ชาเขียวป้องกันมะเร็ง

ความเป็นมา
มีการบริโภคชาเขียวมากทั่วโลก (Camellia sinensis) ที่มีโพลีฟีนอลซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพซึ่งสามารถป้องกันการก่อตัวของอนุมูลอิสระที่อาจทำให้เกิดความเสียหายและการตายของเซลล์ ดังนั้นจึงมีข้อเสนอแนะว่าชาเขียวอาจลดความเสี่ยงต่อมะเร็ง ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ได้รับการทดสอบผ่านการศึกษาจำนวนหนึ่งในมนุษย์ เพื่อตรวจสอบความเชื่อมโยงระหว่างการบริโภคชาเขียวกับมะเร็ง

วัตถุประสงค์ของการทบทวนวรรณกรรม
เราประเมินความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคชาเขียวกับความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งในการศึกษาทางระบาดวิทยา

ผลการศึกษาหลัก
ในการทบทวนนี้ เรารวบรวมการศึกษา 142 ฉบับ โดยมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 1.1 ล้านคนที่มองหาความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคชาเขียวกับมะเร็งในทางเดินอาหารกับระบบสืบพันธุ์สตรี เต้านม ต่อมลูกหมาก ไตและทางเดินปัสสาวะ ช่องจมูก ปอด เลือด ผิวหนัง ต่อมไทรอยด์และสมอง การศึกษาส่วนใหญ่มีคุณภาพปานกลางถึงสูงในแง่ของวิธีการดำเนินการ โดยรวมแล้ว หลักฐานจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการบริโภคชาเขียวเพื่อลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งนั้นไม่สอดคล้องกัน

ผลการศึกษาบางฉบับชี้ว่ามีประโยชน์ต่อความเสี่ยงต่อมะเร็ง ในขณะที่บางงานวิจัยระบุว่าไม่มีผลกระทบ และยังชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงต่อมะเร็งที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลลัพธ์จากการศึกษาแบบทดลองชี้ว่าการเสริมสารสกัดจากชาเขียวลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่เพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งทางนรีเวช สำหรับมะเร็งผิวหนังที่ไม่ใช่เมลาโนมา ไม่พบความแตกต่างในกรณีมะเร็ง การเสริมชาเขียวดูเหมือนจะปรับปรุงคุณภาพชีวิตเล็กน้อยเมื่อเทียบกับยาหลอก แม้ว่าจะเกี่ยวข้องกับผลข้างเคียงบางอย่าง เช่น ความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร เอนไซม์ตับในระดับที่สูงขึ้น และการนอนไม่หลับ ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น และปฏิกิริยาทางผิวหนัง

ในการศึกษาแบบไม่มีการทดลอง เมื่อเปรียบเทียบผู้ที่บริโภคชาเขียวในปริมาณสูงสุดกับผู้ที่บริโภคชาเขียวน้อยที่สุด เราพบข้อบ่งชี้ของการเกิดขึ้นของมะเร็งชนิดใหม่โดยรวมที่ลดลง ในขณะที่กรณีการเสียชีวิตก็ไม่มีความแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ตามชนิดของมะเร็งและการออกแบบการศึกษามีความไม่สอดคล้องกัน

ข้อสรุปคืออะไร
ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ของการบริโภคชาเขียวต่อการป้องกันมะเร็งยังไม่ได้รับการพิสูจน์จนถึงขณะนี้ ควรใช้ความระมัดระวังในการเสริมสารสกัดจากชาเขียวในปริมาณสูงเนื่องจากผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

โดยรวมแล้ว ผลการวิจัยจากการศึกษาทางระบาดวิทยาแบบทดลองและไม่มีการทดลองให้ผลลัพธ์ที่ไม่สอดคล้องกัน ดังนั้นจึงให้หลักฐานที่จำกัดสำหรับผลประโยชน์ของการบริโภคชาเขียวต่อความเสี่ยงโดยรวมของโรคมะเร็งหรือมะเร็งในบริเวณเฉพาะ

