ์สี่คนเลือกการศึกษาและคัดลอกข้อมูลจากการศึกษาที่รวมทั้งหมดอย่างอิสระ เราสังเคราะห์ผลลัพธ์ของการศึกษาที่รวมไว้โดย meta-analyses ผู้ประพันธ์สี่คนประเมินความเสี่ยงของอคติ (RoB) ของแต่ละการศึกษาที่รวมโดยอิสระโดยใช้เครื่องมือ RoB ดั้งเดิม รวมถึงความเชื่อมั่นของหลักฐานโดยใช้ GRADE
เรารวม 16 การศึกษาใหม่ ในการปรับปรุงนี้ ซึ่งทำให้จำนวนการศึกษาที่รวมทั้งหมดเป็น 26 (ผู้เข้าร่วม 1165 คน) การศึกษาเหล่านี้ตรวจสอบผลระยะสั้นและระยะกลางของดนตรีบำบัด (ระยะเวลาการรักษา: สามวันถึงแปดเดือน) สำหรับคนออทิสติกในบริบทรายบุคคลหรือแบบกลุ่ม มากกว่าครึ่งหนึ่งของการศึกษาดำเนินการในอเมริกาเหนือหรือเอเชีย 21 การศึกษารวมเด็กอายุตั้งแต่สองถึง 12 ปี 5 การศึกษารวมเด็กและวัยรุ่น และ/หรือผู้ใหญ่วัยหนุ่มสาว ระดับความรุนแรง ทักษะทางภาษา และความรู้ความเข้าใจมีความแตกต่างกันอย่างมากในแต่ละการศึกษา
วัดผลทันทีหลังการรักษา ดนตรีบำบัดเมื่อเทียบกับการรักษาด้วย 'การหลอก' หรือการดูแลแบบมาตรฐาน มีแนวโน้มที่จะส่งผลในเชิงบวกต่อการปรับปรุงโดยรวม (risk ratio (RR) 1.22, ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) 1.06 ถึง 1.40; 8 การศึกษา ผู้เข้าร่วม 583 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง จำนวนที่จำเป็นในการรักษาเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์เพิ่มเติมหนึ่งคน (NNTB) = 11 สำหรับประชากรที่มีความเสี่ยงต่ำ 95% CI 6 ถึง 39; NNTB = 6 สำหรับประชากรที่มีความเสี่ยงสูง 95% CI 3 ถึง 21) และ เพิ่มคุณภาพชีวิตเล็กน้อย (SMD 0.28, 95% CI 0.06 ถึง 0.49; 3 RCTs ผู้เข้าร่วม 340 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง, ผลขนาดเล็กถึงขนาดกลาง) นอกจากนี้ ดนตรีบำบัดอาจส่งผลให้ความรุนแรงของอาการออทิสติกโดยรวมลดลงอย่างมาก (SMD −0.83, 95% CI −1.41 ถึง −0.24; 9 การศึกษา ผู้เข้าร่วม 575 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) ไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนของความแตกต่างระหว่างดนตรีบำบัดและกลุ่มเปรียบเทียบที่ทันทีหลังการรักษาสำหรับปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (SMD 0.26, 95% CI −0.05 ถึง 0.57, 12 การศึกษา ผู้เข้าร่วม 603 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ); การสื่อสารแบบไม่ใช้คำพูด (SMD 0.26, 95% CI −0.03 ถึง 0.55; 7 RCTs ผู้เข้าร่วม 192 คน หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ); และการสื่อสารด้วยวาจา (SMD 0.30, 95% CI −0.18 ถึง 0.78; 8 การศึกษา ผู้เข้าร่วม 276 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) 2 การศึกษาตรวจสอบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์โดยหนึ่งการศึกษา (36 คน) ที่รายงานว่าไม่มีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ การศึกษาอื่นไม่พบความแตกต่างระหว่างดนตรีบำบัดและการดูแลมาตรฐานทันทีหลังการการรักษา (RR 1.52, 95% CI 0.39 ถึง 5.94; 1 การศึกษา ผู้เข้าร่วม 290 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง)
ผู้แปล ศ.นพ ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2022 edit ผกากรอง 18 ตุลาคม 2022