เมลาโทนินสำหรับลดความวิตกกังวลก่อนการผ่าตัดและหลังการผ่าตัดในผู้ใหญ่

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม

เราได้ตรวจสอบหลักฐานจากการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมเกี่ยวกับผลของเมลาโทนินต่อความวิตกกังวลก่อนการผ่าตัดและหลังการผ่าตัดในผู้ใหญ่ที่ได้รับการผ่าตัดเมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอกหรือยากล่อมประสาทเบนโซไดอะซีปีน

ที่มาและความสำคัญของปัญหา

ผู้คนมักรู้สึกไม่สบายใจและวิตกกังวลทั้งก่อนและหลังการผ่าตัด ความวิตกกังวลเกิดขึ้นได้ถึงร้อยละ 80 ของผู้เข้ารับการผ่าตัด พวกเขาอาจกังวลเกี่ยวกับความเจ็บป่วย ความจำเป็นในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และความทุพพลภาพ การระงับความรู้สึก การผ่าตัด ความเจ็บปวด และสถานการณ์

ปัจจัยที่มีผลต่อความเสี่ยงต่อความวิตกกังวล ได้แก่ อายุ (คนที่อายุน้อย) เพศหญิง ประเภทการผ่าตัด วิธีการระงับความรู้สึก และความแตกต่างทางวัฒนธรรมและศาสนา การวิตกกังวลอาจนำไปสู่ความเจ็บปวดที่เพิ่มขึ้นและความจำเป็นในการจัดการความเจ็บปวดเพิ่มเติม

วิธีที่ช่วยลดระดับความวิตกกังวล ได้แก่ ยาระงับความรู้สึกกระวนกระวายใจ เช่น เบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) การได้รับข้อมูลและการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพในช่วงเวลาของการผ่าตัด การบำบัดด้วยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม ดนตรีบำบัด และการนวดบำบัด

ยาเบนโซไดอะซีปีน อาจทำให้เกิดปัญหาต่อการทำงานของสมอง เช่น ความยากลำบากในการจดจำ การจดจ่อ และความง่วงนอนในตอนกลางวัน และอาจรบกวนการประสานงานและการเคลื่อนไหวทางกายภาพแม้ใช้ยาในปริมาณแค่เพียงนิดเดียว

เมลาโทนินเป็นฮอร์โมนที่ผลิตในต่อมไพเนียลในสมองซึ่งควบคุมจังหวะของระบบนาฬิกาชีวภาพ (circadian rhythms) ระบบนาฬิกาชีวภาพ คือ การเปลี่ยนแปลงของร่างกายและพฤติกรรมที่เป็นไปตามวัฏจักรประจำวันและช่วยกำหนดรูปแบบการนอนหลับ จากการศึกษาพบว่าเมลาโทนินสามารถลดความวิตกกังวลได้ เมลาโทนินทำให้เกิดปัญหาต่อการทำงานของสมองเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย และไม่มีผลข้างเคียงที่ร้ายแรง ซึ่งหมายความว่าอาจเป็นทางเลือกที่คุ้มค่าสำหรับการรักษาพยาบาล

ช่วงเวลาที่สืบค้น

หลักฐานสำหรับการทบทวนวรรณกรรมที่ปรับปรังข้อมูลให้เป็นปัจจุบันนี้เป็นข้อมูลจนถึงเดือนกรกฎาคม 2020

ลักษณะของการศึกษา

เราพบการศึกษาแบบสุ่มจำนวน 27 รายการ ที่เกี่ยวข้องกับผู้เข้าร่วมวัยผู้ใหญ่จำนวน 2319 คน ซึ่งศึกษาผลของเมลาโทนินที่ไห้ก่อนการผ่าตัดต่อระดับความวิตกกังวลทั้งก่อนและหลังการผ่าตัด การศึกษาส่วนใหญ่ดำเนินการในประเทศกำลังพัฒนา เราได้รวบรวมวิธีการผ่าตัดประเภทต่าง ๆ ที่ใช้วิธีการระงับความรู้สึกแบบ ทั่วร่างกาย, ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย หรือ การพ่นหรือทายาชาเฉพาะที่

ปริมาณเมลาโทนิแตกต่างกันตั้งแต่ 3 ถึง 10 มก. หรือตั้งแต่ 0.05 ถึง 0.4 มก./กก. Benzodiazepine (midazolam, oxazepam หรือ alprazolam) มีปริมาณอยู่ในช่วง 0.25 ถึง 15 มก. หรือตั้งแต่ 0.05 ถึง 0.2 มก./กก.