หลักฐานบางอย่างเกี่ยวกับผลประโยชน์ของชาเขียวต่อมะเร็งบางตำแหน่งได้จาก RCT และจากการศึกษาแบบ case-control แต่ข้อจำกัดด้านระเบียบวิธีวิจัย เช่น จำนวนและขนาดของการศึกษาที่ต่ำ และความไม่สอดคล้องกับผลการศึกษาแบบ cohort จำกัดความสามารถในการตีความของค่าโดยประมาณของ RR การศึกษายังระบุถึงการเกิดผลข้างเคียงหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคชาเขียวในปริมาณมาก นอกจากนี้ การศึกษาที่รวบรวมมาส่วนใหญ่ดำเนินการในประชากรเอเชียที่มีการบริโภคชาเขียวในปริมาณมาก ดังนั้นจึงจำกัดการค้นพบนี้ในการใช้ทั่วไปสำหรับประชากรอื่นๆ RCTs ที่ดำเนินการมาอย่างดีและมี power เพียงพอจะทำให้หาข้อสรุปเกี่ยวกับผลดีที่เป็นไปได้ของการบริโภคชาเขียวต่อความเสี่ยงต่อมะเร็ง

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

การทบทวนนี้เป็นการปรับปรุงการทบทวนที่ตีพิมพ์ก่อนหน้านี้ในฐานข้อมูล Cochrane Database of Systematic Reviews (2009, Issue 3) ชาเป็นหนึ่งในเครื่องดื่มที่มีการบริโภคกันมากที่สุดในโลก ชาจากพืช Camellia sinensis สามารถแบ่งออกเป็นชาเขียว ชาดำ และชาอู่หลง และพฤติกรรมการดื่มจะแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรม C sinensis ประกอบด้วยโพลีฟีนอล กลุ่มย่อยหนึ่งกลุ่มคือ catechins Catechins เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพ และการศึกษาในห้องปฏิบัติการได้แนะนำว่าสารเหล่านี้อาจยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็ง การศึกษาทางระบาดวิทยาทั้งแบบทดลองและแบบไม่มีการทดลองได้เสนอแนะว่าชาเขียวอาจมีผลในการป้องกันมะเร็ง

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินความเชื่อมโยงที่เป็นไปได้ระหว่างการบริโภคชาเขียวกับความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งและการตายในฐานะผลลัพธ์หลัก และข้อมูลด้านความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตในฐานะผลลัพธ์รอง

วิธีการสืบค้น: 

เราค้นหาการศึกษาที่เข้าเกณฑ์จนถึงเดือนมกราคม 2019 ใน CENTRAL, MEDLINE, Embase, ClinicalTrials.gov และรายการอ้างอิงของการทบทวนก่อนหน้าและการศึกษาที่รวม

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวมการศึกษาทางระบาดวิทยา การทดลอง (เช่น การทดลองแบบสุ่มตัวอย่าง (RCTs)) และไม่มีการทดลอง (การศึกษาที่ไม่สุ่มตัวอย่าง เช่น การศึกษาเชิงสังเกตที่มีทั้งการออกแบบการศึกษาเป็น cohort and case-contro) ที่ตรวจสอบความสัมพันธ์ของการบริโภคชาเขียวกับความเสี่ยงมะเร็งหรือคุณภาพชีวิตหรือทั้งสองอย่าง

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ทบทวน 2 คนหรือมากกว่าใช้เกณฑ์การศึกษา ดึงข้อมูล และประเมินคุณภาพระเบียบวิธีของการศึกษาอย่างอิสระ เราสรุปผลตามการวินิจฉัยชนิดของมะเร็ง

ผลการวิจัย: 

ในการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมนี้ เรารวมการศึกษาที่เสร็จสิ้นแล้วทั้งหมด 142 ฉบับ (การทดลอง 11 ฉบับและแบบไม่ใช่การทดลอง 131 ฉบับ) และการศึกษาที่กำลังทำอยู่ 2 ฉบับ นี่เป็นการเพิ่มการศึกษาแบบทดลอง10 ฉบับและการศึกษาที่ไม่มีการทดลอง 85 ฉบับจากการศึกษาที่รวมอยู่ในการทบทวนฉบับก่อนหน้า

