การบำบัดด้วยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (cognitive behavioural therapy; CBT) ได้ผลดีกว่าการจัดการอย่างง่ายหรือการบำบัดทางจิตวิทยาอื่นๆ สำหรับผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรควิตกกังวลหรือไม่
ใจความสำคัญ
• หลักฐานชี้ให้เห็นว่าการบำบัดด้วยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม อาจช่วยลดความรุนแรงของความวิตกกังวลได้ทันทีหลังการรักษาเมื่อเทียบกับการจัดการอย่างง่าย อย่างไรก็ตาม การลดความรุนแรงของความวิตกกังวลอาจไม่ยั่งยืน และเมื่อเวลาผ่านไป 6 เดือน อาจไม่มีความแตกต่างกันระหว่างวิธีการรักษา
• เนื่องจากขาดหลักฐาน เราจึงไม่ทราบว่า CBT มีประสิทธิผลมากกว่าหรือน้อยกว่าการบำบัดทางจิตวิทยาอื่น ๆ
• จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยที่ใหญ่ขึ้นและได้รับการออกแบบมาอย่างดีเพื่อตรวจสอบว่าผู้สูงอายุที่มีปัญหาความวิตกกังวลที่ได้รับ CBT จะสามารถฟื้นตัวได้เต็มที่หรือมีอาการดีขึ้นหรือไม่
การบำบัดด้วยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมสำหรับผู้สูงอายุที่เป็นโรควิตกกังวลคืออะไร และเหตุใดจึงอาจมีความสำคัญ
โรควิตกกังวลเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ โรควิตกกังวลมีลักษณะคือความกลัวที่มากเกินไป ความกังวล และความประหม่าในสถานการณ์ปกติหรือในระหว่างกิจกรรมปกติ ผู้ที่เจ็บป่วยจากโรควิตกกังวลจะมีอาการทางกาย เช่น หัวใจเต้นแรง เหงื่อออก ตัวสั่น คลื่นไส้ และหายใจลำบาก ผลลัพธ์คือ ผู้ที่มีอาการวิตกกังวลมักพยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์หรือกิจกรรมที่ทำให้พวกเขาเกิดความกลัวที่มากเกินไปและล้นหลาม โรควิตกกังวลจะรบกวนชีวิตประจำวันและการทำงานตามปกติ
โรควิตกกังวลทั่วไป (generalised anxiety disorder; GAD) หมายถึงความวิตกกังวลที่มากเกินไปและเรื้อรังเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ในแต่ละวัน เช่น การงาน การเงิน ครอบครัว สุขภาพ และกิจกรรมประจำวันอื่นๆ โดยไม่มีเหตุผลพิเศษใดๆ ที่จะต้องกังวล
การบำบัดด้วยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (CBT) เป็นการบำบัดที่มีประสิทธิผลสำหรับโรควิตกกังวลในผู้ใหญ่ และอาจมีประสิทธิภาพในผู้สูงอายุด้วยเช่นกัน CBT ช่วยให้ผู้คนที่มีความวิตกกังวลได้ โดยค่อยๆ ให้พวกเขาเผชิญกับสถานการณ์ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดความวิตกกังวล จากนั้นจึงเปลี่ยนรูปแบบความคิดลบ CBT สามารถให้แบบเป็นกลุ่มหรือแบบตัวต่อตัวได้
เราต้องการค้นหาอะไร
เราต้องการทราบว่า CBT ได้ผลดีกว่าวิธีการที่ไม่ให้การรักษาโดยตรง (การจัดการอย่างง่าย) สำหรับผู้สูงอายุ (อายุมากกว่า 55 ปี) ที่มีอาการวิตกกังวลหรือไม่ นอกจากนี้ เรายังอยากทราบว่า CBT ได้ผลดีกว่าการบำบัดทางจิตวิทยาอื่นๆ ในกลุ่มประชากรเดียวกันและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหรือไม่
เราทำอะไรไปแล้วบ้าง
เราค้นหาการศึกษาที่เปรียบเทียบ:
• CBT เทียบกับการจัดการอย่างง่าย
• CBT เทียบกับการบำบัดทางจิตวิทยาอื่น ๆ
เราสรุปผลและประเมินความเชื่อมั่นในหลักฐานของพวกเรา โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น วิธีการศึกษาและจำนวนของผู้เข้าร่วมในการศึกษา
สรุปผล
เราค้นพบอะไร
เราพบการศึกษา 21 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ 1234 ราย (อายุมากกว่า 55 ปี) ที่มีอาการวิตกกังวล การศึกษาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดมีผู้เข้าร่วมในการศึก 180 คนและการศึกษาที่มีขนาดเล็กที่สุดมีผู้เข้าร่วม 9 คน การศึกษาวิจัยได้ดำเนินการใน 7 ประเทศ การศึกษา 10 ฉบับ มุ่งเน้นไปที่ GAD การศึกษาส่วนใหญ่เปรียบเทียบ CBT กับการจัดการอย่างง่าย (ซึ่งคำนิยามคือ การดูแลมาตรฐานโดยไม่ได้รับการรักษาทางจิตวิทยา) มีเพียงสองการศึกษาที่เปรียบเทียบ CBT กับการรักษาทางจิตวิทยาอื่น
ผลลัพธ์หลัก
เราพบว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการจัดการอย่างง่าย CBT อาจส่งผลให้อาการวิตกกังวลและอาการซึมเศร้าหลังการรักษาลดลงเล็กน้อยถึงปานกลาง อย่างไรก็ตาม ผลกระทบเหล่านี้อาจไม่ยั่งยื่น และเมื่อผ่านไป 6 เดือน ความแตกต่างระหว่าง CBT กับการจัดการอย่างง่ายอาจมีเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะระบุได้ว่าผลจาก CBT ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เต็มที่หรือมีอาการลดลง นอกจากนี้ ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะระบุได้ว่า CBT ได้ผลดีกว่าการบำบัดทางจิตวิทยาอื่นๆ สำหรับผู้สูงอายุที่มีความวิตกกังวลหรือไม่
ข้อจำกัดหลักของหลักฐาน
เรามีความเชื่อมั่นในหลักฐานอย่างจำกัด เนื่องจากการศึกษามีความแตกต่างกันมากด้วยการประเมินความเสี่ยงของการมีอคติที่หลากหลาย และส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่มีอาการวิตกกังวลทั่วไป ผู้คนยังทราบว่าการรักษาใดคือการรักษาที่พวกเขาจะได้รับ สิ่งที่รู้ดังกล่าวสามารถส่งผลต่อผลลัพธ์ได้ มีการศึกษาเพียง 2 ฉบับที่ทดสอบ CBT เปรียบเทียบกับการบำบัดทางจิตวิทยาอื่น การศึกษาดังกล่าวไม่ได้ให้หลักฐานเพียงพอที่จะสรุปผลใดๆ ได้
หลักฐานนี้เป็นข้อมูลล่าสุดจนถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2024
CBT อาจมีประสิทธิผลมากกว่าการจัดการอย่างง่ายในการลดความวิตกกังวลและอาการกังวลและภาวะซึมเศร้าหลังการรักษาในผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรควิตกกังวล หลักฐานมีความเชื่อมั่นน้อยลงในผลลัพธ์ระยะยาวและสำหรับผลลัพธ์อื่นๆ รวมถึงการฟื้นตัวทางคลินิค/อาการที่ดีขึ้น ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะระบุได้ว่า CBT มีประสิทธิผลมากกว่าการบำบัดทางจิตวิทยาทางเลือกอื่นในการรักษาความวิตกกังวลในผู้สูงอายุหรือไม่
การบำบัดด้วยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (cognitive behavioural therapy; CBT) ถือเป็นการบำบัดทางจิตวิทยาที่ได้รับการวิจัยมากที่สุดสำหรับโรควิตกกังวลในผู้ใหญ่ และทราบกันดีว่ามีประสิทธิภาพในกลุ่มประชากรนี้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่ชัดเจนว่าผลลัพธ์เหล่านี้ใช้ได้กับผู้สูงอายุหรือไม่ เนื่องจากการศึกษาส่วนใหญ่ครอบคลุมผู้เข้าร่วมที่มีอายุระหว่าง 18 ถึง 55 ปี การทบทวนวรรณกรรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการสังเคราะห์อย่างครอบคลุมและทันสมัยของหลักฐานที่มีอยู่เกี่ยวกับ CBT และแนวทางแบบคลื่นลูกที่สามสำหรับผู้สูงอายุที่มีความวิตกกังวลและมีความผิดปกติที่เกี่ยวข้อง
เพื่อประเมินผลของการบำบัดด้วยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioural Therapy) (CT, BT, CBT และ third-wave CBT interventions) ต่อความรุนแรงของอาการวิตกกังวลเปรียบเทียบกับการจัดการขั้นต่ำ (ไม่ให้การบำบัด) สำหรับความวิตกกังวลและความผิดปกติที่เกี่ยวข้องในผู้สูงอายุที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป
เพื่อประเมินผลของ CBT และการบำบัดที่เกี่ยวข้องต่อความรุนแรงของอาการวิตกกังวลเมื่อเปรียบเทียบกับการบำบัดทางจิตวิทยาอื่นๆ สำหรับความวิตกกังวลและความผิดปกติที่เกี่ยวข้องในผู้สูงอายุที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป
เราได้ค้นหาใน Cochrane Common Mental Disorders (CCMDCTR), CENTRAL, Ovid MEDLINE, Ovid Embase และ Ovid PsycINFO จนถึงวันที่ 21 กรกฎาคม 2022 การค้นหาเหล่านี้ได้รับการอัปเดตเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2024 นอกจากนี้ เราได้ค้นหาในทะเบียนการศึกษาวิจัยระดับนานาชาติ รวมทั้ง Clinicalstudies.gov และ WHO International Clinical Trials Registry Platform (ICTRP) เพื่อค้นหาการศึกษาวิจัยที่กำลังดำเนินการและยังไม่ได้เผยแพร่เพิ่มเติม แหล่งข้อมูลเหล่านี้ได้รับการค้นหาด้วยตนเองจนถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2024
เราได้รวบรวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (randomised controlled trials; RCTs) ในผู้สูงอายุ (≥ 55 ปี) ที่มีอาการวิตกกังวลหรืออาการผิดปกติที่เกี่ยวข้อง รวมถึงโรคย้ำคิดย้ำทำ (obsessive compulsive disorder; OCD) โรคเครียดเฉียบพลัน และโรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ (post-traumatic stress disorder; PTSD) โดยเปรียบเทียบ CBT กับการจัดการขั้นต่ำหรือการบำบัดทางจิตวิทยาเชิงรุก (ที่ไม่ใช่ CBT) การศึกษาที่เข้าเกณฑ์จะต้องมีผลลัพธ์เกี่ยวกับความวิตกกังวล
ผู้วิจัยหลายคนช่วยกันคัดกรองชื่อเรื่องทั้งหมดที่พบจากการสืบค้นอย่างเป็นอิสระต่อกัน จากนั้นคัดกรองบทความฉบับเต็มมตามเกณฑ์การคัดเลือกที่เรากำหนดไว้ล่วงหน้า ดึงข้อมูลและประเมินความเสี่ยงของการมีอคติโดยใช้เครื่องมือของ Cochrane สำหรับ RCTs ประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐานโดยใช้วิธีการ GRADE ดำเนินการวิเคราะห์ meta-analyses สำหรับผลลัพธ์ที่มีข้อมูลเชิงปริมาณจากการศึกษาที่มีมากกว่า 1 ฉบับ
เรารวบรวมการศึกษาแบบ RCTs จำนวน 21 ฉบับ ในผู้สูงอายุ 1234 ราย ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม CBT หรือกลุ่มควบคุม การศึกษาวิจัยจำนวน 10 ฉบับ มุ่งเน้นไปที่โรควิตกกังวลแบบทั่วไป ส่วนที่เหลือส่วนใหญ่เป็นการวินิจฉัยทางคลินิกแบบผสมกัน การศึกษาจำนวน 19 ฉบับ มุ่งเน้นไปที่การเปรียบเทียบระหว่าง CBT กับการจัดการอย่างง่าย
ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงของการอคติ ได้แก่ ขาดการปกปิดข้อมูลต่อผู้เข้าร่วมและบุคลากร และผู้เข้าร่วมออกจากการศึกษา ซึ่งอาจเป็นผลมาจากความพึ่งพอใจต่อวิธีการรักษาและการจัดสรร
CBT อาจส่งผลให้ความวิตกกังวลลดลงเล็กน้อยถึงปานกลางหลังการรักษา (SMD -0.51, 95% CI -0.66 ถึง -0.36, หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบประโยชน์นี้จาก CBT ทันทีหลังการรักษา, 3 ถึง 6 เดือนหลังการรักษา มีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยระหว่าง CBT กับการจัดการอย่างง่าย (SMD -0.29, 95% CI -0.59 ถึง 0.01, หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) CBT อาจมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีผลเลยต่อการฟื้นตัวทางคลินิก/อาการที่ดีขึ้นหลังการรักษาเมื่อเทียบกับการจัดการอย่างง่าย แต่หลักฐานก็ยังคงไม่แน่นอนอย่างมาก (RR 1.56, 95% CI 1.20 ถึง 2.03, หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) ผลการศึกษาบ่งชี้ว่าจะต้องได้รับการรักษา 5 รายเพื่อให้มีผู้ได้รับประโยชน์เพิ่มเติมอีก 1 ราย (NNTB = 5)
เมื่อเทียบกับการจัดการอย่างง่าย CBT อาจส่งผลให้อาการซึมเศร้าที่เป็นร่วมลดลงหลังการรักษา (SMD -0.57, 95% CI -0.74 ถึง -0.40, หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) ไม่มีความแตกต่างในอัตราการออกกลางคันหลังการรักษา แม้ว่าความเชื่อมั่นของหลักฐานจะต่ำ (RR 1.19, 95% CI 0.80 ถึง 1.78) การศึกษา 2 ฉบับ รายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ ซึ่งทั้ง 2 ฉบับ เกี่ยวข้องกับยาในกลุ่มควบคุม (หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก ไม่มีการประมาณค่าเชิงปริมาณ)
มีการศึกษาเพียง 2 ฉบับที่เปรียบเทียบ CBT กับการบำบัดทางจิตวิทยาอื่น ๆ โดยการศึกษาทั้ง 2 ฉบับ ศึกษาเฉพาะผู้เข้าร่วมที่มีอาการป่วยทางจิตใจหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญเท่านั้น หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำแสดงให้เห็นว่าไม่มีความแตกต่างกันในความรุนแรงของความวิตกกังวลหลังการรักษา และที่ 4 ถึง 6 เดือนหลังการรักษา อาการซึมเศร้าหลังการรักษา และอัตราการออกจากการศึกษาหลังการรักษา
ผลลัพธ์และจุดเวลาอื่นๆ มีรายงานไว้ในส่วนผลลัพธ์ของต้นฉบับ
แปลโดย นายฎลกร จำปาหวาย วันที่ 29 กันยายน 2024