วิธีการเพื่อป้องกันและลดการใช้เครื่องพันธนาการทางกายภาพสำหรับผู้สูงอายุในสถานดูแลระยะยาวทั้งหมด

การทบทวนนี้ศึกษาอะไร

เครื่องพันธนาการทางกายภาพ (PR) เป็นอุปกรณ์ที่ป้องกันไม่ให้บุคคลเคลื่อนร่างกายไปยังตำแหน่งที่ต้องการได้อย่างอิสระ ตัวอย่างได้แก่ ราวข้างเตียง เข็มขัด และโต๊ะที่ยึดตายตัว ซึ่งป้องกันไม่ให้ผู้คนลุกจากเตียงหรือเก้าอี้ การใช้ PR สำหรับผู้สูงอายุที่เป็นโรคสมองเสื่อมหรือเดินได้ไม่ดีนั้นมักใช้บ่อยเมื่อได้รับการดูแลในสถานสงเคราะห์หรือแม้แต่ในบ้านของตนเอง เหตุผลหลักสำหรับการใช้ PR คือพยายามป้องกันการล้มโดยไม่ได้ตั้งใจและการบาดเจ็บที่เกี่ยวข้องกับการล้ม หรือเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้คนเดินเข้าไปในห้องของผู้อื่น หรือการเดินไปมาโดยไม่มีใครสังเกตเห็น และทำให้ตนเองหรือผู้อื่นตกอยู่ในความเสี่ยง

เป็นที่สงสัยว่าการใช้ PR เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการล้มหรือการบาดเจ็บที่เกี่ยวข้องกับการล้มหรือไม่ ที่จริงแล้ว การทำให้ผู้คนใช้เวลาอยู่กับที่มากขึ้น อาจส่งผลให้ปัญหาการเดินแย่ลง และเพิ่มความเสี่ยงต่อการล้มได้ นอกจากนี้ยังอาจเพิ่มความรู้สึกกลัว โกรธ และไม่สบายใจ และลดความเป็นอยู่ที่ดี ผลที่ตามมาโดยไม่ได้ตั้งใจอื่นๆ ได้แก่ ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของแผลกดทับและการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ และการบาดเจ็บที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการใช้ PR ในบางประเทศ การใช้ PR ถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายในสถานการณ์ส่วนใหญ่ และแนวปฏิบัติแนะนำว่าควรลดหรือหยุดการใช้ PR

เราต้องการค้นพบอะไร

เราต้องการทราบว่ามาตรการใดมีประสิทธิผลมากที่สุดในการป้องกันหรือลดการใช้ PR สำหรับผู้สูงอายุที่ได้รับการดูแลระยะยาวทั้งในสถานดูแลหรือที่บ้าน วิธีการเพื่อป้องกันและลดการใช้ PR โดยทั่วไปจะรวมถึงการให้ความรู้และการฝึกอบรมสำหรับเจ้าหน้าที่พยาบาล และอาจรวมถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายและวิธีการดูแล

เราทำอะไรไปบ้าง

เราปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมที่เผยแพร่ครั้งล่าสุดในปี 2011 เราค้นหาการทดลองที่ตรวจสอบวิธีการที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดหรือป้องกันการใช้ PR ในผู้สูงอายุที่ได้รับการดูแลระยะยาว การทดลองต้องมีกลุ่มเปรียบเทียบที่เป็นผู้ที่ไม่ได้รับวิธีการใดๆ (กลุ่มควบคุม) เรารวมการศึกษา 11 ฉบับ ทั้งหมดดำเนินการในสถานดูแลระยะยาว (บ้านพักคนชราและสถานบริบาล) อายุเฉลี่ยของผู้ที่อยู่ในการศึกษาคือประมาณ 85 ปี ในการศึกษาส่วนใหญ่ วิธีการที่ได้รับการทดสอบจะถูกเปรียบเทียบกับการดูแลตามปกติ แม้ว่าในการศึกษา 2 ฉบับ ผู้จัดการสถานดูแลคนชราในกลุ่มควบคุมยังได้รับข้อมูลเพิ่มเติมบางอย่างเกี่ยวกับ PR ด้วย

การศึกษา 4 ฉบับ ทดสอบวิธีการแบบ organisational interventions ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเปลี่ยนนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อให้เจ้าหน้าที่พยาบาลใช้ PR น้อยลงหรือไม่ใช้เลย ส่วนสำคัญของวิธีการเหล่านี้คือการฝึกอบรม 'ผู้ชนะเลิศ' เพื่อสนับสนุนพนักงานที่เหลือในการหลีกเลี่ยงการใช้ PR การศึกษา 6 ฉบับทดสอบวิธีกาที่ซับซ้อนน้อยกว่าที่ให้การศึกษาโดยตรงกับเจ้าหน้าที่พยาบาล การศึกษา 1 ฉบับ ให้เจ้าหน้าที่พยาบาลประเมินความเสี่ยงการพลัดตกของผู้อยู่อาศัยเป็นรายบุคคลโดยเฉพาะ

