ใจความสำคัญ
• เนื่องจากขาดหลักฐานที่แน่ชัด ประโยชน์และความเสี่ยงของคลอเฮกซิดีนในแอลกอฮอล์เมื่อเปรียบเทียบกับโพวิโดน-ไอโอดีน (PI) ในฐานะสารละลายฆ่าเชื้อสำหรับการใส่สายสวนในเส้นเลือดส่วนกลางในทารกแรกเกิดนั้นไม่ชัดเจน
• การใช้โพวิโดนในทารกที่คลอดก่อนกำหนดอาจลดระดับไทรอยด์ฮอร์โมน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการ
• จำนวนการศึกษาที่จำกัดและการขาดการศึกษาจากประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางลดความเชื่อมั่นของเราในความแน่นอนและการนำไปหลักฐานนี้ไปใช้
สายสวนหลอดเลือดคืออะไร
ทารกที่ต้องการการดูแลอย่างเข้มข้นอาจต้องใส่สายสวนพิเศษที่เรียกว่าสายสวนกลางเข้าไปในหลอดเลือด จำเป็นต้องใช้สายสวนกลางด้วยเหตุผลหลายประการรวมถึงการให้ยาและสารอาหาร สายสวนกลางเหล่านี้มีความสำคัญ แต่สามารถนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนต่างๆ
การติดเชื้อในกระแสเลือดที่เกี่ยวข้องกับสายสวน (CRBSI) และการติดเชื้อในกระแสเลือดที่เกี่ยวข้องกับสายสวนกลาง (CLABSI) คืออะไร
การติดเชื้อร้ายแรงเป็นหนึ่งในภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยที่สุดของการใส่สายสวนกลาง การติดเชื้อที่มีต้นกำเนิดหรืออาจเกิดจากสายสวนกลางเรียกว่า CRBSI และ CLABSI ตามลำดับ การติดเชื้อเหล่านี้สามารถป้องกันได้โดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อบนผิวหนังก่อนใส่สายสวน
เราต้องการค้นหาอะไร
เราสนใจที่จะทราบว่าน้ำยาฆ่าเชื้อชนิดใดดีที่สุดใน:
• การป้องกัน CRBSI/CLABSI;
• ลดอัตราการติดเชื้อในเลือด;
• ป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อโรคภายในสายสวนกลาง
นอกจากนี้ เรายังสนใจที่จะทราบว่าการใช้สารละลายเหล่านี้เพิ่มความเสี่ยงต่อการระคายเคืองต่อสารเคมีบนผิวหนังของเด็กเล็กหรือทำให้เกิดผลเสียอื่นๆ หรือไม่
ผู้วิจัยทำการศึกษาอย่างไร
เราค้นหาการทดลองที่เปรียบเทียบ:
• น้ำยาฆ่าเชื้อประเภทต่างๆ หรือ
• ความเข้มข้นต่างกันของน้ำยาฆ่าเชื้อชนิดเดียวกัน
เราเปรียบเทียบและสรุปผลลัพธ์ และให้คะแนนความเชื่อมั่นของเราในหลักฐาน โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น วิธีและขนาดการศึกษา
ผู้วิจัยพบอะไร
เราพบการทดลอง 3 ฉบับ: 1 ฉบับจากสหรัฐอเมริกา 1 ฉบับจากสหราชอาณาจักร และ 1 ฉบับจากไอร์แลนด์ การทดลองเหล่านี้เกี่ยวข้องกับทารก 466 คนและดำเนินการในหอผู็ป่วยทารกแรกเกิดวิกฤต การทดลอง 2 ฉบับเปรียบเทียบ PI 10% กับคลอเฮกซิดีน 2% ในไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ 70% การทดลองที่ 3 เปรียบเทียบการเตรียมคลอร์เฮกซิดีนที่แตกต่างกันสองแบบ: สารละลายที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบหลัก และสารละลายที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบหลัก การทดลองทั้งหมดเกี่ยวข้องกับทารกเกิดก่อนกำหนดที่เกิดระหว่าง 26 ถึง 35 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ และมีน้ำหนักแรกเกิดระหว่าง 1000 กรัม ถึง 2000 กรัม ไม่มีการศึกษาใดได้รับทุนจากบริษัทยา
ผลลัพธ์หลัก
ในการทดลองเปรียบเทียบคลอเฮกซิดีน 2% ในแอลกอฮอล์ 70% (CHG-IPA) กับ PI:
• เมื่อเปรียบเทียบกับ PI การใช้ CHG-IPA อาจส่งผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างใน CRBSI (การศึกษา 2 ฉบับ ทารก 352 คน) และการเสียชีวิต (การทดลอง 1 ฉบับ ทารก 304 คน) ไม่ชัดเจนว่า CHG-IPA ช่วยลดการไหม้ของผิวหนังและ CLABSI (การทดลอง 2 ฉบับ ทารก 352 คน)
• การใช้ 10% PI อาจรบกวนการผลิตไทรอยด์ฮอร์โมน (การทดลอง 1 ฉบับ ทารก 304 คน)