ไม่มีการศึกษาใดที่รายงานว่าได้รับเงินทุนจากผู้ผลิตยาหรือหน่วยงานที่มีผลประโยชน์ทางการค้า

ผลลัพธ์ที่สำคัญ

การศึกษาจำนวน 24 รายการ เปรียบเทียบเมลาโทนินกับยาหลอก และการศึกษา 11 รายการ เปรียบเทียบเมลาโทนินกับยาเบนโซไดอะซีปีน Gabapentin, pregabalin และ clonidine ถูกเปรียบเทียบกับเมลาโทนินในบางการศึกษา

เมลาโทนินช่วยลดความวิตกกังวลก่อนการผ่าตัดเมื่อเทียบกับยาหลอก (การศึกษา 18 รายการ, ผู้เข้าร่วม 1264 คน, หลักฐานมีความเชื่อมั่นปานกลาง)

การลดความวิตกกังวลหลังการผ่าตัดมีเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับยาหลอก (การศึกษา 7 รายการ, ผู้เข้าร่วม 524 คน, หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) รวมถึง ณ เวลาหกชั่วโมงหลังการผ่าตัด (การศึกษา 2 รายการ, ผู้เข้าร่วม 73 คน, หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ)

เมลาโทนินอาจมีผลคล้ายกับเบนโซไดอะซีปีนต่อระดับความวิตกกังวลก่อนการผ่าตัด (การศึกษา 7 รายการ, ผู้เข้าร่วม 409 คน, หลักฐานมีความเชื่อมั่นปานกลาง) และทันทีหลังการผ่าตัด (การศึกษา 3 รายการ, ผู้เข้าร่วม 176 คน, หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ)

การศึกษาจำนวน 14 รายการ ไม่ได้รายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์, การศึกษา 6 รายการ รายงานว่าไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ และการศึกษา 7 รายการ รายงานว่ามีอาการคลื่นไส้ ง่วงนอน เวียนศีรษะ และปวดศีรษะ Benzodiazepines รบกวนการทำงานในด้านความสามารถในการเคลื่อนไหวและการรู้คิดมากกว่ายาหลอกและเมลาโทนิน (ในการศึกษา 11 รายการ) ยากลุ่มนี้ช่วยระงับประสาทได้ดีที่สุด แม้ว่าผลของเมลาโทนินก็สามารถระงับประสาทได้เมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก (การศึกษา 14 รายการ) ไม่มีรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์

คุณภาพของหลักฐาน

เราเชื่อมั่นในระดับปานกลางว่า เมลาโทนินช่วยลดความวิตกกังวลก่อนการผ่าตัดได้เมื่อเทียบกับยาหลอก ผลต่อความวิตกกังวลหลังผ่าตัดทันทีและล่าช้าหลังการผ่าตัดมีความชัดเจนน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก (หลักฐานคุณภาพต่ำ)

เราไม่พบหลักฐานใด ๆ ที่แสดงให้เห็นว่าเมลาโทนินให้ผลแตกต่างจากเบนโซไดอะซีปีนในแง่ความวิตกกังวล (หลักฐานคุณภาพระดับปานกลางและต่ำ)

ยังมีความไม่ชัดเจนว่า ผลในการลดความวิตกกังวลของเมลาโทนินสามารถใช้ได้กับผู้ป่วยผ่าตัดทุกรายหรือไม่

บทสรุป

การให้เมลาโทนินก่อนการผ่าตัดอาจช่วยลดความวิตกกังวลก่อนการผ่าตัดได้อย่างมีประสิทธิผล แต่การลดความวิตกกังวลหลังการผ่าตัดด้วยเมลาโทนินนั้นยังมีความไม่ชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

เมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก เมลาโทนินที่ให้รับประทานก่อนการผ่าตัด (เป็นยาเม็ด หรือ อมใต้ลิ้น) อาจช่วยลดความวิตกกังวลก่อนการผ่าตัดในผู้ใหญ่ได้ (ประเมิน 50 ถึง 120 นาทีหลังการให้ยา) ซึ่งอาจเป็นผลลัพธ์ที่มีความหมายในทางคลินิก ผลของเมลาโทนินต่อความวิตกกังวลหลังผ่าตัดเมื่อเทียบกับยาหลอก (วัดในห้องพักฟื้น และ หกชั่วโมงหลังการผ่าตัด) ก็เห็นได้ชัดเช่นกัน แต่มีผลที่น้อยกว่ามากและผลการศึกษาที่พบนี้ยังมีความไม่ชัดเจนถึงผลต่อทางคลินิก มีความวิตกกังวลเล็กน้อยหรือไม่มีเลยเมื่อเปรียบเทียบระหว่างเมลาโทนินกับเบนโซไดอะซีปีน ดังนั้นเมลาโทนินอาจมีผลคล้ายกับเบนโซไดอะซีปีนในการลดความวิตกกังวลก่อนการผ่าตัดและหลังการผ่าตัดในผู้ใหญ่