เราพบหลักฐานอะไร

ผลลัพธ์หลักที่เราสนใจคือจำนวนคนที่ถูกควบคุมอย่างน้อย 1 ครั้งในระหว่างการศึกษา เราพบว่า วิธีการแบบ organisational interventions อาจนำไปสู่การลดจำนวนผู้ถูกพันธนาการ และลดจำนวนผู้ถูกพันธนาการด้วยเข็มขัดลลงอย่างมาก การศึกษา 1 ฉบับ รายงานว่าผู้อยู่อาศัยได้รับอันตรายใดๆ ในระหว่างระยะเวลาการศึกษาหรือไม่ และพบว่าไม่มีรายงานเหตุการณ์ที่เป็นอันตราย เราไม่พบหลักฐานใดๆ ที่แสดงว่าวิธีการดังกล่าวสร้างความแตกต่างให้กับจำนวนผู้ที่ล้มอย่างน้อย 1 ครั้งหรือได้รับบาดเจ็บที่เกี่ยวข้องกับการล้มอย่างน้อย 1 ครั้ง หรือจำนวนผู้ที่ได้รับการสั่งยาเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การศึกษาเหล่านี้ส่วนใหญ่ดำเนินการและรายงานอย่างดี

สำหรับวิธีการที่เป็นการให้ความรู้แบบง่ายๆ พบว่าคุณภาพของการศึกษาและความสามารถในการรายงานนั้นแตกต่างกัน และสิ่งนี้ส่งผลต่อความมั่นใจของเราในผลลัพธ์ ผลการศึกษาไม่สอดคล้องกัน ดังนั้นเราจึงไม่สามารถสรุปใดๆ เกี่ยวกับผลกระทบของวิธีการประเภทนี้ต่อการใช้ PR ไม่มีการศึกษาใดรายงานเหตุการณ์ที่เป็นอันตราย ขอย้ำอีกครั้ง เราไม่พบหลักฐานใดๆ ที่แสดงว่าวิธีการดังกล่าวสร้างความแตกต่างให้กับจำนวนผู้ที่ล้มอย่างน้อย 1 ครั้งหรือได้รับบาดเจ็บจากการล้มอย่างน้อย 1 ครั้ง และเราไม่สามารถมั่นใจถึงผลต่อการสั่งยาได้

จากผลการศึกษา 1 ฉบับ การแจ้งเจ้าหน้าที่พยาบาลเกี่ยวกับความเสี่ยงส่วนบุคคลของผู้อยู่อาศัยในการล้มอาจไม่นำไปสู่การลดการใช้ PR เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม

บทสรุปคืออะไร

วิธีการแบบ organisational interventions ที่มุ่งเป้าไปที่การลดการใช้ PR ผ่านการเปลี่ยนแปลงนโยบายและแนวปฏิบัติในสถานดูแลคนชราอาจมีประสิทธิผลในการลดจำนวนผู้ถูกพันธนาการโดยรวม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เข็มขัด การลดการพันธนาการไม่ได้ทำให้มีจำนวนผู้หกล้มมากขึ้น เราไม่แน่ใจว่าการให้ความรู้แบบง่ายๆ ลดการใช้เครื่องพันธนาการทางกายภาพหรือไม่ และวิธีการที่เป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงในการพลัดตกของผู้อยู่อาศัยอาจส่งผลต่อการใช้เครื่องพันธนาการทางกายภาพเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างเลย หลักฐานทั้งหมดมาจากการศึกษาในสถานดูแลคนชรา และอาจใช้ไม่ได้กับการดูแลในบ้านของตนเอง

หลักฐานนี้เป็นปัจจุบันแค่ไหน

หลักฐานเป็นข้อมูลล่าสุดจนถึงวันที่ 4 สิงหาคม 2022

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

วิธีการแบบ organisational interventions ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อใช้นโยบายการพันธนการน้อยที่สุดอาจลดจำนวนผู้ที่มีการใช้ PR อย่างน้อย 1 รายการ และอาจลดจำนวนผู้ที่ใช้เข็มขัดอย่างน้อย 1 เส้น ได้อย่างมาก เราไม่แน่ใจว่าการให้ความรู้แบบง่ายๆ ลดการใช้เครื่องพันธนาการทางกายภาพหรือไม่ และวิธีการที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงในการพลัดตกของผู้อยู่อาศัยอาจส่งผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างเลยในการใช้เครื่องพันธนาการทางกายภาพ ผลลัพธ์เหล่านี้ใช้กับสถานดูแลระยะยาว เราไม่พบการศึกษาในชุมชน