เมื่อเทียบกับคลอเฮกซิดีนที่เป็นน้ำ คลอเฮกซิดีนที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบอาจส่งผลให้เกิดความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยในอัตรา CRBSI และ CLABSI ที่พิสูจน์แล้ว และอาจส่งผลให้เกิดความแตกต่างของการระคายเคืองต่อผิวหนังเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย (การทดลอง 1 ฉบับ ทารก 114 คน)
ข้อจำกัด ของหลักฐานคืออะไร
เมื่อเทียบกับ PI เรามีความมั่นใจเพียงเล็กน้อยว่าคลอเฮกซิดีนสามารถป้องกัน CRBSI, CLABSI หรือเสียชีวิตได้ดีกว่า และเราไม่มั่นใจในหลักฐานที่แสดงว่าคลอเฮกซิดีนดีกว่า PI สำหรับผลลัพธ์อื่นๆ การศึกษาที่รวบรวมมีขนาดเล็กและผู้ที่เกี่ยวข้องในการศึกษาทราบชนิดของน้ำยาที่ทารกได้รับ ซึ่งอาจส่งผลต่อผลลัพธ์
ความเป็นปัจจุบันของการทบทวนวรรณกรรมนี้
หลักฐานเป็นปัจจุบันถึงวันที่ 22 เมษายน 2022
จากหลักฐานในปัจจุบัน เมื่อเปรียบเทียบกับ PI CHG-IPA อาจส่งผลให้ CRBSI และการเสียชีวิตมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย หลักฐานไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับผลกระทบของ CHG-IPA ต่อ CLABSI และการไหม้จากสารเคมี การทดลอง 1 ฉบับแสดงให้เห็นว่าความผิดปกติของต่อมไทรอยด์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อใช้ PI เทียบกับ CHG-IPA
หลักฐานบ่งชี้ว่า CHG-IPA อาจส่งผลให้เกิดความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยในอัตราของ CRBSI และ CLABSI ที่พิสูจน์แล้วเมื่อทาบนผิวหนังของทารกแรกเกิดก่อนการใส่สายสวนส่วนกลาง เมื่อเทียบกับ CHG-A แล้ว CHG-IPA อาจมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างในการเกืดการไหม้จากสารเคมีและการถอดสายสวนออกก่อนเวลาอันควร
จำเป็นต้องมีการทดลองเพิ่มเติมเพื่อเปรียบเทียบน้ำยาฆ่าเชื้อที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง ก่อนที่จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
สายสวนหลอดเลือดดำส่วนกลาง (CVC) เกี่ยวข้องกับภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตราย เช่น การเกิดลิ่มเลือด เลือดออกที่เยื่อหุ้มหัวใจ การรั่วของหลอดเลือด และการติดเชื้อในทารกแรกเกิด สายสวนที่อยู่ภายในร่างกายเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงหลักสำหรับการติดเชื้อในโรงพยาบาล การใช้น้ำยาฆ่าเชื้อผิวหนังในระหว่างการเตรียมการใส่สายสวนส่วนกลางอาจป้องกันการติดเชื้อในกระแสเลือดที่เกี่ยวข้องกับสายสวน (CRBSI) และการติดเชื้อในกระแสเลือดที่เกี่ยวข้องกับสายสวนส่วนกลาง (CLABSI) อย่างไรก็ตาม ยังไม่ชัดเจนว่าน้ำยาฆ่าเชื้อชนิดใดดีที่สุดในการป้องกันการติดเชื้อโดยมีผลข้างเคียงน้อยที่สุด
เพื่อประเมินความปลอดภัยและประสิทธิภาพของน้ำยาฆ่าเชื้อที่แตกต่างกันอย่างเป็นระบบในการป้องกัน CRBSI และผลลัพธ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในทารกแรกเกิดที่มี CVC
เราค้นหา CENTRAL, MEDLINE, Embase และการลงทะเบียนการทดลองจนถึง 22 เมษายน 2022 เราตรวจสอบรายการอ้างอิงของการทดลองที่รวบรวมไว้และการทบทวนอย่างเป็นระบบที่เกี่ยวข้องกับวิธีการที่ใช้ (interventions) รือประชากรที่ตรวจสอบใน Cochrane Review นี้
การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) หรือ Cluster-RCTs มีสิทธิ์ได้รับการรวมในการทบทวนวรรณกรรมนี้ หากดำเนินการในหออภิบาลทารกแรกเกิด (NICU) และกำลังเปรียบเทียบน้ำยาฆ่าเชื้อใดๆ (เดี่ยวหรือผสม) กับน้ำยาฆ่าเชื้อชนิดอื่นๆ หรือไม่มีน้ำยาฆ่าเชื้อหรือยาหลอกเพื่อเตรียมใส่สายสวนส่วนกลาง เราไม่รวม quasi-RCT และ cross-over trials
เราใช้วิธีการมาตรฐานของ Cochrane Neonatal เราใช้วิธี GRADE เพื่อประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐาน
เรารวมการทดลองสามเรื่องที่มีการเปรียบเทียบสองแบบที่แตกต่างกัน: คลอเฮกซิดีน 2% ในไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ 70% (CHG-IPA) เทียบกับ 10% โพวิโดน-ไอโอดีน (PI) (การทดลอง 2 ฉบับ); และ CHG-IPA เทียบกับคลอร์เฮกซิดีน 2% ในสารละลายที่เป็นน้ำ (CHG-A) (การทดลอง 1 ฉบับ) มีการประเมินทารกแรกเกิดทั้งหมด 466 คนจาก NICU ระดับ III การศึกษาที่รวบรวมมาทั้งหมดมีความเสี่ยงของอคติสูง ความเชื่อมั่นของหลักฐานสำหรับผลลัพธ์หลักและผลลัพธ์รองที่สำคัญบางรายการมีตั้งแต่ต่ำมากไปจนถึงปานกลาง ไม่มีการทดลองที่เปรียบเทียบน้ำยาฆ่าเชื้อผิวหนังกับการไม่ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อผิวหนังหรือยาหลอก
CHG-IPA เทียบกับ 10% PI
เมื่อเปรียบเทียบกับ PI แล้ว CHG-IPA อาจส่งผลให้เกิดความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยใน CRBSI (อัตราส่วนความเสี่ยง (RR) 1.32, ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) 0.53 ถึง 3.25; ความแตกต่างของความเสี่ยง (RD) 0.01, 95% CI −0.03 ถึง 0.06; ทารก 352 คน การทดลอง 2 ฉบับ หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) และการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ (RR 0.88, 95% CI 0.46 ถึง 1.68; RD −0.01, 95% CI −0.08 ถึง 0.06; ทารก 304 คน, การศึกษา 1 ฉบับ, หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) หลักฐานมีความไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับผลกระทบของ CHG-IPA ต่อ CLABSI (RR 1.00, 95% CI 0.07 ถึง 15.08; RD 0.00, 95% CI −0.11 ถึง 0.11; ทารก 48 คน, การทดลอง 1 ฉบับ; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) และการไหม้จากสารเคมี (RR 1.04, 95% CI 0.24 ถึง 4.48; RD 0.00, 95% CI −0.03 ถึง 0.03; ทารก 352 คน, การศึกษา 2 ฉบับ, หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) เปรียบเทียบกับ PI จากการทดลองเดี่ยว ทารกที่ได้รับ CHG-IPA ดูเหมือนจะมีโอกาสเกิดความผิดปกติของต่อมไทรอยด์น้อยกว่าเมื่อเทียบกับ PI (RR 0.05, 95% CI 0.00 ถึง 0.85; RD −0.06, 95% CI −0.10 ถึง −0.02; จำนวนที่จำเป็นในการรักษาสำหรับผลลัพธ์ที่เป็นอันตรายเพิ่มหนึ่งราย (NNTH) 17, 95% CI 10 ถึง 50; ทารก 304 ราย) การทดลองทั้ง 2 ฉบับไม่มีการประเมินผลของการเอาสายสวนออกก่อนกำหนดหรือสัดส่วนของทารกหรือสายสวนที่มีการติดเชื้อที่จุดทางออก
CHG-IPA เทียบกับ CHG-A
หลักฐานบ่งชี้ว่า CHG-IPA อาจส่งผลให้เกิดความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยในอัตรา CRBSI ที่พิสูจน์แล้วเมื่อทาบนผิวหนังของทารกแรกเกิดก่อนการใส่สายกลาง (RR 0.80, 95% CI 0.34 ถึง 1.87; RD −0.05, 95% CI − 0.22 ถึง 0.13 ทารก 106 คน การทดลอง 1 ฉบับ หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) และ CLABSI (RR 1.14, 95% CI 0.34 ถึง 3.84; RD 0.02, 95% CI −0.12 ถึง 0.15; ทารก 106 คน, การทดลอง 1 ฉบับ, หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) เมื่อเทียบกับ CHG-A เมื่อเปรียบเทียบกับ CHG-A แล้ว CHG-IPA อาจให้ผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างในการถอดสายสวนก่อนวัยกำหนด (RR 0.91, 95% CI 0.26 ถึง 3.19; RD −0.01, 95% CI −0.15 ถึง 0.13; ทารก 106 คน, การทดลอง 1 ฉบับ, หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) และการไหม้จากสารเคมี (RR 0.98, 95% CI 0.47 ถึง 2.03; RD −0.01, 95% CI −0.20 ถึง 0.18; ทารก 114 คน, การทดลอง 1 ฉบับ, หลักฐานมีความเชื่อมั่นปานกลาง) ไม่มีการทดลองใดประเมินผลของการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุและสัดส่วนของทารกหรือสายสวนที่มีการติดเชื้อที่จุดทางออก
แปลโดย พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี Edit โดย ผกากรอง 26 พฤศจิกายน 2023