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

ความวิตกกังวลเกี่ยวกับการผ่าตัดเป็นปัญหาที่รู้จักกันดี เมลาโทนินเป็นการรักษาทางเลือกสำหรับใช้แทนกลุ่มยาเบนโซไดอะซีปีนสำหรับการแก้ไขภาวะนี้ในช่วงก่อนผ่าตัดและหลังผ่าตัด

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินผลของเมลาโทนินต่อความวิตกกังวลก่อนการผ่าตัดและหลังผ่าตัดเปรียบเทียบกับยาหลอกหรือเบนโซไดอะซีปีน

วิธีการสืบค้น: 

เราสืบค้นหลักฐานจากฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ดังต่อไปนี้เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2020: CENTRAL, MEDLINE, Embase, CINAHL และ Web of Science สำหรับการทดลองและโปรโตคอลที่กำลังดำเนินอยู่เราได้ค้นหลักฐานจาก Clinicaltrials.gov และ World Health Organization (WHO) International Clinical Trials Registry Platform

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เราได้รวบรวมการศึกษาแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมที่ได้รับยาหลอกหรือการรักษาตามมาตรฐาน (หรือทั้งสองอย่าง) ซึ่งประเมินผลของเมลาโทนินที่ให้ก่อนการผ่าตัดต่อความวิตกกังวลก่อนการผ่าตัดหรือหลังการผ่าตัด เรารวบรวมผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่ของทั้งสองเพศ (อายุ 15 ถึง 90 ปี) ที่ได้รับการผ่าตัดทุกประเภทซึ่งจำเป็นต้อง่ใช้วิธีการระงับความรู้สึกแบบ ทั่วร่างกาย, ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย หรือ การพ่นหรือทายาชาเฉพาะที่

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ประพันธ์การทบทวนคนหนึ่งทำการแยกข้อมูลที่ซ้ำซ้อนกัน ข้อมูลที่แยกออกมาประกอบด้วยข้อมูลเกี่ยวกับ รูปแบบการศึกษา ประเทศที่ทำการศึกษา จำนวนผู้เข้าร่วมการศึกษา และรายละเอียดทั่วไปของตัวอย่าง ประเภทของการผ่าตัด ประเภทของการระงับความรู้สึก วิธีการที่ใช้และปริมาณยาที่ให้ วิธีการวัดผลลัพธ์ความวิตกกังวลก่อนและหลังการผ่าตัด

ผลการวิจัย: 

เราได้รวบรวมการทดลองแบบสุ่มที่มีควบคุม (RCTs) 27 การศึกษา ซึ่งมีจำนวนผู้เข้าร่วมจำนวน 2319 คน ซึ่งทำการประเมินผลของเมลาโทนินในการรักษาความวิตกกังวลก่อนการผ่าตัด ความวิตกกังวลหลังการผ่าตัด หรือทั้งสองอย่าง

การศึกษาจำนวน 24 รายการ เปรียบเทียบผลระหว่างเมลาโทนินกับยาหลอก การศึกษา 11 รายการ เปรียบเทียบเมลาโทนินกับเบนโซไดอะซีปีน (การศึกษา 7 รายการเปรียบเทียบกับมิดาโซแลม (midazolam), การศึกษา 3 รายการเปรียบเทียบกับอัลปราโซแลม (alprazolam) และ การศึกษา 1 รายการเปรียบเทียบกับออกซาซีแพม (oxazepam)) ตัวเปรียบเทียบอื่น ๆ เจอในการศึกษาจำนวนเล็กน้อย ได้แก่ กาบาเพนติน (gabapentin) โคลนิดีน (clonidine) และพรีกาบาลิน (pregabalin)