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

เครื่องพันธนาการทางกายภาพ (physical restraints: PR) เช่น ราวกั้นข้างเตียงและเข็มขัดในเก้าอี้หรือเตียง มักใช้สำหรับผู้สูงอายุที่ได้รับการดูแลระยะยาว แม้ว่าจะมีหลักฐานที่ชัดเจนว่าขาดประสิทธิผลและความปลอดภัย และมีคำแนะนำที่แพร่หลายว่าควรหลีกเลี่ยง การทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยของมาตรการป้องกันและลดการใช้เครื่องพันธนาการภายนอกโรงพยาบาล เช่น ในบ้านพักคนชราและชุมชน เป็นการอัปเดตการทบทวนครั้งก่อนของเราที่เผยแพร่ในปี 2011

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินผลกระทบของมาตรการป้องกันและลดการใช้เครื่องพันธนาการสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลระยะยาว (ทั้งที่บ้านหรือในสถานดูแลคนชรา)

วิธีการสืบค้น: 

เราค้นหาใน ALOIS, the Cochrane Dementia and Cognitive Improvement Group's register, MEDLINE (Ovid Sp), Embase (Ovid SP), PsycINFO (Ovid SP), CINAHL (EBSCOhost), Web of Science Core Collection (ISI Web of Science), LILACS (BIREME), ClinicalTrials.gov และ the World Health Organization's meta-register, the International Clinical Trials Registry Portal เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2022

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (randomised controlled trials; RCTs) และการทดลองทางคลินิกแบบควบคุม (controlled clinical trials; CCTs) ที่ตรวจสอบผลของมาตรการที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันหรือลดการใช้เครื่องพันธนาการทางกายภาพในผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลระยะยาว การศึกษาที่ดำเนินการในสถานดูแลคนชราหรือในชุมชน รวมถึงบ้านของผู้ป่วย ตรงตามเกณฑ์การคัดเข้า เรากำหนดมาตรการ (interventions) ทั้งหมดที่รวบรวมมาเป็นหมวดหมู่ตามกลไกและส่วนประกอบ

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ทบทวน 2 คนเลือกบทความเพื่อนำเข้า ดึงข้อมูล และประเมินความเสี่ยงของการมีอคติของการศึกษาที่นำเข้าทั้งหมดอย่างอิสระต่อกัน ผลลัพธ์หลักคือจำนวนหรือสัดส่วนของบุคคลที่มีการใช้เครื่องพันธนาการอย่างน้อย 1 อย่าง และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรงที่เกี่ยวข้องกับการใช้ PR เช่น การเสียชีวิตหรือการบาดเจ็บสาหัส เราทำการวิเคราะห์เมตต้าหากมีข้อมูลที่จำเป็น หากไม่สามารถทำการวิเคราะห์เมตต้าได้ เราจะรายงานผลลัพธ์แบบบรรยาย ใช้วีธี GRADE เพื่อประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐาน

ผลการวิจัย: 

เราพบการศึกษาใหม่ 6 ฉบับ และการศึกษาที่นำเข้า 11 ฉบับ มีผู้เข้าร่วม 19,003 คนในการปรับปรุงการทบทวนนี้ การศึกษาทั้งหมดดำเนินการในสถานดูแลผู้ป่วยระยะยาว การศึกษา 10 ฉบับเป็นการศึกษาแบบ RCTs และ 1 ฉบับ เป็นการศึกษาแบบ CCT การศึกษาทั้งหมดมีผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อม อายุเฉลี่ยของผู้เข้าร่วมคือประมาณ 85 ปี

การศึกษา 4 ฉบับ ศึกษาวิธีการแบบ organisational interventions โดยมีเป้าหมายเพื่อดำเนินนโยบายการใช้เครื่องพันธนาการให้น้อยที่สุด การศึกษา 6 ฉบับ ศึกษาวิธีการที่เป็นการให้ความรู้แบบง่าย (simple educational interventions) และการศึกษา 1 ฉบับทดสอบมาตรการที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงในการล้มของผู้อยู่อาศัยแก่เจ้าหน้าที่ กลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามปกติในการศึกษาส่วนใหญ่เท่านั้น แม้ว่าในการศึกษา 2 ฉบับ จะมีการให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลดการควบคุมทางกายภาพ

เราตัดสินว่ามีความเสี่ยงของการมีอคติสูงหรือไม่ชัดเจนในการคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการ ในการศึกษา 8 ฉบับ ความเสี่ยงของการมีอคติสูงในการรายงานผลลัพธ์ในการศึกษา 1 ฉบับ และความเสี่ยงของการมีอคติไม่ชัดเจนในการศึกษา 8 ฉบับ