การศึกษาทดลอง 11 ฉบับได้จัดสรรผู้เข้าร่วมทั้งหมด 1795 คนให้กับสารสกัดจากชาเขียวหรือยาหลอก ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงคุณภาพของระเบียบวิธีในระดับสูงโดยพิจารณาจากการประเมิน 'ความเสี่ยงของอคติ' สำหรับเหตุการณ์มะเร็งต่อมลูกหมาก อัตราส่วนความเสี่ยงโดยสรุป (RR) ในผู้เข้าร่วมที่เสริมชาเขียวคือ 0.50 (ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) 0.18 ถึง 1.36) จากการศึกษา 3 ฉบับ และผู้เข้าร่วม 201 คน (หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) RR สรุป สำหรับมะเร็งทางนรีเวชคือ 1.50 (95% CI 0.41 ถึง 5.48; การศึกษา 2 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 1157 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) ไม่มีหลักฐานของผลกระทบของมะเร็งผิวหนังชนิดที่ไม่ไช่ melanoma (non-melanoma skin cancer) (RR สรุป 1.00, 95% CI 0.06 ถึง 15.92; การศึกษา 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 1075 คน; หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำ) นอกจากนี้ยังมีรายงานผลข้างเคียงของการบริโภคสารสกัดจากชาเขียว คือ ความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร เอนไซม์ตับสูง และอาการนอนไม่หลับ ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น และปฏิกิริยาทางผิวหนัง/ใต้ผิวหนัง การบริโภคสารสกัดจากชาเขียวทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับยาหลอก จากการศึกษาทดลอง 3 ฉบับ

ในการศึกษาที่ไม่มีการทดลอง เรารวบรวมผู้เข้าร่วมกว่า 1,100,000 คนจากการศึกษาแบบ cohort 46 ฉบับ และการศึกษาแบบ case-control 85 ฉบับ ซึ่งมีคุณภาพโดยเฉลี่ยในระดับกลางถึงสูงตามการประเมิน 'ความเสี่ยงของอคติ' ของ Newcastle-Ottawa Scale เมื่อเปรียบเทียบการบริโภคชาเขียวสูงสุดกับปริมาณต่ำสุด เราพบอุบัติการณ์มะเร็งโดยรวมที่ต่ำกว่า ( RR สรุป 0.83, 95% CI 0.65 ถึง 1.07) จากการศึกษา 3 ฉบับ ซึ่งมีผู้เข้าร่วม 52,479 คน (หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) ในทางกลับกัน เราไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคชาเขียวกับการตายที่เกี่ยวข้องกับมะเร็ง ( RR สรุป 0.99, 95% CI 0.91 ถึง 1.07) จากการศึกษา 8 ฉบับ และผู้เข้าร่วม 504,366 คน (หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ)

สำหรับมะเร็งที่จำเพาะเจาะจงส่วนใหญ่ เราสังเกตพบ RR ที่ลดลงในการบริโภคชาเขียวปริมาณสูงสุด เมื่อเทียบกับการบริโภคชาเขียวปริมาณที่ต่ำที่สุด หลังจากแบ่งชั้นการวิเคราะห์ตามการออกแบบการศึกษา เราพบผลลัพธ์ที่ขัดแย้งกันอย่างมากสำหรับงมะเร็งบางตำแหน่ง: มะเร็งหลอดอาหาร ต่อมลูกหมาก และมะเร็งทางเดินปัสสาวะ และมะเร็งเม็ดเลือดขาวพบ RR เพิ่มขึ้นในการศึกษาแบบ cohort และ RR ลดลงหรือไม่มีความแตกต่างในการศึกษาแบบ case-control

บันทึกการแปล: 

แปลโดย พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว Edit โดย ผกากรอง 21 ธันวาคม 2022

Tools
Information