ไม่มีการศึกษาใดที่ตัดสินว่ามีความเสี่ยงต่ำในการเกิดอคติสำหรับทุกโดเมน การศึกษาส่วนใหญ่ถูกตัดสินว่ามีความเสี่ยงที่ไม่ชัดเจนในการเกิดอคติโดยรวม การศึกษาจำนวน 8 รายการ ได้รับการตัดสินว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอคติในหนึ่งโดเมนขึ้นไปดังนั้นจึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอคติโดยรวม

การเปรียบเทียบระหว่างเมลาโทนิน กับ ยาหลอก

เมลาโทนินอาจส่งผลให้ความวิตกกังวลก่อนการผ่าตัดลดลงซึ่งวัดโดย visual analogue scale (VAS, 0 ถึง 100 มม.) เมื่อเทียบกับยาหลอก (ความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ย (MD) -11.69, ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) -13.80 ถึง -9.59; การศึกษา 18 รายการ, ผู้เข้าร่วม 1264 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นปานกลาง), ผลจากการวิเคราะห์เมตต้าของการศึกษา 18 รายการ

เมลาโทนินอาจลดความวิตกกังวลหลังการผ่าตัดทันทีที่วัดได้จาก VAS 0 ถึง 100 มม. เมื่อเทียบกับยาหลอก (MD -5.04, 95% CI -9.52 ถึง -0.55; การศึกษา 7 รายการ, ผู้เข้าร่วม 524 คน, หลักฐานมีความเชื่อมั่นระดับต่ำ) และอาจลดความวิตกกังวลหลังการผ่าตัดที่ล่าช้า ณ เวลาหกชั่วโมงหลังการผ่าตัดโดยใช้ State-Trait Anxiety Inventory (STAI) ในการวัด (MD -5.31, 95% CI -8.78 ถึง -1.84; การศึกษา 2 รายการ, ผู้เข้าร่วม 73 คน, หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ)

การเปรียบเทียบระหว่างเมลาโทนินเทียบ กับ เบนโซไดอะซีปีน (มิดาโซแลม และ อัลปราโซแลม)

เมลาโทนินอาจส่งผลให้ความวิตกกังวลก่อนการผ่าตัดแตกต่างกันเล็กน้อยหรือไม่มีเลยซึ่งวัดได้จาก VAS 0 ถึง 100 มม. (MD 0.78, 95% CI -2.02 ถึง 3.58; การศึกษา 7 รายการ, ผู้เข้าร่วม 409 คน, หลักฐานมีความเชื่อมั่นปานกลาง) และอาจมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย ในภาวะวิตกกังวลหลังการผ่าตัดทันที (MD -2.12, 95% CI -4.61 ถึง 0.36; การศึกษา 3 รายการ, ผู้เข้าร่วม 176 คน, หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ)

เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์

การศึกษาจำนวน 14 รายการ ไม่ได้รายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ การศึกษาจำนวน 6 รายการ รายงานโดยเฉพาะว่าไม่พบผลข้างเคียง และการศึกษาที่เหลืออีก 7 รายการ รายงานว่ามีอาการคลื่นไส้ ง่วงนอน เวียนศีรษะ และปวดศีรษะ อย่างไรก็ตามไม่มีรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรง การศึกษาจำนวน 11 รายการ ความสามารถในการเคลื่อนไหว และ ความสามารถในการรู้คิด หรือทั้งสองอย่าง และโดยทั่วไปการศึกษาเหล่านี้พบว่า benzodiazepines ทำให้ความสามารถในการเคลื่อนไหวและการรู้คิดบกพร่องมากกว่ายาหลอกและเมลาโทนิน การศึกษา 14 รายการ ประเมินการระงับประสาท โดยทั่วไปพบว่า benzodiazepines ทำให้เกิดการระงับประสาทในระดับสูงสุด แต่เมลาโทนินยังแสดงคุณสมบัติในการกล่อมประสาทเมื่อเทียบกับยาหลอก การศึกษาหลายฉบับไม่ได้รายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ ดังนั้นจึงไม่สามารถสรุปได้อย่างแน่ชัดจากข้อมูลเกี่ยวกับผลข้างเคียงที่รวบรวมในการทบทวนวรรณกรรมนี้พบว่าเมลาโทนินสามารถต้านฤทธิ์ได้ดีกว่าเบนโซไดอะซีปีน

บันทึกการแปล: 

แปลโดย อ.ศิวานนท์ รัตนะกนกชัย สาขาวิชาวิทยาการระบาดและชีวสถิติ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อ วันที่ 18 ธันวาคม 2020

Tools
Information