วิธีการแบบ organisational interventions ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมนโยบายการใช้เครื่องพันธนาการให้น้อยที่สุดประกอบด้วยองค์ประกอบที่หลากหลาย เช่น การให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ การฝึกอบรม 'ผู้ชนะเลิศ' ของการปฏิบัติที่ใช้เครื่องพันธนาการน้อยที่สุด และองค์ประกอบที่มีจุดมุ่งหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการเปลี่ยนแปลงนโยบายของสถาบันและวัฒนธรรมการดูแล เราพบหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นปานกลางว่าวิธีการแบบ organisational interventions ที่มุ่งเป้าไปที่การดำเนินการตามนโยบายที่ใช้การพันธนาการให้น้อยที่สุดอาจนำไปสู่การลดจำนวนผู้ที่มีการใช้ PR อย่างน้อย 1 ครั้ง (RR 0.86, 95% CI 0.78 ถึง 0.94; ผู้เข้าร่วม 3849 คน, การศึกษา 4 ฉบับ) และการลดลงอย่างมากของจำนวนผู้อยู่อาศัยที่ใช้เข็มขัดรัดอย่างน้อย 1 ครั้ง (RR 0.54, 95% CI 0.40 ถึง 0.73; ผู้เข้าร่วม 2711 คน การศึกษา 3 ฉบับ) ไม่มีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นในการศึกษา 1 ฉบับ ที่รายงานผลลัพธ์นี้ มีหลักฐานจากการศึกษา 1 ฉบับ ว่าวิธีการแบบ organisational interventions อาจลดระยะเวลาในการใช้อุปกรณ์บังคับทางกายภาพ เราพบว่าวิธีการต่างๆ อาจมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อจำนวนการหกล้มหรือการบาดเจ็บที่เกี่ยวข้องกับการล้ม (หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) และอาจมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อจำนวนการรักษาด้วยยาออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท (หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) การศึกษา 1 ฉบับ พบว่า วิธีการแบบ organisational interventions ส่งผลให้เกิดความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างเลยในคุณภาพชีวิต (หลักฐานความเชื่อมั่นสูง) และการศึกษาอีก 1 ฉบับ พบว่าอาจสร้างความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างเลยต่อความกระสับกระส่าย (หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ)

วิธีการที่เป็นการให้ความรู้แบบง่ายๆ มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความรู้และเปลี่ยนทัศนคติของเจ้าหน้าที่ต่อการใช้เครื่องพันธนาการทางกายภาพ (PR) เช่นเดียวกับการให้ความรู้ มาตรการบางอย่างยังรวมถึงองค์ประกอบเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลง เช่น การแนะแนวตามวอร์ด เราพบความไม่สมดุลที่เด่นชัดระหว่างกลุ่มที่พื้นฐานในความชุกของ PR ในการศึกษาบางฉบับ ซึ่งอาจเกิดขึ้นเนื่องจากมีกลุ่มจำนวนน้อยในกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม การศึกษา 1 ฉบับไม่ได้ประเมินราวกั้นเตียง ซึ่งเป็นวิธีการควบคุมที่ใช้บ่อยที่สุดในบ้านพักคนชรา สำหรับจำนวนผู้ที่ถูกพันธนาการอย่างน้อย 1 อย่าง ผลลัพธ์ที่ได้ไม่สอดคล้องกัน เราพบหลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก และเราไม่แน่ใจเกี่ยวกับผลกระทบของวิธีการที่เป็นการให้ความรู้แบบง่ายๆต่อจำนวนผู้ที่มี PR ไม่มีการศึกษาใดที่ประเมินหรือรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรงใดๆ เราพบหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นปานกลางว่าการให้ความรู้แบบธรรมดาอาจส่งผลให้เกิดความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างเลยในความรุนแรงในการบังคับควบคุม และอาจมีผลกระทบเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อการล้ม การบาดเจ็บที่เกี่ยวข้องกับการล้ม หรือการกระสับกระส่าย (หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำในแต่ละข้อ) จากหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมาก เราไม่แน่ใจเกี่ยวกับผลกระทบของการให้ความรู้แบบง่ายๆ ต่อจำนวนผู้เข้าร่วมที่ได้รับยาออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทอย่างน้อย 1 ชนิด

การศึกษา 1 ฉบับ ตรวจสอบมาตรการที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงของการล้มของผู้อยู่อาศัยแก่เจ้าหน้าที่พยาบาล เราพบหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำว่าการให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงของการล้มอาจส่งผลให้มีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างเลยของจำนวน PR เฉลี่ยหรือจำนวนการหกล้ม การศึกษานี้ไม่ได้ประเมินเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์โดยรวม

บันทึกการแปล: 

แปลโดยแพทย์หญิงวิลาสินี หน่อแก้ว เกษมะณี โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี Edit โดย ผกากรอง ลุมพิกานนท์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 23 กรกฏาคม 2024

Tools
Information