ใจความสำคัญ
การส่งเสริมให้ล้างมืออาจช่วยลดจำนวนครั้งที่เด็กท้องร่วงได้ประมาณ 30% ในชุมชนในประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง และในศูนย์ดูแลเด็กในประเทศที่มีรายได้สูง
เราไม่พบหลักฐานเกี่ยวกับผลกระทบในระยะยาวของโปรแกรมการล้างมือ
อาการท้องร่วงเกิดจากอะไร
“ท้องร่วง” หมายความถึง การบีบตัวของลำไส้มากผิดปกติ หรือการถ่ายอุจจาระเหลวหรือเป็นน้ำ ซึ่งการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือปรสิตในลำไส้ ทำให้เกิดอาการท้องร่วงเฉียบพลัน และส่วนใหญ่มักแพร่กระจายทางน้ำที่ปนเปื้อนอุจจาระที่ติดเชื้อ
อาการท้องร่วงมักจะดีขึ้นในสองสามวัน อย่างไรก็ตามในอาการท้องร่วงที่รุนแรงหรือเป็นเวลานาน น้ำเกลือและสารอาหาร อาจสูญเสียไปจากร่างกาย การสูญเสียนี้อาจทำให้ร่างกายมีภาวะขาดน้ำและถึงขั้นเสียชีวิตได้ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การเสียชีวิตของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี
การป้องกันอาการท้องร่วง
การเสียชีวิตส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับอาการท้องร่วงเกิดจากเชื้อโรคที่ได้มาจากน้ำดื่มที่ไม่สะอาดและการขาดสุขอนามัย การล้างมือด้วยสบู่และน้ำจะช่วยขจัดแบคทีเรีย ไวรัส และปรสิตที่ก่อให้เกิดโรคได้ โครงการและกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ประชาชนล้างมือได้รับการพัฒนาเพื่อใช้ในชุมชนและโรงเรียนรวมถึงการฝึกอบรมด้านสุขอนามัย ป้ายประกาศ แผ่นพับ หนังสือการ์ตูน เพลง และละคร
ทำไมเราถึงทำการทบทวนวรรณกรรมครั้งนี้
เราทราบดีว่าการล้างมือในช่วงเวลาที่เหมาะสมสามารถป้องกันอาการท้องร่วงได้ แต่เราไม่รู้วิธีที่ดีที่สุดในการส่งเสริมการปฏิบัตินี้ เราต้องการทราบว่าโปรแกรมและกิจกรรมที่ได้รับการศึกษาเพื่อจุดประสงค์นี้มีประสิทธิผลในการเพิ่มการล้างมือและลดอาการท้องร่วงหรือไม่
เราทำอะไร
เราค้นหาการศึกษาที่ตรวจสอบการใช้โปรแกรมเพื่อส่งเสริมการล้างมือในชุมชนศูนย์รับเลี้ยงเด็กโรงเรียนโรงพยาบาลและครัวเรือน เราสนใจว่าการมีส่วนร่วมในโครงการนี้ส่งผลต่อจำนวนครั้งที่คนในการศึกษารายงานว่ามีอาการท้องร่วงหรือไม่
เราค้นหาการศึกษาแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม ซึ่งการรักษาที่ได้รับนั้นมาจากการสุ่ม การศึกษาประเภทนี้มักให้หลักฐานที่น่าเชื่อถือที่สุดเกี่ยวกับประสิทธิผลของการรักษา
วันที่สืบค้น
เรารวมหลักฐานที่เผยแพร่จนถึงวันที่ 8 มกราคม 2020
สิ่งที่เราพบ
เราพบการศึกษา 29 รายการ:
การศึกษา 13 รายการ (ใน 54,471 คน) เกิดขึ้นในศูนย์รับเลี้ยงเด็กหรือโรงเรียนในประเทศที่มีรายได้สูงส่วนใหญ่
การศึกษา 15 รายการ (ใน 29,347 คน) เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง และ
การศึกษา 1 รายการ (ใน 148 คน) เป็นการศึกษาในโรงพยาบาล
การศึกษาดูผลของโปรแกรมการล้างมือต่อจำนวนครั้งที่คนในการศึกษารายงานว่ามีอาการท้องร่วง ผลของโปรแกรมติดตามเป็นเวลา 4 เดือน ถึง 1 ปี
ไม่มีการศึกษาใดรายงานผลของโปรแกรมการล้างมือต่อจำนวนผู้เสียชีวิตจากอาการท้องร่วง ว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีเสียชีวิตกี่คน (ไม่ว่าด้วยสาเหตุใด ๆ) หรือผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับโปรแกรมมีมากกว่าค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมหรือไม่
อะไรคือผลลัพธ์หลักของการทบทวนวรรณกรรมของเรา
การศึกษาทั้งหมดเปรียบเทียบผลของโปรแกรมเพื่อกระตุ้นการล้างมือเปรียบเทียบกับไม่มีโปรแกรมใด ๆ เกี่ยวกับการล้างมือ
ในศูนย์ดูแลเด็กเล็กและโรงเรียน: ในประเทศที่มีรายได้สูงการสนับสนุนให้ล้างมือลดจำนวนครั้งที่เด็กท้องเสียได้ (9 การศึกษาเด็ก 4664 คน) และในประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลางอาจลดจำนวนครั้งที่เด็กท้องเสีย (การศึกษา 2 รายการ มีเด็ก 45,380 คน)
ในชุมชนในประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลางการส่งเสริมให้ล้างมืออาจลดจำนวนครั้งที่เด็ก (อายุไม่เกิน 15 ปี) มีอาการท้องร่วง (การศึกษา 9 รายการ มีเด็ก 15,950 คน)
ในผู้ใหญ่ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่เป็นโรคเอดส์การกระตุ้นให้ล้างมืออาจลดจำนวนครั้งที่ท้องเสียและอาจทำให้พฤติกรรมการล้างมือดีขึ้น (ล้างมือบ่อยขึ้น) ในการติดตามผล 1 ปี (การศึกษา 1 รายการ มี 148 คน)
ความน่าเชื่อถือจากผลของการศึกษานี้เป็นอย่างไร
เรามั่นใจว่าในประเทศที่มีรายได้สูงโครงการล้างมือในโรงเรียนและศูนย์ดูแลเด็กช่วยลดจำนวนครั้งที่เด็กท้องเสียได้ ผลลัพธ์นี้ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงได้เมื่อมีหลักฐานมากขึ้น เราไม่ค่อยมีความมั่นใจเกี่ยวกับผลลัพธ์ของเราสำหรับประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลางซึ่งอ้างอิงจากการศึกษาจำนวนน้อยและอาจมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่มีหลักฐานเพิ่มเติม
เรามีความมั่นใจในระดับปานกลางเกี่ยวกับผลลัพธ์ของเราสำหรับเด็กในชุมชนและในผู้ใหญ่ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่เป็นโรคเอดส์ แต่ข้อสรุปนี้อาจเปลี่ยนแปลงได้หากมีหลักฐานเพิ่มเติม
การส่งเสริมการล้างมืออาจช่วยลดอาการท้องร่วงทั้งในศูนย์รับเลี้ยงเด็กในประเทศที่มีรายได้สูงและในชุมชนที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง ได้ประมาณ 30% การทดลองที่รวมไว้ไม่ได้ให้หลักฐานเกี่ยวกับผลกระทบระยะยาวของสิ่งทดลองหรือวิธีการที่ใช้
โรคอุจจาระร่วงมีผู้เสียชีวิต 1.8 ล้านคนในเด็ก ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง (LMICs) หนึ่งในกลยุทธ์ที่ระบุเพื่อป้องกันอาการท้องร่วงคือการล้างมือ
เพื่อประเมินผลของมาตรการส่งเสริมการล้างมือต่ออาการท้องร่วงในเด็กและผู้ใหญ่
เราค้นหาข้อมูลจาก CENTRAL, MEDLINE, Embase, ฐานข้อมูลอื่น ๆ อีก 9 แหล่ง, the World Health Organization (WHO) International Clinical Trial Registry Platform (ICTRP) และ metaRegister of Controlled Trials (mRCT) ในวันที่ 8 มกราคม 2020 พร้อมกับการตรวจสอบการอ้างอิงการค้นหาข้อมูลอ้างอิงและการติดต่อกับผู้เขียนการศึกษาเพื่อระบุการศึกษาเพิ่มเติม
การทดลองควบคุมแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) และ cluster-RCTs ที่เปรียบเทียบผลของการล้างมือกับการไม่ใช้วิธีการใดๆ เลย (no intervention) ต่ออาการท้องร่วงในเด็กและผู้ใหญ่
ผู้วิจัย 3 คนประเมินการศึกษาตามเกณฑ์การคัดเข้า ดึงข้อมูล และประเมินความเสี่ยงของการมีอคติอย่างเป็นอิสระต่อกัน เราแบ่งการวิเคราะหตามพื้นที่การศึกษาดังนี้ ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก หรือโรงเรียน ชุมชน และโรงพยาบาล ในกรณีที่เหมาะสม เรารวมอัตราส่วนอัตราอุบัติการณ์ (IRRs) โดยใช้วิธีการ generic inverse variance method และ a random-effects model พร้อมกับช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) เราใช้วิธีการ GRADE เพื่อประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐาน
เรารวบรวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมได้ 29 รายการ การทดลอง 13 รายการ จากศูนย์รับเลี้ยงเด็กหรือโรงเรียนในประเทศที่มีรายได้สูงเป็นส่วนใหญ่ (ผู้เข้าร่วม 54,471 คน) การทดลองในชุมชน 15 รายการ ในประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง (ผู้เข้าร่วม 29,347 คน) และการทดลองในโรงพยาบาล 1 รายการ ในกลุ่มผู้ป่วยเอดส์ในประเทศที่มีรายได้สูง (ผู้เข้าร่วม 148 คน) การทดลองและการติดตามประเมินผลทั้งหมดมีระยะเวลาสั้น ๆ
การส่งเสริมการล้างมือ (กิจกรรมการศึกษาบางครั้งอาจมีการจัดหาสบู่) ที่สถานรับเลี้ยงเด็กหรือโรงเรียนป้องกันโรคท้องร่วงประมาณ 1 ใน 3 ในประเทศที่มีรายได้สูง (อัตราอุบัติการณ์ (IRR) 0.70, 95% CI 0.58 ถึง 0.85 ; การทดลอง 9 รายการ; ผู้เข้าร่วม 4664 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับสูง) และอาจสามารถป้องกันโรคท้องร่วงได้ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันในประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง แต่มีเพียงการทดลอง 2 รายการจากประเทศอียิปต์และเคนยาเท่านั้นที่มีการประประเมินสิ่งนี้ (IRR 0.66, 95% CI 0.43 ถึง 0.99; การทดลอง 2 รายการ; ผู้เข้าร่วม 45,380 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำ) มีการทดลองเพียง 4 รายการเท่านั้นที่รายงานมาตรการการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และวิธีการรวบรวมข้อมูลอาจมีความเสี่ยงของการเกิดอคติ ในการทดลอง 1 รายการ จากในสหรัฐอเมริกามีรายงานว่าสามารถปรับปรุงพฤติกรรมการล้างมือได้ และในการทดลองจากเคนยาที่ให้สบู่ฟรี พบว่าการล้างมือไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่มีการใช้สบูเพิ่มขึ้น (ไม่มีการรวมข้อมูล (data not pooled) จากการทดลอง 3 รายการ; ผู้เข้าร่วม 1845 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำ)
การส่งเสริมการล้างมือระหว่างชุมชนในประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง อาจช่วยป้องกันอาการท้องร่วงได้ประมาณ 1 ใน 4 (IRR 0.71, 95% CI 0.62 ถึง 0.81; การทดลอง 9 รายการ; ผู้เข้าร่วม 15,950 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับปานกลาง) อย่างไรก็ ตามการทดลอง 6 ใน 9 รายการนี้มาจากในเอเชีย โดยมีการทดลองเพียง 1 รายการ จากอเมริกาใต้ และ 2 รายการ จากแอฟริกาใต้สะฮารา ในการทดลอง 7 รายการ มีการให้สบู่ฟรีควบคู่ไปกับการให้ความรู้เรื่องการล้างมือ และขนาดผลเฉลี่ยโดยรวมมีขนาดใหญ่กว่าในการทดลอง 2 รายการที่ไม่ได้ให้สบู่ (การให้สบู่: RR 0.66, 95% CI 0.58 ถึง 0.75; การทดลอง 7 รายการ; ผู้เข้าร่วม 12,646 คน; การให้ความรู้เพียงอย่างเดียว: RR 0.84, 95% CI 0.67 ถึง 1.05; การทดลอง 2 รายการ; ผู้เข้าร่วม 3304 คน) มีการล้างมือเพิ่มขึ้นตามคำแนะนำสำคัญ ๆ (ก่อนรับประทานอาหารหรือทำอาหาร หลังเข้าห้องน้ำหรือทำความสะอาดก้นของทารก) และเพิ่มการปฏิบัติตามขั้นตอนสุขอนามัยมือ (ผลลัพธ์ด้านพฤติกรรม) ในกลุ่มที่ได้รับสิ่งทดลองเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมในการทดลองในชุมชน (ไม่รวมข้อมูล: การทดลอง 4 รายการ; ผู้เข้าร่วม 3591 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับสูง)
การส่งเสริมการล้างมือสำหรับการทดลอง 1 รายการที่ดำเนินการในโรงพยาบาล ในกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูง พบว่าอาการท้องร่วงเฉลี่ยลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (น้อยกว่า 1.68) ในกลุ่มที่ได้รับสิ่งทดลอง (ค่าเฉลี่ยความแตกต่าง −1.68, 95% CI −1.93 ถึง −1.43; การทดลอง 1 รายการ; ผู้เข้าร่วม 148 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับปานกลาง) ความถี่ในการล้างมือเพิ่มขึ้นเป็น 7 ครั้งต่อวันในกลุ่มที่ได้รับสิ่งทดลองเทียบกับ 3 ครั้งต่อวันในกลุ่มควบคุม ในการทดลองในโรงพยาบาลนี้ (การทดลอง 1 รายการ; ผู้เข้าร่วม 148 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับปานกลาง)
เราไม่พบการทดลองใดที่ประเมินผลของการส่งเสริมการล้างมือต่อการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับอาการท้องร่วงหรือความคุ้มทุน
แปลโดย พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว